วัดอรุณราชวราราม
ผมคิดว่า วัดอรุณฯ น่าจะเป็นวัดที่มีภาพถ่ายในเวลาพลบค่ำจนถึงท้องฟ้ามืดมิด มีให้ท่านผู้อ่านได้เห็น
ผมคิดว่า วัดอรุณฯ น่าจะเป็นวัดที่มีภาพถ่ายในเวลาพลบค่ำจนถึงท้องฟ้ามืดมิด มีให้ท่านผู้อ่านได้เห็นกันมาอย่างมากมาย ผมคงไม่นำภาพเหล่านี้มาให้ท่านผู้อ่านชม แต่ผมจะพาท่านไปสัมผัสวัดอรุณฯ ในมุมมองของผม ในตอนเช้าของวันหยุดวันหนึ่ง ผมวางแผนที่จะไปวัดอรุณฯ เพื่อเก็บภาพในรายละเอียดที่ผมเคยตั้งใจไว้ ก่อนไปเลยหาข้อมูลวัดอรุณฯ ในมุมที่เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์
วัดอรุณฯ ถูกสร้างด้วยวัสดุอะไร ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่า พระปรางค์ของวัดอรุณฯ มีลักษณะเฉพาะตั้งแต่สีขององค์พระปรางค์ รูปทรงที่มีความแตกต่างจากเจดีย์ที่เราเห็นกันอย่างคุ้นตา
ผมไขข้อข้องใจตนเองโดยไปเก็บภาพถ่ายที่ตนเองสงสัย ถ้าหากดูตามประวัติวัดอรุณฯ หรือวัดแจ้ง เป็นวัดที่ถูกสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา และมีการปฏิสังขรณ์กันมาตั้งแต่ต้นรัชสมัยราชวงศ์จักรีตั้งแต่รัชการที่ 1 จนมาเสร็จสิ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และเป็นองค์ที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “วัดอรุณราชวราราม”
องค์พระปรางค์ถูกสร้างด้วยปูนปั้นผสมเศษกระเบื้องของถ้วยชามในสมัยโบราณ ที่ในสมัยตอนต้นรัตนโกสินทร์มีการค้าขายกับประเทศจีน ถ้วยชามกระเบื้องลวดลายสีสันต่างๆ ก็เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากในสมัยนั้น เมื่อเกิดการขนส่งเคลื่อนย้ายจึงมีการแตกหักเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการนำเศษกระเบื้องมาประดับตกแต่งองค์พระปรางค์จนทำให้เกิดเป็นลวดลายงดงาม โดยเท่าที่ผมทราบไม่น่าจะมีพระปรางค์หรือเจดีย์องค์ใดในประเทศไทยใช้การประดับตกแต่งด้วยวิธีนี้อีกเลย
นอกจากนั้น ตุ๊กตาจีนที่ปั้นเป็นรูปเทพเจ้าต่างๆ ตามตำนานจีน หรือที่เรียกกันว่าเซียนนั้น แท้ที่จริงคือหินที่ต้องใช้ในห้องอับเฉาของเรือเดินสมุทรในสมัยก่อนมีไว้เพื่อถ่วงน้ำหนักเรือในการเดินทางผ่าพายุคลื่นลมในท้องทะเล
แต่แทนที่จะนำเพียงก้อนหินเข้าไปถ่วงน้ำหนักเรือไว้ก็คงไม่ได้มูลค่า ชาวจีนจึงนำหินมาแกะสลักให้เป็นตุ๊กตาจีนที่เรียกว่าเซียนต่างๆ เพื่อใช้เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้เดินเรือ และเมื่อถึงจุดหมายก็จะนำตุ๊กตาเหล่านี้ออกมามอบให้กับคนจีนที่อาศัยอยู่โพ้นทะเลต่างๆ เอาไว้สักการบูชาต่อไป
นับเป็นความชาญฉลาดของพ่อค้าชาวจีนในอดีตเป็นอย่างมาก เราจึงเห็นวัดอรุณฯ จึงเต็มไปด้วยตุ๊กตาจีนเหล่านี้วางเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก ผมเดินถ่ายภาพในวัดอรุณฯ ในเวลาช่วงบ่าย สำหรับเทคนิคการถ่ายภาพในทริปนี้ ผมอยากให้ผู้ถ่ายภาพสังเกตว่าทิศทางของแสงที่เหมาะสมจะช่วยให้การถ่ายภาพมีเสน่ห์มากขึ้น
สังเกตว่าภาพพระปรางค์ที่มีฉากหลังเห็นท้องฟ้าที่มีสีฟ้าจะอยู่ตรงข้ามกับพระอาทิตย์เสมอ ดังนั้น การมาถ่ายภาพวัดอรุณฯ ผมแนะนำให้มาตอนบ่ายเพื่อเก็บภาพภายในวัดแล้ว ก่อนพระอาทิตย์ตกดินให้ข้ามกลับไปฝั่งท่าเตียน เพื่อชมความงามของแสงอาทิตย์สุดท้ายก่อนตกดินหายลับไปทางด้านหลังองค์พระปรางค์ เมื่อยืนถ่ายภาพอยู่ฝั่งตรงข้ามในช่วงแสงสุดท้ายท่านที่เป็นนักถ่ายภาพจะได้ดื่มด่ำกับความงดงาม
สิ่งที่ผมอยากจะย้ำนักถ่ายภาพมือใหม่ การไปถ่ายรูปต้องเข้าถึงตำแหน่งที่ถ่ายภาพถูกที่ถูกเวลา ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนตระเตรียมหาข้อมูลจึงจะทำให้เราได้ภาพสวยได้ วัดอรุณฯ ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่น่าจะทำให้เราไปค้นหา ท่านผู้อ่านลองไปค้นหากันดูนะครับ