จงรักภักดีสถาบันกตัญญูแรงผลักดันเปิดคลินิกรักษาฟรี
อโรคยา ปรมา ลาภา. ความไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ ใครที่เผชิญโรคภัยที่หนักหนา ต้องพึ่งพาหมอเพื่อรักษาให้หายดี
โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์
อโรคยา ปรมา ลาภา. ความไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ ใครที่เผชิญโรคภัยที่หนักหนา ต้องพึ่งพาหมอเพื่อรักษาให้หายดี หากไม่มีเงินถุงเงินถังก็คงต้องพึ่งพาโรงพยาบาลของรัฐ หรือซ้ำร้ายกว่านั้นถ้าขาดโอกาสเข้าถึงโรงพยาบาลโรคภัยคงต้องรุมเร้าคุกคามชีวิตของเราได้ แต่โชคดีที่ยุคนี้ยังมีอีกหนึ่งทางเลือก คลินิกรักษาฟรี ที่พร้อมเปิดรับทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจน
สุรัตน์ วงศ์ชาญศิลป์ เจ้าของที่พักและตึกแถวให้เช่าในย่านถนนข้าวสารและถนนรามบุตรี และยังเคยเป็นอดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการค้าถนนข้าวสาร ดูภายนอกอาจจะเหมือนนักธุรกิจทั่วไป ที่วันทั้งวันต้องบวกลบคูณหารกับการหารายได้ แต่อีกบทบาทที่เขาทำ และคนในย่านเดียวกันอาจจะรู้ แต่คนภายนอกไม่รู้ คือ การเปิดคลินิกเวชกรรมสุรัตน์ รักษาผู้ป่วยฟรี
สุรัตน์ เล่าให้ฟังว่า เขามีในหลวงเป็นบุคคลต้นแบบในหัวใจ ตั้งแต่เล็กจนโต ได้เห็นในหลวงทรงมีพระราชกรณียกิจ ทรงงานอย่างหนัก แต่ก็ทรงไม่เคยลืมหน้าที่สำคัญ คือ การดูแลบุพการี ภาพที่เขาเห็นบ่อยครั้ง คือ ในหลวงทรงจูงพระหัตถ์สมเด็จย่าเสมอ ยามที่สมเด็จย่าป่วยก็ทรงดูแลใกล้ชิด จึงรู้สึกประทับใจในความกตัญญูกตเวทีที่พระองค์มี
เมื่อวันหนึ่งแม่ของสุรัตน์ ป่วยหนักต้องเข้าห้องไอซียู หมอที่ดูแลออกมาบอกให้ทำใจ แม่ของเขามีโอกาสรอดเพียง 50% เท่านั้น ในฐานะลูกคนหนึ่งจึงได้จุดธูปบอกกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพ ขอพรให้แม่หายป่วยครั้งนี้ พร้อมกับกล่าววาจาไว้ว่า หากแม่หายป่วยออกจากห้องไอซียู ก็จะเปิดคลินิกรักษาพยาบาลฟรี เพื่อหยิบยื่นโอกาสการมีชีวิตที่ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยให้กับคนอื่นๆ บ้าง
ในที่สุดแม่ได้ออกจากโรงพยาบาล สุรัตน์จึงเริ่มมองหาแนวทางเปิดคลินิกตามที่ได้ลั่นวาจาสัตย์ไว้ ประจวบเหมาะกับตึกให้เช่าในย่านถนนข้าวสารว่างลงพอดี เพราะผู้เช่าย้ายออกไป จึงตั้งใจจะใช้พื้นที่ส่วนนั้นมาทำคลินิก เพราะเห็นว่า ย่านถนนข้าวสาร มีชุมชนหนาแน่น น่าจะมีโอกาสช่วยคนยากจนที่อยู่ในพื้นที่นี้ให้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ฟรี
ในช่วงก่อตั้งคลินิก เริ่มแรกก็ไปกระทรวงสาธารณสุข เพื่อถามหาหมอที่มีอุดมการณ์ พร้อมรักษาพยาบาลให้โดยคิดค่าตัวราคาพิเศษ ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า หมอเหล่านี้หนีไปอยู่ต่างจังหวัดกันหมดแล้ว ไม่มีเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ สุดท้ายเมื่อหาหมอรักษาราคาพิเศษไม่ได้ จึงเริ่มหันกลับมาคิดว่า ความต้องการเปิดคลินิกรักษาฟรี เป็นความต้องการของตัวเองไม่ใช่หรือ หากไม่มีหมอที่ดีมารักษาพยาบาล ความฝันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร สุดท้ายจึงตัดสินใจเปิดรับสมัครหมอ โดยให้ค่าจ้างในอัตราที่สูงขึ้นจึงมีหมอสนใจ
“นอกจากปัญหาเรื่องหมอ ช่วงแรกๆ ที่จะทำคลินิก ยังมีปัญหาการจดทะเบียนขอเปิดคลินิกรักษาฟรี กับทางกระทรวงสาธารณสุข เพราะไปแบบคนที่ไม่มีประสบการณ์ทำคลินิกมาก่อน บอกกับเจ้าหน้าที่ว่าอยากเปิดคลินิกรักษาฟรี เจ้าหน้าที่ก็ทำหน้างง เดิมจะขอจดทะเบียนชื่อของแม่ เพราะคลินิกนี้เปิดจากวาจาสัตย์ที่ต้องการให้แม่หายป่วย แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่สามารถจดได้ เพราะแม่ไม่ได้เป็นหมอ จากนั้นจึงเปลี่ยนไปขอจดชื่อผมเอง เจ้าหน้าที่ปฏิเสธเช่นกัน เพราะผมก็ไม่ใช่หมอ” สุรัตน์ กล่าว
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็มีคำแนะนำว่าให้จัดตั้งมูลนิธิ แล้วเปิดคลินิกในนามของมูลนิธิ แต่สุรัตน์มองว่า หากเปิดเป็นมูลนิธิ ก็ไม่รู้ว่าเงินบริจาคที่ได้มาจะเพียงพอดูแลคลินิกหรือไม่ จึงอยากทำคลินิกด้วยตัวเงินตัวเองมากกว่า และยืนยันจะใช้ชื่อตัวเองเป็นชื่อคลินิก โดยตั้งใจว่าจะเปิดตลอดชีวิตที่มีอยู่ และต้องทำให้ได้ด้วย ต่อมาก็มีเจ้าหน้าที่มาตรวจสถานที่ที่จะใช้ทำคลินิก ซึ่งเป็นของสุรัตน์ จากนั้นก็สอบถามผู้เช่าตึกเกี่ยวกับประวัติของสุรัตน์เอง และในที่สุดจึงยอมให้เปิดคลินิกได้ในนาม คลินิกเวชกรรมสุรัตน์
สุรัตน์ กล่าวว่า การทำคลินิกเวชกรรมสุรัตน์นี้ มีแนวคิดว่า หากเราต้องการช่วยใครสักคน หากเขาเป็นคนจน ก็ต้องเสียเวลา เสียรายได้จากการหยุดงาน 1 วัน เพื่อมาหาหมอ จึงปฏิญาณกับตัวเองว่า ถ้าจะซื้อยามาใช้กับคลินิกจะใช้ยาราคาปานกลางไปจนถึงแพง เพื่อให้คนที่มารักษาแล้วต้องหาย เพราะถ้าใช้ยาไม่ดี คนไข้มารักษาแล้วไม่หายเสียที คนหาเช้ากินค่ำจะลำบากจากการต้องไปๆ มาๆ หาหมอบ่อยๆ ขณะเดียวกันหมอและพยาบาลจะต้องพูดจากับคนไข้ไพเราะ ไม่ว่าคนไข้จะรวยหรือจนอย่างไร
ในแต่ละเดือน มีค่าใช้จ่ายสำหรับคลินิกไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนบาท ทั้งค่าจ้างหมอ พยาบาล ค่ายา และอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งสุรัตน์รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหล่านี้มาต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันก็รวมอายุคลินิก 7 ปีแล้ว จะเปิดบริการเวลา 17.0021.00 น. ของทุกวัน ซึ่งก็เป็นงบประมาณส่วนตัวล้วนๆ และไม่เพียงแค่คลินิกเวชกรรมสุรัตน์เท่านั้น
ปัจจุบันยังเปิดบริการคลินิกเพิ่ม ตั้งอยู่ภายในพื้นที่เดิม คือ การรักษาด้วยการนวด ทุกวันอาทิตย์เวลา 09.0018.00 น. ที่เปิดมาได้ 1 ปี และการรักษาด้วยยาแผนโบราณ เฉพาะวันอาทิตย์เวลา 12.0014.00 น. และ 17.0019.00 น. ที่เพิ่งเริ่มบริการ 3 เดือน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่ต้องการทดลองรักษาแผนโบราณแทนการรักษาแผนปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังเปิดอาคารปฏิบัติธรรม ชมรมสุรัตนธรรม ทุกวันอาทิตย์บนอาคารยูนิเวิร์ส ย่านถนนข้าวสาร เพื่อเชิญชวนให้คนมาปฏิบัติธรรมด้วย
สุรัตน์ ยอมรับแต่โดยดีว่า หลังจากเปิดคลินิกรักษาฟรีแล้ว พบว่ามีคนฐานะดีเข้ามาใช้บริการ ช่วงแรกๆ ก็อาจจะคิดในทางลบบ้างว่า เหตุใดมีเงินเพียงพอแต่ยังมารักษาฟรี แต่คิดเช่นนี้ไม่นาน ก็เริ่มทบทวนว่า ถ้าหากมัวแต่คิดในทางลบ หาเหตุผลว่าเป็นเพราะอะไร ก็ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ จึงเปลี่ยนความคิดว่า หากจะช่วยใครก็ไม่ควรสนใจว่าคนนั้นรวยหรือจน เพราะมองในมุมหนึ่งคนฐานะดี ในช่วงเวลานั้นๆ อาจมีปัญหาหมุนเงินไม่ทันพอดี และตัวเองจำเป็นต้องรักษาพยาบาลจึงมาที่นี่
“บางคนไปรักษากับโรงพยาบาลรัฐแล้ว ต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อไปรอคิว กว่าจะได้รักษาก็ต้องใช้เวลาคอยนานมาก อีกทั้ง หมอ พยาบาล อาจจะเกิดความเครียดมาก เพราะต้องดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก อาจเผลอพูดจาไม่ดีกับคนไข้ไปบ้าง ดังนั้น ผมจึงพยายามบอกหมอและพยาบาล ในคลินิกเวชกรรมสุรัตน์ ว่าต้องมีความเมตตากับทุกคน เพราะทุกคนก็มีชีวิตเหมือนเรา มีพ่อและแม่เหมือนเรา เมื่อหมอและพยาบาลดูแลดี จึงเกิดการบอกต่อแบบปากต่อปาก ทำให้บางคนบ้านอยู่ไกลถึงพระประแดง สำโรง หรือประตูน้ำ ก็ยังเดินทางมา” สุรัตน์ กล่าว
จากจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจมาจากการกตัญญูกตเวทีตามในหลวง ซึ่งเป็นบุคคลในดวงใจนี่เอง ทำให้สุรัตน์ยังคงเดินหน้าเปิดคลินิกมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าแม่ของเขาซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เกิดคลินิกแห่งนี้ จะเสียชีวิตไปแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน แต่เขาก็ยังตั้งมั่นจะเดินหน้าเปิดคลินิกแห่งนี้ต่อไป เพราะสิ่งที่เขาได้รับ ก็คือ ความสบายใจ รู้สึกปีติกับสิ่งที่ทำ เป็นการให้แบบไม่หวังผลตอบแทน เพราะหากหวังผลตอบแทน เช่น คำชื่นชม เยินยอ ก็ไม่ถือเป็นการให้ที่แท้จริง