posttoday

หัวใจของทุกงาน คือ การให้เกียรติ

22 เมษายน 2557

เรื่อง “การบริการ” นั้น พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงให้ความสำคัญมาก ถึงขนาดจัดให้เป็น 1 ใน 6 เรื่อง ที่ชาวพุทธพึงเคารพ สิ่งที่เราจะต้องเคารพมีอยู่ 6 อย่าง

โดย...ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย

เรื่อง “การบริการ” นั้น พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงให้ความสำคัญมาก ถึงขนาดจัดให้เป็น 1 ใน 6 เรื่อง ที่ชาวพุทธพึงเคารพ สิ่งที่เราจะต้องเคารพมีอยู่ 6 อย่าง ได้แก่

1.พระพุทธ

2.พระธรรม

3.พระสงฆ์

4.การศึกษา

5.ความไม่ประมาท

6.การต้อนรับ

การต้อนรับถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าได้จัดไว้ในระดับเดียวกันกับพระรัตนตรัยเลยทีเดียว ในสมัยพุทธกาล มีเศรษฐีคนหนึ่งจะเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เศรษฐีคนนี้อยากเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ามากถึงขั้นนอนไม่หลับ ตื่นตั้งแต่ตีสามมาเตรียมสัมภาระ ได้เวลาตีสี่ก็เดินเข้าไปในวัด

คิดว่ากว่าจะได้พบพระพุทธเจ้าคงยากเย็นเหลือแสน เพราะพระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก แต่พอเดินเข้ากำแพงวัดไป พระพุทธเจ้าทรงทักทายว่า “มาแล้วหรือ ท่านสุทัตต์” เศรษฐีคิดในใจ “เอ๊ะ ใครเสด็จมาจงกรมรอเศรษฐีอยู่ที่ประตูเข้าวัด”

เศรษฐีคนนี้ประทับใจพระพุทธเจ้ามาก “ดูสิคนของโลก ให้เกียรติมาต้อนรับเรา” เกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เศรษฐีคนนี้เปลี่ยนชีวิต ปรารถนาตนเป็นโยมอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ทำธุรกิจหลายหมื่นล้าน สร้างวัดให้พระพุทธเจ้าแห่งหนึ่งพันกว่าล้าน เอาเงินมากองถึงขั้นที่ว่าสูงเท่าหัวเข่า เงินในที่นี้ก็คือเงินเหรียญ ทำธุรกิจได้เงินได้ทองก็นำมาบำรุงพระศาสนาให้พระพุทธเจ้าบำเพ็ญประโยชน์

วัดนี้ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ ชื่อว่า “เชตวัน” นักปราชญ์โบราณเวลาพูดถึงพระพุทธเจ้ามักจะพูดเสมอว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเชตวัน ซึ่งเป็นอารามที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ชื่อของเศรษฐีจะอยู่ใกล้ชื่อพระพุทธเจ้าตลอดเวลา หมายความว่า เมื่อโลกยกย่องพระพุทธเจ้า โลกก็ยกย่องเศรษฐีท่านนี้ด้วย จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญกับการต้อนรับ ให้ความสำคัญกับการให้เกียรติคนมาก

ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่โรงธรรม พระสาวกกำลังแสดงธรรม พระองค์หยุดอยู่ที่หน้าประตู ฟังลูกศิษย์แสดงธรรมจนจบ พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นบรมครูแต่หยุดรอฟังลูกศิษย์แสดงธรรมจนจบ ทั้งๆ ที่พระองค์ก็ตรัสรู้แล้ว อะไรๆ ก็ทรงรู้แจ้งหมดแล้ว แต่ทำไมยังทรงฟังอีก เพราะทรงให้เกียรติลูกศิษย์

นี่คือการให้เกียรติคน นี่คือการเคารพในปฏิสันถาร

เมื่อลูกศิษย์แสดงธรรมจบ พระพุทธเจ้าทรงเคาะประตูก่อน จากนั้นจึงเสด็จเข้าไป พระองค์ทรงชมลูกศิษย์ว่า “เธอแสดงธรรมไพเราะมาก ฉันยืนฟังอยู่ข้างนอกจนปวดหลัง”

สะท้อนว่า พระพุทธเจ้าทรงให้เกียรติคน เพราะฉะนั้นการให้เกียรติคนจึงเป็นหัวใจหลักของการทำงานทุกสาขาวิชาชีพ

ครั้งหนึ่ง มีโยมคนหนึ่งจากนครสวรรค์ไปหา “ท่านพระพุทธทาส” ถือชะลอมไปด้วย พอไปถึงท่านพระพุทธทาสจำวัด ลูกศิษย์หน้าห้องไม่ให้พบ เพราะพระอาจารย์กำลังจำวัด แต่โยมก็บอกว่าๆ ไหนๆ ก็มาแล้ว ขอพบสักหน่อยไม่ได้หรือ

ไม่คุยก็ได้ ขอโผล่ไปดูหน้าต่างได้ไหม โยมก็เลยชะโงกกระโดดเต้นเต้น หย่องๆ แหย่งๆ อยู่ริมหน้าต่างของท่านพระพุทธทาส แล้วกุฏิท่านอยู่กับพื้น พอโยมชะโงกไปดู ชะลอมมันไปถูกับผนังห้องของท่าน

ท่านพระพุทธทาสตื่น ห่มจีวรออกมานั่งรับแขก คุยสักพัก โยมก็ลากลับไปด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แต่หน้าห้องของท่านยังโกรธเป็นยักษ์อยู่เลย ท่านพระพุทธทาสก็ถามว่า

“โยมก็กลับแล้ว คุณโกรธใครกัน”

ลูกศิษย์ท่านบอกว่า “ผมโกรธโยมครับหลวงพ่อ ผมบอกว่าอย่าไปกวนหลวงพ่อ โยมก็ยังไปกวนจนได้ แหมคนอย่างนี้มันน่าสั่งสอนนัก”

ท่านพระพุทธทาสบอกว่า “โยมมาหาใคร”

“มาหาหลวงพ่อครับ”

“แล้วผมโกรธไหม”

“หลวงพ่อไม่โกรธครับ”

“แล้วคุณโกรธแทนผมทำไม”

ตั้งแต่นั้นมา ลูกศิษย์ท่านนั้นเวลามีใครมาพบหลวงพ่อก็ไม่เคยแสดงอาการดังแต่ก่อนอีกเลย นี่ก็เรียกว่า ท่านพระพุทธทาสให้เกียรติคน แม้ท่านจะพักผ่อน พอรู้ว่ามีโยมมา แม้จะจำวัดอยู่ท่านก็อุตส่าห์ลุกขึ้นจากเตียงออกมาต้อนรับ แล้วโยมก็เดินทางไกลจากนครสวรรค์เพื่อมาพบ ถ้าไม่ออกมารับเขาคงจะโกรธไปจนตาย

นี่ภาษาพระเรียก “เคารพในปฏิสันถาร” คือ การต้อนรับ หากใครต้องการให้การทำงานของตนเองมีประสิทธิภาพมากที่สุดก็จะต้องตอบคำถาม 3 ข้อนี้ให้ได้ นั่นคือ

1.ใคร คือ คนที่สำคัญที่สุด

2.อะไร คือ งานที่สำคัญที่สุด

3.เวลาใด คือ เวลาที่สำคัญที่สุด