ตามไปดูสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการรายใหม่ (2)
ครั้งที่แล้วว่าถึงแนวคิดของการเป็นสตาร์ทอัพ ซึ่งนอกจากต้องมีความคิดสร้างสรรค์แล้วต้องกล้าที่จะลงมือ
โดย...นายบรอดแบนด์
ครั้งที่แล้วว่าถึงแนวคิดของการเป็นสตาร์ทอัพ ซึ่งนอกจากต้องมีความคิดสร้างสรรค์แล้วต้องกล้าที่จะลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ช่วง 2-3 ปีนี้เรียกว่าเป็นยุคทองของสตาร์ทอัพ เพราะมีเครื่องมือและตัวช่วยเยอะมาก ต่างจากในอดีต 4-5 ปี ซึ่งใครอยากทำธุรกิจนี้ต้องดิ้นรนด้วยตัวเองพอสมควร หน่วยงานที่ช่วยเหลือยังมีน้อย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ แนวคิดของนักลงทุนไทย ที่หากจะหาให้มาร่วมทุนกับสตาร์ทอัพไทยเป็นเรื่องยาก
เนื่องจากคนไทยมีแนวคิดแบบเถ้าแก่ นั่นคือเมื่อลงทุนแล้วก็ต้องมองหาผลตอบแทนและกำไร เหมือนเป็นพ่อค้าที่มองในระยะสั้น ต่างจากนักลงทุนต่างประเทศที่เน้นลงทุนระยะยาว อย่างน้อย 2-3 ปีแรกอาจไม่มีรายได้เลยก็ได้ แต่ถ้ามีโอกาสที่มีความเป็นไปได้สูง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ย้อนกลับมาว่าถึงสตาร์ทอัพทั้ง 6 ทีมจากโครงการทรู อินคิวบ์ ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสไปพูดคุยมาแล้ว 3 ทีม คือ ทีมสติกโก เป็นการทำตลาดในรูปแบบโลเกชั่นเบส ให้ผู้ใช้เช็กอิน พร้อมแปะสติกเกอร์ลายการ์ตูน เป็นการจับพฤติกรรมคนชอบถ่ายรูปอาหาร สถานที่ ซึ่งเหมือนกับการโปรโมทอยู่แล้ว ให้มาทำผ่านแอพนี้ และแชร์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กช่องทางต่างๆ ลูกค้าของสติกโก คือ บริษัท ห้างร้าน องค์กรต่างๆ ดังนั้นหน้าที่ของสติกโกคือเพิ่มจำนวนผู้เล่นให้มากขึ้น องค์กรได้โปรโมท ลูกค้าได้รู้สถานที่ ร้านอาหาร และโปรโมชั่นใหม่ๆ เรียกว่าได้กันทั้งสองฝ่าย
อีกทีมหนึ่งคือ เซลสึกิ ระบบจัดการสินค้าบนเฟซบุ๊ก ซึ่งทีมเห็นว่าคนนิยมขายของบนเฟซบุ๊ก แต่เฟซบุ๊กไม่มีระบบการเงินและบริหารจัดการร้านค้า ไม่ได้เป็นแค่ในไทย แต่รวมถึงอีกหลายประเทศด้วย ผู้ซื้อยังต้องโทรหาผู้ขายอยู่ ดังนั้นระบบเซลสึกิจะทำให้เมื่อผู้ซื้อสนใจสินค้า สามารถกดสั่งซื้อ ระบบจะตรวจสอบสต๊อกสินค้า และตัดสต๊อกให้ทันทีหากมีสินค้าตามต้องการ และรอการโอนเงินภายในเวลาที่กำหนด เมื่อโอนเงินเรียบร้อย ระบบจะแจ้งไปยังผู้ขายให้ทำการจัดส่ง ทุกอย่างเป็นไปแบบอัตโนมัติ
ทีมสุดท้ายคือ มอคค่าพลัส เป็นแอพที่รวบรวมโบรชัวร์ แผ่นพับ สินค้าและบริการ รวมถึงงานต่างๆ มาไว้ในแอพเดียว และแบ่งตามประเภทให้ผู้ใช้เลือกได้ตามสนใจ ลดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรต่างๆ ไม่ต้องพิมพ์แผ่นพับออกมา และต้องแจกให้ผู้ซื้อ ซึ่งมักจะได้รับในเวลาที่ไม่ต้องการ แต่เวลาที่อยากได้กลับหาไม่เจอ
ทั้ง 3 ทีม เริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทยไปแล้ว มีลูกค้าทั้งองค์กรและผู้ใช้ทั่วไปเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญคือได้รับความสนใจจากนักลงทุน พันธมิตรในต่างประเทศ และเริ่มมีการเจรจาเพื่อไปเปิดบริการในต่างประเทศแล้วด้วย นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น มาถึงตรงนี้เชื่อว่าน่าจะจุดไฟธุรกิจในตัวผู้อ่านหลายๆ คนได้ เรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ คงต้องมาต่อกันตอนต่อไปครับ