posttoday

เกร็ดเรื่องการให้ทาน

11 พฤษภาคม 2557

วันวิสาขบูชากำลังจะเวียนมาถึง หลายท่านอาจเตรียมการทำบุญเป็นพิเศษ

วันวิสาขบูชากำลังจะเวียนมาถึง หลายท่านอาจเตรียมการทำบุญเป็นพิเศษ เนื่องในวันสำคัญอันเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังมีบางท่านถามผู้เขียนว่า ไม่แน่ใจความแตกต่างของ “ทาน” กับ “บุญ” ว่าแตกต่างกันอย่างไร จึงขอฝากไว้ว่า ทาน ก็คือ บุญประเภทหนึ่ง ในพระพุทธศาสนานั้นการทำบุญทำได้หลายอย่าง หลายวิธี โดยทานเป็นบุญประเภทหนึ่ง ซึ่งเกิดจาก “การให้” นั่นเอง นอกเหนือจากทานแล้ว การรักษาศีล การเจริญภาวนา ก็เป็นบุญเช่นกัน หากจะกล่าวโดยละเอียดได้ถึง 10 วิธี คือ บุญกิริยาวัตถุ 10 ในวันนี้จึงขอยกเอาเรื่องเกี่ยวกับทานมาคุยกัน

ความดีนั้น คนดี ทำได้ง่าย คนชั่ว ทำได้ยาก การให้ทานก็เช่นกัน สำหรับปุถุชนนั้น ก็ยังมีอกุศล มีความคิดที่ไม่ดี เป็นสิ่งขัดขวางการให้ทาน คือ ความตระหนี่ เป็นหลัก ในมัจฉริยสูตร เทวดาได้กล่าวคาถาเรื่องเหตุที่ให้ทานไม่ได้ ว่า

เพราะความตระหนี่ และความประมาทอย่างนี้ บุคคลจึงให้ทานไม่ได้

บุคคลผู้หวังบุญ รู้แจ้งอยู่ พึงให้ทานได้...

และคนตระหนี่กลัวภัยใด ย่อมให้ทานไม่ได้ ภัยนั้นนั่นแล ย่อมมีแก่คนตระหนี่ผู้ไม่ให้ทาน

คนตระหนี่ย่อมกลัวความหิวและความกระหายใด ความหิวและความกระหายนั้น

ย่อมถูกต้องคนตระหนี่นั้นนั่นแล ผู้เป็นพาลทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า

ฉะนั้น บุคคลควรกำจัดความตระหนี่ อันเป็นสนิมในใจ ให้ทานเถิด

เพราะบุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า

ความตระหนี่เป็นความไม่พอใจหรือความกลัวที่วัตถุสิ่งของของเราจะหมดไปเพราะการให้ทาน เมื่อเกิดความตระหนี่ เราก็มักจะปกปิดสมบัติของตน ความตระหนี่เป็นอกุศล เป็นมลทินของจิตใจประการหนึ่ง จัดเข้าในประเภทโทสะ พวกความโกรธ ไม่พอใจ คือ ไม่พอใจให้สมบัติของตนไปเป็นของคนอื่น เกิดพร้อมกับความประมาท เพราะในขณะนั้นไม่ได้มีสติสัมปชัญญะ จึงไม่เห็นโทษของความตระหนี่ และไม่ได้พิจารณาเห็นคุณประโยชน์ของทาน คือ การให้ ซึ่งเป็นบุญกุศลและมีผลให้เกิดความสุขและการได้โภคะทั้งหลาย เป็นต้น เมื่อความตระหนี่เกิดขึ้น แม้มีของมาก ก็ไม่ปรารถนาที่จะให้แก่ผู้ใด คนบางคนเกิดความตระหนี่ขึ้นบ่อย จนเป็นอุปนิสัย นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี การให้ทานนั้น นักปราชญ์ท่านเปรียบทานเหมือนการรบ พวกวีรบุรุษแม้มีน้อย ย่อมชนะคนขลาดที่มีมากได้

ในสาธุสูตร อรรถกถาอธิบายไว้ว่า เพราะว่าบุคคลผู้ขลาดในชีวิตย่อมไม่อาจเพื่อจะรบ บุคคลผู้กลัวความสิ้นเปลือง ก็ย่อมไม่อาจเพื่อจะให้ทาน

จริงอยู่ เมื่อบุคคลกล่าวว่า ข้าพเจ้าจักรักษาชีวิตด้วย จักรบด้วย ดังนี้ ย่อมไม่รบ แต่บุคคลสละความอาลัยในชีวิตแล้วให้อุตสาหะเกิดขึ้นว่า เราถูกตัดอวัยวะหรือการตายก็ตาม เราจักต้องถึงความเป็นอิสระนั้น ดังนี้ทีเดียว ย่อมรบ ...บุคคลเมื่อกล่าวว่า เราจักรักษาโภคะทั้งหลาย และจักให้ทาน ดังนี้ ชื่อว่า ย่อมไม่ให้ทาน แต่บุคคลสละความอาลัยในโภคะทั้งหลายและมีอุตสาหะว่า เราจักให้มหาทาน ดังนี้ ชื่อว่า ย่อมให้ทาน...

ในสาธุสูตร อรรถกถาอธิบายต่อไว้ว่า พวกวีรบุรุษแม้มีน้อย ย่อมชนะคนขลาดที่มีมากได้ อธิบายว่า พวกวีรบุรุษถึงจะมีน้อย ก็สามารถรบชนะคนขลาดที่มีมากได้ ฉันใด บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ก็ฉันนั้น เมื่อให้ทานน้อย ย่อมย่ำยีความตระหนี่มาก ทั้งยังได้ผลของทานเป็นอันมาก...

เทวดาได้กล่าวคาถาเรื่องทานอีกว่า

ทานที่ให้แก่บุคคลผู้มีธรรมอันได้แล้ว เป็นการดี

อนึ่ง ทานที่บุคคลเลือกให้ยิ่งเป็นการดี

ทานที่เลือกให้พระสุคตทรงสรรเสริญแล้ว...

นี้เป็นคำที่หลายท่านคงเคยได้ยิน มาจากคำว่า วิเจยฺย ทานํ แปลว่า ทานที่บุคคลเลือกให้ ซึ่งนับเป็นการดี อย่างไรจึงเรียกว่าเลือกให้ และพระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญด้วย อรรถกถาอธิบายว่า ทานที่บุคคลเลือกให้นั้นมี 2 อย่าง คือ เลือกทักขิณา (ของสำหรับทำบุญ คือ วัตถุทาน) อย่างหนึ่ง เลือกทักขิไณยบุคคล (บุคคลผู้ควรรับของทำบุญ คือ ผู้รับทาน) อย่างหนึ่ง การนำปัจจัยทั้งหลายที่เลวออกไปแล้ว คัดเลือกเอาของที่ประณีตๆ ถวายแก่ทักขิไณยบุคคล (ผู้รับทานอันเลิศ นั้นคือ ผู้ที่มีธรรมอันได้แล้ว คือ พระอริยบุคคล ที่สุดคือพระพุทธเจ้า ส่วนการถวายแบบไม่เจาะจง คือ ถวายแด่สงฆ์ เป็นสังฆทาน) ชื่อว่า การเลือกทักขิณา

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้อีกด้วยเกี่ยวกับว่า บุคคลที่ตั้งอยู่ในกรรมปราศจากความสงบ (ปราศจากธรรม คือ ตั้งมั่นในกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม อันหาความสงบมิได้) โบยเขา ฆ่าเขา ทำให้เขาเศร้าโศก แล้วให้ทาน ทานนั้นจัดว่าทานมีหน้านองด้วยน้ำตา จัดว่าทานเป็นไปกับด้วยอาชญา ย่อมไม่มีเท่าถึงส่วนแห่งทานที่ให้ด้วยความสงบ (ประพฤติธรรม) ดังนั้น ผู้ที่มีตนไม่บริสุทธิ์ แม้ให้มหาทานก็มีผลน้อย เพราะตนไม่บริสุทธิ์

จะเห็นได้ว่า การให้ทานนั้น ดูเผินๆ เหมือนเป็นเรื่องของวัตถุ แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องของจิตใจ ถ้าไม่มีจิตที่ดีย่อมไม่สามารถให้ได้แม้ของมีมาก และการให้ก็ไม่ได้บุญมากด้วยของมีจำนวนมากหรือราคามากเสมอไป ของนั้นต้องได้มาด้วยบริสุทธิ์และให้ด้วยจิตที่ประกอบด้วยคุณความดี มีศรัทธา และปัญญา เป็นต้น ทั้งยังขึ้นอยู่คุณธรรมของผู้ให้และผู้รับทานอีกด้วย ดังนั้น องค์ประกอบในการให้ทานมีความสำคัญมากทีเดียว นับว่าเป็นเกร็ดความรู้ที่ช่วยให้เราเข้าใจเรื่องการทำทานได้ดียิ่งขึ้น...