ความใสแห่งโบราไคย์ ฟิลิปปินส์
3 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ สู่มะนิลา บินลัดฟ้าอีกคราสู่คาลิโบ จากนั้นต่อรถอีก 2 ชั่วโมงไปขึ้นบังก้า
3 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ สู่มะนิลา บินลัดฟ้าอีกคราสู่คาลิโบ จากนั้นต่อรถอีก 2 ชั่วโมงไปขึ้นบังก้า แล่นไปถึงนาทีที่ 15 แล้วหยุดที่ “โบราไคย์”
โบราไคย์ (Boracay) เกาะที่เป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ เทียบได้กับเกาะภูเก็ตหรือเกาะสมุยของบ้านเรา แต่ด้วยการเดินทางที่ไม่มีเครื่องบินเข้าถึงและไม่มีสะพานทอดให้รถข้าม ทำให้การเดินทางต้องใช้เวลากว่าค่อนวัน ประมาณเดียวกับไปเกาะตาชัยอย่างนั้น
ชื่อ “โบราไคย์” บางคนเรียกว่า โบราเคย์ เพราะภาษาอังกฤษเขียนไว้ให้อ่านเช่นนั้นน่าจะเป็นที่คุ้นหูมากขึ้น เพราะเมื่อไม่นานมานี้ หาดไวท์ (White Beach) ติดอันดับชายหาดที่คนนิยมมากที่สุดในเอเชีย (โดยการจัดอันดับของทริปแอดไวเซอร์)
ก่อนที่จะเห็นของจริง ไกด์ชาวฟิลิปปินส์เปรียบทรายบนหาดนี้ว่าขาวและละเอียดเช่นน้ำตาล ทำให้จินตนาการไปถึงทรายบนเกาะตาชัยที่ป่นอย่างกับแป้งมัน หาดไวท์เป็นหาดสีขาวยาวถึง 4 กิโลเมตรทางทิศตะวันตก กินพื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเกาะที่ยาว 7 กิโลเมตร ในระยะทาง 4 กิโลนั้นแบ่งเป็น 3 สเตชั่นเรียงกัน หนึ่ง สอง และสาม ซึ่งแต่ละช่วงก็มีเอกลักษณ์
สเตชั่นหนึ่งเป็นจุดขึ้นเรือบังก้าเพื่อออกไปเที่ยวเกาะและดำน้ำ ตามแนวมีโรงแรมห้าดาว สปา และร้านอาหารหรูหรา สเตชั่นสองเน้นบรรยากาศสบายๆ ตกดึกจะมีร้านนั่งดื่มจองพื้นที่บนหาด และเป็นหาดเดียวที่ติดกับห้างสรรพสินค้า ทำให้คึกคักมากที่สุด สุดท้ายสเตชั่นสาม เป็นส่วนที่เงียบที่สุด ไม่มีโรงแรมห้าดาว ธรรมชาติยังสมบูรณ์
จุดดำน้ำที่เรือทุกลำต้องไปจอดคือ เกาะจระเข้ ที่นี่ไม่มีจระเข้แต่มีหินรูปจระเข้ เรือบังก้าจะจอดลอยลำเกลื่อนกลาดให้นักท่องเที่ยวลงดำน้ำดูปะการังบริเวณรอบๆ เรือ ปะการังอ่อนยังมีให้เห็น ดอกไม้ทะเลยังมีให้ชม และมีคนเห็นปลาการ์ตูนว่ายเล่นในดอกไม้ทะเลด้วย ส่วนใหญ่เป็นปะการังเขากวาง แต่เขากวางหักก็มี ขวดพลาสติก แกลลอนน้ำมันก็มีนอนแอ้งแม้ง แหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตตอนนี้ยังอยู่ได้ แต่ในอนาคตต่อไปจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องน่ากังวล
คุณเมริซซา - Datin Melissa ONG ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด กรมการท่องเที่ยวประเทศฟิลิปปินส์ ยอมรับว่าการจัดการด้านการท่องเที่ยวในฟิลิปปินส์ยังทำได้ไม่ดีนัก
“สองปีที่ผ่านมาการท่องเที่ยวเพิ่มแต่ฟิลิปปินส์รองรับไม่ทัน” เธอกล่าว และได้ยกตัวอย่างสนามบินเมืองคาลิบู สนามบินนานาชาติที่ใครจะไปโบราไคย์ต้องลงที่นี่ แต่ขนาดสนามบินเล็ก ระบบไม่ทันสมัย และห้องน้ำยังไม่ได้รับการพัฒนา
อย่างไรก็ตาม ประเทศฟิลิปปินส์กำลังพัฒนาด้านระบบขนส่งมวลชนอย่างหนัก ทั้งระบบรถไฟฟ้าใต้ดินที่คาดว่าจะเสร็จในปี 2015 การพัฒนาสนามบิน “ทุกแห่ง” ให้ทันสมัยและกว้างขวาง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนหลังจากเปิดเออีซี แต่สำหรับเรื่องการจัดระเบียบเรือนำเที่ยวยังไม่มีแผนชัดเจน ในเวลาเดียวกับที่ทรัพยากรธรรมชาติกำลังเสื่อมโทรมไปอย่างเห็นได้ชัด
กลับมาที่เรือบังก้า หลังจากดำน้ำตื้นที่เกาะจระเข้ เรือทุกลำจะมุ่งหน้าไปทางเดียวกันที่เกาะคริสตัล โคฟ (Crystal Cove Island) เป็นจุดแวะรับประทานอาหารกลางวันและเที่ยวถ้ำ คำว่าโคฟ ถ้าเปิดในพจนานุกรมจะได้ความหมาย ส่วนเว้าตามแนวเขา แต่คำไทยคำว่า ถ้ำ น่าจะแทนได้ใกล้เคียงที่สุด ในคริสตัล โคฟ ประกอบด้วย 2 ถ้ำ วิธีการไปเหมือนกัน คือลอดใต้เขาแล้วออกไปทะลุทะเล ตรงบริเวณปลายถ้ำสีน้ำทะเลจะสะท้อนขึ้นผนังกลายเป็นสีเขียว ถ้าให้คนไทยตั้งชื่อคงเรียกว่า ถ้ำมรกต มากกว่าถ้ำคริสตัล
บนเกาะมีสิ่งปลูกสร้าง ทั้งศาลากินข้าว ทางเดิน จุดชมวิว อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว แต่อีกมุมหนึ่งก็ขัดตาเพราะธรรมชาติที่สวยงามควรปล่อยให้มันงามด้วยตัวเอง อย่างเมื่อได้มองจากที่สูงทอดสายตาออกไปยังทะเล ความงามที่อยู่ตรงหน้านั่นแหละคือของจริง
โบราไคย์เป็นเกาะใหญ่ขนาด 1,083 ตร.กม. ประกอบด้วย 3 เขตหลัก ได้แก่ มานก มานก (Manoc Manoc) มาลาบัจ (Malabag) และยาปั๊ก (Yapak) ทั้งหมดอยู่ในเขตจังหวัดอักลาน (Aklan) มีประชากรบนเกาะโบราไคย์ประมาณ 1.6 หมื่นคน แต่สาเหตุการจราจรหนาแน่นบนถนนสายหลักคือนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวเกาหลีที่เข้ามาเที่ยวจำนวนมากไม่ต่างจากรัสเซียไปพัทยา บนเกาะมีโรงแรมประมาณ 500 แห่ง ตั้งแต่ห้าดาวถึงห้องเช่า เงินสะพัดตลอดปี โดยเฉพาะช่วงกลางเดือน ธ.ค. ที่เป็นพีก ซีซั่น
ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีเกาะมากที่สุดในโลก จำนวน 7,101 เกาะ ทำให้การเดินทางเป็นเรื่องยุ่งยากและสิ้นเปลืองทั้งเงินและเวลา แต่ดูเหมือนโบราไคย์เป็นข้อยกเว้น เพราะคนทั่วโลกมุ่งมั่นที่จะไป สำหรับคนไทยที่บ้านเราก็มีทะเลติดชาร์ตท็อปเทนเอเชียเช่นกัน ทำให้โบราไคย์ใกล้เคียงกับประสบการณ์ที่เคยเห็นมา แต่มันก็มีความแตกต่างที่เรียกว่าเสน่ห์ของมันเอง
การเดินทางจากมะนิลา นั่งเครื่องบินไปลงที่สนามบินนานาชาติคาลิโบ (Kalibo) 1 ชั่วโมง ต่อรถโดยสารประมาณ 2 ชั่วโมง (มีจำหน่ายตั๋วรถหน้าสนามบิน) จากนั้นนั่งเรือข้ามไปเกาะโบราไคย์ 20 นาที การเดินทางบนเกาะคือรถสามล้อสามารถต่อรองราคาได้ตามระยะทาง
และอีกเส้นทางคือจากมะนิลา เลือกสายการบินที่มาลงสนามบินกาทิกลัน (Catiklan) จะใกล้กับท่าเรือมากกว่า แต่ด้วยความที่เป็นสนามบินเล็ก เครื่องบินที่ลงจอดได้จึงเป็นรุ่น ATR 200 ที่โดยสารได้ไม่ถึง 100 คนเท่านั้น
นักท่องเที่ยวต้องจ่ายค่าขึ้นเกาะ 100 เปโซ ขาออก 100 เปโซ และค่าสิ่งแวดล้อม 75 เปโซ จ่ายครั้งเดียวตอนขาเข้า และเมื่อขาออกจากสนามบินต้องจ่ายค่าภาษีสนามบิน 150 เปโซ
ขอขอบคุณกรมการท่องเที่ยวประเทศฟิลิปปินส์ (Philippines Department of Tourism) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) และสายการบินเซบู แปซิฟิก (Cebu Pacific Airlines)