โลกวิทู
พุทธบริษัท ได้มาสันนิบาตประชุมกันในวันอัฏฐมีดิถีที่ครบ 8 ค่ำแห่งปักขคณนา เพื่อจะฟังพระสัทธรรมเทศนา
หมายเหตุ : สัปดาห์ที่แล้วได้นำเสนอคำเทศนาของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์(จันทร์ สิริจันโท) ว่าด้วยเรื่องสุคโตซึ่งเป็นหนึ่งในถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในบทสวดสรรเสริญพุทธคุณ ซึ่งผู้รู้ได้แนะนำให้สวดเพื่อเจริญสติและมีอานิสงส์ในการระงับภัยถ้อยคำในบทสวดเหล่านี้ล้วนมีความหมายที่ลึกซึ้งสุคโตเพียงคำเดียวท่านก็สามารถจาระไนได้พิสดาร สัปดาห์นี้จะเป็นตอนจบของเรื่องว่าด้วย"โลกะวิทู" ดังนี้
พุทธบริษัท ได้มาสันนิบาตประชุมกันในวันอัฏฐมีดิถีที่ครบ 8 ค่ำแห่งปักขคณนา เพื่อจะฟังพระสัทธรรมเทศนา และรักษาอุโบสถและเบญจเวรวิรัติ จงตั้งใจถึงคุณพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ให้มีในตน และจงตั้งใจรักษาศีลที่ตนสมาทานไว้นั้นให้เป็นอริยกันตศีล
คำว่าอริยะนั้นเป็นชื่อของผู้ไกลจากข้าศึกคือกิเลส
กิเลสนั้นก็คือราคะโทสะโมหะอิจฉาพยาบาทนี้เองไม่ใช่อื่น
การที่จะรักษาให้เป็นอริยกันตศีลนั้น ต้องหาอุบายที่จะเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสต้องมีอภิสัลเลขกถาปรารภถึงการที่จะให้กิเลสคือ ราคะ โทสะโมหะ เสื่อมสิ้นไปคือ อัปปิจฉกถากล่าวถึงความมักน้อย แม้ในข้อปฏิบัติธรรมก็ให้มีความพอในสิ่งที่มีในตนและที่ตนจะเป็นไปได้อย่างหนึ่ง
สันตุฏฐิกถา ปรารภถึงความยินดีในธรรมที่มีอยู่ในตน เมื่อตนมีอยู่เท่าใดก็จงยินดีเท่านั้นอย่ามัวไปนิยมในความดีของผู้อื่นของตัวมีอยู่ 9 สตางค์ 10 สตางค์ก็ยินดีของตนเท่านั้น ถ้าจะมัวไปยินดีแต่ของผู้อื่นเอาของเขามาก็ไม่ได้เพราะเช่นนั้นจึงควรยินดีแต่ของตนที่มีอยู่เท่านั้นอย่างหนึ่ง
ปวิเวกกถา ปรารภถึงวิเวกคือ กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวกอย่างไรหนอเราจะพึงได้วิเวกเช่นนี้ ส่วนกายวิเวกก็คือสงัดจากอารมณ์ ที่จะมาทางตาหูเป็นต้น จิตตวิเวกก็คือสมาธิ อุปธิวิเวกก็คือปัญญาที่มารู้เท่าต่อความเป็นจริงเราจะทำอย่างไรหนอจึงจะเป็นเช่นนั้นได้
อสังสัคคกถาปรารภถึงการที่จะหลบหลีกจากหมู่จากคณะ ว่าไฉนหนอเราจึงจะออกพ้นจากหมู่จากคณะหาที่วิเวกได้
วิริยารัมภกถาปรารภถึงความเพียรว่า เมื่อไรหนอเราจะมีโอกาสทำความเพียรได้เต็มความสามารถ สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา ก็ให้ปรารภไต่ถามซึ่งกันและกัน ดังนี้ หรือมิฉะนั้นท่านว่า อริโย วา ตุณหีภาโว ให้เป็นผู้นิ่งเจริญอยู่ในสมถะและวิปัสสนา เช่นนี้แล้วศีลก็จะบริสุทธิ์เป็นอริยกันตศีลได้เมื่อเป็นอริยกันตศีลแล้วจึงนับว่าเป็นผู้ถึงคุณพระรัตนตรัย เช่นคำที่เรานมัสการอยู่ว่าพุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งนั้นต้องเป็นที่เข้าใจว่าที่ท่านจะมาเป็นที่พึ่งของเรานั้นไม่ได้ เมื่อเราอยากจะถึงท่านก็ต้องไปพึ่งท่านต้องทำเอาเอง และต้องเข้าใจว่าที่จะเป็นที่พึ่งซึ่งกันและกันไม่ได้ ดังเช่นอุปัชฌาย์อาจารย์จะเป็นที่พึ่งของสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกก็ไม่ได้ หรือสมภารเจ้าวัดจะเป็นที่พึ่งของอุบาสกอุบาสิกาก็ไม่ได้ ที่จะมาร้องว่าขอให้เจ้าคุณเป็นที่พึ่ง จะมัวร้องอยู่ดังนี้ก็หาสำเร็จประโยชน์ของตนไม่ ตนของตนต้องเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง
พวกสัตบุรุษพุทธบริษัทที่ได้มาทำความเกื้อกูลอุดหนุนในพระบวรพุทธศาสนาก็เหมือนกับบำรุงต้นยา ถ้าต้นยาบริบูรณ์เผล็ดดอกออกผลแล้ว เราจึงเก็บยานั้นมากินได้ เหมือนกับผู้ที่บำรุงพระภิกษุสามเณร มีจีวร บิณฑบาต เสนาสนะคิลานเภสัชบริขารเหล่านี้ให้ได้รับความสุขความเจริญ เมื่อมีความเจริญเช่นนี้แล้วจะเล่าเรียนศึกษา หรือเจริญสมณธรรม เกิดเป็นผลขึ้นแล้วจึงได้มาเทศน์และแนะนำสั่งสอนให้ได้ความรู้ความฉลาดขึ้น
ในตอนนี้เป็นผลของต้นยา แต่ต้องกินยานั้นโรคจึงจะหายได้ คือ ต้องตั้งใจสดับและประพฤติปฏิบัติตามไปทีละเล็กละน้อยโรคนั้นก็จะหาย
ถ้าเมื่อต้นยามีผลแล้วเราไม่กินและจะนั่งแต่ยกมือไหว้ต้นยา ขอให้ข้าพเจ้าหายโรค เช่นนั้นเป็นอันไม่หาย ต้องกินถึงจะหาย เพราะโรคของเรามีประจำอยู่เสมอ ถ้าไม่กินยา โรคนี้อาจกินจนถึงกระดูก สมอง เพราะเหตุนี้จึงให้อุตสาหะสดับตรับฟังบ่อยๆและปฏิบัติตามก็จะได้เป็นที่พึ่งของตนได้ ตามในบทพระพุทธคุณที่ได้แสดงมาแล้วเป็นลำดับ
ในวาระนี้ถึงโลกวิทูคุณที่จะจะได้แสดงต่อไปนี้ โลกวิทูนี้แปลว่าพระองค์ทรงรู้แจ้งซึ่งโลก
โลกนั้นมีอยู่หลายประเภท แต่โลกนั้นๆก็มารวมอยู่ในสังขารโลกอย่างเดียว คือสัตวโลกโลก สัตว์อย่างหนึ่ง มนุษยโลก โลกมนุษย์อย่างหนึ่ง เทวโลก โลกเทวดาอย่างหนึ่ง มารโลก โลกพระยามารอย่างหนึ่ง พรหมโลก โลกของพรหมอย่างหนึ่ง เปรตโลก โลกของเปรตอย่างหนึ่งยมโลก โลกของพญายมอย่างหนึ่ง
โลกเหล่านี้ก็มารวมอยู่ในสังขารโลกทั้งสิ้น
คำที่ว่าโลกนี้ หมายดิน ฟ้า อากาศ ที่ประชุมลงในธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ว่าเป็นโลก
โลกนั้นเต็มไปด้วยหมู่สัตว์มีมนุษย์และเดียรัจฉาน เป็นต้น ในน้ำก็เต็มไปด้วยสัตว์น้ำ บนบกก็เต็มไปด้วยสัตว์บก ส่วนในเราคนหนึ่งๆ ก็เป็นโลกเล็กๆ น้อยๆ โลกหนึ่งๆ เหมือนกัน และเต็มไปด้วยสัตว์ เช่น หมู่กิมิชาติ คือหมู่หนอน และตัวอะไรต่างๆ ซึ่งอาศัยอยู่ตามลำไส้บ้าง สายโลหิตบ้าง ตามผิวหนังบ้าง ที่เราจะมองเห็นด้วยตาไม่ได้ สัตว์เหล่านั้นก็อาศัยในโลกอันหนึ่งๆ นี้เหมือนกัน
ในโลกนี้เหตุใดจึงเรียกว่าสังขาร...