posttoday

ขุมทรัพย์ในอากาศ

28 มิถุนายน 2557

พลังงานทดแทน นับว่าทวีความสำคัญต่อโลก ในภาวะที่กำลังประสบปัญหาพลังงานก๊าซขาดแคลน

โดย...เจียรนัย อุตะมะ ภาพประกฤษณ์ จันทะวงษ์

พลังงานทดแทน นับว่าทวีความสำคัญต่อโลก ในภาวะที่กำลังประสบปัญหาพลังงานก๊าซขาดแคลน สะท้อนจากการสร้างฐานะของเศรษฐีระดับโลกในประเทศไทยที่พบว่า 2 ปีมานี้ เศรษฐีหน้าใหม่ที่เป็นเจ้าของธุรกิจพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ติดอันดับพุ่งพรวดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เป็นขุมทรัพย์ในอากาศที่ไม่มีวันหมด

การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยที่ร่ำรวยที่สุดประจำปี 2557 ของนิตยสารฟอร์บส์ พบว่า เศรษฐีหน้าใหม่ด้านพลังงานลม เผยโฉมหน้ามาสองคน คือ อันดับที่ 31 มูลค่าสินทรัพย์ 2.61 หมื่นล้านบาท นพพร ศุภพิพัฒน์ วัย 43 ปี หนุ่มโสดผู้บุกเบิกธุรกิจพลังงานลมที่เป็นผู้ก่อตั้งและถือครองหุ้นกว่า 2 ใน 3 ของ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ธุรกิจที่สร้างพลังงานลมผลิตไฟฟ้าส่งขายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และอันดับที่ 44 มูลค่าสินทรัพย์ 1.58 หมื่นล้านบาท ประเดช กิตติอิสรานนท์ วัย 63 ปี นักลงทุนด้านพลังงานลมใน WEH เช่นกัน เขาลงทุนตั้งแต่ระยะแรกร่วมกับนพพร และถือครองหุ้นทั้งหมด 24%

ขุมทรัพย์ในอากาศ

 

นพพร มาแรงสุด สินทรัพย์แซงหน้า นักธุรกิจโทรคมนาคม ชาเขียว เศรษฐีตระกูลโอสถานุเคราะห์ นักธุรกิจน้ำตาล ค้าปลีกรายใหญ่ และนักธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นเศรษฐีหน้าใหม่ปีก่อนคือ สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA)

อย่างไรก็ตาม อันดับเศรษฐีของนักธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ อย่าง สมโภชน์ ยังแรงอย่างต่อเนื่อง จากปีก่อนมูลค่าทรัพย์สิน 1.03 หมื่นล้านบาท ติดอันดับที่ 43 ปีนี้พุ่งขึ้นมาอยู่อันดับที่ 39 มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มเป็น 1.91 หมื่นล้านบาท เพราะราคาหุ้นที่เขาถือครองใน EA ทะยานขึ้นมากกว่า 70% นับจากมีการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) วันแรก

ขุมทรัพย์ในอากาศ

 

EA ได้สร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ขนาด 90 เมกะวัตต์ ในปี 2556 และโรงไฟฟ้าอีก 2 แห่ง ที่มีกำลังการผลิตระดับเดียวกัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2558 และได้ขยายไปยังธุรกิจไฟฟ้าพลังงานลม โดยจะมีกำลังการผลิตรวม 621 เมกะวัตต์ ในปี 2563

ด้าน “ประเดช” อันดับเศรษฐีของเขาติดอันดับฟอร์บส์เป็นครั้งแรกเช่นกัน แซงเศรษฐีนักธุรกิจก่อสร้าง โรงหนัง โรงพยาบาล อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงแซงหน้า วันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี (SPCG) ผู้บุกเบิกธุรกิจโรงไฟฟ้าที่มาวินในปีก่อน

ขุมทรัพย์ในอากาศ

 

ทั้งนี้ แม้ว่าปีนี้อันดับเศรษฐีของ วันดี จะลดจากอันดับที่ 43 มาอยู่ที่อันดับที่ 48 แต่มูลค่าทรัพย์สินกลับเพิ่มขึ้นจาก 9,360 ล้านบาท เป็น 1.12 หมื่นล้านบาท ปัจจุบัน SPCG เป็นบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุด มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในมือ 36 โครงการ 10 จังหวัดทั่วประเทศ โดย 2 แห่งจากจำนวนนี้เปิดดำเนินการแล้ว และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 260 เมกะวัตต์/ปี ครอบคลุมพื้นที่ 5,000 ไร่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

WEH เป็นผู้ผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 207 เมกะวัตต์ มูลค่าบริษัท 4.2 หมื่นล้านบาท ที่ส่งผลให้ทั้ง นพพร และ ประเดช กลายเป็นเศรษฐีใหม่ของฟอร์บส์ในปีนี้ โดยโครงการตั้งอยู่ที่ ทุ่งกังหันลมห้วยบง ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

ขุมทรัพย์ในอากาศ

 

ประเดช เล่าว่า สินทรัพย์ที่ทำให้ติดอันดับเศรษฐี 1.58 หมื่นล้านบาทนั้น คิดเป็นในส่วนของเขาและครอบครัวถือหุ้นร่วมกัน 75% ในนามดีดีมาร์ท โฮลดิ้ง ที่โฮลดิ้งนี้เข้าไปถือหุ้น WEH 20% ที่เหลืออีก 4% ถือในนามครอบครัว รวมมูลค่าในบริษัท 1 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 5,800 ล้านบาทนั้น เป็นพอร์ตหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท ซุปเปอร์บล๊อก (SUPER) และเอเวอร์แลนด์ (EVER)

สำหรับ นพพร ถือหุ้นใน WEH 31% เริ่มต้นทำธุรกิจพลังงานทางเลือกในปี 2548 ด้วยการสนับสนุนเงินทุนจาก ประเดช

ขุมทรัพย์ในอากาศ

 

“ตอนนั้นผมเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เด็มโก้ (DEMCO) บริษัทรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่คุณนพพรเสนอให้ร่วมทุนพัฒนาโครงการ ผมสนใจจะร่วมทุนกับเขา จึงรับปากว่าจะเข้าร่วมทุน แต่คณะกรรมการบริษัทไม่เห็นด้วย ผมจึงกระโดดเข้าร่วมทุนส่วนตัว”

ประเดช กล่าวว่า ในมุมมองของเขา ตอนนั้น นพพร อายุ 37 ปี แต่มีเป้าหมายที่ใหญ่มาก มีแผนงานชัดเจนที่ต้องการสร้างตัวเอง ทั้งที่ครอบครัวร่ำรวยมาก เป้าหมายของเขาคือ ต้องการสร้างบริษัทให้มีขนาดใหญ่ระดับ 1 แสนล้านบาท และสร้างธุรกิจพลังงานลมให้มีขนาดใหญ่ติด 1 ใน 5 อันดับแรกของโลก ตอนนั้นเรื่องพลังงานลมยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย

ขุมทรัพย์ในอากาศ

 

ความที่ ประเดช จบวิศวกรรมไฟฟ้าจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีประสบการณ์ในฐานะกรรมการผู้จัดการเด็มโก้ จึงมีการซักถาม และรับรู้ได้ว่าชายหนุ่มที่นั่งอยู่ตรงหน้าตัวเองมีความรู้เรื่องสิ่งที่เขาจะทำดีมาก มีการศึกษาอย่างละเอียด มีแผนที่ลมที่ซื้อมาจากองค์การนาซา รู้วิธีวัดพลังงานลมที่เป็นมาตรฐานสากล

“ตอนนั้นผมไม่รู้เรื่องพลังงานลมเลย แผนที่ลมทำให้รู้ว่าพื้นที่ไหนมีลม พื้นที่ไหนไม่มีลม สามารถไปตั้งจุดวัดลม ทำให้นึกในใจว่า หมอนี่รู้จริง ตอนนั้นเทคโนโลยีไม่คุ้มทุน ด้วยราคาพลังงานผลิตไฟฟ้าระดับนี้ ต้องใช้เวลาวัดลม 23 ปี วัดจนได้มาตรฐาน โดยจะต้องพัฒนาประสิทธิภาพของกังหันลมให้ถึงระดับหนึ่งจึงจะคุ้มทุน สามารถจองพื้นที่ได้”

ขุมทรัพย์ในอากาศ

 

ประเดช กล่าวว่า เขากล้าลงทุนระยะยาว เพราะเป็นนักวางแผน คิดล่วงหน้า 510 ปี โรงไฟฟ้าพลังงานลมพัฒนาช้ากว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

เขากล่าวว่า เริ่มลงทุนในบริษัทนี้ตั้งแต่ 10% และเพิ่มสัดส่วนขึ้นตามลำดับโดย ประเดช เป็นผู้ลงทุน และนพพร ลงแรง

ขุมทรัพย์ในอากาศ

 

“ผมลงทุนโครงการนี้ ตั้งแต่ดีดีมาร์ท โฮลดิ้ง ยังทำธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อ และถึงจุดที่ต้องขยายสาขาอีก 200300 สาขา เพื่อให้มีกำไร และเป็นเบอร์ 2 ของประเทศ จึงเสนอโครงการไปยังเด็มโก้ พร้อมๆ กับเสนอให้เด็มโก้ร่วมทุนใน WEH แต่ถูกปฏิเสธเข้าร่วมทุนทั้งสองโครงการ ทำให้ต้องขายธุรกิจดีดีมาร์ท ออกไปและเปลี่ยนมาเป็นโฮลดิ้ง เพื่อนำเงินมาลงทุนใน WEH ผมแก้ไขปัญหาในเด็มโก้ที่ขาดทุนตั้งแต่วิกฤตปี 2540 จนกระทั่งผลักดันเข้า ตลท.ในปี 2549”

ประเดช กล่าวว่า เลือกลงทุนในพลังงานลม เพราะประเมินแล้วว่าหากทำร้านค้าสะดวกซื้อต่อเหนื่อย จึงยุบมินิมาร์ทขาย และเลิกกิจการค้าส่งเหล้า เบียร์ ที่ทำมา 20 กว่าปี เพื่อนำเงินสดมาทำพลังงานลม โดยถือหุ้นในนามดีดี มาร์ท โฮลดิ้ง

ขุมทรัพย์ในอากาศ

 

“ร้านค้าส่งผมขายเบียร์ช้างเดือนละ 6 หมื่นลัง รวมเบียร์อื่นอีกนับแสนลัง ส่งมินิมาร์ทอื่นด้วย ผมเลิก เพราะเชื่อว่าพลังงานลมเป็นเทคโนโลยีที่พิสูจน์แล้ว ผมฟังคุณนพพรนำเสนอ 2 ครั้ง ตอนนั้นพลังงานแสงอาทิตย์พัฒนามา 67 ปีแล้ว เราเพิ่งวัดลม 23 ปี ที่ถูกมาตรฐาน ค่าวัดลม 23 ล้านกว่าบาท แต่ผมมั่นใจพลังงานลมมากกว่า”

การทำแผนที่ลม ต้องมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญ มีการออกแบบจุดติดตั้ง เจรจาผู้ผลิตกังหันลมที่สามารถผลิตพลังงานได้ตามที่ประเมิน มีการเจรจาขอเงินกู้จากธนาคาร โดยกระบวนการใช้เวลา 12 ปี

ขุมทรัพย์ในอากาศ

 

โรงไฟฟ้าพลังงานลม มีอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) 3.50บาท ตามที่ กฟผ.สนับสนุนโครงการของทุ่งกังหันลมห้วยบง เป็นโครงการเชิงพาณิชย์โครงการแรก

ปัจจุบัน มี 2 โครงการ 207 เมกะวัตต์ ติดตั้งโครงการละ 103.5 เมกะวัตต์ โครงการแรกเริ่มจ่ายไฟฟ้าตั้งแต่ปลายปี 2555 และโครงการที่ 2 เริ่มจ่ายไฟฟ้าตั้งแต่ต้นปี 2556 โดยมีการจัดการบริหารเป็นโครงการเดียว

ขุมทรัพย์ในอากาศ

 

นอกจากนั้น ยังมีสัญญาผู้ถือครองใบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (พีพีเอ) อีก 3โครงการ 270 เมกะวัตต์ โครงการละ 90 เมกะวัตต์ ที่ได้รับการตอบรับแล้ว

ที่เหลือยังรอตอบรับอีก 1 โครงการ 240 เมกะวัตต์ และยื่นขอขายไฟอีก 60 เมกะวัตต์ และโครงการสุดท้ายปี 2561 จำนวน 90 เมกะวัตต์

ประเดช กล่าวว่า ปี 2561 WEH จะเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งหมด 750 เมกะวัตต์ ที่มีการจ่ายไฟให้ กฟผ.

ปัจจุบันบริษัทกู้เงินจากธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ และยังมีแผนระดมทุนโดยการเข้าจดทะเบียนใน ตลท.ในกลางปีหน้า ขณะนี้ตั้งที่ปรึกษาทางการเงินแล้วคือ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง บล.ภัทร และ บล.มอร์แกน สแตนเลย์

ประเดช เป็นนักลงทุนหุ้นมานานนับ 20 ปีแล้ว เขาเพิ่งขายหุ้นในเด็มโก้ ที่ถือมานานนับ 20 ปี ได้เงินมาพันล้านบาท จากเงินเริ่มต้นไม่ถึง 5 แสนบาท

จนกระทั่งปัจจุบันแบ่งมรดกให้ลูกทั้งสามคนเรียบร้อยแล้วรวมถึงพอร์ตลงทุน

เขากล่าวว่า ลูกทุกคนของเขามีอิสระทางการเงินทั้งหมดแล้ว และดูแลการลงทุนให้ครอบครัวที่ประกอบด้วย ร้านกำธรพาณิชย์ที่ขายส่งเหล้าและเบียร์ และดูแลธุรกิจที่ดีดีมาร์ท โฮลดิ้งเข้าไปลงทุน

ปัจจุบันพอร์ตลงทุนของบริษัท ดีดีมาร์ท โฮลดิ้ง มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ที่ถือหุ้นใน WEH, SUPER และ EVER

เสียดายที่ นพพร ผู้ก่อตั้ง WEH ยังอยู่ต่างประเทศ มิเช่นนั้นคงได้มานั่งเล่าความใฝ่ฝันที่ใกล้ความจริงของธุรกิจพลังงานลมที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศเป็นอย่างมาก ร่วมกับผู้ร่วมทุนคนนี้