โลกวิทู
ณ วันนี้เป็นวันอัฏฐมีดิถีที่ 8 ค่ำแห่งปักขคณนา พุทธบริษัทได้มาสันนิบาตพรักพร้อมกัน
ณ วันนี้เป็นวันอัฏฐมีดิถีที่ 8 ค่ำแห่งปักขคณนา พุทธบริษัทได้มาสันนิบาตพรักพร้อมกัน เพื่อรักษาซึ่งอุโบสถศีล และฟังพระธรรมเทศนา ให้สำเร็จปฏิบัติบูชาในพระพุทธเจ้า ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ เมื่อพร้อมด้วยสันนิบาตประชุมเช่นนี้แล้ว เบื้องหน้าแต่นี้พึงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ของตนๆ การฟังต้องอาศัยความตั้งใจฟัง จึงจะเกิดปัญญาความรู้ความฉลาดสมดังที่ว่ามา “สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ” ผู้ฟังด้วยดีย่อมได้ซึ่งปัญญา ดังนี้ ถ้าฟังไม่ดีคือไม่ตั้งใจฟัง ย่อมไม่เกิดปัญญา การฟังที่ไม่เกิดปัญญาย่อมมีอานิสงส์น้อย
การฟังที่ให้เกิดปัญญาตาใจ มีอานิสงส์มากและอาจเป็นสรณะที่พึ่งแก่ตนได้ การฟังก็หมายเพื่อจะหาที่พึ่งและหลักฐานในใจของตน เมื่อฟังแล้วไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็ให้ไต่ถามผู้อื่นให้รู้ให้เข้าใจ เมื่อรู้เมื่อเข้าใจแล้วก็ให้ประพฤติปฏิบัติตาม เพราะบรรดาพุทธโอวาททั้งหลาย ไม่ปราศจากประโยชน์และไม่ปราศจากผล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ท่านผู้อื่น และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน
บัดนี้จักต่ออนุสนธิในพระพุทธคุณ บทว่า โลกวิทู ผู้รู้แจ้งซึ่งโลกเป็นลำดับไป ในวาระก่อนได้แสดงพระพุทธคุณบทสุคโตซึ่งแปลว่าผู้ถึงดีแล้วผู้ไปดีแล้ว บัดนี้จักแสดงบท โลกวิทู ซึ่งแปลว่าผู้รู้แจ้งซึ่งโลก
คำว่าโลกนั้นมีหลายอย่างหลายประการ แต่เมื่อจะย่นลงแสดงแล้ว โลกมีอยู่ 3 อย่าง คือสังขารโลก 1 ธาตุโลก 1 สัตวโลก 1 แต่คำว่าโลกนั้นมีเนื้อความกว้างขวางนัก พระพุทธเจ้าพระองค์เป็นใหญ่ในกามโลก รูปโลก อรูปโลก ไม่มีใครจะยิ่งกว่าพระองค์ได้ แต่ที่พระองค์ทรงพระนามว่าโลกวิทูนั้น คือ พระองค์รู้แจ้งซึ่งสังขารโลก
สังขารโลกนี้มีเนื้อความพิสดารกว้างขวางมาก คือสิ่งทั้งหลายที่เราพูดกันหรือปรุงแต่งกันอยู่ทุกวันนี้ เช่น รูป นาม ธาตุ ขันธ์ อายตนะ เป็นต้น เหล่านี้เรียกว่าสังขารโลกทั้งนั้น
ส่วนธาตุโลกนั้นได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ส่วนสัตวโลกนั้น ได้แก่ สัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลาย จะเป็นสัตว์ประเภทใด เล็กและใหญ่อย่างไรก็ตาม ซึ่งอาศัยอยู่ในโลกนี้ เรียกว่า สัตวโลกทั้งนั้น ส่วนกามโลกนั้น หมายถึงสัตว์ที่มีความยินดีอยู่ในกามารมณ์ทั้ง 5 ประการ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ส่วนรูปโลกนั้น หมายถึงบุคคลผู้พ้นจากกาม ไม่มีความยินดีในกามารมณ์แล้ว แต่ยังติดอยู่ในรูปารมณ์อย่างเดียว บุคคลจำพวกนี้ท่านยกรูปพรหมมาเป็นตัวอย่าง ท่านเหล่านี้มีความสุขอยู่ด้วยพรหมวิหารธรรม มีความสุขสุขุมละเอียดยิ่งนัก อีกอย่างหนึ่ง ท่านที่เจริญฌานมีอากาสานัญจายตนฌาน เป็นต้น เป็นผู้ไม่มีความยินดีในรูป ท่านเหล่านี้ไม่มีรูป แต่ยังมีนามอยู่ เรียกว่าอรูปโลก
โลกทั้ง 3 นี้ พระองค์เป็นผู้เป็นใหญ่กว่าบุคคลทั้งปวง
ส่วนโลกชั้นสูงขึ้นไป คือ โลกุตตรโลก แปลว่า เหนือโลกหรือพ้นจากโลก คือพ้นจากโลกทั้ง 3 นี้ คือโลกพระนิพพาน เรียกว่า โลกุตตรโลก และยังมีโลกอื่นๆ แทรกแซงอีกบ้าง คือ มนุสสโลก โลกมนุษย์ 1 เทวโลก โลกของเทวดา 1 พรหมโลก โลกของพรหม 1 มารโลก โลกของมาร 1 เปตโลก โลกของเปรต 1 ยมโลก โลกของพระยม 1 โลกมีมากอย่าง เช่นนี้ แต่บรรดาโลกทั้งหลายที่ตั้งขึ้นทุกอย่าง ย่อมสำเร็จด้วยสังขารโลกทั้งนั้น
ผู้ที่มีความมุ่งหมายอยากรู้จักโลกต่างๆ นั้น ไม่สู้มีประโยชน์อะไรนัก ข้อสำคัญก็คือโลกของตัว โลกคือตัวเรานี้แหละ เป็นของสำคัญมาก โลกคือตัวเรามีมากมายร้อยแปดประการทีเดียว มีทั้งรูป นาม ธาตุ ขันธ์ อายตนะ มีทั้งผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น สำหรับคนหนึ่งๆ
จะนับก็ไม่ถ้วน จะหักคะแนนก็ไม่ไหว อาการทั้งหลายที่มีในตัวเราทั้งหมด เรียกว่าสังขารโลกทั้งนั้น ให้เข้าใจอย่างนี้
คำว่าโลกนั้นคือหาเจ้าของมิได้ หาผู้ตั้งผู้แต่งไม่ได้ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ของเราจะไปหาผู้แต่งไม่ได้ เขาตั้งเขาแต่งกันมาได้หลายหมื่นหลายแสนหลายล้านหลายโกฏิปีแล้ว ถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดทีหลังเขา เหมือนอย่างพวกเรานี้แหละ เมื่อพระองค์เกิดมาก็เห็นเขาแต่งตั้งและร้องเรียกกันอยู่อย่างนี้
เหตุที่ไม่มีเจ้าของผู้แต่งตั้ง จึงเรียกว่าโลก
เพราะเหตุนั้น บรรดาสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในตัวเราที่สมมติร้องเรียกกันอยู่ เรียกว่าสังขารโลกทั้งนั้น ที่ตัวเรามีวิญญาณปกครองอยู่ด้วยอาการที่รู้คิดรู้นึกรู้ตรึกรู้ตรอง เรียกว่าสัตวโลก ที่ตัวเรามีธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม หรือมีธาตุทั้ง 6 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ เหล่านี้เรียกว่าธาตุโลก
ตัวของเรามีโลกทั้งสามครบบริบูรณ์ทีเดียว คือ สังขารโลก ธาตุโลก สัตวโลก มีอยู่ที่ตัวของเราครบบริบูรณ์
ผู้ที่จะรู้ว่าโลกสามมีในตัวของเรานั้น ไม่มีใครรู้ยิ่งไปกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ในทุกวันนี้เขานิยมดินฟ้าอากาศว่าเป็นโลก เช่นนี้ก็ได้นัยหนึ่ง เพราะว่าโลก คือ ดินฟ้าอากาศที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ก็มีธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ครบบริบูรณ์เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น โลกกับธาตุจึงเป็นอันเดียวกัน คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อาศัยซึ่งกันและกัน จึงเรียกว่าโลก คำว่าธาตุนั้นเป็นสัญญานามธรรม เป็นคำกลางๆ เราจะเอาอะไรๆ มาใส่ก็ได้ เอาดินมาใส่ก็เป็นธาตุดินไป เอาน้ำมาใส่ก็เป็นธาตุน้ำไป เอาไฟมาใส่ก็เป็นธาตุไฟไป เอาลมมาใส่ก็เป็นธาตุลมไป เอาตะกั่วดีบุกมาใส่ก็เป็นธาตุนั้นๆ ไป เป็นต้น
ธาตุกับธรรมมีอาการเป็นอันเดียวกัน
ธาตุก็แปลว่า ทรงไว้ ธรรม ก็แปลว่า สภาพที่ทรงไว้ซึ่งความดีและความชั่ว เรียกว่าธรรม เช่นในตัวของเรา ถ้าอาการบุญคือความดีเกิดขึ้น ก็เรียกว่ากุศลธรรม ถ้าอาการบาป คือ ความชั่วเกิดขึ้น ก็เรียกว่าอกุศลธรรม ถ้าอาการไม่ดีไม่ชั่ว คือ ความเป็นกลางๆ เกิดขึ้น ก็เรียกว่าอัพยากฤตธรรม
ธรรมมีปริยายต่างๆ มากอย่างหลายประการ ใครทรงไว้ซึ่งธรรมประเภทใด ก็ตั้งชื่อไปตามธรรมประเภทนั้น คือว่ามีอะไรปรากฏขึ้นก็เรียกไปตามธรรมที่ปรากฏขึ้นนั้น เช่น ผู้ทรงไว้ซึ่งศีล ก็เรียกว่าศีลธรรม ผู้ทรงไว้ซึ่งสมาธิ ก็เรียกว่าสมาธิธรรม ผู้ทรงไว้ซึ่งปัญญา ก็เรียกว่าปัญญาธรรม ผู้ทรงไว้ซึ่งวิมุตติ ก็เรียกว่า วิมุตติธรรม ดังนี้เป็นต้น
ธรรมเป็นฉันใด ธาตุก็เป็นเช่นนั้น เราเอาอะไรมาใส่ในธาตุ ก็กลายเป็นธาตุนั้นไป ไม่เฉพาะแต่ธาตุ 4 และ ธาตุ 6 เท่านั้น ขันธ์ก็มีอาการเหมือนกัน คำว่าขันธ์ก็คือสิ่งที่เป็นก้อนเป็นแท่งรวมกันอยู่ เรียกว่าขันธ์ ขันธ์นี้มีเนื้อความกว้างขวางพิสดารมากเหมือนอย่างธรรมและธาตุ เช่นเอารูปมาใส่ก็เป็นรูปขันธ์ไป เอาเวทนามาใส่ก็เป็นเวทนาขันธ์ไป เอาสัญญามาใส่ก็เป็นสัญญาขันธ์ไป เอาสังขารมาใส่ก็เป็นสังขารขันธ์ไป เอาวิญญาณมาใส่ก็เป็นวิญญาณขันธ์ไป 5 อย่างนี้รวมเรียกว่าขันธ์ 5 ถ้าอยากให้เป็น
ขันธ์ 8 ก็เอาศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ มาเติมเข้าอีก ก็กลายเป็นขันธ์ 8 ไป ถ้าอยากให้เป็นขันธ์แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ก็ให้เอาความโลภ ความโกรธ ความหลง และอะไรต่ออะไรมาใส่เข้าก็กลายเป็นขันธ์นั้นๆ ไป
การที่รู้อย่างนี้เรียกว่ารู้สังขารโลก การที่รู้จักโลกเหล่านั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไรนัก การที่รู้จักโลกคือตัวของเรานี้มีประโยชน์มากมาย
อ่านต่อสัปดาห์หน้า