posttoday

4 ทศวรรษ ภาพแฟชั่นไทยร่วมสมัย ฝีมือ...ช่างภาพในตำนาน

17 กันยายน 2557

ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยกับการรวบรวมภาพถ่ายฝีมือกดชัตเตอร์ของช่างภาพฝีมือขั้นเทพ ระดับตัวพ่อตัวแม่

โดย...ปอย

ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยกับการรวบรวมภาพถ่ายฝีมือกดชัตเตอร์ของช่างภาพฝีมือขั้นเทพ ระดับตัวพ่อตัวแม่ ซึ่งสร้างผลงานไว้บนปกวงการแมกกาซีนไทย แต่สำหรับนิทรรศการภาพถ่ายแฟชั่น “40 Years of Thai Fashion Through the Eyes of Photographers” รวบรวมช่างภาพชั้นนำได้มากถึง 20 คน คือ นภดล โชตะสิริ โชติวิชช์ สุวงศ์ ศักดิ์ชัย กาย วสันต์ ผึ่งประเสริฐ วิรัช จัตตุวัฒนา สุเมธ วิวัฒน์วิชา นพดล ขาวสำอางค์ อมาตย์ นิมิตภาคย์ ณัฐ ประกอบสันติสุข ลัคณา วิรุณานนท์ องค์อร อุปอินทร์ สืบพงษ์ สิงหสุต ชิระ วิชัยสุทธิกุล พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์ สุรัตน์ จริยวัฒนวิจิตร จุฑารัตน์ พรมุณีสุนทร ธาดา วารีช สุรศักดิ์ อิทธิฤทธิ์ ธนนนท์ ธนากรกานต์

นิทรรศการภาพถ่ายแฟชั่นครั้งนี้ นำเสนอวิวัฒนาการแฟชั่นร่วมสมัยตลอดระยะเวลา 40 ทศวรรษ ตั้งแต่ยุค 1970s 1980s 1990s และ2000s และงานครั้งนี้เจ้าภาพสยามเซ็นเตอร์ ยังจัดเพิ่มพื้นที่ให้อีก ช่างภาพระดับตำนาน ในนิทรรศการ Witaya Marayat : A Tribute ร่วมรำลึกถึงคุณูปการ ของ “วิทยา มารยาท” ช่างภาพชั้นครูที่มีต่อวงการแฟชั่นไทย การตัดริบบิ้นนิทรรศการนี้จึงเป็นอีกค่ำคืนแห่งความทรงจำสมกับเป็นแฟชั่นอีเวนต์ยิ่งใหญ่ที่สุดในปี ในรูปแบบกาล่าสุดเอ็กซ์คลูซีฟที่คนวงการแฟชั่นทุกสาขาอาชีพได้พบปะสังสรรค์พูดคุยเรื่องราวในวงการแฟชั่นกันอย่างออกรส และยังมีการประมูลผลงานภาพถ่ายแฟชั่นระดับมาสเตอร์พีซ ท่ามกลางเหล่านางแบบนายแบบระดับซูเปอร์สตาร์ชั้นนำ

งานนี้จัดแสดงให้ชมกันฟรี ชั้น 1 สยามเซ็นเตอร์ ถึงวันที่ 5 ต.ค.นี้ เพื่อเป็นการยกย่องผู้อยู่หลังเลนส์ในตำนาน มาดูกันสิว่า ...4 ทศวรรษ ใครคือผู้ยิ่งใหญ่ครองยุค

4 ทศวรรษ ภาพแฟชั่นไทยร่วมสมัย ฝีมือ...ช่างภาพในตำนาน

 

ความคลาสสิกแห่งยุค 70s

นิทรรศการครั้งนี้ย้อนการกำเนิดของแฟชั่นไทยร่วมสมัย ปลายยุค 60s เป็นยุคแรกที่รูปแบบแฟชั่นตามแบบสากล นักออกแบบนิวเฟซในยุคนั้นวงการแฟชั่นได้กำเนิดดีไซเนอร์ชื่อไทยแท้ สมชาย แก้วทอง นักเรียนศิลปะจากรั้วเพาะช่าง เริ่มสร้างสรรค์เสื้อผ้าแฟชั่นสำหรับวางขายในร้านตัวเอง จากที่ก่อนหน้านั้นเมืองไทยไม่ได้มีแฟชั่นดีไซเนอร์ลุกขึ้นมานำเสนอผลงานออกแบบของตัวเองในแบบสากล

องค์ประกอบการสร้างสรรค์ภาพถ่ายแฟชั่น ทั้งแฟชั่นสไตลิสต์ นายแบบนางแบบ รวมถึงเมกอัพอาร์ติสต์ และแฮร์สไตลิสต์ยังไม่ปรากฏชัดเจน แต่งานสร้างสรรค์เป็นแบบ DIY ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันในหมู่เพื่อนพ้องน้องพี่ที่ล้วนทำงานเกี่ยวข้องกับศิลปะและดีไซน์ใกล้ๆ ตัว และสิ่งเหล่านั้น ก็คือความสนุกและตื่นเต้นสำหรับแฟชั่นไทยในยุคบุกเบิกบนหน้านิตยสารสตรี

นภดล โชตะสิริ หรือ พี่เซียน ที่นางแบบทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่เรียกกันคุ้นเคย ช่างภาพผู้สร้างตำนานปกนิตยสาร ลลนา ยุคปลาย 60s เชื่อมต่อยุคต้น 70s ปกนิตยสารนำเสนอรูปถ่ายหญิงสาวแต่งกายทันสมัย เน้นใบหน้าชัดเจน เป็นการบุกเบิกรูปแบบปกนิตยสารไทยแห่งยุคสมัย

“ภาพถ่ายในยุคนั้นไม่มีคำว่า แฟชั่นเซต ทุกอย่างทำตามใจอาจารย์ผมสุวรรณี สุคนธา เท่านั้นเองไม่มีอะไรมาก” พี่เซียน นภดล บอกด้วยบุคลิกนิ่งๆ ใบหน้าเรียบๆ และอธิบายคำว่า ง่าย ถูก ไม่ต้องไปเสียเงินมาก คือวิธีทำงานของนิตยสารลลนา ซึ่งเน้นคำว่าธรรมชาติ สิ่งที่เรียกว่าแฟชั่น ก็แค่ทำในสิ่งที่อยากทำเท่านั้นเอง

“เหมือนอย่างเช่นการถ่ายแฟชั่นที่ใช้โลเกชั่นร้านตัดผมในต่างจังหวัด ก็เกิดจากเดินทางไปทำงานแล้วเห็นจากข้างทาง รู้สึกชอบบรรยากาศตรงนั้นผมก็ขอเข้าไปถ่าย ง่ายๆ สบายๆ ไม่มีสไตล์พวกเราทำในสิ่งที่อยากทำ การนำเสนอก็เหมือนเรามีบ้าน มีรั้วบ้าน คนบ้านนี้เป็นเพื่อนบ้านเราก็แนะนำให้คนอ่านหนังสือได้รู้จักกัน

นางแบบคนโปรด พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ อาภาพันธุ์ สุริยสัตย์ ทำงานแล้วเข้าใจการทำงานกันดี ตามใจช่างภาพ (หัวเราะ) ผมไม่ได้ดุนะ แต่ใจร้อน ทำงานแล้วต้องให้เสร็จเร็วๆ แต่ก็เป็นสไตล์คนในครอบครัวนะ ไม่ใช่เร็วสไตล์ธุรกิจ ทีมถ่ายแฟชั่นก็ไปกันทั้งครอบครัว คุณสุวรรณี ไปดู ไปสั่งงานกันตรงนั้นเป็นทั้งคนคุมคอนเซ็ปต์การถ่ายภาพ และคนขับรถด้วย (ว่าแล้วก็หัวเราะ) ส่วนลูกสาว คุณกบดวงตา นันทขว้าง ก็ไปช่วยเรื่องแฟชั่น แล้วก็มีหน้าที่แต่งหน้าทำผม ทุกคนทำหลายๆ หน้าที่ ก็เพราะ ลลนา คือชีวิตของพวกเรา เรามีวิธีการทำงานกันแบบนี้ ผมทำลลนาตั้งแต่ยุคบุกเบิก (พ.ศ. 2515) และหยุดทำไปในปี 2530 แฟชั่นเซตช่วงท้ายๆ รู้สึกว่าจะถ่ายให้กับนิตยสารเปรียว นางแบบคือ หมิวลลิตา ปัญโญภาส” พี่เซียน บอกนามสกุลนางแบบบ่งบอกกาลเวลาจริงอะไรจริง

ช่างภาพระดับตำนานย้ำด้วยว่า ลลนา คือนิตยสารเพื่อการอ่านซึ่งก่อตั้งโดยศิลปินที่เป็นนักเขียน ปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่นิตยสารอื่นๆ ในยุคเดียวกันนั้นไม่มี เช่น วิธีการจัดหน้าที่เรียกว่า การโปรยปก เช่น บอกว่าวันนี้มีเรื่องสั้นของ กฤษณา อโศกสิน กาญจนา นาคนันทน์ ฯลฯ จึงไม่ใช่นิตยสารขายภาพแฟชั่น สิ่งที่ทำให้เกิดชาว “ลลเนี่ยน” ซึ่งเป็นคำเรียกสาวกแฟนคลับหรือที่สมัยนี้เรียกกันว่า “ติ่ง” ของนิตยสารเล่มนี้ก็คือคุณค่าตัวอักษร ไม่ใช่เพียงภาพแฟชั่น หลอมสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้กลายเป็นแมกกาซีนของคนทันสมัย เปรี้ยวปรี๊ดของยุค

4 ทศวรรษ ภาพแฟชั่นไทยร่วมสมัย ฝีมือ...ช่างภาพในตำนาน

 

ความหรูหราของยุค 80s

เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ของการจัดอีเวนต์แห่งปีที่ต้องจารึกในหน้าประวัติศาสตร์วงการแฟชั่นไทย เจ้าภาพงานนี้ สยามเซ็นเตอร์ สมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพ และกลุ่มช่างภาพแฟชั่นชั้นนำของเมืองไทย ให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการรำลึกถึง วิทยา มารยาท ช่างภาพแฟชั่นยุค 80s ที่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจและอยู่เบื้องหลังความก้าวหน้าของวงการแฟชั่นไทย

อาจกล่าวได้ว่า ช่างภาพผู้ล่วงลับ “พี่โต วิทยา” (ของน้องๆ นางแบบอีกคน) คือผู้บุกเบิกการถ่ายแฟชั่นยุคใหม่ช่วงยุคต้น 80s ผู้นำเสนอความสดใหม่ของแฟชั่นในยุคที่ความหรูหราฟุ่มเฟือยเดินทางมาถึงขีดสุด ช่วงเปลี่ยนแปลงของแฟชั่นเมืองไทยก้าวสุ่ยุคแฟชั่นสำเร็จรูป จากการทยอยเดินทางกลับจากฝรั่งเศสของนักออกแบบไทยรุ่นใหม่ที่เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง “พี่โต” มีโอกาสทำงานกับนักออกแบบรุ่นบุกเบิก เช่น ห้องเสื้อ ดวงใจบิส พิจิตรา องอาจ นิระมล หรือเธียเตอร์ ดีไซเนอร์ยุคนี้ได้รับอิทธิพลจากปารีสเมืองหลวงแห่งแฟชั่น โชว์ปกความเปรี้ยวประชันกันสุดขีด

ภาพแฟชั่นของวิทยานำเสนออย่างสม่ำเสมอในหน้านิตยสาร ช่วงปี 1983 เป็นต้นมา พร้อมกับการเกิดขึ้นของเมกอัพอาร์ติสต์ แฮร์สไตลิสต์รุ่นใหม่ๆ ที่ก้าวเข้ามาพร้อมนางแบบคลื่นลูกใหม่ หุ่นสูงยาวเข่าดี ใบหน้าเหลี่ยมก็เริ่มมีให้เสพความเก๋แปลกตา กาญจนาพร ปลอดภัย คือนางแบบโดดเด่นของวงการ

“ภาพแฟชั่นในยุคนั้นยังไม่มีเสื้อผ้าแบรนด์นอก ฝีมือของดีไซเนอร์ไทยล้วนๆ ค่ะ ในแบบโอ๊ตกูตูร์ 1 แบรนด์ต่อ 1 เซตค่ะ หน้าที่ของนางแบบพรีเซนต์เสื้อผ้าส่วนใหญ่ตัดเย็บโดยผ้าไทย เช่น ผ้าไหมของห้องเสื้อระพี จนมาถึงยุคของลูกสาว พี่เจี๊ยบ พิจิตรา ที่ริเริ่มนำผ้าปักชาวเขามาใช้ตัดชุดกูตูร์ ดิฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้เป็นนางแบบเพราะหน้าก็ไม่สวย ตัวก็สูงๆ แต่ยุคนั้นเริ่มเน้นนางแบบที่มีคาแรกเตอร์ให้เข้ากับห้องเสื้อซึ่งเป็นธรรมเนียมฝรั่งเศส เช่น ถ้าคนนี้เป็นนางแบบของ ไข่ สมชาย ก็จะเลือกไว้ 45 คน สำหรับแบรนด์นี้ ไม่เหมือนสมัยนี้ที่นางแบบคือตุ๊กตาหลากหลาย แล้วแต่เจ้าของเสื้อผ้าจะจับใส่ ส่วนมากดิฉันก็จะได้ใส่เสื้อผ้าเปรี้ยวๆ ในแบบของพี่จ๋อมศิริชัย ทหรานนท์ ห้องเสื้อเธียเตอร์ ส่วนใหญ่ก็จะใช้พี่โต วิทยา ที่ถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราวเน้นการให้แสง การโพสท่าของนางแบบโดยใช้โจทย์ที่จะต่างกันไปของแต่ละห้องเสื้ออย่างที่เห็นได้ชัดเจนค่ะ นี่คือความเป็นช่างภาพมืออาชีพของเขาที่ตอบสนองยุคของห้องเสื้อแต่ละแบรนด์ เริ่มแสดงตัวตนแตกต่างกันอย่างชัดเจนมากขึ้น” เจี๊ยบ กาญจนาพร นางแบบรุ่นเก๋า บอกเล่าภาพทรงจำวันวาน

องอาจ นิระมล เจ้าของห้องเสื้อ องอาจ นิระมล (OngArt Niramon) ดีไซเนอร์โด่งดังยุค 80s แบรนด์ฮอตแห่งยุคที่คนรักแฟชั่นต้องมีไว้ครอบครอง บอกว่าเสื้อผ้าแบรนด์องอาจ เกิดจากช่างภาพที่ชื่อ พี่เซียน นภดล และตอกย้ำความเอกลักษณ์ความแตกต่างด้วยฝีมือ พี่โต วิทยา

“ช่างภาพสมัยนั้นสอนดีไซเนอร์ด้วยนะ พี่เซียนบอกเลยไทมิ่งสำคัญที่สุด พี่โตเน้นการแต่งหน้าที่เป็นอาร์ตไม่ใช่แค่เสื้อผ้าสวย เพราะสมัยนั้นไม่มีการรีทัช ถ่ายไปเข้าโรงพิมพ์ออกมารูปอาจเปลี่ยนไปอีกอย่างก็ได้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องเป็นมาสเตอร์ แฟชั่น 1 เซต 68 ชุด แต่ทุกอย่างต้องเป๊ะ ช่างภาพต้องเลือกนางแบบร่วมกับดีไซเนอร์ สมัยนั้นอย่างพี่เซียนไม่ถูกใจนางแบบนี่ ไม่ถ่ายให้เราเลยนะ แต่ผมกลับมองว่านี่คือเสนห์ของการทำงานแฟชั่นที่ทุกคนทำงานด้วยใจรักอยากให้งานออกมาดีจริงๆ นะครับ” องอาจ เล่า

4 ทศวรรษ ภาพแฟชั่นไทยร่วมสมัย ฝีมือ...ช่างภาพในตำนาน

 

ความหวือหวายุค 90s และยุคมิลเลนเนี่ยม

ช่างภาพแฟชั่นยุคก้าวสู่อุตสาหกรรมแฟชั่น เริ่มขึ้นในปี 90s คอนเซ็ปต์แฟชั่นหลากหลายขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการค้นคว้าสไตล์การทำงานของช่างภาพยุคก่อนๆ รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับการทำงานด้วย ภาพบนปกนิตยสารอิมเมจ กดชัตเตอร์โดยช่างภาพแห่งยุค 80s และโด่งดังที่สุดในยุค 90s และในวันนี้ชื่อของ ใหญ่-อมาตย์ นิมิตภาคย์ ก็ยังถูกรีเควสต์โดยปกนิตยสารชั้นนำของไทย อีกทั้งเมื่อถามซูเปอร์โมเดลว่า อยากได้ฝีมือช่างภาพคนไหนสำหรับเก็บบันทึกในพอร์ตโฟลิโอ คำตอบก็คือชื่อนี้

“สวย คลาสสิก เซ็กซี่ คือสไตล์การถ่ายภาพของผมนะ ผมถ่ายภาพ ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ขึ้นปกนิตยสารอิมเมจ ด้วยความรู้สึกแบบนี้” พี่ใหญ่ อมาตย์ บอกชัดเจนมั่นใจ แต่สิ่งที่สร้างลายเซ็นให้เขา ช่างภาพคนดังบอกว่าคือความกล้าหาญในการบุกเบิกแฟชั่นท็อปเลสขึ้นปกนิตยสารชั้นนำ

“สมัยนั้นเริ่มยุค 90sแฟชั่นชุดว่ายน้ำเซ็กซี่หวือหวานี่อยู่บนปกนิตยสารปลุกใจเสือป่าเท่านั้น ไม่มีใครกล้าเอาขึ้นปกนิตยสารที่จัดในหมวดแมกกาซีนไฮโซๆ ผมเลือกถ่ายภาพ เพ็ญพักตร์ ศิริกุล ชุดทำนองนี้ก็ยังไม่ฮือฮานะ เพราะต่ายเป็นนางเอกหนังในสไตล์เซ็กซี่อยู่แล้ว แต่ที่ฮือฮาเลยคือ ชุดาภา จันทเขตต์ ที่ยังเป็นนางเอกละอ่อนๆ ใสๆ ก็จับมาใส่ชุดว่ายน้ำขึ้นปกแล้ว สมัยนั้นไม่มีสไตลิสต์ ช่างภาพทำงานกับ บก.นิตยสาร และเจ้าของห้องเสื้อ ผมไม่เคยสนใจสไตล์การถ่ายแบบของเมืองนอกเลย เพราะแค่ดินฟ้าอากาศ นางแบบนายแบบ เขาก็ไม่เหมือนกันแล้วเราต้องสร้างสไตล์สร้างลายเซ็นของตัวเอง นี่ก็เป็นสิ่งที่ผมบอกสอนน้องๆ ช่างภาพรุ่นใหม่ด้วย อย่าไปปลอมลายเซ็น (ช่างภาพ) คนอื่น

จะบอกว่าบังเอิญมาถูกทางก็ได้นะ (บอกพร้อมรอยยิ้ม) ผู้ใหญ่ยอมรับ แต่ผมก็ทำตามโจทย์นะครับ ไม่ได้ก้าวออกจากกรอบมากจนรับไม่ได้ อิมเมจ ปกเดือน ก.ค. 1998 ลูกเกด-เมธินี กิ่งโพยม ก็เกิดจากโจทย์เครื่องสำอางแมค เริ่มวางจำหน่ายในเมืองไทย และอยากทำแฟชั่นเซต โดยใช้นางเอก 10 คน แล้วลูกเกดก็ไม่ได้มาในฐานะนางแบบ แต่เพิ่งเป็นนางเอกเรื่องแรกของท่าน มุ้ย-ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล เรื่อง กล่อง ก็ถือว่าส้มหล่นเป็นนางแบบคนที่ 10 พอดี แล้วกำลังจะเข้าสู่ยุคมิลเลนเนี่ยม ผมก็คิดถึงเสื้อผ้าในสไตล์โลหะก็ออกมา 3 ชิ้นท็อปเลส ซึ่งนางก็ยอมนะ ถือเป็นนางแบบรุ่นใหม่ สนุกกับงาน สู้ตายทุกชุด ขณะที่นางแบบสมัยนี้ข้อแม้เยอะไปนิด ติดโน่นติดนี่ ไม่กล้าตัดสินใจ ทั้งที่ผมบอกเลยว่า ถ้าเป็นนิตยสารระดับชั้นนำเป็นการการันตีผลงานระดับหนึ่งแล้ว บางคนเดินบนรันเวย์ 2-3 ปี ยังไม่มีใครรู้จักเลย พอขึ้นปกอิเมจ รุ่งขึ้นทางช่องทำละครจับเซ็นสัญญาเลย”อมาตย์ ช่างภาพคนสำคัญของวงการช่างภาพไทย บอกเล่าฟังเพลิน

วิวัฒนาการของวงการแฟชั่นไทยตลอดระยะเวลา 40 ปี กำลังบอกเล่าเรื่องราวผ่านผลงานของเหล่าช่างภาพแฟชั่นระดับตำนานของเมืองไทยได้อย่างเห็นภาพชัดเจน ภาพวันวาน ได้ชมอีกครั้งวันนี้บอกได้คำเดียว ...ภาพเก่าย้อนวันวาน ชมแล้วก็มีความสุขดี

4 ทศวรรษ ภาพแฟชั่นไทยร่วมสมัย ฝีมือ...ช่างภาพในตำนาน