15 ปีนายอินทร์อะวอร์ด มากกว่ารางวัลคือ โอกาส
ในวันประกาศบนเวทีแท่นวางหนังสือรางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ดมักมีที่ว่างเสมอจนเป็นที่คุ้นตา
โดย...พงศ์ พริบไหว
ในวันประกาศบนเวทีแท่นวางหนังสือรางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ดมักมีที่ว่างเสมอจนเป็นที่คุ้นตา นั่นเป็นเพราะยังไม่มีเรื่องเล่าเรื่องไหนถูกใจคณะกรรมการคัดสรร แสดงให้เห็นได้อย่างซื่อตรงและเรียบง่ายว่า หากผลงานที่ส่งเข้ามาประกวดไม่ดีจริง ทางคณะกรรมการขอยอมทิ้งพื้นที่ว่างตรงนั้นให้เปล่าดายเสียดีกว่ามีงานที่ไม่ได้มาตรฐานออกสู่สายตาผู้อ่าน ความเข้มและความเคี่ยวเหล่านี้เองที่ทำให้เวทีการประชันมุมคิดของนักเขียนเวทีนี้ สามารถยืนหยัดเป็นสังเวียนใหญ่ของประเทศไทยมาได้ไกลถึง 15 ขวบปี
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 อันถือเป็นจุดเริ่มต้นโครงการประกวดงานเขียน “รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากร้านนายอินทร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งหวังให้เป็นเวทีแสดงความสามารถของนักเขียน อีกทั้งเป็นแรงสนับสนุนให้เกิดงานเขียนใหม่ๆ ที่มีคุณภาพในวงวรรณกรรมไทยขึ้น โดยครั้งแรกเริ่มนั้นทางเจ้าของรางวัลได้จัดประกวดงานเขียนประเภทสารคดีก่อนเพื่อชิมลาง เพราะเล็งเห็นว่าลักษณะงานเขียนเชิงสารคดีในบ้านเราดูเหมือนจะน้อยกว่าน้อย ก่อนที่ในปีถัดๆ มา จึงจะจัดให้มีการส่งผลงานประเภทอื่นเพิ่มเข้ามาอย่าง หนังสือภาพสำหรับเด็กและวรรณกรรมเยาวชนเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และนวนิยาย จนปัจจุบันมีทั้งหมด 6 ประเภท
แน่นอนว่าเส้นทางกว่า 2 ทศวรรษ ที่นี่ได้เป็นเหมือนสนามของนักเขียนมากหน้าหลายตา ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ที่หวังเข้ามาควานหาความสำเร็จ หรือเพียงหาพื้นที่ให้ผลงานของตัวเองได้ออกสู่สายตานักอ่านทั่วประเทศ เรียกได้ว่า 15 ปีมานี้ มีนักเขียนใหม่ๆ เข้ามาสู่วงการมากมายหลายสิบคนในหลากหลายประเภท รวมไปถึงมีหนังสือหนังหาสายพันธุ์ไทยที่น่าหยิบจับมาอ่านในนามนายอินทร์อะวอร์ดมากกว่า 30 เล่ม ซึ่งทุกเล่มผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการซึ่งเป็นที่ยอมรับ และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละประเภทการเขียนถึงสองครั้งสองคราว
จึงยากที่จะปฏิเสธได้ว่า โครงการประกวดงานเขียนรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดมีความเคี่ยวข้นเป็นอย่างมาก ก่อนจะได้มาซึ่งนักเขียนคุณภาพประดับวงการน้ำหมึก ซึ่งในงานประกาศผลรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ครั้งที่ 15 ก็เป็นอีกครั้งที่มีผลงานมากมายส่งเข้าประกวดขับเคี่ยวกันอย่างสนุกทั้งนักเขียนหน้าใหม่ หน้าเดิม ก่อนที่จะมีเพียงผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมาตีพิมพ์เพื่อวางจำหน่าย ซึ่งแต่ละเล่มล้วนมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน
ในปี 2557 มีผู้ชนะรางวัลยอดเยี่ยมถึง 4 ท่านได้แก่ ประเภทเรื่องสั้น “หอนาฬิกาที่หาช่างซ่อมไม่ได้” โดย นฤพนธ์ สุดสวาท ประเภทกวีนิพนธ์ “สถานการณ์ปกติ” โดย บัญชา อ่อนดี ประเภทสารคดี “เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง” โดยดาวเดียวดายประเภทนวนิยาย “กาหลมหรทึก” โดย ปราปต์ ทั้งนี้ผู้เขียนจะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัลประเภทละ 5 หมื่นบาทแต่นอกเหนือจากรางวัลที่ได้รับ ผลงานของพวกเขาได้จัดพิมพ์ในนามสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์
ในฐานะของผู้สร้างสวนอักษร
ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ได้กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เห็นงานนายอินทร์อะวอร์ดเดินทางมาถึงครั้งที่ 15 ด้วยความภูมิใจในฐานะผู้สนับสนุนว่า
“โครงการประกวดงานเขียนรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดในปีนี้ได้เดินทางเข้าสู่ปีที่ 15 แล้ว หากเปรียบเป็นสวนก็คงเป็นสวนอักษรขนาดใหญ่ที่มีไม้หลากหลายนานาพันธุ์เติบโต แผ่กิ่งก้านสาขา ให้ดอกให้ผลให้ความรื่นรมย์ร่มรื่นมาโดยตลอด สิ่งที่ดิฉันภูมิใจแทนคณะทำงานและคณะกรรมการก็คือ การรับรู้ถึงเส้นทางชีวิตของนักเขียนรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดแต่ละคนซึ่งแจ้งเกิดจากเวทีแห่งนี้ ที่ต่างยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์งานเขียนอย่างไม่หยุดนิ่ง ความเพียรพยายามนั้นส่งผลให้แต่ละคนยืนหยัดเป็นนักเขียนอาชีพอย่างสง่างาม บ้างได้รับรางวัลชีวิตเป็นรางวัลหนังสือดีเด่น บ้างหนังสือที่แต่งหรือเขียนได้รับการยกย่องจากสถาบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนว่าเป็นหนังสือดี”
เช่นเดียวกับประธานกรรมการตัดสินนายอินทร์อะวอร์ดประเภทสารคดี อรสม สุทธิสาคร นักเขียนที่ทำงานเขียนเชิงสารคดีมาอย่างหนักมากกว่า 30 ปี ได้พูดถึงการเปิดพื้นที่การเขียนของนายอินทร์อะวอร์ดว่า
“ในฐานะที่เราเป็นนักเขียนสารคดี เรารู้สึกว่าการเป็นนักเขียนสารคดีในประเทศมันไม่ได้เป็นนักเขียนกันง่ายๆ นะ แล้วเราคิดว่าเวทีนี้เป็นเหมือนเวทีแจ้งเกิดของนักเขียนใหม่ๆ คือเราชอบคำนี้นะที่ว่า มากกว่ารางวัลคือโอกาส รู้สึกว่ารางวัลนี้มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ในบ้านเราต้องเปิดโอกาสให้กับนักเขียนหน้าใหม่ให้เขาได้มีพื้นที่บ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำนักพิมพ์ต้องสนับสนุนและทำอย่างจริงจังและอมรินทร์ก็ทำมา 15 ปีแล้ว ซึ่งนั่นทำให้รู้สึกว่ารางวัลนายอินทร์มันขลังเพราะทำกันมาหลายปี ในขณะเดียวกันก็ได้รับการยอมรับสูงมากในหมู่นักอ่าน คือมันเหมือนเป็นหลักประกันที่ดีให้นักเขียน ว่างานของเขามีมาตรฐาน ซึ่งตรงนี้ต้องชื่นชมคนที่เปิดโอกาสให้ได้มีนักเขียนหน้าใหม่ๆ เหมือนเขาได้เปิดโอกาสที่มันพิเศษมากๆ ซึ่งมีความหมายในการก้าวเดินของนักเขียน ซึ่งเราก็อยากให้นักเขียนหน้าใหม่ๆ เข้ามา”
เมื่อถูกถามว่าเดินทางมาไกลถึง 15 ปี รางวัลนี้เปลี่ยนแปลงสิ่งไหนบ้าง จตุพล บุญพรัด ในฐานะผู้จัดการโครงการนายอินทร์อะวอร์ด ตอบให้คลายสงสัยว่าตัวเขาเองอาจไม่แน่ใจว่าเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างมากหรือน้อย แต่รู้เพียงว่ารางวัลนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้โอกาสคนได้สร้างงานตามแนวทางที่ถนัด อย่างน้อยๆ ก็งานเขียน 6 ประเภท ซึ่งถ้าร้อยเรียงงานทั้ง 6 ประเภทเข้าด้วยกัน จะได้หน้าตาของวรรณกรรมเล่มโตทีเดียวแต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือเขาได้เห็นนักเขียนที่เคยเริ่มก้าวแรกกับรางวัลนี้ ยังคงทำงานเป็นนักเขียนอย่างต่อเนื่อง
“เนื้อหาของวรรณกรรมนายอินทร์ก็เป็นไปตามสภาพสังคม งานเหล่านั้นได้บันทึกยุคสมัย ขณะที่รูปแบบการนำเสนอก็หลากหลายวิธี ว่ากันตามจริง ทั้งเนื้อหาและรูปแบบมันมีความลึกซึ้งซับซ้อน นักเขียนรุ่นใหม่ๆ กำลังทดลอง เล่น เพื่อที่จะไม่ให้ซ้ำกับวรรณกรรมยุคหลังเพื่อชีวิต แต่อาจจะยังไม่สำเร็จ ไม่กระทบใจคนเท่าที่ควรก็เป็นได้ และนี่คือการให้โอกาสพวกเขาได้มีพื้นที่แสดงออก สิ่งที่เปลี่ยนแปลงและเห็นชัดน่าจะเป็นวรรณกรรม หนังสือภาพสำหรับเด็กและวรรณกรรมเยาวชน ถ้าใครไปติดตามจะเห็นถึงพัฒนาการ คุณภาพที่สามารถอวดอ้างได้ว่านี่เป็นมาตรฐานสากล” จตุพล กล่าวทิ้งท้าย
จากที่ได้ฟังสิ่งสำคัญที่รางวัลนายอินทร์ทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลา 15 ปี คือการสร้างโอกาสให้กับคนหนุ่มสาวที่มีฝันอยากเป็นนักเขียน อย่างเช่นที่ ณรงค์ฤทธิ์ ยงจินดารัตน์ หรือที่รู้จักกันในนามปากกาปะการัง หนึ่งในคณะกรรมการคัดสรรรางวัลผู้ทำหน้าที่ร่วมอ่านงานทั้งหมดที่ส่งเข้ามาในรอบแรกได้กล่าวไว้
“ผมมองว่ารางวัลนายอินทร์อะวอร์ดกระตุ้นให้วงการนักเขียนคึกคัก และเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับนักเขียนบางประเภทที่ค่อนข้างอัตคัดเวทีในการแสดงออก ยกตัวอย่าง บทกวี หรือนวนิยายซึ่งมีพื้นที่จำกัดให้เฉพาะนักเขียนมือเก่า นายอินทร์อะวอร์ดจึงเป็นเหมือนอีกช่องทางหนึ่งที่เปิดโอกาสให้นักเขียนหน้าใหม่เหล่านี้ได้แสดงฝีมือ ถ้าดีจริง คุณได้เกิดแน่ เมื่อเรามีนายอินทร์อะวอร์ดเกิดขึ้น หรือรางวัลอื่นใดก็ตาม ล้วนมีส่วนผลักดันให้วงการได้กระเพื่อม แล้วเราจะเห็นคลื่นใหม่ๆ ตามมาระลอกแล้วระลอกเล่า ไม่หยุดนิ่ง
“ตัวผมไม่อยากเน้นให้เห็นถึงรางวัลเป็นเป้าหมายสูงสุดในการเป็นนักเขียนนะครับ ผมอยากให้มองว่านี่เป็น “โอกาส” มากกว่า โอกาสที่มิใช่แค่ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ แต่เป็นโอกาสที่จะได้วัดระดับตัวเองว่าฝีมือการเขียนของเราไปถึงไหนแล้ว คืองานเขียนหนังสือเป็นงานโดดเดี่ยว ถ้าคุณไม่ส่งให้ใครอ่านเลย คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่างานของคุณดีเลวแค่ไหน คนอ่านเข้าใจเรื่องที่คุณเขียนไหม หรือรับสารที่คุณสื่อออกไปได้หรือไม่ และถ้าให้เพื่อนฝูงอ่านกันเอง มันก็คงไม่ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องสักเท่าไหร่ การที่เราได้ส่งงานเข้าประกวด จึงถือเป็นโอกาสยิ่งใหญ่มากที่เรื่องของเราจะได้มีคนอ่าน ซึ่งอยู่ในวงการที่เป็นมืออาชีพ ถ้าเราผ่านเข้ารอบก็ถือว่าเรามีความสามารถในระดับหนึ่งแล้ว”
ในฐานะกิ่งก้านในสวนอักษร
ในงานวันนั้นมีนักเขียนมีชื่ออย่าง บัญชา อ่อนดี ซึ่งหากไล่เทียบกับกลุ่มคนที่ได้รางวัล เขาถือว่าเป็นนักเขียนที่ทำงานจนเป็นที่ได้รับการยอมรับ แต่ด้วยเพราะเสน่ห์ยั่วยวนของการได้ผ่านรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด หรือการพิสูจน์บางสิ่ง เขาจึงเลือกส่งบทกวีเข้าชิงชัยซึ่งเป็นครั้งแรกเช่นกันที่งานประเภทกวีนิพนธ์ของเขาได้ถูกรวมเล่ม
“ตอนนี้สนามที่จะลงบทกวีให้กับคนเขียนกวีเขียนกลอนมันมีน้อยมาก มันไม่เหมือนยุคที่ผมหนุ่มๆ ซึ่งจะมีให้ลงทุกฉบับ แต่ยุคนี้มีน้อยมากแล้วพี่ก็เป็นคนเขียนหนังสือ ก็เขียนก่อนไว้จำนวนหนึ่งประมาน 10 กว่าชิ้น ก็เขียนรวมๆ ไว้ แล้วโดยธรรมชาติของคนเขียนหนังสือเมื่อเขียนจบก็จะปลื้มใจว่าตัวเองเขียนดี แต่เราก็ย้อนถามตัวเองว่าแล้วคนอื่นล่ะเขาอ่านแล้วจะว่าดีไหม ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราก็คงส่งไปตามนิตยสารต่างๆ อย่างที่ว่า พอดีที่นี่มีพื้นที่ให้ บวกกับเรามักจะได้มางานนี้ทุกปีในฐานะสื่อมวลชน เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นคนอื่นได้รางวัลผมก็เลยฝันลึกๆ ไว้ว่า ปีหน้าผมอยากมายืนรับรางวัลของนายอินทร์บ้าง” กวีรางวัลนายอินทร์คนล่าสุดพูดพลางหัวเราะก่อนจะพูดถึงตัวรางวัลที่ได้รับว่า
“สำหรับผมรางวัลมันมีค่าอยู่แล้ว แต่มันจะยิ่งมีความหมายต่อนักเขียนเด็กๆ หนุ่มๆ ที่เริ่ม เพราะด้วยความที่อมรินทร์มีความเป็นมืออาชีพเขามีกระบวนการส่งเสริมสนับสนุน มันจึงทำให้ผลงานของนักเขียนที่ได้รางวัล สามารถเดินทางไปสู่สายตาของคนอ่านหนังสือได้มากกว่า ฉะนั้นผมคิดว่านักเขียนที่ผ่านรางวัลนี้จะเป็นที่น่าสนใจเป็นที่รู้จักของคนอ่านในวงกว้าง ซึ่งนั่นจะทำให้ตัวนักเขียนชื่นใจอุ่นใจเมื่อผลงานของเรามีการกล่าวถึง ซึ่งผมเห็นว่ารางวัลนี้จะเป็นอีกเครื่องปั๊มหนึ่งที่จะปั้นนักเขียนให้ได้ขึ้นมาอยู่แถวหน้าในบ้านเรา”คำกล่าวของบัญชา อ่อนดี เป็นบทสรุปได้เป็นอย่างดีถึงคำว่ามากกว่ารางวัลคือโอกาส
ในฐานะคนอ่านหนังสือ น่าชื่นใจที่ได้เห็นการก่อเกิดของสวนอักษรแห่งนี้ แม้จะเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ แต่ก็ดีมิใช่หรือ หากพื้นที่เล็กๆ นี้ ได้ก่อเกิดนักเขียนระดับตำนานของเมืองไทยคนใหม่ ไม่แน่เราอาจได้พบเจอกับใครคนนั้นในงานนายอินทร์อะวอร์ดปีต่อไป