ผ้าไทยไม่เชย!
นักออกแบบเด็กรุ่นใหม่ๆ มักคิดว่าผ้าไทยเชย ไม่เก๋เหมือนผ้าที่สั่งทอจากต่างประเทศ
นักออกแบบเด็กรุ่นใหม่ๆ มักคิดว่าผ้าไทยเชย ไม่เก๋เหมือนผ้าที่สั่งทอจากต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ร่วมมือกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดงาน “โครงการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม (การออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทย)” กิจกรรมการออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่สากล ค่ายวัฒนธรรม หรือ “วีฟวิ่ง ไดอะล็อก” วัตถุประสงค์โครงการก็เพื่อการอนุรักษ์ พัฒนา ส่งเสริม สืบสานและสืบทอดวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้เกิดคุณค่าทางสังคม และให้ประชาชนได้ตระหนัก ได้เห็นถึงความสำคัญ รวมถึงเป็นการจุดประกายแนวทางความคิดใหม่ๆ ทางสังคมและเศรษฐกิจ
ศิลปะการออกแบบเครื่องแต่งกายหรือแฟชั่น สาขาหนึ่งที่มีความโดดเด่นเป็นปัจจัยหลักในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่ๆ คือ การผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาไทยอย่างผ้าทอ ผ้าพื้นเมือง รวมถึงงานหัตถกรรมต่างๆ กับแนวคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบรุ่นใหม่ โดยคัดเลือก 3 นักออกแบบ “ยังบลัด” ได้แก่ “พลัฏฐ์ พลาฎิ” แบรนด์ “รีลลีสติก ซิตูเอชั่น” “ธีระ ฉันทสวัสดิ์” แบรนด์ “ธีระ” และ “วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข”แบรนด์ “วิชระวิชญ์” ไปลง 22 พื้นที่ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงใหม่ และนครราชสีมา ที่ล้วนมีการสืบสานผ้าทอ ผ้าพื้นเมือง และงานหัตถกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พัฒนาผ้าและเทคนิค ตลอดจนนำผ้าเหล่านั้นมาพัฒนา กลั่นกรองและสร้างสรรค์จนเกิดเป็น 3 คอลเลกชั่น 3 ธีมที่สวยสดงดงาม เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ บางคอลเลกชั่นฉีกรูปแบบเสื้อผ้าสไตล์ไทยๆ ไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งน่าจะพอเป็นแนวไอเดียให้ทั้งนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ รวมถึงผู้สวมใส่ได้มองเห็นและจุดประกายใหม่ๆ
โทนสีของผ้าไหม เป็นเรื่องน่าสนใจ
ท่ามกลางกระแสการเกิดแบรนด์แฟชั่นทั่วโลก งานออกแบบของ อู๋-วิชระวิชญ์ ยึดถือเอกลักษณ์คือการนำเทคนิคต่างๆ มาประยุกต์ใช้อย่างเชี่ยวชาญ เช่น งานฝีมือที่ประณีต รายละเอียดยิบย่อยที่สอดแทรกอยู่บนแพตเทิร์น และการเล่นกับฟอร์มรูปทรงเรขาคณิต อีกทั้งวิชระวิชญ์ยังนิยมหยิบใช้ผ้าไทยในงานออกแบบของเขามาโดยตลอด ทำให้เขาได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในนักออกแบบโปรเจกต์นี้ และเมื่อเขาลงพื้นที่ 22 ชุมชน 5 จังหวัด ทำให้เขาได้พบเห็นโทนสีของผ้าไหมที่หลากหลาย และเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น แต่พอลองทำขึ้นมาดูจริงๆ ก็เหมือนอาหารที่อยู่ด้วยกันได้ และทำให้เขาค้นพบความสนุกกับสีสัน แนวคิดการออกแบบของเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจาก The right amount of wrong คือสิ่งที่ผิดแต่เหมาะสม
“ปกติอู๋จะทำแต่ชุดโมโนโทนมากกว่า คราวนี้มีสีที่หลากหลาย มีทั้งผ้าไหมลายเสือสีดำ สีพาสเทลผสมกัน ผ้าที่อู๋ใช้ในโปรเจกต์นี้เป็นผ้าไหมมัดหมี่เป็นหลัก โดยเป็นผ้าไหมของขอนแก่นกับบุรีรัมย์ และมีผ้าชิ้นที่สั่งทอพิเศษเป็นลายเสือ ทอขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่ลายพิมพ์เป็นผ้าไหมมัดหมี่เหลือง ดำเทา ผสม มีแค่ที่ชุมชนเดียวที่มหาสารคาม”
คอลเลกชั่นพิเศษนี้ วิชระวิชญ์ออกแบบกระโปรงใช้ผ้า8ชิ้น บานพลิ้วที่สามารถใช้ได้หลากหลายโอกาส กลายเป็นชิ้นซิกเนเจอร์ที่มิกซ์แอนด์แมตช์สามารถใส่ได้จริงในเวลาทำงาน หรือใส่เล่นๆ ก็ได้
“ปกติคนมักคิดว่าผ้าไทยต้องใช้ได้ในโอกาสพิเศษเท่านั้น แต่คราวนี้ลืมไปได้เลย อู๋อยากให้คิดว่า คือผ้าไทยชนิดหนึ่งที่ใส่แล้วสนุก คุณค่ายังอยู่ โดยอู๋ไม่รีดบุด้วยผ้ากาว เพื่อให้ดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องซักแห้ง งานดีไซน์ก็คิดเพื่อคนรุ่นใหม่โดยแท้ คือดูวัยรุ่นแต่ช่วงวัยค่อนข้างกว้าง สำหรับผู้หญิงทุกๆ วัย โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก The right amount of wrong คือสิ่งที่ผิดแต่เหมาะสม เช่น ตีนผ้าเอามาวางแพตเทิร์นใหม่บนอกเสื้อ เกิดเอฟเฟกต์ใหม่ๆ แต่ยังคงความเป็นผ้าไหมเหมือนเดิม มีการหยิบนำมาผสมกับผ้าอื่นๆ เช่น ผ้าชิฟฟอน ทวีดผ้ายืดเพื่อลดจำนวนการใช้ไหมลงจะได้มีราคาที่ถูกลง และมองตลาดให้เป็นและเหมาะกับตลาดสากลด้วย
อู๋มองว่าผ้าไหมไทยเป็นงานฝีมือตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงไหม การทอ ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันคนละนิดละหน่อย เพื่อให้การสร้างสรรค์ผ้าไหมยังคงอยู่ได้ ไม่จำเป็นที่เราต้องใส่ผ้าไหมทุกชิ้นบนตัว แค่ใช้ผ้าไหมสัก 5-10% ก็ยังดีครับ”
หยิบผ้าไหมมาแทรกซึมในไลฟ์สไตล์
อีกหนึ่งนักออกแบบเลือดใหม่ไทย ใหม่ พลัฏฐ์ เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าแนวสตรีทแวร์ “Realistic Situation” ถือเป็นหนึ่งในนักออกแบบที่มีฝีมือครบเครื่องทั้งการใช้เทคนิคที่แปลกตา ไม่ว่าจะเป็นลูกเล่นบนแพตเทิร์น หรือการผสมวัสดุเพื่อสร้างมิติใหม่ให้กับงาน สำหรับคอนเซ็ปต์หลักในงานออกแบบโปรเจกต์พิเศษนี้ เขาได้แนวคิดมาจากเวลาคนเห็นผ้าไหมมักนิยมใช้หลัง 6 โมงเย็น เพื่อใส่เป็นชุดออกงานตอนเย็นเท่านั้น ทำไมไม่นำผ้าไหมมาใช้ในชีวิตประจำวันบ้าง เขาจึงออกแบบด้วยการนำผ้าไหมมาตัดเย็บในรูปแบบเสื้อเชิ้ตเท่ๆ ที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวันทั้งกลางวันและกลางคืน ชุดคอลเลกชั่นนี้จึงนำเสนอเป็นเชิ้ตสีขาวธรรมดาแต่เป็นผ้าไหมหมด สามารถใส่เป็นยูนิฟอร์มกับกางเกงดำได้
“เวลาทำเสื้อเมื่อก่อนใหม่จะคิดเป็นแฟชั่นค่อนข้างมาก แต่ครั้งนี้จะผสมผสานให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ให้ซอฟต์ลง ใส่ง่าย หยิบจับง่าย ซักง่ายๆ ใส่ไปทำงานก็ได้ ผ้าไหมที่หยิบมาใช้กับงานออกแบบครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยความหลากหลาย เช่น ผ้าไหมโคราช เชียงใหม่ อุบลราชธานี แต่ละภาคทุกคนทอผ้าไหมได้ แต่ละที่มีเอกลักษณ์ใหม่ แต่ใหม่เอามารวบรวมและโมใหม่ เช่น ผ้าซิ่นมีลวดลายอยู่ข้างล่าง แต่ใหม่หยิบมาไว้เป็นชายเสื้อด้านบน แทบดูไม่รู้เลยว่าเป็นผ้าซิ่น จึงกลายเป็นลาย Stripe ขึ้นมาเป็นเสื้อผ้าได้ จึงลบความเป็นเทดดิชั่นนัล และสร้างมูลค่าใหม่ให้กับผ้า ดังนั้นรูปฟอร์มเรียบง่าย ผู้หญิงก็ใส่ง่าย”
อย่างไรก็ดี การลงพื้นที่ไปพบปะกับแหล่งผ้าไหมของไทยตามภูมิภาคต่างๆ ทำให้เขาค้นพบเสน่ห์ของผ้าไทยคือ ผ้าไหมที่ผ่านการทอมือและทอเครื่อง หน้ากว้างของผืนผ้าและความหนาละเอียดของผ้าที่แตกต่างกัน ตลอดจนการวางแพตเทิร์นที่ไม่ต้องตัดต่อเยอะ
“ใหม่อยากให้เด็กรุ่นใหม่ได้ลงพื้นที่ศึกษากรรมวิธี ศึกษาคุณสมบัติของผ้าไหมอย่างแท้จริง อาจได้รับสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะไม่ใช่แค่มัดหมี่ ตีนจก ลูกแก้วเท่านั้น ถ้าอยู่เฉพาะใน กทม. จะไม่ได้อะไรเท่าไหร่”
ผ้าไทยเชยในสายตาเด็กไทย
ธีระ เป็นที่รู้จักในวงการแฟชั่นเป็นอย่างดี ในฐานะดีไซเนอร์ประจำห้องเสื้อไข่บูติก ดีไซเนอร์รับเชิญมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เจ้าของแบรนด์ Rabbit Habit และ T-ra รวมไปถึงการเป็นตัวแทนดีไซเนอร์ไทยเข้าร่วมการจัดแสดงแฟชั่นและการประกวดระดับนานาชาติมากมาย อีกทั้งเขายังเป็นอาจารย์ภาควิชาแฟชั่นดีไซน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ธีระค้นพบว่าเวลาที่ให้โจทย์นิสิตนักศึกษาไปออกแบบเสื้อผ้า มักบินไปเมืองนอกเพื่อไปหาซื้อผ้าเพื่อมาตัดเย็บคอลเลกชั่น โดยละเลยการมองผ้าทอไทยๆ เพราะคิดว่าผ้าไทยมีความเชย ไม่เป็นอินเตอร์ ซึ่งเป็นความคิดของนักออกแบบไทยรุ่นใหม่ๆ ที่น่าเป็นห่วงมากๆ
“เด็กไทยยุคนี้เห็นผ้าไทยจะเบือนหน้าหนี เขาไม่สนใจเลย เขาบอกว่าแก่เชย อีกสิ่งที่สำคัญคือ ผ้าไหมไทยราคาค่อนข้างสูง เขาจึงไปมองหาผ้าเมืองนอกดีกว่า หรือไม่ก็ผ้าทั่วๆ ไปตามท้องตลาด พอเราได้ยินแบบนั้น เราไปบังคับเขาไม่ได้ อีกทั้งเด็กไทยไม่ทำแพตเทิร์นเอง ไปจ้างเขาทำและสั่งให้ตัดเย็บโดยเขาออกแบบอย่างเดียว เพราะเขาบอกว่าเขาเป็นดีไซเนอร์ไม่ใช่คนตัดเย็บหรือคนสร้างแพตเทิร์น ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด แต่เมืองนอกทุกอย่างต้องทำเองเพราะค่าแรงงานค่อนข้างแพง
เมืองไทยฝีมือแรงงานถูก เด็กไทยที่เป็นนักออกแบบจึงทำอะไรเองไม่เป็น อีกทั้งการรับอาจารย์สอนด้านการออกแบบที่จบไม่ตรงตามสาขา ไม่ได้จบด้านการออกแบบโดยตรง จึงไม่สามารถให้คำแนะนำได้ว่าผลงานอะไรที่สวยหรือไม่สวย อีกทั้งเจอเด็กไทยที่อีโก้สูงๆ เด็กบางคนที่เรียนแฟชั่นเพราะคิดว่าเก๋ เป็นการเรียนที่ฉาบฉวยผิวเผินกับแฟชั่นมากๆ ปัญหาของเด็กรุ่นใหม่คือทะนงตัวผิดๆ ไม่มีสัมมาคารวะ ทำให้ไม่เปิดโลกที่จะเรียนรู้”
จากประสบการณ์ด้านการดีไซน์ที่ดึงผ้าไทยมาเป็นส่วนประกอบของคอลเลกชั่นอยู่เสมอๆ ทำให้เขาได้รับการคัดเลือกให้ร่วมเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ของโครงการ เพราะเขารู้สึกหลงเสน่ห์ในความงามของผ้าไทย งานออกแบบระดับนานาชาติที่ธีระได้เป็นตัวแทนไปโชว์ผลงาน เขามักนำผ้าไทยไปเป็นส่วนประกอบเสมอ
“ต่ายรู้สึกประทับใจกับผ้าไทยมาตลอด เราชอบนำผ้าไหมไทยไปย้อมสี เพราะเราชอบเส้นใยที่เป็นธรรมชาติ เช่น เส้นไหม ลินิน ผ้าฝ้ายต่ายอยากสร้างไอเดียใหม่ๆ ด้วยการนำผ้าไปย้อมด้วยดินสีออกมาสวยงามๆ ดูเป็นธรรมชาติด่างๆ หรือย้อมด้วยสนิมฝรั่งจะชอบมากๆ พอได้รับการชักชวนก็ไม่ลังเลเพราะเราถนัดผ้าไทยอยู่แล้ว เราก็ลงมือทำไปลงพื้นที่ตามชุมชนต่างๆ มีเวลาทำคอลเลกชั่นเพียง 18 วัน แต่ต้องทำให้ได้ 40 ชุด ซึ่งถือว่าเป็นเวลาน้อยมากๆ ทีแรกก็ตันๆ ว่าเราจะทำอะไรเสื้อผ้าตั้ง 40 ชุด เพื่อนๆ ในวงการก็บอกว่าเขาอยากเห็นงานเดรปปิ้งซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของต่าย ต่ายก็เลยทำเสื้อผ้าเดรปปิ้งออกมา 10 ชุด ซึ่งฟีดแบ็กหลังโชว์ออกมาดีมากๆ”
โจทย์การทำงานในครั้งนี้นับเป็นการออกแบบที่ค่อนข้างท้าทาย และธีระพยายามฉีกกฎแบบเดิมๆ ของตัวเอง คือ การใช้ผ้าไหมสีสดๆ โดยเขาเลือกผ้าไหมของปักธงชัย จ.นครราชสีมา ถือเป็นการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน
“ต่ายเลือกผ้าไหมสีเชยๆ ที่เขาไม่ใช้กันเพราะต่ายชอบอะไรที่คนไม่ใช้ กฎเหล็กของเราคือการใช้สีสดๆ ที่คนมองข้าม เป็นผ้าที่อยู่ตามซอกหลืบที่คนลืม ต่ายก็ไปหาผ้าที่เก็บซ่อนไว้ตามมุม จนไปเจอผ้าลายไทยดอกวินเทจเหลือพับหนึ่งราว 3-5 เมตร ก็รีบซื้อมา แอบคิดผ้าแอบเชยเราก็ลองสู้ เพราะไม่เคยทำชุดลายดอกเยอะขนาดนี้มาก่อน พอได้ผ้าชิ้นเอกมาแล้ว คาแรกเตอร์ของคอลเลกชั่นจึงเผยออกมา เพราะคนไทยไม่ใช้ลายดอก แต่ต่ายก็มีวิธีนำเสนอของต่าย”
นอกจากผ้าไหมปักธงชัยลวดลายสีสดธีระยังเฟ้นหาผ้าลายดอกอื่นๆ แต่เป็นการกลับผ้า ด้วยการใช้ลายผ้าด้านในซึ่งออกลักษณะสีตุ่นๆ ก็มีเสน่ห์ดูสวยไปอีกแบบ
สำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การลงไปเยี่ยมชาวบานตามพื้นที่ต่างๆ ทำให้เขาได้รู้ว่า ชาวบ้านบ้างแหล่งได้ใช้ตัวไหมญี่ปุ่นที่ได้รับพระราชทานมาจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงได้เส้นไหมที่ทอได้หนาและมีเส้นใยที่ยาวกว่าไหมไทย อีกทั้งมีคุณสมบัติย้อมสีติดและได้สีที่สดกว่าหนอนไหมไทย สิ่งนี้เป็นความรู้ใหม่ที่เขาได้เรียนรู้ อีกทั้งมีนักศึกษาด้านการออกแบบลายผ้าลงไปคลุกคลีและช่วยกันพัฒนาลวดลายผ้าทำให้ชาวบ้านมีลวดลายทอผ้า แนะการมัดการย้อมที่ทันสมัยมากขึ้น
“ครั้งนี้ด้วยเวลาที่จำกัดมากๆ เราไม่ค่อยมีเวลาไปให้คำแนะนำกับชาวบ้านเท่าไหร่ ได้แต่หยิบจับผ้าลวดลายที่มีอยู่เดิม นำมาออกแบบให้ทันสมัยด้วยฟอร์มและรูปทรงมากขึ้น คาดว่าในโครงการหน้าเราจะมีเวลาไปนัั่งคลุกคลีกับชาวบ้านเพื่อแนะนำการใช้วัสดุใหม่ๆ ให้ชาวบ้านได้ลองทอกันบ้าง แต่การไปในแต่ละภาคในครั้งนี้ ทำให้ต่ายพบว่าผ้าของแต่ละชุมชนก็มีความงดงามของลายผ้าที่แตกต่างกันไป แต่หัวใจหลักของการพัฒนาลวดลายผ้าคือ ชาวบ้านในชุมชนนั้นต้องมีใจที่เปิดรับกับสิ่งใหม่ๆ อย่าปิดกั้นตัวเอง และมีใจรักวิชาการใหม่ๆ อย่างจริงใจด้วย” เพราะการไม่อยากพัฒนาตัวเองอย่างแท้จริง จะทำให้เสียเวลาทั้งครูผู้สอนและตัวชาวบ้านเองที่จะย่ำอยู่กับที่ และต้องเปิดรับเรื่องกระแสเทรนด์สีของโลกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ด้วยการปรับใช้โทนสีให้เข้ากับตนเองและกลุ่มลูกค้าของตัวเองมากที่สุด
“จากที่ต่ายเป็นที่ปรึกษาโครงการโอท็อปมาหลายปี สิ่งที่พบคือ สินค้าหากขายไม่ดี มาจากปัญหาคือเดินไปทางไหนก็เจอสินค้าเหมือนๆ กันไปหมด สองคือมีการปรับราคาสินค้ากันเอง สามเราทำอะไรขายดี ร้านอื่นๆ ก็ทำก๊อบปี้ตามกันไปหมด ทำให้ร้านต้นแบบต้องทำสินค้าหนีไปเรื่อยๆ ดังนั้นร้านค้าต้องคิดเสมอว่า เราต้องมีศักดิ์ศรีในการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ด้วยตัวเอง แต่บางคนก็บอกว่า เรื่องเทรนด์สีเขาไม่รู้ แต่จริงๆ แล้วเรื่องเทรนด์สีเป็นเรื่องที่ถูกสมมติขึ้นมา เทรนด์สีโลกมีใหม่ๆ ทุกปี เราต้องเข้าไปศึกษาค้นคว้าโทนสีใหม่ๆ และมานั่งวิเคราะห์ว่า เราชอบอะไร ตรงกับทาร์เก็ตกรุ๊ปของเราหรือไม่ แล้วเราก็เป็นผู้กำหนดจากพื้นฐานของเทรนด์สีโลกด้วยตัวเอง”
โจทย์ของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม (การออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทย) ในปีนี้ คือการนำผ้าไหมไทยมาออกแบบให้คนไทยใส่ได้จริงและไม่เชย นักออกแบบจึงมีการปรับแพตเทิร์น เช่น ใส่โครงที่แขน เสื้อผ้าไม่ต้องตีเกล็ด เป็นต้น
“เราเอาใจคนกรุงเทพฯ ที่ต้องการเสพผ้าไหมไทยที่ไม่เชย ต่ายคิดว่าเราควรมีโปรเจกต์นี้ไปเรื่อยๆ เพื่อขยายกลุ่มไปได้ให้มากขึ้น และต้องจัดงานกระตุ้นไปเรื่อยๆ ปีละสองครั้ง สำหรับคนผลิตเราต้องพัฒนาลายใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ อย่าหยุดนิ่ง เราอยากลงพื้นและลองสอนให้ชาวบ้านลองผสมสีนั้น สีนี้ลงไปใหม่ เพื่อไม่ให้ดูน่าเบื่อ ลองอะไรใหม่ๆ หรือลองใช้สีอะไรที่เรืองแสงดูไหม”
สิ่งที่คาดหวังสำหรับการทำโปรเจกต์นี้ คือ การถ่ายภาพอัพโหลดลงในเฟซบุ๊ก สะท้อนว่าผ้าไหมไม่เชยนะ เพราะมีวิธีคิดวิธีสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่นำเส้นใยสเปนเด็กซ์ไปผสมทอลงในผ้าไหม กลายเป็นผ้าชนิดใหม่ที่มีเทกซ์เจอร์ที่น่าสนใจ ซึ่งชาวต่างชาติก็ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
“ปัจจุบันผ้าไทยยังพัฒนาไปไม่หยุดนิ่ง หากภูมิปัญญาไทยพัฒนาไปเรื่อยๆ เป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ ต่อไปหากเราเปิดประชาคมอาเซียน ใครจะเป็นเบอร์หนึ่งด้านแฟชั่นในเซาท์อีสต์เอเชีย ซึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศที่น่ากลัว เพราะงานเขาเรียบๆ แต่ขายได้จริง แต่เขาสู้แรงงานไทยไม่ได้ เราจึงยังต้องวิ่งต่อไป แต่ให้ระวังเวียดนามในเรื่องแฟชั่น เพราะเวียดนามเน้นงานฝีมือกูตูร์ที่มีความสวยงามเบียดเรามาแล้ว”