posttoday

สายสัมพันธ์ไทย-ลาว

07 กุมภาพันธ์ 2558

เดือนที่แล้วทั้งเดือนเราได้มีโอกาสรวบรวมประสบการณ์การเดินทางของพวกเรามาถ่ายทอดเป็นแนวคิดในการดำเนินชีวิต

โดย...ทีมงานโลก 360 องศา  [email protected]

เดือนที่แล้วทั้งเดือนเราได้มีโอกาสรวบรวมประสบการณ์การเดินทางของพวกเรามาถ่ายทอดเป็นแนวคิดในการดำเนินชีวิตเพื่อความอยู่รอดอย่างเป็นสุขในศตวรรษที่ 21 ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากแฟนๆ รายการมากมายเลยทีเดียว และก็ต้องขอขอบคุณแฟนรายการทุกๆ ท่าน สัปดาห์นี้จึงขอเริ่มต้นซีรี่ส์ใหม่ จะพาไปดูเรื่องราวรอบบ้านเราบ้าง ซึ่งนับวันก็จะเป็นประเด็นสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความร่วมมือเพื่อสร้างความเข้มแข็งของอาเซียน หรือการขยายการค้าชายแดน และรวมถึงความร่วมมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันอีกด้วยเพื่อนบ้านรายแรกที่เราจะพาไปดูวันนี้ ก็คือสปป.ลาว เพราะนี่เป็นประเทศที่มีความใกล้เคียงกับไทยมากที่สุดในเกือบทุกมิติ

ประเทศไทยกับ สปป.ลาวนั้น เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่มีสายสัมพันธ์พิเศษต่อกันคือ มีความผูกพันใกล้ชิดและสื่อสารกันเข้าใจได้ง่ายกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ดังนั้นผู้คนก็มีความเชื่อมั่นในการเดินทางไปมาหาสู่กัน ยิ่งปัจจุบันนี้  การคมนาคมขนส่งสะดวกสบายขึ้น การเดินทางจากไทยไปลาวหรือเดินทางจากลาวเข้ามาไทย ก็เหมือนกับการเดินทางข้ามจังหวัดเท่านั้น ซึ่งเส้นทางข้ามแม่น้ำโขงที่ใช้ชื่อว่า สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ก็สะท้อนภาพอันชัดเจนของรูปแบบความสัมพันธ์ที่พิเศษระหว่างผู้คนสองประเทศ

สายสัมพันธ์ไทย-ลาว

 

หลายท่านอาจคุ้นหูกับคำที่มักจะพูดกันจนติดปากว่า “ลาว-ไทย ใช่อื่นไกล บ้านพี่เมืองน้องกันทั้งนั้น” ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มองว่า คำว่าบ้านพี่เมืองน้องนั้นอาจจะไม่ใช่ความหมายเชิงบวกเสมอไปเพราะบางทีคำว่าพี่น้องนั้นแสดงถึงความสนิทกันก็จริง แต่ก็ซ่อนความหมายถึงความไม่เท่าเทียมด้วยเช่นกัน เราคบกับเพื่อนบ้านชาวลาวเราก็ต้องนับถือเขาเป็น“เพื่อน” ซึ่งคำนี้มีความหมายถึง “ความสนิทสนมและความเท่าเทียมกัน”

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ลาวก็ยังเป็นปลายทางท่องเที่ยวที่น่าสนใจไม่เปลี่ยนแปลง   เพราะด้วยวิถีชีวิตที่ยังคงผูกพันกับพระพุทธศาสนา ทำให้คนไทยมีความสะดวกและคุ้นเคยซึ่งสังคมที่ยังคงอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามเอาไว้ได้ ภายใต้กระแสการพัฒนาทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ ก็เป็นภาพของลาวยุคใหม่ที่คล้ายคลึงกับสังคมไทยในปัจจุบัน ประกอบกับกิจกรรมท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวที่หลากหลายมากขึ้น ก็เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยด้วยเช่นกัน

สายสัมพันธ์ไทย-ลาว

 

คนไทยกับคนลาวติดต่อสัมพันธ์และทำการค้ากันมาหลายยุคสมัย คนลาวจำนวนไม่น้อยก็ดูรายการโทรทัศน์ของไทย คนไทยก็รับรู้ข่าวคราวของสังคมลาว ผ่านทางสื่อโทรทัศน์ สื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเราก็สามารถเข้าใจกันได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นยุคนี้ต้องเรียกได้ว่า คนลาว คนไทยเราแทบจะสื่อภาษาเดียวกันแล้ว นอกจากนั้นแล้วก็มีสินค้าของไทยจำนวนมากที่วางขายอยู่ในตลาดลาว เพราะผู้บริโภคชาวลาวส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าจากประเทศไทย ในขณะเดียวกันก็มีบริษัทห้างร้านใหญ่ๆ จากประเทศไทยที่เข้ามาลงทุน หรือมาตั้งฐานการผลิตในประเทศลาว เพราะความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และต้นทุนค่าแรงงานที่ยังไม่สูงมากจนเกินไป

การที่ผู้ประกอบการไทยเข้าไปทำธุรกิจในลาว ก็นำมาซึ่งความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา, การพัฒนาฝีมือแรงงาน, และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน แม้จะเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมเข้มแข็ง แต่คนลาวรุ่นใหม่ก็เปิดรับความเป็นสากลอยู่ไม่ใช่น้อย ทำให้มีการบริโภคนิยมตามยุคสมัย และมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีควบคู่กันไป ซึ่งก็นำไปสู่ความต้องการอุปโภคบริโภคที่มากขึ้น และเป็นโอกาสสำหรับสินค้าชนิดใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเปิดตลาดในประเทศนี้

สายสัมพันธ์ไทย-ลาว

 

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่เห็นศักยภาพของเพื่อนบ้านลาว นักลงทุนจีนเองก็เล็งเห็นจุดนี้มานานแล้ว หากสังเกตดีๆ เราไปเที่ยวลาวก็จะเห็นสินค้าที่มาจากจีนเต็มไปหมด หรือนั่งรถไปในเวียงจันทน์ก็จะเห็นห้างร้านติดป้ายภาษาจีนอยู่ไม่น้อยเลย ดังนั้นสินค้าจากจีนก็เป็นทางเลือกสำหรับคนลาวที่เน้นความประหยัด ซึ่งสินค้าจากประเทศไทยเราก็ต้องรักษาคุณภาพและบริการไว้ให้ได้

ทุกวันนี้ไทยยังเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งสำหรับลาว เรามีมูลค่าการค้ารวมกว่า 7 หมื่นล้านบาท/ปีโดยสินค้าส่งออกที่สำคัญคือน้ำมันเชื้อเพลิง, รถยนต์, ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า ในขณะที่เรามีการนำเข้าสินค้าจำพวกทองแดง, ไม้แปรรูป และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ แม้จะไม่ได้สร้างมูลค่าการส่งออกที่เป็นตัวเลขมากๆ  แต่ก็ยังคงมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันอย่างสม่ำเสมอ

สายสัมพันธ์ไทย-ลาว

 

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อนบ้านลาวของเราพัฒนาและก้าวหน้าไปอย่างมาก ไม่ใช่เพียงแค่ด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ลาวสามารถสร้างการยอมรับในภูมิภาคและเวทีสากลได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนได้จากรายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการที่ลาวยังได้รับเข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญเลยก็ว่าได้ มากไปกว่านั้นที่ผ่านมาลาวยังมีศักยภาพในการจัดประชุมผู้นำเวทีระดับโลกหลายรายการ ย่อมหมายถึงศักยภาพและความพร้อมในอนาคตที่จะบอกได้ว่าลาวมีความพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการของประชาคมอาเซียน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยมองว่า ลาวจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในทางภูมิศาสตร์ ถึงแม้ว่าจะไม่มีทางออกสู่ทะเล หรือ Land Lock ก็ตาม

แต่การแวดล้อมไปด้วยประเทศเพื่อนบ้านสำคัญๆ อย่างไทย เวียดนาม กัมพูชาที่จะต้องใช้ลาวเป็นทางผ่านในการเชื่อมโยงการค้าสู่จีนตอนใต้ ก็ทำให้ประเทศนี้อาจกลายเป็น Land Link ในอนาคตก็เป็นได้ อาจรวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายซื้อขายพลังงานไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะนำไปสู่การพึ่งพากันทางเศรษฐกิจร่วมกันมากยิ่งขึ้นในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

สายสัมพันธ์ไทย-ลาว

 

การพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นกลไกลที่สำคัญอย่างยิ่ง สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันนี้เนื่องจากทุกประเทศควรได้รับประโยชน์จากการเกิดขึ้นของ AEC และการเพิ่มมูลค่าการค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านก็ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

เพราะยุคนี้สมัยนี้แนวคิดในการสร้างการแข่งขันทางเศรษฐกิจกันเองภายในประเทศเพื่อให้ได้ผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว คงไม่อาจสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง แต่การที่ทั้งภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาชนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อร่วมกันสร้างความแข็งแกร่งย่อมจะทำให้เกิดพลังแห่งการขับเคลื่อนที่แข็งแรงและมั่นคงกว่าซึ่งเราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว จะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม หากเราต่างเข้าใจซึ่งกันและกัน