posttoday

ค้นหา 'ความเป็นชาย' ในวันที่สาวๆ ไม่ชายตามอง

10 กุมภาพันธ์ 2558

ในยุค 2-3 ปีหลังมานี้ สังคมไทยได้แปรผันเปลี่ยนแปลงนิยามของคำว่า “ผู้ชาย” ไปตามเทรนด์ของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดย...พริบพันดาว

จากผู้ชายสำอางแบบเมโทรมาถึงผู้ชายสำอางกล้ามโตที่เห็นเจนตากันในยุค 2-3 ปีหลังมานี้ สังคมไทยได้แปรผันเปลี่ยนแปลงนิยามของคำว่า “ผู้ชาย” ไปตามเทรนด์ของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความเป็นชาย (Masculinity) เป็นรูปแบบหนึ่งของความเป็นเพศ (Gender) ที่ไม่ได้ถูกกำหนดจากลักษณะทางชีววิทยาที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิดเพียงอย่างเดียว แต่ยังถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากสังคมวัฒนธรรม ส่งผลให้ความเป็นชายไม่หยุดนิ่ง สามารถแปรผันเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้ตลอดเวลา

ความเป็นชายได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันตามเวลาและสถานที่ที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ความเป็นชายมีลักษณะที่ลื่นไหลเปลี่ยนรูปแบบได้ตลอดเวลาตามปัจจัยแวดล้อม ทำให้สามารถเห็นรูปแบบความเป็นชายที่หลากหลายตามแต่บริบทของสังคม

การตลาดสมัยใหม่ โดยเฉพาะโฆษณาที่มีอิทธิพลต่อการกระตุ้นพฤติกรรมของผู้ชายให้มีบทบาทในการปรับสร้างภาพพจน์ความเป็นชายให้ฝังแน่นปิดผนึกมากขึ้นในสังคมผ่านการบริโภค  รวมถึงสื่อมวลชนและโฆษณามีส่วนสำคัญในการสร้างภาพและความหมายของความเป็นชายให้กับสังคม มาสู่การแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของผู้ชาย (Male Identity) รวมถึงการดำเนินชีวิต ระบบความคิด ความเชื่อ การแสดงออกทางพฤติกรรมที่เกิดจากการสร้างขึ้นของสังคมและวัฒนธรรม

มาค้นหาว่านิยามจากอดีตถึงปัจจุบันของผู้ชายไทยและผู้ชายในเทรนด์โลกเป็นอย่างไรกันบ้าง...

ค้นหา \'ความเป็นชาย\' ในวันที่สาวๆ ไม่ชายตามอง

ค้นหาความหมายผ่านจิตวิทยาทางเพศ

ในอดีตเมื่อพูดถึงเรื่องเพศ การแบ่งแยกเพศจะถูกอธิบายในแง่มุมเดียวจากคำว่า Sex หรือเพศสภาวะ ในความหมายของการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างเพศจากลักษณะทางชีววิทยาของบุคคลที่ถูกกำหนดขึ้นจากธรรมชาติ

ในยุคสมัยใหม่ ความเป็นชายแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.“Breadwinner” เน้นคุณธรรม ความสำเร็จ ความน่านับถือ เป็นเหมือนพ่อ 2.“Rebel” มีแนวคิด คือ ไร้ระเบียบ ดุดัน ไม่ว่านอนสอนง่าย ยึดตัวเองเป็นหลัก แต่ก็ยังรักการผจญภัย สนใจการเมือง รักอิสรภาพ กล้าหาญ มีพละกำลัง และฉลาดแกมโกง เป็นเสมือนนักรบ 3.“Man of action hero” เป็นเหมือนกบฏที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง มีแนวคิดคือ จิตใจที่กล้าหาญ มีวิสัยทัศน์ อดทน เอาชนะโชคชะตา มีความรับผิดชอบและใส่ใจผู้อื่น

ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่ามนุษย์มีสรีระที่แตกต่างกัน ความเหมาะสมที่จะมีบทบาทในสังคมก็แตกต่างกัน ผู้ชายจะมีสรีระ กล้ามเนื้อ และร่างกายแข็งแรงกว่าผู้หญิง มาถึงยุคใหม่ในปัจจุบันงานที่ทำก็เปลี่ยนแปลงไป ใช้แรงใช้กำลังน้อยลง แต่ใช้ความรู้มากขึ้น ผู้หญิงก็ทำได้ ความแตกต่างทางสรีระไม่มีผลอีกต่อไปแล้ว

ค้นหา \'ความเป็นชาย\' ในวันที่สาวๆ ไม่ชายตามอง

 

“ในเชิงทางจิตวิทยาที่ยังคงใช้เป็นตัวแทนของผู้ชายตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ผู้ชายจะบึกบึน ใช้แรงงานและชีวิตในจุดที่เสี่ยงอันตราย ต้องแสดงความเข้มแข็ง กางเกงยีนส์ก็มาจากชนชั้นแรงงาน คนทำงานเหมืองแร่ สมัยก่อนคนขับรถแข่งที่ใช้ความแข็งแรงและท้าทาย ภาพที่อยู่คู่กันบ่อยๆ มันก็เป็นความเคยชินและจับมาอยู่คู่กันไปโดยปริยาย เข้ากันดีไปด้วยกันจนเป็นสัญลักษณ์ของกันและกัน เวลาคนมองสินค้าหรือกิจกรรมคนที่สนใจหรือไปเล่นก็เป็นผู้ชาย คนเล่นจนเคยชินและเกิดการรับรู้ว่าต้องไปด้วยกันเป็นคู่กับผู้ชาย”

สัญญะของความเป็นชายที่คุ้นชิน ไม่ว่า กางเกงยีนส์ แว่นตากันแดด แข่งรถ ยิงปืน ดูฟุตบอล เล่นโมเดลหุ่นยนต์ ดูพระเครื่อง หรืออีกจิปาถะ ดร.ทิพย์นภา มองว่า การตลาดและสื่อมีผลเยอะสำหรับการบัญญัติหรือนิยามความเป็นชาย

“หนังหรือละครจะมีผลเยอะมาก ผู้ชายจะมีการเปลี่ยนแปลงจากสมัยโบราณ จะมีความหลากหลายของบทบาทผู้ชายเยอะมาก แทนที่จะเป็นพระเอกปราบผู้ร้ายอย่างเดียว ผู้ชายสมัยนี้ก็ได้เห็นทางเลือกมากขึ้นจากหนังจากละคร โดยเฉพาะซีรี่ส์เกาหลี ผู้ชายที่อบอุ่น แต่งตัวเนี้ยบ ทรงผมดูดี หน้าใส เทรนด์ก็เลยไปทางนั้นด้วย เป็นผู้ชายสะอาด อบอุ่นไม่ได้บึกบึนอย่างเดียว เป็นทางเลือกที่มากขึ้นของผู้ชาย โดยเฉพาะเด็กหนุ่มที่สร้างตัวตนขึ้นมาได้มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น คนเราทำอะไรก็หวังผลทางบวก เมื่อเพื่อนๆ ทำแบบนี้แล้วสาวกรี๊ดก็จะทำตามกัน สร้างจุดเด่นในรูปลักษณ์ของตัวเอง”

ค้นหา \'ความเป็นชาย\' ในวันที่สาวๆ ไม่ชายตามอง

 

เมื่อพลิกดูข้อมูลรูปแบบความเป็นชายที่มีพื้นฐานจากซีกโลกตะวันตก จะแสดงให้เห็นถึงการแบ่งประเภทของรูปแบบความเป็นชายว่าความเป็นชายมีมากกว่า 1 ชนิด ได้แก่ 

The football player (ความเป็นชายเน้นรูปร่างที่ดี สมส่วน)

The jet set playboy (ความเป็นชายที่มาพร้อมกับรถแข่งและผู้หญิงสวย)

The blue collar brawler (ความเป็นชายในแบบนักสู้)

The dynamic big shot businessman (ความเป็นชายในแบบนักธุรกิจ)

The Don Juan (ความเป็นชายแบบเซ็กซี่)

The working man (ความเป็นชายที่ดูขยัน เข้มแข็ง ซื่อสัตย์)

The great leader (ความเป็นชายแบบผู้นำมีความคิด)

จากการแบ่งประเภทเหล่านี้ แบรนด์หรือสินค้าจะมีการศึกษาเรื่องบุคลิกของลูกค้า ทำให้กลายเป็นตัวแทนของผู้ชายไปโดยปริยาย ดร.ทิพย์นภา มองว่า จากการตลาดและโฆษณาตรงนี้ ทำให้เกิดความจดจำแทนที่ตัวของผู้ชาย

“จะทำอย่างไรให้มีความสัมพันธ์กับคนใช้ มากกว่าการเป็นวัตถุสิ่งของ ต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและบุคลิกภาพของผู้ชาย ผู้บริโภคจะใช้สินค้าที่เข้ากับบุคลิกของเขา อย่างกางเกงยีนส์ก็เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาย ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มหลัก ตัวแบรนด์ก็ต้องทำตัวให้กลมกลืนกับลูกค้าแบบแนบชิดเป็นหนึ่งเดียวกัน ให้รู้สึกว่าเป็นแบรนด์สำหรับพวกเขา”

จากผู้ชายสำอางถึงผู้ชายกล้ามโตดูดี

ค้นหา \'ความเป็นชาย\' ในวันที่สาวๆ ไม่ชายตามอง

 

หากมองบทบาทความเป็นชายในโฆษณามีความสัมพันธ์กับความเป็นชายที่ปรากฏในสังคมอย่างแยกไม่ออก ได้มีการแบ่งบทบาทของผู้ชายในโฆษณาออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่

 1.The Hero (ผู้ชายที่มีชื่อเสียงในวงการธุรกิจ กีฬา การเมือง การทหาร หรือแวดวงสังคม)

 2.The outdoorsman (ผู้ชายที่พิชิตธรรมชาติ)

 3.The family man/nurturer (ผู้ชายที่มีบทบาทในความเป็นพ่อ หัวหน้าครอบครัวหรือสมาชิกในครอบครัว)

 4.The breadwinner (ผู้ชายที่มีหน้าที่ในการหาเลี้ยงครอบครัว แต่ไม่มีเข้าร่วมในกิจกรรมอื่นๆ ของครอบครัว)

 5.The man at work (ผู้ชายที่มีความเชี่ยวชาญด้านด้านหนึ่งเป็นพิเศษ)

 6.The consumer (ผู้ชายทั่วไปที่บริโภคสินค้าที่ปรากฏในโฆษณา)

 7.The urban man (ผู้ชายที่สนุกกับชีวิตในเมืองใหญ่ บริโภคสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือย หาความสุขให้กับตัวเองตามร้านอาหาร ผับ บาร์ โรงภาพยนตร์ และการเข้าสังคม)

 8.The quiescent man (ผู้ชายที่ชื่นชอบกิจกรรมนันทนาการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น การท่องเที่ยว)

 9.The erotic man (ผู้ชายที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับร่างกายของตนเอง)

หยิบงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำวิจัยเทรนด์ผู้ชายกล้ามโต (Spronosexual) โดยที่ทีมวิจัยประกอบด้วย ปิยะฉัตร อมรถนอมโชค, ภิญญดา วิจิตรกูล, พรรณนภา ทับวัฒน์, เอมอร จองศิริวัฒน์, อริยา อริยะวัฒน์กุล, ชเนตตรี บุญรอด, รัชนา จันทร์ไทย และฑริกา อุดมพานิช มาเปิดดู พบว่า สปอร์โนเซ็กชวลจัดอยู่ในประเภท The erotic man หรือผู้ชายที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับร่างกายของตนเอง กำลังเป็นเทรนด์ผู้ชายของโลกและในเมืองไทย

ค้นหา \'ความเป็นชาย\' ในวันที่สาวๆ ไม่ชายตามอง

 

สปอร์โนเซ็กชวล (Spornosexual) มาจากการผสมคำว่า Sports, Porn และคำว่า Metrosexual ผู้ชายสปอร์โนเซ็กชวลจะมีนิสัยที่หมกมุ่นกับการเล่นกีฬาและออกกำลังกายมากกว่าเก่า เพราะว่าผู้ชายยุคนี้ต้องการให้ตัวเองกลายมาเป็นวัตถุทางเพศมากขึ้น ด้วยการใช้เรือนร่าง (บางทีก็มีรอยสัก) ของตัวเองดึงดูดสายตาของคนอื่น พวกเขาจึงอยากให้คนอื่นให้ความสำคัญกับการแต่งตัวจนไปถึงการเลือกเสื้อผ้าให้ตัวเองดูดีน้อยลง แล้วก็หันไปให้ความสนใจกับการสร้างรูปร่างของตนให้ออกมาดูดีมากกว่า

ปิยะฉัตร ขยายความถึงงานวิจัยชิ้นสปอร์โนเซ็กชวลนี้ ว่า เกิดขึ้นจากการสังเกตคนรอบข้าง จากการดูโทรทัศน์ หรือแม้แต่คนรู้จักดูเขาจะใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น เขาต้องออกกำลัง มีซิกซ์แพ็ก มีรูปร่างที่ดี แล้วก็อ่านเจอบทความของเมืองนอกว่า เทรนด์นี้กำลังมา แต่ในบ้านเรายังไม่ขยายตัวมากนัก คำนี้ถูกบัญญัติเมื่อกลางปี 2557 ที่ผ่านมา

“ถ้ามองย้อนกลับไปในปี 2537 หรือ 20 ปีที่แล้ว เทรนด์เมโทรเซ็กชวล (Metrosexual) กำลังมา เป็นผู้ชายแต่งตัวดี เนี้ยบ ดูแลตัวเองหรือผู้ชายสำอาง ซึ่งค่อนข้างออกไปทางเกย์ด้วยซ้ำ ดูแลรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างดี ซึ่งคนที่นำเทรนด์ก็คือ เดวิด เบคแฮม ซึ่งดูแลร่างกายตัวเองเป็นอย่างดี เสื้อผ้า ผมเผ้าเนี้ยบเป๊ะและนำสมัย คนที่บัญญัติคำคือ มาร์ค ซิมป์สัน นักหนังสือพิมพ์และคนเขียนบทความของหนังสือพิมพ์เทเลกราฟของอังกฤษ ระยะหลังพอบุคลิกของเมโทรเซ็กชวลออกไปทางเกย์เสียเยอะ

ค้นหา \'ความเป็นชาย\' ในวันที่สาวๆ ไม่ชายตามอง

“ประมาณปี 2548 ก็มีการนิยามศัพท์ใหม่ก็คือ อูเบอร์เซ็กชวล (Ubersexual) เป็นผู้ชายที่ดูแลตัวเองเหมือนเดิม แต่บุคลิกลักษณะจะมีความเป็นแมนหรือผู้ชายมากขึ้น จะไม่แต่งตัวจัดจ้าน เป็นผู้ชายที่ดูคลาสสิก อย่าง จอร์จ คลูนีย์ ดูสุขุม อบอุ่น มีความเป็นชายมากขึ้น และมีจุดเปลี่ยนก็คือผู้ชายอูเบอร์จะออกกำลังกายมากขึ้น เพื่อเน้นในส่วนของรูปร่าง ในบ้านเราก็เป็นคุณก้อง สหรัถ สังคปรีชา มีความพิถีพิถันในการแต่งตัว ดูแลเสื้อผ้าหน้าผม และเน้นออกกำลังกาย ด้วยบุคลิกของคนเทรนด์นี้มีความเป็นสุภาพบุรุษมากขึ้น ไม่อ้อนแอ้นอรชรแบบเมโทรที่สำอางมาก”

 

ปิยะฉัตร เล่าต่อว่า พอหลังจากนั้นผู้ชายอูเบอร์เหล่านี้ก็เริ่มมีซิกซ์แพ็ก มีกล้ามเป็นมัดๆ มาร์ค ซิมป์สัน ก็มาบัญญัติศัพท์ "สปอร์โนเซ็กชวล" เมื่อปีที่แล้ว

“ผู้ชายประเภทสปอร์โนเซ็กชวลจะเป็นผู้ชายที่ใส่ใจตัวเองมากขึ้นจนถึงขั้นหมกมุ่นกับการมีกล้าม การมีซิกซ์แพ็ก ใช้เวลาในฟิตเนสเยอะมาก การแต่งตัวก็จะเปลี่ยนไป ไม่เน้นมาก แต่จะเลือกเสื้อผ้าที่สามารถโชว์หรือเน้นสรีระ เรือนร่างตัวเองจะเป็นเหมือนเครื่องประดับ พยายามใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น แต่จะพยายามโชว์กล้ามเนื้อของตัวเอง มีความภูมิใจกับรูปร่างของตัวเอง พร้อมที่จะโชว์ เอาร่างกายตัวเองเป็นจุดดึงดูดเพศตรงข้ามหรือคนที่สนใจ โดยใช้ร่างกายเป็นตัวช่วย โรนัลโด นักฟุตบอลทีมเรอัล มาดริด เป็นคนนำเทรนด์ ส่วน เดวิด เบคแฮม กลับมาในเทรนด์นี้อีกครั้ง อีกคนคือ แดน ออสบอร์น ดาราซีรี่ส์ เป็นตัวแทนผู้ชายตัวแทนสปอร์โนเซ็กชวล ชอบถ่ายแบบโชว์เรือนร่างไม่ใส่เสื้อเสียส่วนมาก พอย้อนกลับมาบ้านเราก็เป็น อั้ม-อธิชาติ ชุมนานนท์ กับ เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ ที่พยายามฟิตร่างกายโชว์หุ่น”

ค้นหา \'ความเป็นชาย\' ในวันที่สาวๆ ไม่ชายตามอง

 

ดูเหมือนว่าผู้ชายยุคสปอร์โนเซ็กชวลจะเหมือนย้อนกลับไปสู่ยุคผู้ชายมาดแมนกล้ามโตเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ยุคพระเอกรุ่นลุง สมบัติ เมทะนี, นาท ภูวนัย, มานพ อัศวเทพ ในมุมนี้ที่นำ 2 ยุคมาเปรียบเทียบ ปิยะฉัตร มองว่าไม่เหมือนกัน

“ต้องบอกว่ายุคเก่าเขาก็ใส่ใจดูแลรูปร่าง แต่ว่าอยู่ในวงแคบๆ เฉพาะกลุ่ม สำหรับพวกเล่นกล้ามและนักแสดงที่ต้องทำงานด้านนี้ คนทั่วไปยังไม่ค่อยมากเท่าไร เดี๋ยวนี้มันเป็นเทรนด์ ออกกำลังกายที่ไหน เล่นเวตอย่างไรให้มีกล้ามอย่างนี้ กลายเป็นคำพูดปกติ ส่วนยุคนั้นเป็นการทำงานต้องเป็นดารา แต่สปอร์โนเซ็กชวล คนทั่วไปก็เป็นหมด สามารถเจอบนรถไฟฟ้าได้ กลายเป็นแฟชั่นขึ้นมา

“ตัวแทนความเป็นชาย สมัยก่อนใช้วัตถุหรือกิจกรรมเป็นตัวแทน อย่าง ยีนส์ แว่นดำ รถแข่ง จุดเริ่มต้นที่เป็นเทรนด์ผู้ชายยุคใหม่ก็คือเมโทรเซ็กชวล ตลาดก็เริ่มออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผู้ชายออกมา กลายเป็นกระแสออกมา ทั้งการดูแลตัวเองและผิวพรรณ ทำให้สินค้าในหมวดนี้โตขึ้นเรื่อยๆ ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผู้ชาย ทำให้กลายเป็นเทรนด์ของผู้ชายที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างผู้ชายสปอร์โนเซ็กชวล น้ำหนักของค่าใช้จ่ายก็จะหมดไปกับการเล่นกล้ามเข้าเวต เทรนนิ่ง การดูแลอาหารการกิน มีการกินที่ถี่ขึ้น 6-8 มื้อ กินอาหารเพื่อสุขภาพเน้นโปรตีนสร้างกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะเวย์โปรตีนที่มีราคาค่อนข้างสูง ต้องบำรุงและดูแลผิวพรรณ โดยเฉลี่ยต่อคนจะมีค่าใช้จ่ายหลายพันจนถึงหลายหมื่นบาท แล้วแต่ละคน และเทรนด์นี้น่าจะอยู่นาน เพราะเขาภูมิใจในกล้ามเนื้อและซิกซ์แพ็กของตัวเอง เขาก็จะรักษาให้อยู่นานที่สุด”

ความเปลี่ยนแปลงคำจำกัดความและนิยามความเป็นชายแบบแบดบอยหรือผู้ชายพันธุ์แท้ดูก้าวร้าวดิบๆ ในอดีตของไทยกำลังกลายเป็นเทรนด์ที่ถูกกลืนกลายเป็นเพียงส่วนน้อย ผู้ชายดูดีหล่อเหลากล้ามโตมีซิกซ์แพ็กกำลังเป็นที่ถูกตาต้องใจของสาวๆ หรือแม้แต่ในผู้ชายด้วยกันเอง สังคมเปลี่ยนไปคนก็เปลี่ยนตาม และผู้ชายก็เช่นกัน