ง่ายๆ ...ช่วยกาชาด ‘เลือด’ ไม่ขาด แค่บริจาคทุกสามเดือน
จากวิกฤตขาดแคลนเลือดอย่างหนักเมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกนำเสนอผ่านหลายสื่อ
โดย...วีรทัศน์ อิงคภัทรางกูร/สุภชาติ เล็บนาค
จากวิกฤตขาดแคลนเลือดอย่างหนักเมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกนำเสนอผ่านหลายสื่อ รวมถึงการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง แม้ในขณะนี้สถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติเป็นที่เรียบร้อย แต่นั่นไม่สามารถทำให้ไว้วางใจได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก
ปิยนันท์ คุ้มครอง หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดหาผู้บริจาคโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ปริมาณความต้องการเลือดจากโรงพยาบาลทั่วประเทศนั้นสูงมาก และมักสูงกว่าอัตราเลือดที่ได้รับบริจาคอยู่เสมอ ประกอบกับแนวโน้มการใช้เลือดที่เพิ่มขึ้น 8-10% ในทุกๆ ปี ตามการเพิ่มของจำนวนประชากร ทำให้ทางศูนย์ต้องหาเลือดเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งเลือดที่ได้รับบริจาคในวันนี้ก็ใช้หมดในวันพรุ่งนี้เสียแล้ว หรือเรียกได้ว่า “หาเช้ากินค่ำ”
“ผู้บริจาคส่วนใหญ่จะมาเมื่อเห็นการประชาสัมพันธ์ เวลาเรารณรงค์ออกไปครั้งหนึ่งก็จะมีคนทยอยมาบริจาคกัน ซึ่งก็จะมีทั้งกลุ่มที่เคยและไม่เคยบริจาคมาก่อน บางรายเคยบริจาคแล้วแต่หายไปนาน 5-10 ปีก็มี บางคนเขานึกว่าเมื่อเราไม่ประกาศก็แสดงว่ามีพอใช้อยู่แล้ว แต่ความเป็นจริงคือการใช้เลือดนั้นมีอยู่ทุกวันและไม่ได้มีวันหยุด จึงเป็นโจทย์ของเราว่าจะทำอย่างไรให้เกิดพฤติกรรมการบริจาคที่ต่อเนื่อง ซึ่งทางที่ดีที่สุดคืออยากให้ประชาชนบริจาคกันทุก 3 เดือนได้โดยไม่ต้องรอให้มีประกาศ”
แม้วิกฤตขาดแคลนหนักเช่นที่ผ่านมาจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่อีกช่วงหนึ่งที่น่าจับตามองคือช่วงปิดเทอมของนักเรียนและนักศึกษา ด้วยอัตราส่วนการรับบริจาคตามสถาบันการศึกษาที่นับเป็น 25% ของการบริจาคทั้งหมด ซึ่งตามสถาบันมักจะมีการจัดบริจาคกันปีละ 1-2 ครั้ง และนั่นทำให้ช่วงปิดเทอมอีก 2 ครั้งต่อปี 25% ตรงนี้ก็จะหายไปด้วย
“จริงๆ แล้วกลุ่มเยาวชนถือได้ว่าเป็นกำลังสำคัญของเรา ด้วยเลือดที่ใหม่กว่า บริสุทธิ์กว่า รวมถึงอัตราการติดเชื้อที่น้อยกว่า แล้วเด็กกลุ่มนี้ยังมีการเตรียมตัวบริจาคที่ดี ทำให้เราได้เลือดที่มีคุณภาพ เราจึงอยากรณรงค์ให้เยาวชนเหล่านี้ร่วมมาบริจาคกันในช่วงปิดเทอมด้วย เพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายไปและสร้างจิตสำนึกที่ดีในการเป็นผู้บริจาคที่มีศักยภาพในอนาคต”
การบริจาคโลหิตนอกจากจะดีกับผู้ที่ได้รับแล้วยังดีกับผู้ที่ให้ด้วย ปิยนันท์ ระบุอีกว่า หากบริจาคเป็นประจำจะทำให้ร่างกายได้ถ่ายเลือดเก่าออกไปและสร้างเลือดใหม่ที่ดีเข้ามา สร้างไขกระดูกใหม่ ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดชื่น รวมถึงยังเป็นการได้ตรวจสุขภาพอยู่เป็นประจำอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังนับเป็นการทำบุญโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน ซึ่งกุศลที่ได้ถือว่ามากมายเพราะบางครั้งเลือด 1 ถุงนั้นสามารถช่วยชีวิตคนได้ถึง 3 คนเลยทีเดียว
“จากสถิติเมื่อปีที่ผ่านมานั้นพบว่าในจำนวนผู้บริจาคกว่า 3.8 แสนคน เป็นผู้ที่บริจาคเพียงหนึ่งครั้งถึง 60% หรือกว่า 2.2 แสนคน หากผู้บริจาคเหล่านี้บริจาคเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งครั้ง เท่ากับว่าเราจะมีเลือดเพิ่มถึง 2.2 แสนหน่วยแล้ว หากเกิดการบริจาคทุก 3 เดือน หรือเท่ากับปีละ 4 ครั้งได้จริง เราก็จะไม่เห็นปัญหาการขาดเลือดอีกต่อไปอย่างแน่นอน”
นอกจากนี้ การที่องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในการบริจาคเลือดมากขึ้น ก็ถือเป็นการช่วยทางศูนย์ได้เยอะมาก เพราะมีทั้งการจัดสถานที่ จัดเตรียมป้ายประกาศต่างๆ แต่กลับกันในด้านบุคลากรของทางศูนย์เองที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้การรับบริจาคเลือดนั้นไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
“เราได้มองถึงศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายตามต่างจังหวัดและหัวเมืองใหญ่ๆ เพื่อขยายฐานกลุ่มผู้บริจาคให้มากขึ้นจากที่แต่ก่อนมีเพียงการบริจาคในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อส่งไปยังทั่วประเทศ โดยขณะนี้เราได้เปิดภาคบริการโลหิตเพื่อครอบคลุมในทุกภาคจำนวน 12 แห่งจนครบแล้ว และได้รับการอนุมัติบุคลากรเกือบ 200 ตำแหน่ง โดยทุกแห่งนั้นทำงานได้ครบครันเหมือนทางศูนย์ ทั้งการรับบริจาค การเจาะตรวจ การคัดกรองให้ได้มาตรฐาน ไปจนถึงการแจกจ่าย
“ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ในขณะนี้เรากำลังทำแผนโครงสร้างใหม่ โดยจะเพิ่มหน่วยเคลื่อนที่อีกอย่างน้อย 5 หน่วย จากปัจจุบันที่สามารถออกไปรับบริจาคได้เพียง 7-9 หน่วย แต่ทั้งนี้การที่จะขออนุมัติเพิ่มขึ้นได้นั้นก็ต้องมาจากยอดบริจาคที่เพิ่มขึ้นด้วย” หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดหาผู้บริจาคโลหิต กล่าวสรุป
กาชาดไม่เกี่ยวการเมือง
ก่อนหน้านี้ มีกระแสโจมตีสภากาชาดไทยอย่างหนักในเรื่องการสนับสนุนกลุ่มการเมืองในสงครามสีเสื้อ จนทำให้คนบางส่วนมองสภากาชาดไทยในแง่ลบ อย่างไรก็ตาม น.ท.หญิง พญ.อุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ชี้แจงว่า คนที่เข้ามาบริจาคโลหิตเป็นผู้ที่คิดดี ทำดี อยากจะช่วยเหลือผู้อื่น เพราะเหตุผลเดียวคือเป็นคนไทย เป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน โดยไม่สนใจเรื่องสีเสื้อหรือฝักฝ่ายใดๆ
นอกจากนี้ ที่มีการปล่อยข่าวว่าไม่รับบริจาคเลือดเพศที่สามนั้น รองผู้อำนวยการศูนย์บริจาคโลหิต ยืนยันว่าไม่มีนโยบายแบ่งแยกเพศ เพียงแต่การคัดกรองผู้ที่จะมาบริจาคโลหิตโดยดูจากปัจจัยเสี่ยงที่มีโอกาสไปติดเชื้อโรค เช่น กลุ่มเพศสัมพันธ์ชายรักชายพบว่ามีประวัติติดเชื้อเอดส์สูงมาก จึงต้องของดรับบริจาค รวมถึงใครก็ตามที่มีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย ก่อนมาบริจาคควรรู้ตัวเองและมีสำนึกไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้อื่น ซึ่งบางประเทศถึงขั้นมีโทษทางกฎหมาย
ส่วนที่มีข่าวลือว่า บริจาคเลือดแล้วอาจติดเชื้อเอดส์นั้น น.ท.หญิง พญ.อุบลวัณณ์ ยืนยันว่า ไม่มีแน่นอน เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ในการบริจาคโลหิต ทั้งสำลี ผ้าก๊อซ เข็มเจาะปลายนิ้ว เข็มเจาะเลือด จนถึงแก้วน้ำ ทุกอย่างใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่ปะปนกับใคร
นอกจากนี้ ที่ปรากฏเป็นข่าวตามฟอร์เวิร์ดเมลทุกครั้งที่โลกออนไลน์มีการแชร์ภาพผู้ป่วยพร้อมรายละเอียดเพื่อขอรับบริจาคเลือดจะมีการเช็กเสมอ หากเป็นเรื่องจริงก็จะตรวจสอบแล้วจัดหาเลือดให้โดยด่วน แต่อีกมากกว่าครึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานหลายปีแล้ว
ศิริราชไม่ขาดเลือดแล้ว
อยู่ดีๆ โรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ที่มีผู้ป่วยใช้บริการมากที่สุดในประเทศไทย อย่างโรงพยาบาลศิริราช ก็เกิดวิกฤตขาดแคลนเลือดอย่างหนักในช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยธนาคารเลือดของโรงพยาบาลเหลือเลือดสำรองในจำนวนจำกัด เนื่องจากมีผู้บริจาคเลือดน้อยลง โดยขาดแคลนทั้งกรุ๊ปโอ เอ และเอบี
นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บอกว่า วิกฤตขาดแคลนเลือดนั้น เกิดในช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยปกติโรงพยาบาลศิริราช จะมีเลือดสำรองอย่างน้อยประมาณ 1,000 ยูนิต อยู่ในธนาคารเลือด แต่ช่วงเวลาดังกล่าว คนบริจาคน้อยลงชัดเจน อยู่ๆ ก็ไม่มีคนบริจาคเลย จากที่เคยเข้ามาบริจาคทุกวันๆ โดยเฉพาะกรุ๊ปโอที่มีปัญหาหนักมาก และเกือบจะไม่มีติดธนาคารเลือดเลย ขณะที่เลือดสำรองที่สภากาชาดไทยก็มีจำนวนไม่เพียงพอ แต่พอประชาสัมพันธ์ทุกสื่อ สัปดาห์เดียวก็กลับมามีเลือดสำรองเกิน 1,000 ยูนิต เหมือนเดิม
“มันเป็นช่วงๆ ที่นี่เคยเจออยู่บ้าง ซึ่งเราก็อธิบายไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมถึงไม่มีคนมาบริจาคเลือดเลยช่วงนี้ ก่อนหน้านี้อาจมีบ้าง ช่วงก่อนวันสำคัญที่เลือดขาด เพราะคนรอบริจาคในช่วงวันสำคัญ แต่พอต้นเดือน มี.ค. เราอธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงไม่มีคนมาบริจาค แต่เรารู้อย่างเดียวว่าต้นเดือน เม.ย. จะต้องเตรียมเลือดไว้มากเพื่อรองรับช่วงอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งตอนนี้เราก็พร้อมแล้ว” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว