posttoday

คาริสม่าแบรนด์ คิด และ โตแบบเศรษฐศาสตร์

04 พฤษภาคม 2558

สาวร่างบาง ส่วนสูงระดับนางแบบ วัย 22 ปี ดีกรีว่าที่เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ของคณะเศรษฐศาสตร์

โดย...กองทรัพย์ ภาพ : กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร

สาวร่างบาง ส่วนสูงระดับนางแบบ วัย 22 ปี ดีกรีว่าที่เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “อาภามาศ มงคลพรอุดม” หรือมิ้น เจ้าของแบรนด์ คาริสม่า (Charisma) มาในชุดลำลองที่เธอออกแบบด้วยตัวเอง และขายผ่านออนไลน์อย่างอินสตาแกรมในชื่อ CharismaClothing ที่เปิดมานานกว่า 2 ปี และได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า แต่ละคอลเลกชั่นที่ออกมาก็ขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว

มิ้น เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการขายเสื้อผ้าบนโลกออนไลน์ว่า เริ่มต้นจากการเป็นร้านรับพรีออร์เดอร์จากต่างประเทศอยู่ก่อนแล้ว แต่เนื่องจากการแข่งขันสูง ประกอบกับเกิดปัญหาหาเสื้อผ้าที่ชอบใส่ยาก จึงคิดว่าน่าจะเริ่มทำเสื้อผ้าแบรนด์ของตัวเอง “เมื่อประมาณ 2 ปีก่อนเป็นช่วงที่ตลาดพรีออร์เดอร์แข่งขันกันสูง และเสื้อผ้าจากอเมริกามีราคาแพงหลักพัน คนซื้อก็ไม่ได้ซื้อบ่อย ก็เลยตัดสินใจทำร้านของตัวเอง เพราะมิ้นเป็นคนชอบซื้อเสื้อผ้า แต่ว่าเป็นคนสูง เสื้อผ้าที่อยากใส่ก็ใส่ไม่ได้ และคิดว่าต้องมีคนที่รู้สึกเหมือนเรา ก็เลยอยากลองทำเสื้อผ้าที่คนอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะกำลังมองหาอยู่”

คาริสม่าแบรนด์ คิด และ โตแบบเศรษฐศาสตร์

 

ด้วยความที่ไม่ได้เรียนด้านการออกแบบมาโดยตรง การออกแบบจึงเน้นใช้แรงบันดาลใจจากสิ่งใกล้ตัว โดยเลือกแบบเสื้อผ้าที่อยากใส่ผสมผสาน แล้วร่างแบบจากนั้นก็ส่งต่อให้ช่าง โดยเลือกผ้าที่ใส่แล้วให้ความรู้สึกสบาย ซึ่งใช้พื้นฐานจากการเป็นคนที่ช็อปปิ้งมาก่อน “มิ้นพอจะรู้ว่าเนื้อผ้าแบบไหนที่ใส่แล้วรู้สึกสบาย แบบไหนที่ไม่แพงแต่คุณภาพดี และได้สินค้ามาในแบบที่ลูกค้าพอใจในราคาสมเหตุสมผล จึงค่อนข้างขายดี จริงๆ แล้วร้านมิ้นไม่ได้ขายของตามเทรนด์แฟชั่น ถ้าเราทำในสิ่งที่ในตลาดมันมีเยอะอยู่แล้ว ก็เหมือนวิ่งตามเขา เราต้องเป็นคนเริ่ม ก็ทำของเราไปแบบนี้ ก็คงเป็นจุดเด่นของร้านด้วย ดังนั้นกลุ่มลูกค้าเราจึงมีตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา จนไปถึงวัยทำงาน”

หลายคนคิดว่าการรับพรีออร์เดอร์มาก่อน จะทำให้มีฐานลูกค้าเป็นทุนเดิม เมื่อคาริสม่าเปิดตัวบนโลกออนไลน์ไม่ใช่แบบนั้น มิ้น บอกว่า เธอต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่หาลูกค้าใหม่ๆ เพราะลูกค้าเป็นคนละกลุ่ม มิหนำซ้ำยังต้องเผชิญกับปัญหาทางการผลิตที่ช่างไม่ผลิตออร์เดอร์ตามคิว

คาริสม่าแบรนด์ คิด และ โตแบบเศรษฐศาสตร์

“เราเป็นรายใหม่ในตลาด และไม่ได้มีลูกค้ามากถึงขนาดที่จะสั่งเป็นหลักหลายร้อยตัว ช่างก็เลยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรามาก เช่น ได้สินค้าช้ามาก หรือถ้าจะทำเพิ่มก็ชอบปฏิเสธไม่ทำให้ หรือช่วงแรกการไม่มีตัวตนของแม่ค้าเป็นสิ่งสำคัญ ลูกค้ายังไม่เชื่อถือ ก็ทำให้ขายไม่ได้ เหลือสต๊อกเยอะ และเมื่อเราเริ่มออกหน้าร้านคาริสม่าก็เริ่มพีกขึ้น เริ่มบูธครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2557 ตอนแรกคิดเยอะมากว่าจะออกดีไหม จะคุ้มไหม แต่ก็ตัดสินใจออกหน้าร้าน แรกๆ ขายราคาเต็ม แต่พอมาคิดอีกทีเราต้องมีลดราคาเพื่อให้ลูกค้าสนุกในการช็อปปิ้งมากขึ้น”

“ส่วนเรื่องเงินลงทุน ในตอนแรกอาจจะน้อย เพราะว่าได้ทุนมาจากร้านพรีออร์เดอร์ แต่ทุกวันนี้เงินลงทุนต่อรอบค่อนข้างเยอะ เพราะว่าจะมีการออกบูธตามงานต่างๆ บ้าง ซึ่งค่าเช่าสถานที่ก็แล้วแต่ผู้จัดงาน ซึ่งถ้ามองความคุ้มทุนกับการออกบูธแต่ละครั้งกำไรจะน้อยกว่าขายผ่านอินสตาแกรมที่เราได้เต็มๆ เพราะว่าออกบูธจะมีส่วนลด แต่การออกหน้าร้านก็มีข้อดี คือเราจะได้ลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น มีตัวตน สร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ เหมือนเราเสียค่าโฆษณาให้ร้านตัวเองไปในตัว ให้ความมั่นใจแก่ลูกค้า แล้วเขาก็จะกลายเป็นลูกค้าเรายาวๆ”

คาริสม่าแบรนด์ คิด และ โตแบบเศรษฐศาสตร์

 

“กลุ่มลูกค้าเราเป็นผู้หญิงที่สนุกที่จะแต่งตัว เพราะเสื้อผ้าร้านเราสามารถนำไปมิกซ์กับอะไรก็ได้ในตู้ของคุณ แรกๆ ก็จะเน้นทำสีขาว สีดำ เพื่อให้เข้ากับอย่างอื่นง่าย แต่หลังๆ ก็หาอะไรใหม่ๆ บ้าง แค่คงคอนเซ็ปต์ว่าจะต้องใส่ง่าย ผ้าต้องนิ่ม ใส่สบาย ก็ลองเปลี่ยนตัวเองกลับไปเป็นคนซื้อว่า ถ้าเราจะซื้อต้องการเสื้อผ้าแบบไหน”

เมื่อถามว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เรียนอยู่ช่วยเรื่องการทำธุรกิจเสื้อผ้าของมิ้นอย่างไร หญิงสาวตอบว่า “เศรษฐศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่สอนแต่เรื่องการเงิน เรื่องหุ้น หรือคิดวิเคราะห์อย่างเดียว แต่เขาสอนให้เรารู้จักพฤติกรรมการตัดสินใจของเราบางอย่างก็มีผลเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่แค่ราคาที่จะทำให้คนตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อ แต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน และเราในฐานะผู้ขายจะตอบโจทย์ตรงนั้นได้หรือเปล่า เขาสอนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เรานำมาใช้ได้ ซึ่งถ้าเราไปเรียนออกแบบโดยตรง เราอาจจะเก่งเรื่องออกแบบเสื้อผ้า แต่สิ่งที่เราออกแบบมา อาจจะไม่ตอบสนองต่อลูกค้าก็ได้”

คาริสม่าแบรนด์ คิด และ โตแบบเศรษฐศาสตร์

 

“อีกเรื่องหนึ่งคือ ช่วยเราเรื่องตั้งราคา บวกกับเราเป็นคนซื้อเสื้อผ้ามาก่อน ก็ไม่อยากได้ของแพง และราคาแพงก็ไม่ได้บ่งบอกคุณภาพเสมอไป ก็ตั้งราคาตามที่คนมีกำลังจะจ่าย ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นคนที่มีเงินเท่านั้นจะซื้อได้ คนในระดับกลางซึ่งมีจำนวนมากได้เลือกซื้อเสื้อผ้าสวยๆ และพอใจที่จะได้มันในราคาที่สมเหตุสมผล ราคาส่วนใหญ่ของร้านจะเริ่มต้นที่ 490 บาท สูงสุดก็ไม่เกิน 1,000 บาท”

สำหรับรายรับของเด็กปี 4 เรียกว่าไม่ธรรมดาสำหรับอายุขนาดนี้ เพราะเธอบอกว่า ถ้าออกบูธแต่ละครั้ง รายรับได้กว่าครึ่งแสนทีเดียว “รายได้แต่ละครั้งขึ้นอยู่กับว่าเดือนนั้นมีออกบูธหรือเปล่า ถ้าออกบูธแน่นอนว่ารายได้จะเข้ามาเยอะเป็นพิเศษ ครั้งหนึ่งก็ราวๆ ห้าหมื่นบาทที่ยังไม่ได้หักต้นทุน ถ้าขายปกติทั้งเดือนก็ประมาณ สามหมื่นถึงสี่หมื่นบาทหักต้นทุนแล้ว เรียกว่าทุกวันนี้ไม่ต้องขอเงินพ่อแม่แล้ว ตอนนี้ค่าเรียนก็ใช้เงินตัวเอง ส่วนกำไรที่ร้านได้มา มิ้นจะให้เงินเดือนตัวเองทุกเดือน แล้วที่เหลือก็จะเก็บเป็นทุนเพื่อลงทุนต่อไป ส่วนที่เป็นเงินเดือนตัวเองก็จะเอามาใช้และเก็บออมด้วย แบบนี้จะทำให้เงินเป็นสัดเป็นส่วน”

คาริสม่าแบรนด์ คิด และ โตแบบเศรษฐศาสตร์

 

ท้ายที่สุดแล้ว มิ้นไม่ได้คาดหวังว่าจะได้กำไรมากมาย แต่เธอวัดความสำเร็จจากการซื้อซ้ำและความสม่ำเสมอของการซื้อจากลูกค้า “ทุกครั้งที่เราวัดความสำเร็จจะไม่ได้วัดจากตัวเงิน การออกบูธทำให้เราเห็นลูกค้าใส่เสื้อผ้าที่ร้านมาให้ดู พาเพื่อนมา ซึ่งตรงนี้ทำให้เรารู้สึกดีมากๆ

“ความคิดตอนนี้ก็คือ ทำร้านนี้ไปเรื่อยๆ พอเรียนจบก็อยากไปทำงานประจำเพิ่มเติม เพื่อเรียนรู้ระบบการทำงานในองค์กรใหญ่ๆ เพื่อให้รู้ว่าเขามีขั้นตอนการทำงานอย่างไร ดูแลคนอย่างไร ถึงจะเริ่มธุรกิจของตัวเองที่ใหญ่ขึ้นได้ ซึ่งคิดไว้ว่าน่าจะทำงานประจำควบคู่กับแบรนด์เสื้อผ้าของเราไปก่อน”