สิ่งเล็กๆ เพื่อเนปาล ที่มากกว่าความห่วงใย
หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศเนปาล ทำให้เราได้เห็นความเกื้อกูลของคนไทยต่อเพื่อนมนุษย์ในการหาทางช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาทุกข์ซึ่งกันและกัน
โดย...มะลิจันทร์ แมงโก้หวาน
หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศเนปาล ทำให้เราได้เห็นความเกื้อกูลของคนไทยต่อเพื่อนมนุษย์ในการหาทางช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาทุกข์ซึ่งกันและกัน บ้างช่วยกันระดมทุนด้วยวิธีต่างๆ เพื่อหาซื้อสิ่งของจำเป็นเข้าไปสนับสนุน บ้างก็ช่วยบริจาคผ่านองค์กรสากล หรือแม้แต่อาสาพาตัวเองลงพื้นที่ช่วยเหลือในต่างแดน ทว่ามีอีกมากที่พยายามคิดและใช้สิ่งที่ตัวเองมีมุ่งหวังให้เป็นประโยชน์ต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย เช่นพวกเขาที่เรากำลังพูดถึง...
ศิลปะเพื่อความเป็นอยู่
เอิร์ธ-ฐิตาภา ทินราช เด็กสาวอายุ 24 จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คืออีกหนึ่งจุดเล็กๆ ที่กำลังพยายามมุ่งสร้างงานศิลปะ ซึ่งเธอเรียกว่าผลงานเพื่อคนไร้บ้าน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการทำงานศิลปนิพนธ์ ก่อนก่อตัวเป็นสิ่งที่สามารถเกิดประโยชน์กับคนไร้บ้าน ซึ่งเริ่มมาจากแรงบันดาลใจสองสิ่ง คือการมองเห็นความเป็นอยู่ของคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ที่ดูไม่ถูกสุขลักษณะ และป้ายไวนิลที่ติดเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง จนต่อยอดมาเป็นบ้านไวนิล (เต็นท์) เพื่อคนไร้บ้าน
กระทั่งเป็นผลงานที่สามารถคว้ารางวัลศิลปกรรม “Brandnews” จนได้จัดแสดงโซโล เอ็กซิบิชั่นขึ้นในเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะชักชวนผู้คนมาทำบ้านไวนิลอันหนึ่งในกิจกรรมศิลปะที่จะกระจายตัวไปในสังคมของคนไร้บ้านและสะท้อนให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความเป็นอยู่ ซึ่งที่ผ่านมานอกจากได้นำบ้านไวนิลให้คนไร้บ้านในเมืองไทยอยู่อาศัย เธอเคยได้นำผลงานนี้ไปให้กับคนไร้บ้านไกลถึงนิวยอร์ก และในปัจจุบันเธอกำลังหาทางส่งมันไปช่วยผู้คนที่ไร้ที่อยู่อาศัยในประเทศเนปาล ซึ่งเชื่อแน่ว่าถ้าหากมีผู้คนเข้ามาช่วยสนับสนุน พาผลงานของเธอจะก่อประโยชน์ที่เนปาลอย่างแน่นอน
หากจะทำความเข้าใจในเรื่องที่สาวเอิร์ธตั้งใจทำอยู่ คงต้องย้อนกลับไปในช่วงที่เธอพยายามคิดไอเดียในผลงานศิลปะที่จะส่งอาจารย์ ซึ่งเธอเล่าให้ฟังทำนองว่า มีบางสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจมาตลอด หลังจากเคยทำงานศิลปะเพื่อชุมชน นั่นคือการทำงานศิลปะที่เป็นประโยชน์สามารถใช้งานได้จริงทั้งยังสะท้อนให้เห็นปัญหาสังคมอย่างตรงไปตรงมา เมื่อคิดได้เช่นนั้น เธอเริ่มบางสิ่งด้วยการลงพื้นที่ไปพูดคุยเก็บข้อมูลกับคนไร้บ้าน ที่ใครๆ นิยามว่าคนจรจัด เธอเฝ้าถามเฝ้าดูพฤติกรรม ติดตามความเป็นอยู่ จนพบว่าศิลปะของเธอสามารถตอบโจทย์ในเรื่องของคนไร้บ้านได้
“เราพบว่าคนไร้บ้านมีหลายรูปแบบ หลายจำพวก เมื่อเราจะทำบ้านให้เขาอยู่ เราจะต้องดีไซน์ให้สอดรับกับผู้อยู่และสามารถอาศัยได้จริง พอเราลงพื้นที่ก็ได้เห็นคนไร้บ้านใช้ป้ายไวนิลในชีวิตเยอะมาก เราก็เลยมีแนวคิดที่อยากเอาไวนิลที่เห็นได้ทั่วไปมาทำเป็นศิลปะในแบบของเรา เพราะแต่ละป้ายก็จะมีตัวหนังสือ ซึ่งสามารถเอามาสะท้อนอะไรออกไปได้อีก ซึ่งแรกเลยเราคิดไว้แบบนั้น ทั้งไวนิลก็ดูเป็นวัสดุที่นำมาใช้แล้วทนทาน เพราะคุณสมบัติกันน้ำ กันฝน กันแดด อีกอย่างยังหาได้ง่ายอีกด้วย
“ก็เลยนำไอเดียมาใส่ในไวนิล ลองศึกษารูปแบบแพตเทิร์น แล้วก็ตัดเย็บให้เหมาะกับการอยู่อาศัย จนได้ออกมาเป็นบ้านในแบบที่เหมาะกับคนไร้บ้านลักษณะต่างๆ อย่างเช่น เราทำเป็นบ้านไวนิลฉบับกระเป๋า พกพาง่ายสำหรับคนไร้บ้านที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือแม้แต่ทำเป็นบ้านไวนิลที่แข็งแรงสำหรับคนไร้บ้านที่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และกระเป๋าไวนิลสำหรับคนไร้บ้านที่มีอาชีพเก็บขยะเร่ร่อน สามารถปูนอนได้เลยเมื่อต้องการ ทั้งยังสามารถช่วยในเรื่องอาชีพของคนไร้บ้านเพราะเป็นถุงเก็บขยะได้ในตัว”
แทบไม่น่าเชื่อว่าไอเดียของเธอในวันนั้น จะสามารถต่อยอดมาได้ไกลจนกลายเป็นการทำงานศิลปะเพื่อสังคมไปเสียแล้ว แม้เธอเองจะเป็นคนเล็กๆ มีเงินทุนไม่มาก แต่สาวคนนี้ก็อาศัยทุ่มเทสุดตัว ค่อยๆ พัฒนางานให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด เพื่อคนไร้บ้านได้ใช้ศิลปะของเธออยู่อาศัย ซึ่งสาวเอิร์ธเล่าให้ฟังว่า ราคาบ้านไวนิลที่เธอทำค่อนข้างสูง เนื่องจากเธอเองไม่มีจักรเย็บ จึงต้องจ้างช่างทำ บ้านไวนิลหนึ่งหลังจึงมีต้นทุนจากค่าตัดเย็บเพียงอย่างเดียว 500-800 บาท ตามแต่รูปแบบ ซึ่งก็ไม่ง่ายที่จะทำออกมาทีละจำนวนมากๆ
นั่นทำให้เธอเกิดไอเดียแจ่มๆ ชวนผู้คนในสังคมโซเชียลมาช่วยกันในการสร้างบ้านไวนิล โดยเธอได้ทำเฟซบุ๊กแฟนเพจที่ชื่อว่า Hope Bag for Homeless ซึ่งมีขึ้นเพื่อบอกกล่าวเชิญชวนผู้ที่สนใจมาร่วมกันสร้างบ้านไวนิล ซึ่งในนั้นจะบอกรายละเอียดที่ไปที่มาและจุดประสงค์ของเธอในงานศิลปะ ซึ่งวาดหวังว่าจะสามารถไปถึงมือชาวเนปาลได้ในเร็ววัน และในอีกมุมเมื่อคนให้ความสนใจมาก ไม่ว่าจะเป็นการช่วยบริจาคไวนิลหรือจักรเย็บและอุปกรณ์ต่างๆ งานของเธอก็จะสามารถส่งต่อถึงปลายทางได้จำนวนมากเช่นกัน
“ตอนนี้ก็กำลังจะมีงานนิทรรศการของตัวเอง ก็กำลังเริ่มทำจดหมายไปตามโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อขอจักรที่ปลดระวางมาใช้ในนิทรรศการ เพื่อให้คนที่มาในงานได้มีส่วนร่วมในการผลิตกระเป๋าบ้านไวนิลให้กับคนร่อนเร่ในเมืองไทยและผู้ประสบภัยที่เนปาล แล้วในงานยังสามารถเดินมาบริจาคของกันได้ตลอดเวลา ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.-8 ส.ค. ที่ หอศิลปะ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUG) แต่ตอนนี้ถ้าใครสนใจที่จะเข้ามาช่วยทำบ้านไวนิลเพื่อคนไร้บ้านก็เข้ามาพูดคุยกันได้ในแฟนเพจ Hope Bag for Homeless ซึ่งจะมีการแจ้งเรื่องของกิจกรรมอยู่เรื่อยๆ ค่ะ ก็จะมีกิจกรรมต่างๆ จนจบนิทรรศการ แล้วพอได้จำนวนมากพอเราก็จะหาคนนำไปส่งมอบให้ที่เนปาล ซึ่งหนูก็จะยินดีมากหากมีใครหรือองค์กรไหนต้องการช่วยเรื่องนี้” สาวน้อยคนสวยเล่าถึงเป้าหมายของผลงานศิลปะเพื่อความเป็นอยู่ไว้เช่นนั้น ก่อนจะพูดถึงความรู้สึกของเธอให้ฟังทิ้งท้ายว่า
“คือมันเป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกแล้วว่า หลังจากจบนิทรรศการเราอยากทำบ้านไวนิลให้กับคนไร้บ้านที่ต่างประเทศ แล้วขอแค่วิดีโอกลับมาให้เราได้เห็นก็พอแล้ว เราอยากรู้ว่าเขาได้รับแล้วเป็นยังไงบ้าง เราหวังแค่นั้น ซึ่งถ้ามีคนมาช่วยกันผลิตเยอะ เราก็จะสามารถจัดการได้ว่านำไปให้คนไร้บ้านที่ไหนบ้าง แต่ตอนนี้เราก็คงเน้นที่ประเทศไทยก่อนแล้วก็ที่เนปาล อีกอย่างหนึ่งที่เราต้องการ คือตั้งแต่แรกเราคิดว่างานของเราจะสะท้อนให้คนที่เห็น หรือเข้ามาร่วมกิจจกรรมเข้าใจคนไร้บ้านมากขึ้น แต่ถ้ามีคนสนใจหรือเห็นว่างานของเรามีคุณค่า แค่นี้เราก็ดีใจแล้ว ที่เหลือก็ถือเป็นกำไร”
คิดใหญ่ คิดไกล เพื่อผู้ประสบภัยทั่วโลก
หันมาฟากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. หลังจากเมื่อสองปีที่แล้วได้เปิดตัวโครงการวิจัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ โดยความร่วมมือของนักศึกษาระดับปริญญาตรีและโท คณะอุตสาหกรรมเกษตรและคณะวิศวกรรมศาสตร์ วันนี้โครงการบรรลุผลและเพิ่งเปิดตัวอาหารเพื่อผู้ประสบภัยพิบัติเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ผลจากความสำเร็จครั้งนี้ สจล.กำลังนำร่องเตรียมผลิตอาหารนำไปช่วยชาวเนปาลเร็วๆ นี้
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. แถลงที่มาโครงการว่า เกิดมาจากสิ่งแวดล้อมของโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก และมีเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นมากมาย เช่น สึนามิแผ่นดินไหว หรือน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งมีความถี่ในการเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เกิดความเสียหายและผลกระทบมนุษยชาติหลายด้าน โดยเฉพาะในเรื่องการขาดแคลนอาหาร
“จากเหตุการณ์ดังกล่าว สถาบันได้เล็งเห็นความสำคัญในการเตรียมรับมือภัยพิบัติที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดเมื่อใด เราจึงได้มีการบูรณาการความรู้ด้านอุตสาหกรรมการเกษตรเข้ากับความรู้ด้านวิศวกรรมอาหาร มาประยุกต์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที และตอนนี้เราสามารถสร้างนวัตกรรมอาหารเพื่อผู้ประสบภัยสำเร็จ”
สำหรับเมนูอาหารประกอบด้วย ข้าวผัดคืนชีพ ข้าวต้มเอนเนอร์จี ซุปสีฟื้นไข้ และข้าวเหนียวเปียกลำไยให้พลังงาน ทั้งสี่มีคุณสมบัติเหมาะต่อการดำรงชีวิตในช่วงภัยพิบัติ คือ ให้พลังงานสูง
อิ่มท้องนาน ครบถ้วนด้วยสารอาหารที่จำเป็น ให้พลังงานเร่งด่วน ย่อยง่าย กินได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติศาสนา และผู้ป่วย โดยบรรจุในภาชนะกระป๋องที่สะอาด ปลอดภัย สะดวกต่อการบริโภค ทั้งมีอายุการเก็บรักษานาน และสามารถขนส่งได้ในระยะทางไกล
ดร.นภัสรพี เหลืองสกุล รองคณบดี คณะอุตสาหกรรมการเกษตร และหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า ทุกผลิตภัณฑ์เมื่อปรุงเสร็จจะเข้าสู่กระบวนการบรรจุกระป๋องและปิดฝากระป๋อง จากนั้นเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ โดยนำผลิตภัณฑ์อาหารไปผ่านการสเปรย์น้ำร้อนจัดในหม้อฆ่าเชื้อสำหรับอาหารกระป๋องที่สามารถปรับแรงดันอากาศได้ ใช้ความร้อนประมาณ 120 องศาฯ ส่วนระยะเวลาที่ใช้ขึ้นอยู่กับปริมาตรกระป๋องและลักษณะอาหาร ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเก็บได้นานและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เน้นป้องกันการเกิดโรคท้องร่วง
ภูวดล สังข์ชาติ นักศึกษาปริญญาโท คณะอุตสาหกรรมเกษตร สาขาเทคโนโลยีการจัดและบริการอาหาร ผู้เสนอเมนูข้าวผัดคืนชีพ เล่าว่า เกิดขึ้นมาจากการที่เขาเคยประสบภัยด้วยตนเองและอพยพไปอยู่ในศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ จ.ปทุมธานี ได้รับอาหารที่คนเอามาบริจาคส่วนใหญ่เป็นอาหารกระป๋องและมาม่า ซึ่งต้องทำให้ร้อนถึงจะกินได้
“ผมได้ไอเดียนั้นมาเสนออาจารย์ว่าน่าจะทำข้าวผัดมังสวิรัติ ซึ่งก็คือข้าวผัดคืนชีพนี่แหละบรรจุกระป๋องเปิดออกกินได้เลย รสชาติไม่จัด กินทุกเพศทุกวัย ทั้งเด็ก คนป่วย คนแก่ โดยมีส่วนประกอบหลักคือข้าวที่ให้พลังงานเร็ว ช่วยเพิ่มความอยากอาหารในช่วงสภาวะความเครียดได้ ผสมผสานกับธัญพืชอย่างข้าวบาร์เลย์ ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยช้า ช่วยให้อิ่มท้องนาน และมีถั่วดำ ถั่วแดงที่ทำให้มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคในสภาวะฉุกเฉิน เวลาทำไม่ได้ผัดแต่ทำเครื่องปรุงแล้วเอาไปคลุกกับส่วนผสมอื่นๆ”
ด้าน ชนากานต์ จันทร์ศิลา นักศึกษาปริญญาโท คณะอุตสาหกรรมเกษตร เสริมว่า ที่เลือกข้าวผัดมังสวิรัติเพราะต้องการให้ครอบคลุมทุกศาสนากินได้ ซึ่งนอกจากมีข้าว ถั่วดำ ถั่วแดง แล้วยังใส่ควินัว ซึ่งเป็นธัญพืชชนิดหนึ่งที่มีสารอาหารสูงเป็นซูเปอร์ฟู้ดและมีอยู่ในแถบอเมริกาใต้ เหมาะกับผู้ประสบภัยมาก ธัญพืชพวกนี้จะเสริมสร้างสารอาหารที่ร่างกายขาดไป นอกจากนี้ ก็มีซุปสีฟื้นไข้ ที่ให้พลังงานช้าๆ จากคาร์โบไฮเดรตที่ประกอบไปด้วยข้าวกล้องหอมมะลิ ข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ และข้าวกล้องหอมนิล มีโปรตีนเสริมสร้างซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อุดมด้วยวิตามินบีและอี มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีเส้นใยอาหารสูง ช่วยให้ขับถ่ายง่าย
สาม คือ ข้าวต้มเอนเนอร์จี ทำจากข้าวกล้องหอมมะลิแดงที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งให้พลังงานแก่ร่างกายช้าๆ โปรตีนช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ไขมันชนิดที่ไม่อิ่มตัวที่ให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกาย อุดมไปด้วยวิตามินหลายชนิด มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง อีกทั้งยังมีเส้นใยอาหารที่ดีสูง ช่วยให้ขับถ่ายได้สะดวก ปิดท้ายด้วยของหวานข้าวเหนียวเปียกลำไยให้พลังงาน มีคาร์โบไฮเดรตจากข้าวเหนียวและกรดไขมัน
สายกลางจากกะทิที่ให้พลังงานสูง ผสมด้วยแปะก๊วยที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและช่วยป้องกันความจำเสื่อม และมีเม็ดบัวที่ให้โปรตีนสูงช่วยซ่อมแซมส่วนสึกหรอ”
ในการผลิตอาหารเพื่อส่งไปช่วยเหลือชาวเนปาล หัวหน้าโครงการวิจัยฯ บอกว่า กำลังอยู่ในการช่วงการวางแผนร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มีความพร้อมในเรื่องของเครื่องมือการผลิตในสัปดาห์นี้ หลังจากนั้นก็จะเริ่มดำเนินการผลิตต่อไป และในกระบวนการผลิตคาดว่าภายใน 7 วันน่าจะผลิตได้ครบ 5,000 ชุด พร้อมส่งไปช่วยเนปาลแน่นอน
อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมอาหารเพื่อผู้ประสบภัยผลงานของนักศึกษาและคณาจารย์ของ สจล.ใช่ว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ประสบภัยเนปาลในคราวนี้เท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลกที่ประสบกับภัยพิบัติในอนาคตอีกด้วย