ศัพท์คำใหม่วัยรุ่นคิด...ถูกผิดอีกเรื่องหนึ่ง
การทำความเข้าใจกับวัยรุ่นและวิวัฒนาการทางด้านภาษาเป็นเรื่องที่ต้องเปิดใจกว้างอย่างมาก
โดย...พริบพันดาว
การทำความเข้าใจกับวัยรุ่นและวิวัฒนาการทางด้านภาษาเป็นเรื่องที่ต้องเปิดใจกว้างอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องของช่องว่างระหว่างวัยและแฟชั่นภาษาที่อยู่ในเงื่อนไขของยุคสมัย
พจนานุกรมคำใหม่ เป็นพจนานุกรมภาษาไทยที่ราชบัณฑิตยสถานเรียบเรียงขึ้น มีเนื้อหารวบรวมและให้นิยามคำไทยต่างๆ ที่ไม่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 โดยมักเป็นคำตลาด เช่น ศัพท์วัยรุ่นและสแลง ตลอดจนคำที่มีความหมายต่างจากในพจนานุกรมดังกล่าวด้วย ถือว่าเป็นพัฒนาการของนักภาษาศาสตร์และนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ทางภาษาที่ดีเยี่ยมเรื่องหนึ่ง
โดยทางราชบัณฑิตยสถานตั้งคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมนี้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2548 มีเป้าหมายจะเผยแพร่พจนานุกรมคำใหม่ทุกๆ 2 ปี โดยขอบเขตการเก็บคำใหม่ตามลักษณะต่างๆ 10 กลุ่ม
1.คำที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น เนติบริกร, เคลียร์พื้นที่, เคลียร์หนี้, เคลียร์ปัญหา, ไข้หวัดนก, อัลไซเมอร์
2.คำที่มีอยู่แล้วแต่มีการใช้ความหมายใหม่ เช่น งาบ, จอด, จิก, เด้ง, แห้ว, กลับลำ, จัดฉาก, โค้งสุดท้าย, เว้นวรรค
3.คำเดิมที่มีการขยายคำใหม่ เช่น เมา-เมาปลิ้น, กรี๊ด-กรี๊ดสลบ, ดัน-ป๋าดัน, เจ๊ดัน, แหง-แหงแก๋, เด็ก-เด็กฝาก, เด็กแนว
4.คำที่พจนานุกรมเก็บไว้แล้ว แต่ขาดตัวอย่างการใช้ ซึ่งทำให้เข้าใจความหมายไม่ชัดเจนพอ ก็จะเพิ่มตัวอย่างให้เห็นวิธีการใช้ เช่น ขึ้นครู
5.เป็นสำนวนหรือวิธีการเปรียบเทียบที่ยังไม่ได้เก็บไว้ เช่น ล้วงลูก, สะกิดต่อมฮา, ลมบ่จอย, ขายขนมจีบ, ขานรับนโยบาย, กลืนเลือด, วางหาบ
6.สำนวนที่มีความหมายใหม่ เช่น เจ้าโลก, เจ้าจำปี, เด็กๆ, แมงปอ, อวบอัด, ไม้ป่าเดียวกัน, ไม้ประดับ, เอกซเรย์
7.เป็นคำเลียนเสียง คำแสดงท่าทาง หรือแสดงอารมณ์ เช่น หวือหวา, แหล็น, แพล็ม, อึมครึม, อึ้มทึ่ง
8.คำภาษาต่างประเทศที่ใช้กันมาก เช่น เม้าส์, คีย์ข้อมูล, อีคิว, อีเมล, คำที่ยืมมาจากภาษาจีน เช่น โละ, เทียวไล้เทียวขื่อ, จุ๊ง, ล่องจุ๊น, ซือแป๋
9.เป็นคำเก่า คำธรรมดา แต่หลุดหลงไปไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับ พ.ศ. 2542 เช่น กันเหนียว, ข้ามชาติ, ให้ทาง, หืดขึ้นคอ, เสือปืนไว
10.เป็นคำวัยรุ่น คำภาษาปาก ซึ่งมีความหมายและที่มาจากที่ต่างๆ เช่น ปิ๊ง, วีน, เว่อร์, ชิวชิว, โป๊ะเชะ, เฝ่ย, นิ้ง, ตึ๋งหนืด, ตึ้บ, แอ๊บแบ๊ว, จุ๊บุจุ๊บุ, ชิมิ
ปัจจุบัน พจนานุกรมศัพท์คำใหม่มีออกมาแล้ว 3 เล่ม และมีการพิมพ์ออกมาซ้ำอย่างต่อเนื่อง โดยมีการทำงานเก็บรวบรวมคำศัพท์ในแต่ละปีอย่างเป็นระบบ มาดูปฏิกิริยาของศัพท์คำใหม่ที่ยิ่งทวีคูณเพิ่มมากขึ้นในยุคออนไลน์โซเชียลมีเดียรุ่งเรืองเฟื่องฟู
มองอย่างเข้าใจ
กระบวนการทำงานศึกษาและเก็บรวบรวมคำศัพท์เพื่อบรรจุในพจนานุกรมคำใหม่ เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลคำใหม่ต่างๆ และบันทึกคำเหล่านี้ไว้เป็นหลักฐานแสดงการเกิดและการเปลี่ยนแปลงของคำที่ใช้ในสังคมไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในเรื่องที่มาของคำในอนาคต ที่สำคัญจะเป็นคู่มือภาษา โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ต้องการทราบความหมายของคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งในอดีตไม่มีการเก็บบันทึกคำศัพท์ที่เกิดใหม่ในแต่ละยุคสมัยไว้ จนทำให้คำใหม่สูญหายไปจากสังคม ดังนั้น การบันทึกคำใหม่จึงเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าทางภาษาได้อย่างดี
ดร.ชลธิชา สุดมุข นักวรรณศิลป์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาบอกว่า พจนานุกรมคำใหม่จัดทำขึ้นเพื่อต้องการรวบรวมคำที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่ทำให้มีคำใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่คำเหล่านี้ยังไม่ได้นำไปรวบรวมไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งประกาศอย่างเป็นทางการโดยสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีหนังสืออื่นรวบรวมคำเหล่านี้ไว้ คำเหล่านี้จะหายไป
“ต้องการที่จะรวบรวมคำตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้มีคำใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะส่วนมากคำเหล่านี้เกิดมาแล้วก็หายไป ถ้าอยู่นานและใช้กันอยู่อย่างปกติโดยไม่เสื่อมความนิยมก็จะนำไปบรรจุไว้ในพจนานุกรมราชบัณฑิตฉบับมาตรฐาน ซึ่งคำใหม่เหล่านี้ไม่ได้บังคับให้ใช้ เพียงแต่รวบรวมเพื่อเป็นประโยชน์ในการประมวลคำในยุคใดยุคหนึ่ง ไม่ใช่ทำเพื่อใช้อ้างอิง”
พจมาน พงษ์ไพบูลย์ อดีตที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ มองว่าการใช้คำใหม่ที่มีภาษาซ้อนกันหรือมีสองภาษาในคำเดียวจะได้อารมณ์ที่หวือหวาและความหมายที่โดนใจ
“ส่วนมากพบในภาษาพูดของนวนิยายหรือในละครโทรทัศน์ จะใช้ลักษณะนี้เยอะ เพื่อให้รสความเข้มข้นและน่าติดตาม ซึ่งเป็นธรรมชาติของการใช้ภาษา พยายามมองอย่างเข้าใจและไม่ถือสาในภาษาสับสนของวัยรุ่น แต่ก็ควรใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และกาลเทศะว่าพูดกับใครและใครเป็นผู้ฟังอยู่ ในส่วนของภาษาเขียน นักเขียนรุ่นกลางกับนักเขียนวัยรุ่นชอบใช้คำใหม่เหมือนกัน อย่างเขียนว่า ‘อาหารรสหรู’ หรือ ‘รถยนต์สัญชาติอเมริกัน’ รับได้ในระดับที่ตัวเองอ่านคนเดียว แต่ถ้าออกสู่สาธารณชนต้องบอกว่าไม่ได้ การเขียนภาษาพูดในภาษาบรรยายและใช้ไม่ถูกระดับของตัวละครหรือในอารมณ์ของตัวละครนั้นๆ ต้องเขียนให้มีภาษาที่สวยงามราบรื่นถูกต้องสื่อสารให้คนในชาติเดียวกันเข้าใจ”
ภาษาลำลองสะดวกปากสบายใจ
เหตุผลของวัยรุ่นในการใช้ศัพท์คำใหม่คือพิมพ์ง่าย ดูทันสมัย เหมือนมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถคิดค้นคำใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ได้ ดูสบายๆ น่ารักอย่างไม่เป็นทางการ และมีทั้งเผลอพิมพ์ผิดและตั้งใจพิมพ์ผิด และเพื่อแสดงอารมณ์ในขณะนั้น โดยเฉพาะทำให้เพื่อนตลก
การใช้ภาษาไทยพิมพ์นิยมยุคใหม่ของวัยรุ่นแบ่งเป็น 2 โหมดใหญ่ คือ โหมดที่ใช้เวลาพูดในกลุ่ม กับโหมดที่ใช้เวลาเขียนโดยเฉพาะเวลาออนไลน์ในโซเชียลมีเดีย การพูดและการเขียนก็จะเคียงคู่กันไป แถมยังมีประเภทคำทับศัพท์ คำอุทาน คำเติมท้ายด้วย โดยศัพท์ใหม่จะกร่อนเสียงให้สั้นลงหรือมีการลากเสียงให้ยาวขึ้นเพื่อเน้นอารมณ์ความรู้สึกจากคำศัพท์ที่ถูกต้องตามปกติ อาจจะเรียกว่าโหมดแผลงเพี้ยนเสียงก็ได้ อาทิ สัตว์ ก็จะเขียนหรือพูดใหม่ว่า สาด, สรัด, แสด/ตัวเอง ก็จะแผลงว่า เตง หรือ ตะเอง/ขอบคุณ ก็แปลงเป็น ขอบคุง
เทรนด์ยอดนิยมที่ง่ายที่สุดของวัยรุ่นในการสร้างศัพท์คำใหม่ให้ติดตลาดของโลกโซเชียลมีเดีย ก็คือกลเม็ดสร้างสรรค์คำชั้นเทพผสมระหว่างภาษาไทยกับอังกฤษ เช่น “เกรียน” ก็ผสมกันเป็น “เกรีeu”/“เทพ” เป็น “Inw”/“นอน” เป็น “uou”
กลเม็ดง่ายๆ ไม่ต้องกดแป้นพิมพ์ Shift คำก็จะกลายเป็นเสียงสั้นและยาวต่างจากคำเดิม เช่น “เห็น” เป็น “เหน” /“กู” ก็เป็น “กุ”/ “เดี๋ยว” เป็น “เด๋ว”
กลเม็ดแผลงเป็นคำพ้องเสียงให้ดูเก๋ไม่เหมือนใคร อย่าง “ใจ” ก็ใช้ “จัย”/“เธอ” ก็เขียนเป็น “เทอ”/“ปัญญา” ก็เป็น “ปันยา”/“หนู” ก็กลายเป็น “นู๋”/“หมู” ก็เป็น “มู๋”
กลเม็ดเติมรูปการันต์ต่อท้ายให้ดูหรูหรารามซิงห์ เช่น “เธอ” เป็น “เทอว์”/“ครับ” เป็น “คับร์”/“แก” เป็น “แกร์”
ดร.วิภาส โพธิแพทย์ ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาและวรรณคดีไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า ภาษาคือเครื่องมือการสื่อสาร การเกิดใหม่ของศัพท์นั้นมีขึ้นอยู่เสมอ
“อย่างคำว่า ‘หรูหรา’ คนบางกลุ่มใช้ออกเสียงเป็น ‘หะรูหะรา’ เพื่อให้เป็นคำพิเศษขึ้นมาไม่ซ้ำซากจำเจ เป็นวิธีปรับขึ้นมาเพื่อแสดงตัวตนของคนหรือกลุ่มผู้ใช้ ซึ่งคำทั้งสองคำนี้มีหน้าที่ของมัน แล้วแต่จะใช้ในบริบทหรือมาตรฐานอย่างไหน เพราะภาษานั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์การใช้งาน ไม่ได้ถูกหรือผิดเสมอไป”
คำที่เพี้ยนเป็น “หะรูหะรา” นั้น ดร.วิภาสบอกว่า มันคือภาษาลำลอง (ภาษาที่ใช้พูดกันตามสบายหรือตามอำเภอใจ)
“ภาษาพูดนั้นไม่ได้ผิด แต่ต้องใช้ให้ถูกกาลเทศะ เพราะการใช้ภาษาแปลกใหม่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ชอบคิดใช้คำใหม่ๆ ขึ้นมา โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีโซเชียลมีเดียก็มีคำใหม่เกิดขึ้นมาตลอด ในทางสื่อมวลชนก็เช่นกันก็มีการคิดค้นคำใหม่เยอะมาก โดยเฉพาะในทีวีซึ่งใช้ภาษาพูดที่เป็นภาษาปากในยุคนี้ คำใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นและแพร่กระจายไปได้รวดเร็วมาก จะเห็นถึงพัฒนาการของภาษาและความหมายที่เป็นคำซ้อนและสัมผัส เพราะการสร้างคำใหม่ขึ้นมาก็มีนัยของมัน
ศัพท์คำใหม่ช่วยเชื่อมช่องว่างระหว่างวัย
การบันทึกคำศัพท์ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ให้คนรุ่นหลังนำไปศึกษาและถ่ายทอดภาษาต่อไป พจนานุกรมศัพท์คำใหม่นี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม และถือเป็นวิวัฒนาการของคำมากกว่าการสร้างความวิบัติให้ภาษาไทย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการเพื่อการวิเคราะห์ในทางภาษา ค่านิยม และสังคมในแต่ละยุคสมัยว่าวัยรุ่นในสมัยนั้นๆ เขาคิดกันอย่างไร
ครูทอม-จักรกฤต โยมพยอม ติวเตอร์ภาษาไทยชื่อดัง ขวัญใจวัยรุ่น และแฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่ ยืนยันอย่างมั่นเหมาะว่าใช้คำใหม่ของวัยรุ่น แม้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่กาลเทศะก็เป็นสิ่งสำคัญ
“คำแปลกๆ ใหม่ๆ นั้น นำมาใช้ได้ไม่มีปัญหา เด็กๆ วัยรุ่นก็พยายามคิดคำใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งก็ไม่ผิด อย่าง ‘มุ้งมิ้งฟรุ้งฟริ้ง’ ก็ใช้ได้ แต่ถ้าพูดถึงผิดหลักภาษานั้นก็ผิดแต่ใช้ผ่านสื่อออนไลน์กันเยอะมาก อย่าง ‘งอน’ ก็แผลงเป็น ‘งอล’ ซึ่งเป็นการใช้ลูกเล่นทางภาษา แต่ที่น่าเป็นง่วงก็คือคำใหม่บางคำใช้กันจนฮิตแล้วเกิดความเข้าใจผิดมีความรู้สึกว่า เขียนอย่างนั้นน่ะถูกแล้ว เป็นคำที่ถูกต้อง อย่าง ‘แป๊บ’ ก็เขียนกลายเป็น ‘แป๊ป’”
ยิ่งคำที่ไม่สุภาพ เด็กที่ใช้ออนไลน์ในโซเชียลมีเดียหรือเว็บบอร์ดต่างๆ ก็พยายามเลี่ยง เพราะมีการตรวจคำหยาบและลบออก ครูทอมบอกว่า เด็กยุคนี้ก็เลยเลี่ยงเพื่อไม่ให้โปรแกรมตรวจจับได้
“อย่างคำว่า ‘โคตร’ เด็กก็เขียนเป็น ‘โครต’ พอนานไปใช้กันเกร่อก็เข้าใจว่าเขียนอย่างนี้ถูกแล้ว หรืออย่างคำด่าซึ่งเป็นคำหยาบอย่าง ‘แม่ง’ ก็บิดเป็น ‘แม้ง’ เพื่อเลี่ยงการบล็อก แล้วกลายเป็นคำที่ไม่รู้ว่ามาอย่างไร แต่เข้าใจว่าเขียนถูกแล้ว เป็นที่นิยมกัน”
ตรงจุดนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับการใช้ศัพท์คำใหม่ของวัยรุ่นไทย ซึ่งให้เขาใช้กันได้ให้ถูกกาลเทศะและให้รู้ว่าคำที่เขียนถูกต้องคือแบบไหนและมีที่มาอย่างไร ซึ่งครูทอมชี้ว่าถ้าผู้ใหญ่เข้าใจมุมนี้ก็จะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยลงไปได้
“ทุกภาษาในโลกนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ศัพท์คำใหม่เพิ่มขึ้นมาในแต่ละยุคสมัย แต่ต้องมีการใช้อย่างถูกต้องและเข้าใจอย่างครอบคลุมกว้างขวางด้วยสำหรับเด็กวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่สักแต่ใช้เพียงอย่างเดียว”
โดยความเป็นจริงแล้วการเปลี่ยนแปลงของภาษานั้น แสดงให้เห็นว่าภาษายังไม่ตาย แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นควรเป็นไปในทางวิวัฒนาการ กล่าวคือ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ศัพท์ใหม่คำไหนไม่เป็นที่นิยมก็จะหายไปตามธรรมชาติจนกลายเป็นคำตาย และแน่นอนมีเหลือรอดอยู่เพียงไม่เท่าไหร่...เพราะเป็นเรื่องของแฟชั่นการใช้ภาษาที่มาไวไปไวตามยุคสมัยแค่นั้นเอง