วัดบันดาลใจ ทางเลือกพึ่งพาจิตพักพิงใจ
เลือกวัดที่ถูกจริต อย่าเลือกวัดที่ถูกกิเลส การทำบุญ (เช่น ให้ทาน) ควรมุ่งประโยชน์ที่จะเกิดแก่ผู้รับ
โดย...พริบพันดาว
“เลือกวัดที่ถูกจริต อย่าเลือกวัดที่ถูกกิเลส การทำบุญ (เช่น ให้ทาน) ควรมุ่งประโยชน์ที่จะเกิดแก่ผู้รับ หากทำแล้วเป็นการส่งเสริมความเชื่อที่งมงายหรือพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่สมควรทำ ในทำนองเดียวกันการทำบุญให้ทานเพื่อหวังประโยชน์เข้าตัวอย่างไม่ถูกต้องก็ควรหลีกเลี่ยง ส่วนการบวชเรียนนั้น ก็ควรเลือกวัดที่มีการสอนและการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับจริตของเราด้วย (แต่ต้องระวังอย่ากลายเป็นการเลือกวัดที่ถูกกับกิเลสของเรา) กล่าวโดยสรุป แม้ความดีหรือบุญกุศลเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ก็ควรทำอย่างมีวิจารณญาณด้วย หาไม่จะเกิดโทษได้”
พระไพศาล วิสาโล ได้เขียนไว้ในเฟซบุ๊ก
ชื่อ พระไพศาล วิสาโล - Phra Paisal Visalo ซึ่งสะท้อนภาพวิถีของชาวพุทธกับวัดในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
ความวุ่นวายยุ่งเหยิงของโลกยุคปัจจุบัน ทำให้ผู้คนพยายามหาพื้นที่ที่ 3 เพื่อไว้กล่อมเกลาจิตพักพิงจิตใจ โครงการ “วัดบันดาลใจ” จึงเกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อพลิกฟื้นกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรมทางด้านจิตวิญญาณ กิจกรรมทางด้านชุมชนและถวายพระราชกุศล เนื่องใน 3 โอกาส มหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 90 พรรษา และทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบรอบ 84 พรรษา
การที่บทบาทของวัดได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต กล่าวคือ วัดโดยทั่วไปไม่ได้เป็นศูนย์กลางของชุมชนหนึ่งๆ เหมือนดังเดิม เพราะวัดโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบันมุ่งพัฒนาถาวรวัตถุให้มีความโอ่อ่าหรูหรา มีสิ่งก่อสร้างราคาแพงและมีความใหญ่โต แทนที่การมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม หรือมุ่งเน้นการปฏิบัติ เช่น เน้นวิปัสสนาธุระ เน้นสร้างความสงบในจิตใจให้กับผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา
วัดบันดาลใจ จึงเป็นความหวังที่จะสร้างสมดุลพลิกฟื้นให้วัดกลับมาเชื่อมโยงสู่ความเป็นวัดที่ผู้คนและชุมชนสามารถพึ่งพาจิตพักพิงใจได้อย่างแท้จริง
วัดที่เป็นวัด ‘สะอาด สงบ สว่าง’
ในอดีต วัดถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน แต่ในปัจจุบันท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม วัฒนธรรมตะวันตกที่ไหลบ่าเข้ามาสู่สังคมไทย เป็นผลให้คนห่างไกลจากวัดโดยไม่รู้ตัว วัดจึงได้ลดบทบาทจากในอดีตลงไปมาก
วัดจะดำรงไว้ซึ่งความเป็นวัด (วัด-วัตร-วัฒน) ได้อย่างถูกต้อง จะต้องอาศัยหลักการของพระพุทธศาสนา ที่ประกอบด้วยองค์ 3 ของไตรสิกขา ตามหลักการของพระพุทธศาสนา คือ “สะอาด” ด้วยศีล “สงบ” ด้วยสมาธิ และ “สว่าง” ด้วยปัญญา
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า การมีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน พัฒนาพื้นที่วัดให้เกิดประโยชน์ในการใช้สอยอย่างสูงสุด ทำให้เด็กและคนในชุมชนอยากมาวัดเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ร่วมกัน เป็นจุดสำคัญอย่างหนึ่งที่ตอบโจทย์เรื่องสังคมสุขภาวะ สำหรับ สสส.มีโครงการ “วัดสร้างสุข” โดยให้พระสงฆ์เป็นผู้นํากระแสในเรื่อง 5 ส ทั้งในเรื่องกายภาพและจิตใจให้เป็นพื้นที่สุขภาวะ
“ช่วง 30-40 ปีมานี้ คนเริ่มห่างวัดไปโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ตั้งแต่อดีต พระสงฆ์มีบทบาทในทำนุบำรุงพระพุทธศาสนากับสังคมไทยมาโดยตลอด โครงการวัดสร้างสุขมีแนวคิดสอดคล้องกับโครงการวัดบันดาลใจจึงได้มีการดำเนินการเชื่อมโยง 2 โครงการเข้าด้วยกัน กลายเป็นพลังทำให้วัดเป็นศูนย์กลางชุมชน ฟื้นคืนกลับมาเป็นแหล่งที่พึ่งทางใจ และสถานที่อันสงบสุขอีกครั้ง”
แผนการทำงานของโครงการวัดบันดาลใจเบื้องต้น จะเป็นการร่วมงานกับพระสงฆ์ ชุมชน และภาคีทุกภาคส่วน โดย นพ.ชาญวิทย์ บอกว่า จะเป็นการทำงานกับ 9 วัดนำร่อง
“จะเป็นกรณีศึกษาในการพัฒนาทั้งด้านกายภาพ ปรับปรุงสภาพแวดล้อม และควบคู่ไปกับการส่งเสริมกิจกรรมทางด้านศาสนาและจิตวิญญาณ โดยเฉพาะการออกแบบทางกายภาพนั้น โครงการนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างแข็งขันจากภาคี ทั้งสถาปนิก ภูมิสถาปนิก วิศวกร และนักออกแบบตกแต่งภายในที่เป็นเครือข่ายร่วมกันมา โดยคนที่เข้ามาร่วมงานล้วนเห็นถึงความสำคัญของภารกิจอันเป็นมงคลกับชีวิตครั้งนี้ และเป็นความภูมิใจ เพราะได้เป็นส่วนที่จะใช้วิชาชีพช่วยให้สังคมดีขึ้น
“เราโชคดี เพราะเป็นประเทศที่มีศาสนาพุทธมาหลายพันปี แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ค่อยได้นำมาใช้เลย คือ จิตตปัญญาหรือจิตวิญญาณ ซึ่งต้องนำมาเป็นฐานของสังคมไทยให้ได้ เชื่อว่า โครงการวัดบันดาลใจที่กำลังขับเคลื่อนกันอยู่จะเป็นการกลับไปสู่การที่เราจะตั้งหลัก ตั้งเสาแห่งการมั่นคงของประเทศ นั่นคือเรื่องคุณธรรมจริยธรรมและจิตตปัญญา”
การที่บ้านกับวัดถูกแยกจากกัน เพราะวัดบางแห่งไม่ปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของสังคมให้เหมาะสม จนทำให้คนในชุมชนมองว่าวัดเป็นสัญลักษณ์ของความเก่าแก่โบราณเกินไปที่จะเข้าใจปัญหาสังคมในปัจจุบันได้อย่างถ่องแท้และให้คำแนะนำใดๆ ได้ เหมือนอย่างที่เป็นในอดีต และการที่พระสงฆ์บางรูปประพฤติตนย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ประกอบกับการเข้าใจธรรมะ ในทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่เป็นแต่ผิวเผิน
ผู้อำนวยการโครงการวัดบันดาลใจ และประธานสาขาวิชาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ ได้เท้าความถึงการริเริ่มโครงการวัดบันดาลใจว่า สถาบันให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนรู้ไปพร้อมกับการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้พบว่า วัดมีบทบาทและมีความสำคัญอย่างมากต่อสังคมไทย โดยเป็นพื้นที่สาธารณะศูนย์รวมจิตใจ และกิจกรรมสังคมสามารถสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ภายในพื้นที่ แต่ด้วยบริบทของสังคมเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้บทบาทของวัดในการเป็นศูนย์กลางของชุมชนหายไป กลายเป็นถูกจำกัดเหลือเพียงมิติทางศาสนาและการทำบุญเท่านั้น
“ทางอาศรมศิลป์ได้ร่วมมือกับนักออกแบบ สถาปนิกอาสา และภูมิสถาปนิก เข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกษาออกแบบพื้นที่ ตัวอย่างเช่น วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร มีการจัดระเบียบพื้นที่ร้านค้าเสริมพื้นที่สีเขียวรอบองค์พระธาตุ เป็นการส่งเสริมให้ผู้คนได้ใช้พื้นที่ปฏิบัติภาวนา ใช้เวลาการเรียนรู้พักผ่อนและอยู่ในวัดได้มากขึ้นเป็นต้น ซึ่งคาดว่าทั้ง 9 วัดนำร่องนี้ จะเป็นต้นแบบกรณีศึกษา สร้างแรงบันดาลใจ ให้คนไทยหันมาตระหนักและร่วมทำให้วัดทั่วประเทศกลับมามีชีวิตกันอีกครั้ง”
อ้อม-สุนิสา สุขบุญสังข์ นักร้องและดีเจได้กล่าวให้แง่มุมสะกิดใจชาวพุทธยุคใหม่ว่า อย่าไปวัดเพียงเพื่อทำบุญ แก้กรรม และสะเดาะเคราะห์
“รู้สึกชื่นชมโครงการวัดบันดาลใจ ถ้าเมื่อไหร่เรากลับไปทำวัดเป็นบวรได้ ไม่มากก็น้อย พระเองก็อาจจะหันมาสนใจรอบข้างมากขึ้น สนใจในชุมชนมากขึ้น พระไม่ใช่ปัจเจกที่แยกออกมา แต่พระเป็นแบบอย่าง บางทีพระไม่ต้องสอนด้วยคำพูด พระที่สงบ วัดที่งดงาม พระที่ทำเพื่อสังคม เพื่อประชาชน เพื่อชุมชนเป็นอย่างไร เมื่อไหร่ที่เรามีพระแบบนี้เยอะๆ เป็นตัวอย่างที่ดี ก็จะทำให้กลไกของสังคมเปลี่ยนไปอีกแบบ วิธีที่ญาติโยมจะมองมาที่พระเปลี่ยนไป ถ้ามีการให้ความสำคัญที่ความยั่งยืนของบุคลากรของพระ ไม่ได้เน้นไปที่สิ่งปลูกสร้างว่าจะต้องใหญ่โตเท่านั้นถึงจะเป็นวัดที่ดี จะทำให้ไม่ว่าวัดจะอยู่ไกลแค่ไหน ก็มีกำลังใจ วัดไม่ต้องใหญ่โต ไม่ต้องหรูหรา แค่ต้องสะอาด และสงบ คนเข้าไปก็รู้สึกสะอาด สงบ อย่างน้อยกลับออกไปก็รู้สึกสบายใจ”
เสียงจากเจ้าอาวาส
ปัจจุบัน วัดไทยในชนบทยังคงเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน ซึ่งต่างจากในเมืองใหญ่ที่วัดกลายเป็นเพียงสถานที่จำพรรษาของพระสงฆ์ และเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาเท่านั้น วัดในสถานะที่เป็นศูนย์กลางของสังคมจึงมีความสำคัญและบทบาทหน้าที่ในฐานะตัวแทนความเจริญและความมั่นคงของแผ่นดิน เป็นสถาบันผู้สืบทอดศาสนาให้ยั่งยืน เป็นสถานที่ให้การศึกษา เป็นที่พึ่งทางกายและใจของสังคม และศูนย์รวมของศิลปกรรมแนวประเพณีนิยมร่วมสมัย
พระอาจารย์ปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ จ.นนทบุรี ได้บอกถึงการพัฒนาโครงการวัดบันดาลใจว่า การพัฒนาวัดต้องเน้น 3 ป. คือ 1.ประโยชน์ใช้สอย สิ่งปลูกสร้างกิจกรรมต่างๆ จะต้องสอดคล้องเหมาะสมต่อทุกคนในการเข้ามาใช้สอย เช่น การสร้างทางลาด ห้องน้ำ เอื้อต่อคนพิการ และผู้สูงอายุ 2.ประหยัด ใช้วัสดุและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไม่ทำลายความเป็นธรรมชาติของพื้นที่ที่มีอยู่จากเดิม 3.ปรัชญา ทุกพื้นที่ของวัดควรสอดแทรกหลักธรรมคำสอน
“สิ่งสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถาปนิก องค์ความรู้เรื่องการพัฒนาทั้งหมดควรถ่ายทอดไปยังคนในชุมชน และพระสงฆ์ของแต่ละวัด เพราะการที่ทุกฝ่ายมีความรู้ความเข้าใจร่วมกันก็จะยิ่งทำให้การพัฒนาสมบูรณ์แบบยั่งยืนได้”
พระมหาสุทิตย์ อาภากโร เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม 1 ใน 9 วัดนำร่องในการเป็นวัดต้นแบบของโครงการวัดบันดาลใจ บอกว่า คนจะรู้จักวัดสุทธิวรารามในนามของโรงเรียนวัดสุทธิวราราม เป็นสถานที่ให้การศึกษาแก่กุลบุตร เพราะว่าเป็นโรงเรียนชายล้วน ที่วัดจริงๆ เดิมไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ภายหลังการเจริญเติบโตของบ้านเมือง มีการรุกที่เข้ามาบ้าง ความโล่ง โปร่ง สบายหรือต้นไม้มากๆ ก็ลดลงไป
“หัวใจหลักของการที่จะพัฒนาวัด คือ สร้างพื้นที่อยู่สามส่วน ส่วนที่หนึ่งคือ การสร้างพื้นที่ทางกายภาพวัดให้สะอาดร่มรื่นโดยใช้หลักอีโค ทาวน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบโบสถ์ ปรับปรุงลานจอดรถสำหรับนั่งพักผ่อนและปฏิบัติภาวนา ให้เมืองกับคนอยู่ด้วยกันได้ ขณะเดียวกันก็มีสภาพแวดล้อมร่มรื่นเป็นสัปปายะ สองคือ สร้างพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้คือ ห้องสมุด พื้นที่นันทนาการอเนกประสงค์ จัดนิทรรศการย่านเจริญกรุงใต้ อย่างน้อยที่สุด ให้โรงเรียน บริษัทและห้างร้านและคนในย่านนี้ ได้เข้ามาเรียนรู้ และสุดท้าย พื้นที่ที่สาม คือพื้นที่ทางจิตใจและปัญญา อยากให้คนมาประกอบพิธีทางศาสนาที่วัด เข้าไปในอุโบสถซึ่งจะให้ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนา มีโครงการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในพระพุทธศาสนา”
การริเริ่ม 9 วัดนำร่องต้นแบบในการพลิกพื้นที่ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้วัดและชุมชนลุกขึ้นมาร่วมกันพลิกฟื้นวัดทั้งด้านกายภาพและกิจกรรม ให้เป็นพื้นที่แห่งชีวิตและจิตวิญญาณของคนไทยอย่างสมสมัยทั่วทั้งประเทศ จะช่วยนำวัดสู่ความหมายที่แท้อย่างสมสมัย พร้อมส่งต่อองค์ความรู้และแรงบันดาลใจสู่วัดทั่วประเทศ วัดประมาณ 3.9 หมื่นแห่ง ที่ยังคงตั้งอยู่ในศูนย์กลางชุมชนทั่วประเทศ จะพลิกฟื้นเป็นพื้นที่แห่งชีวิตและจิตวิญญาณอีกครั้ง เพื่อตอบโจทย์ชีวิตผู้คนในยุคนี้
แนวความคิดจาก 9 วัดบันดาลใจ
1.วัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯวัดที่ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง ท่ามกลางพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่กำลังจะเติบโต พลิกฟื้นสู่วัดพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ใจกลางย่านท่องเที่ยวสำหรับประชาชน ชาวต่างชาติ นักเรียน และนักศึกษา
2.วัดนางชี กรุงเทพฯวัดเก่าแก่ที่มีความโดดเด่นของสถา ปัตยกรรมจีน ตามแบบพระราชนิยมของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงพลิกฟื้นจากวัดธรรมดาสู่วัดแห่งศิลปวัฒนธรรมและประเพณี
3.วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จ.นนทบุรีวัดที่มีพื้นที่สัปปายะสร้างขึ้นตามแนวทางของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ พลิกฟื้นสู่วัดเมืองแห่งการเรียนรู้ศึกษาธรรมพร้อมการจัดระเบียบพื้นที่สัปปายะแต่ยังรองรับคนจำนวนมาก
4.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) จ.พระนครศรีอยุธยาสถาบันการศึกษาชั้นสูงของเหล่าคณะสงฆ์ และพื้นที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาของพุทธศาสนิกชน พลิกฟื้นสู่แม่พิมพ์วัดตามหลักธรรมวินัยเพื่อเป็นต้นทางองค์ความรู้สำหรับพระสงฆ์ และประชาชนที่เข้ามาศึกษาจากทั่วประเทศ
5.วัดภูเขาทอง จ.พระนครศรีอยุธยาวัดสำคัญในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีเจดีย์สำคัญที่สร้างขึ้นมาเป็นอนุสรณ์ในการกอบกู้เอกราชกลับคืนมาเมื่อปี พ.ศ. 2127 พลิกฟื้นสู่วัดประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศตามหลักฐานประวัติศาสตร์ และคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่มีมาแต่โบราณ
6.วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่วัดเก่าแก่ที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระคู่บ้านคู่เมืองชาวเชียงใหม่ เป็นศูนย์รวมจิตใจที่มีผู้ใหญ่ความเคารพศรัทธาจำนวนมาก พลิกฟื้นสู่วัดศิลปวัฒนธรรมและประเพณี
7.วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จ.นครพนมวัดมรดกโลกทางวัฒนธรรม และเป็นศูนย์กลาง เชื่อมความศรัทธาในพระพุทธศาสนาระหว่างไทยกับลาว พลิกฟื้นสู่วัดศูนย์กลางภูมิภาค ที่ต้องรองรับผู้คนจำนวนมาก กับการจัดระเบียบพื้นที่การใช้งานของวัด ควบคู่กับการท่องเที่ยว ค้าขายสินค้า โดยยังคงสืบสานประเพณี และศรัทธาสมกับความเป็นวัด
8.วัดป่าโนนกุดหล่ม จ.ศรีสะเกษวัดป่าที่ขับเคลื่อนการปฏิบัติธรรม บำเพ็ญภาวนา พลิกฟื้นสู่วัดป่าแห่งการปฏิบัติภาวนา ศึกษาธรรมะ เคารพธรรมชาติ แต่ก็มีแนวทางการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน
9.วัดศรีทวี จ.นครศรีธรรมราชวัดในเขตเมืองต้นแบบแนวคิด "บวร" (บ้าน วัด โรงเรียน) ที่สร้างความร่วมมือของชาวชุมชนให้เกิดขึ้น พร้อมทั้งมีการเผยแพร่ธรรมะ และการประกอบพิธีกรรมที่ดีงาม พลิกฟื้นสู่วัดแนวคิดบวร ศูนย์กลางชุมชนสัปปายะ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม