posttoday

เนื่องจาก... การประชุมนานาชาติ เพื่อสันติภาพ ณ นครเดลี อินเดีย!

06 กันยายน 2558

ปุจฉา การจัดประชุมนานาชาติ เพื่อการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และการสร้างสำนึกทางสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา การจัดประชุมนานาชาติ เพื่อการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และการสร้างสำนึกทางสิ่งแวดล้อมร่วมกัน โดยอาศัยศาสนา (ฮินดู-พุทธ) เมื่อวันที่ ๓-๕ ก.ย. ๒๕๕๘ ณ นครเดลี/อินเดีย ในฐานะที่พระอาจารย์เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ได้เสนอแนวทางอะไรไปบ้างในด้านพระพุทธศาสนา...

วิสัชนา เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ในยามที่กำลังเพียรภาวนาอยู่บนภูเขาหลวง เทือกเขาบรรทัด เขตแดน จ.นครศรีธรรมราช (ซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นเก่าของพรรคคอมมิวนิสต์ภาคใต้ บัดนี้เต็มไปด้วยสวนทุเรียน มังคุด จำปาดะ ฯลฯ ช่างน่ารื่นเริงใจยิ่งนัก โดยเฉพาะสายลมที่หอบความเย็นมาจากธารน้ำไหลในหุบเขา ที่สาดซัดกัดเซาะแก่งหินให้ส่งเสียงล้อลมเล่น กังวานไปทั่วหุบเขา

โดยเฉพาะยามตื่นขึ้นมาเดินจงกรมตอนตี ๓-๔ ต่อเนื่องด้วยบริหารกาย-ใจแบบโยคะ บวกกำลังภายในของเส้าหลิน ตามตำรับวิชาของปรมาจารย์ตั๊กม้อ ที่เชี่ยวชาญทางด้านการภาวนาในวิธีการทำฌาน... จึงทำให้ร่างกาย-จิตใจแข็งแกร่ง มั่นคง เมื่อทำวัตรเช้าจบ ต่อเนื่องด้วยเจริญภาวนาทำสมถะให้เข้มแข็ง จะได้เป็นฐานเจริญวิปัสสนาญาณ ก็พอดีรับรุ่งอรุณ ได้เวลาออกหาอาหารแบบนกน้อยทั้งหลาย ที่เรียกว่า เที่ยวบิณฑบาตโปรดญาติโยม... เพื่อให้ญาติโยมได้ทำบุญถวายทาน สักการบูชา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์... และมีส่วนในบุญกุศลที่เกิดในธรรมที่ก่อขึ้นในจิตใจของพระภิกษุที่มุ่งประพฤติพรหมจรรย์ มั่นคงอยู่ในพระธรรมวินัย ไม่เสียศีล... ไม่ขาดธรรม... ไม่ประพฤติผิดพระวินัยเป็นอาจิณณกรรม จนเป็นพวกทุมมังกุ... เก้อยาก...

เนื่องจาก... การประชุมนานาชาติ เพื่อสันติภาพ ณ นครเดลี อินเดีย!

 

พระพุทธศาสนา คือ พระธรรมวินัย ที่ว่าด้วยการประพฤติตามคำสั่ง (ศีลหรือวินัย) ...คำสอน (ธรรม...หลักธรรม) เพื่อพัฒนาและควบคุมปกครอง กาย วาจา ใจ ให้ดำรงแน่วแน่อยู่ในเส้นทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา อันมีทิศมุ่งหน้าไปสู่สันติภาพแห่งจิตใจ ที่ให้ความเป็นอิสรเสรีชั่วนิรันดร์...

คำถามที่ว่า อาตมาได้เสนอแนะแนวทางอะไรไปบ้างนั้น ในการเข้าร่วมประชุมนานาชาติ ณ นครเดลี/อินเดีย เมื่อวันที่ ๓-๕ ก.ย. ๒๕๕๘ ในชื่อการจัดงานที่ว่า “GLOBAL HINDU-BUDDHIST INITATIVE ON CONFLICT AVOIDANCE AND ENVIRONMENT CONCIOUSNESS...” …หากจะตอบยาวๆ คงเปลืองหน้ากระดาษ ก็ต้องสรุปสั้นว่า... ได้นำเสนอหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไปทั้งสองระดับ เพื่อการสร้างสันติภาพและความสุข อันเป็นไปในบริบทของหลักธรรมในพระพุทธศาสนา โดยมิกล้าหาญรับรองว่า ศาสนาฮินดู หรือศาสนาอื่นใด สามารถสร้างความสุขและสันติภาพได้จริงตามหรือไม่... แต่ได้ชี้แจงแสดงให้เห็นว่า “ศาสนาใดมีหลักศีลธรรมมั่นคงในเบื้องต้น ยึดแนวทางอหิงสาธรรมจริงๆ เชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม สั่งสอนให้ประชาชนปฏิบัติตามกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้จริง ...คำสอนของศาสนานั้นๆ ย่อมสามารถสร้างความสุขและสันติภาพให้มนุษยชาติได้เช่นเดียวกับพระพุทธศาสนา...”

สำคัญอย่างยิ่ง อาตมาไม่เคยลืมที่จะกล่าว อริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นความจริงอันประเสริฐ ที่ตรัสรู้ด้วยพระปัญญาอันชอบของพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่าเป็นหนทางอันนำไปสู่ความสุขและสันติภาพของมนุษยชาติได้อย่างแท้จริงแน่นอน

ในการประชุมในครั้งนี้ อาตมาได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้วในฐานะพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ที่ไม่ทรยศต่อคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า และรักษาไว้ซึ่งฐานะของสมณะในพระพุทธศาสนา... จึงมั่นใจว่า การไปปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ ได้กระทำคุณประโยชน์อันยิ่งทั้งต่อตนเองและมนุษยชาติ ด้วยการบูชาธรรมสมควร...แก่ธรรม

เจริญพร