สงครามขยายเผ่าพันธุ์ ระวังลิงจรจัดบุกเมือง
หลายปีที่ผ่านมาเกิดความบาดหมางขึ้นระหว่างคนกับลิงแสมในพื้นที่ชุมชนบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
โดย... นิติพันธุ์ สุขอรุณ
หลายปีที่ผ่านมาเกิดความบาดหมางขึ้นระหว่างคนกับลิงแสมในพื้นที่ชุมชนบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร สร้างความหวั่นวิตกให้คนในชุมชนต้องหวาดกลัว ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
หลายครอบครัวต้องสร้างประตูลูกกรงล้อมบ้านทั้งหลัง บางรายเผชิญหน้ากับลิงที่มีพฤติกรรมดุร้าย กระโจนเข้าใส่ ขู่กัด แอบเข้ามาภายในบ้าน รวมถึงยื้อแย่งสิ่งของเครื่องใช้ไปจากมืออย่างไม่เกรงกลัวมนุษย์
เป็นที่มาของการระดมกำลังเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วางแผนล้อมจับลิงแสมกว่า 80 ตัว จากทั้งหมด 200 ตัว ที่ยังคงหลบซ่อนอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ ก่อนนำไปฝึกพฤติกรรม
จากนั้นจะถูกนำไปปล่อยในป่าลึก เพื่อไม่ให้กลับเข้ามาอาศัยร่วมกับคนได้อีก
แม้ว่าจากเดิมพื้นที่บางขุนเทียนจะเป็นที่อยู่อาศัยของลิง ทว่าเมื่อมนุษย์ต้องการขยายอาณาเขตความเจริญรุกล้ำเข้าไปในป่า เปลี่ยนแหล่งที่อยู่อาศัยของลิงให้กลายสภาพเป็นเมือง ส่งผลให้ลิงไม่สามารถหาอาหารได้ตามธรรมชาติ จึงต้องหันมาหามนุษย์ผู้โหดร้ายทำลายป่า แต่ใจดีหยิบยื่นอาหารให้ด้วยความเมตตา หวังเพียงว่ามนุษย์จะอยู่ร่วมกับลิงได้อย่างสงบ
อย่างไรก็ตาม ความคิดเรื่องคนอยู่ร่วมกับลิงอย่างสันติกลายเป็นการเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง เพราะลิงมีสัญชาตญาณดุร้ายเกินกว่าจะควบคุมได้ ทั้งยังขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว หากปล่อยปัญหาไว้ไม่รีบแก้ไขจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
เตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ฉายภาพปัญหาลิงคุกคามมนุษย์สืบเนื่องมาจากลิงเป็นสัตว์ที่คนไทยคุ้นเคยมาเป็นเวลานาน เนื่องจากมีลักษณะรูปร่างคล้ายมนุษย์ เมื่ออายุยังน้อยมีอุปนิสัยซุกซน น่ารัก ขี้เล่น จึงเป็นที่ชื่นชอบสำหรับเด็กและสตรี จนบางครั้งมีการแบ่งปันอาหารให้ด้วยความเอ็นดูในความน่ารัก
ความน่าสงสารของลิง ทำให้พฤติกรรมของลิงเปลี่ยนไปจากการออกหาอาหารตามธรรมชาติ เป็นการนิ่งคอยรออาหารจากคน เมื่อลิงมีแหล่งอาหารและปริมาณที่มากขึ้น จึงมีเวลาในการสืบพันธุ์ ทำให้ประชากรลิงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ ลิงจึงเข้ามารบกวน แย่งชิง ทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายคน จนในที่สุดเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างคนกับลิงขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุว่า เมื่อปี 2554 ทีมวิจัยกรมอุทยานฯ ได้ส่งแบบสอบถามไปให้หน่วยงานท้องถิ่นจำนวน 7,000 ฉบับ เพื่อสอบถามว่ามีสัตว์ประเภทใดก่อให้เกิดความรำคาญกับชุมชนบ้าง มีการตอบกลับมาจำนวน 246 แห่ง โดย 183 แห่งใน 47 จังหวัด 90 อำเภอ ตอบว่า ลิงก่อให้เกิดความรำคาญมากที่สุด
มาทำความรู้จัก ‘ลิง’ กันหน่อย
ลิงในประเทศไทยจัดอยู่ในวงศ์สกุล “ลิงมะแคค” แบ่งออกเป็น 5 ชนิดคือ 1.ลิงวอก 2.ลิงอ้ายเงียะ 3.ลิงเสน 4.ลิงแสม 5.ลิงกัง มีอายุราว 20-30 ปี ลักษณะรวมของลิงสกุลนี้จะมีนิ้วมือหยิบจับสิ่งของต่างๆ ได้ดี มีกระพุ้งแก้มสามารถเก็บอาหารได้ กินได้ทั้งพืชและสัตว์ พฤติกรรมเป็นสัตว์สังคมชอบหากินเป็นฝูง มีระดับชั้นทางสังคมซับซ้อน แบ่งเป็น ระดับจ่าฝูง รองจ่าฝูง และลูกฝูง ซึ่งถ้าหากตัวใดตัวหนึ่งถูกทำร้าย ตัวผู้ตัวอื่นในฝูงจะเข้าช่วยเหลือทันที
ระดับชั้นจ่าฝูง มักเป็นตัวผู้ มีหน้าที่นำฝูงอาหาร ควบคุมป้องกันกำกับดูแลความสงบ มีสิทธิผสมพันธุ์เฉลี่ย 10 ครั้ง/วัน กับตัวเมียภายในฝูงได้ทุกตัว
ระดับรองจ่าฝูง มีหน้าที่ช่วยป้องกันจ่าฝูงและลูกฝูง เป็นแนวหน้าในการหาแหล่งอาหาร มักแอบผสมพันธุ์กับตัวเมียลูกฝูงเมื่อจ่าฝูงเผลอ
ลูกฝูง คือ ลิงตัวผู้และตัวเมีย มีหน้าที่ติดตามจ่าฝูง ดูแลลูกลิง บางตัวนำอาหารมาให้จ่าฝูงเพื่อที่หวังปรับฐานะตัวเองขึ้นเป็นรองจ่าฝูงแทนตัวเก่า
สำหรับ “ลิงแสม” ผู้ต้องหาในความบาดหมางที่เกิดขึ้นนี้ มีลักษณะลำตัวตั้งแต่ปลายจมูกถึงโคนหางยาว 48-55 เซนติเมตร ขนสีน้ำตาลปนเทาหรือน้ำตาลปนแดง ส่วนหางยาวเกือบเท่าลำตัว เป็นลิงที่หางยาวที่สุดในประเทศไทย ชอบอาศัยอยู่ตามป่าชายเลนและริมฝั่งทะเล พบมากในทวีปเอเชียแถบอินโดจีน เมียนมา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ มีความสามารถว่ายน้ำได้ ดำน้ำเก่ง โดยเฉพาะเรื่องปีนป่ายเป็นเลิศที่สุด กินอาหารได้หลากหลาย เริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 3-4 ปี ระยะตั้งท้อง 5-7 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว
เปิด 3 พื้นที่เสี่ยงวานรบุก
จากการลงพื้นที่สำรวจของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตั้งแต่ปี 2554 พบว่ามีลิงเข้าไปรบกวนชุมชนที่อยู่อาศัยจำนวน 183 แห่ง จากจำนวนลิงที่พบกว่า 3 หมื่นตัวทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาลิงคุกคามมนุษย์กำลังขยายออกไปเป็นวงกว้าง ทั้งหมดมีต้นตอเกิดจากการสูญเสียพื้นที่ป่า เพราะมนุษย์รุกล้ำเข้าไปรบกวนก่อน
จุดที่เป็นปัญหาหนักสุดมีด้วยกัน 3 แห่ง คือ 1.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี จ.เพชรบุรี จากเดิมสำรวจประชากรลิงเมื่อปี 2548 พบลิงแสมอยู่ในพื้นที่ 6 ฝูงด้วยกัน มีจำนวนทั้งสิ้น 1,634 ตัว แต่ต่อมาได้เพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้นประมาณ 1 หมื่นตัว/ปี จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการทำหมัน จำกัดอาณาเขต
2.อ่าวอุดม ต.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี พบว่ามีลิงบุกรุกเข้าไปในบ้านเรือนรื้อค้นหาอาหาร กัดขอบยางรถยนต์ โยนของลงจากตึกใส่รถ ทำลายสายโทรศัพท์ เสาอากาศ จานดาวเทียม ทำลายป้ายโฆษณา งานนี้เจ้าหน้าที่เตรียมทำการนับจำนวนฝูงที่แน่ชัดอีกครั้ง เพื่อหาจ่าฝูงจากนั้นจะล้อมจับ
3.ศาลพระกาฬ จ.ลพบุรี ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านว่าลิงเข้าไปทำลายทรัพย์สิน แย่งสิ่งของ ทำร้ายร่างกายเด็กเล็กด้วยการกัด จุดนี้ต้องแก้ปัญหาโดยจัดให้มีสารวัตรลิง ทำหน้าที่คอยให้อาหารวันละ 2 ครั้ง หากมีผู้มาบริจาคหรือต้องการให้อาหารลิง สารวัตรลิงจะเก็บรวบรวมไว้ให้ตรงตามเวลาที่กำหนดแต่เพียงผู้เดียว
ไม่เพียงแต่เกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับลิงเท่านั้น ยังสร้างความขัดแย้งระหว่างเพื่อนบ้านอีกด้วย
ตัวอย่างเช่นที่ จ.ลพบุรี เจ้าของร้านขายอะไหล่รถยนต์ บอกว่า เลี้ยงลิงแล้วช่วยให้ค้าขายดีขึ้น เป็นลิงของเจ้าพ่อช่วยให้กิจการเจริญรุ่งเรือง ขณะที่ร้านอาหารที่อยู่ติดกันโวยวายว่าลิงเข้าไปขโมยอาหาร ลูกค้าไม่เข้าร้าน เป็นเหตุทำให้ทั้งสองบ้านต้องทะเลาะกันดังนั้นเรื่องของลิงประชาชนต้องทำความเข้าใจให้เป็นหนึ่งเดียวกันจึงจะแก้ปัญหาได้
แก้ปัญหายาก-ปชช.ไม่ร่วมมือ
ในฐานะผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า “เตือนใจ” สะท้อนอุปสรรคการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่า กรณีลิงออกมาก่อความวุ่นวายเป็นปัญหาที่มีมายาวนาน เพราะที่ผ่านมาประชาชนไม่ยอมเปิดใจรับฟัง ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่นำลิงออกจากพื้นที่ จนทุกวันนี้ยากจะแก้ไข
“ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากคนรักสัตว์ที่มักให้อาหาร แต่ปล่อยทิ้งเขาไว้ข้างถนนไม่ได้ดูแลอย่างจริงจัง เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการล้อมจับก็จะถูกคนออกมาขัดขวางต่อต้าน เพราะกลัวว่ารัฐจะนำลิงไปฆ่าทิ้ง เคยมีคนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ว่านำลิงไปขาย ผ่าสมองลิงไปเป็นอาหารส่งให้ประเทศเพื่อนบ้าน” เตือนใจ กล่าว
เธอบอกว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ยินก็เสียใจ เพราะพยายามเข้ามาช่วยแล้วแต่ถูกต่อว่าด้วยความเข้าใจผิด สุดท้ายผ่านไปไม่กี่เดือนหลายชุมชนที่เคยต่อต้านก็มาขอร้องให้เจ้าหน้าที่นำลิงออกจากชุมชน เพราะทนไม่ไหวต่อการรุกราน
“การทำงานของเจ้าหน้าที่ทำตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง คือการทำหมันส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยไม่ให้กระทบต่อพฤติกรรมที่อาจเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ส่วนลิงที่ถูกจับเข้าฝึกพฤติกรรม ก็เพื่อให้สามารถหาอาหารในผืนป่าใหญ่ หลบหนีภัยร้ายได้ด้วยตัวเอง ด้านหนึ่งก็ต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้าน จึงต้องบอกว่าการแก้ปัญหาลิงยากมาก เพราะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของคน” เตือนใจ ระบุ
เป็นที่มาของแนวทางยับยั้งควบคุมจำนวนลิง แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ มาตรการระยะสั้น คือดักจับลิงจ่าฝูงมาทำหมันด้วยการผูกท่อน้ำเชื้อ จากนั้นนำลิงไปขังกรงลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ ก่อนส่งมอบลิงให้หน่วยงานของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ต่อไป
“ปัจจุบันจะไม่ทำหมันโดยตัดอัณฑะเหมือนในสมัยก่อน เพราะส่งผลกระทบต่อความแข็งแกร่ง ทำให้ความเป็นผู้นำฝูงหมดไปจนถูกขับไล่ออกจากกลุ่ม เปิดช่องทางให้ลิงตัวผู้อื่นเลื่อนระดับขึ้นมาเป็นจ่าฝูงแทน” เตือนใจ อธิบาย
สำหรับมาตรการระยะยาว มุ่งเน้นสร้างความเข้าใจแก่คนในชุมชนถึงเหตุผลสำคัญที่ต้องควบคุมจำนวนประชากรลิง ให้ความรู้ป้องกันโรคร้ายหากถูกกัด รณรงค์ไม่ให้อาหาร จัดเก็บถังขยะให้มิดชิดยากต่อการรื้อค้น หยุดรุกล้ำพื้นที่ป่า ฟื้นฟูป่าให้มีแหล่งน้ำแหล่งอาหารที่เพียงพอ
อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุน เนื่องจากการทำหมันลิงตัวผู้มีค่าใช้จ่ายตัวละ 500 บาท ในส่วนของลิงตัวเมียจะมีความยากในการทำหมันมากขึ้น จึงมีค่าใช้จ่ายตัวละ 1,500 บาท รวมถึงการนำลิงมาฝึกก็มีค่าใช้จ่ายเรื่องอาหาร ค่าวัคซีนป้องกันโรค ค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ฯลฯ ดังนั้นเรื่องค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาต้องใช้งบประมาณสูงมาก จึงต้องพยายามปล่อยกลับสู่ป่าให้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมได้ปล่อยลิงปีละประมาณ 200-300 ตัว
วาระแห่งชาติที่ต้องเร่งแก้
โรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาลิงจรจัดเกิดขึ้นในทุกจังหวัดที่มีลิงอาศัยอยู่ การแก้ปัญหาของกรมอุทยานฯ เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ได้มีแนวทางแก้ไขระยะยาว ซึ่งปัญหาลิงจรจัดเป็นปัญหาหนักมากกว่าสุนัขจรจัด เนื่องจากลิงสามารถเข้ามาโจมตีมนุษย์ได้ โดยตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา ทางสมาคมพิทักษ์สัตว์ฯ ได้ทำจดหมายถึงกรมอุทยานฯ ระบุถึงปัญหาประชากรลิงจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้รับการตอบรับจดหมาย หน่วยงานรัฐว่า ยังไม่มีความสามารถในการย้ายลิงออกจากพื้นที่ได้ทั้งหมด
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องออกนโยบายบังคับควบคุมประชากรลิงทั่วประเทศ แสวงหาพื้นที่ให้ลิงอยู่อาศัย จับทำหมันควบคุมประชากร ซึ่งปัญหานี้ควรทำต้องแต่เมื่อ 5 ปีมาแล้ว แต่ถ้ายังเพิกเฉย การแก้ปัญหาจำนวนลิงจรจัดจะยิ่งยากมากขึ้น ต่อไปลิงจะเข้ามาอยู่ในตัวเมือง
“ผมเคยเตือน จ.ลพบุรี ว่าให้รีบทำหมันลิงก็ไม่เชื่อกัน พวกเอ็นจีโอและคนในชุมชนออกมาต่อต้าน กลัวว่าจะเป็นการทำร้ายสัตว์ แล้วเป็นอย่างไรทุกวันนี้คนก็มีปัญหากับลิงจนได้ เพราะเริ่มมีชาวบ้านพูดกันว่าต้องกำจัดลิงทิ้ง หรือปลดลิงออกจากสัตว์คุ้มครองถึงจะฆ่าได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นสุดท้ายเราก็เท่ากับทำร้ายสัตว์เสียเอง” โรเจอร์ กล่าว
โรเจอร์ กล่าวว่า ในด้านการแก้ปัญหาภายในชุมชน จะต้องร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า การใช้ลิงเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวนั้นไม่ถูกต้อง แต่ต้องคิดว่าลิงเป็นปัญหาประชากรสัตว์ที่ควรควบคุม ยกเลิกใช้ลิงเป็นจุดสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว
ข้อปฏิบัติเมื่อเผชิญฝูงลิง
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าต้องยึดหลักปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อลดปัญหาและป้องกันอันตรายจากลิง กรมอุทยานฯ จึงได้กำหนดหลักปฏิบัติดังนี้ 1.ไม่ควรให้อาหาร เพราะลิงจะมุ่งตรงเข้ามาทำร้ายทันทีที่ไม่ได้อาหาร 2.ไม่ควรแสดงให้เห็นว่ามีอาหาร ควรเก็บให้มิดชิด สะพายกระเป๋าให้รัดกุม 3.ไม่ควรปล่อยชายเสื้อเพราะลิงจะมากระชาก 4.ไม่ควรเข้าใกล้หรือเดินเข้าไปในฝูงเพราะจะถูกรุมทำร้าย
5.ไม่ควรหยอกล้อเนื่องจากลิงจะโกรธและวิ่งเข้ามากัด 6.ไม่ควรสัมผัสตัวเพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น วัณโรค อหิวาฯ ไข้หวัด 7.ไม่ควรจับลูกลิงเพราะกลิ่นตัวมนุษย์จะติดไปกับลูกลิงทำให้ถูกขับออกจากฝูง 8.หากมีความจำเป็นต้องเดินผ่านฝูงลิงควรมีไม้ไว้ป้องกันตัว
9.อย่าแสดงความกลัวหรือพยายามส่งเสียงดัง 10.การจ้องตาให้ลิงกลัวสามารถทำได้กับลูกลิงเท่านั้น ไม่ควรใช้กับจ่าฝูงหรือลิงตัวใหญ่ เพราะเท่ากับเป็นการท้าทาย 11.ห้ามแย่งสิ่งของหากถูกขโมย แต่ต้องคอยจนกว่าลิงจะเลิกสนใจจึงจะเอาคืนมาได้
“เมื่อถูกลิงกัดอย่ากระชาก แต่ให้ใช้วัสดุที่แข็ง เช่น ไม้ หรือปากกา ง้างปากออกเพื่อไม่ให้เกิดแผลฉีดขาด กะรุ่งกะริ่ง จากนั้นรีบทำความสะอาดบาดแผลด้วยสบู่ น้ำสะอาด แอลกอฮอล์ และทิงเจอร์ไอโอดีน พร้อมกับนำตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลพบแพทย์ทันที เพื่อฉีดยาป้องกันบาดทะยัก ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนลิงตัวที่กัดควรกักตัวไว้รอดูอาหาร 10 วัน เพื่อดูว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่” เตือนใจ แนะนำ
นอกจากนี้ หากพบลิงในบริเวณใกล้เคียงให้กันเด็กและผู้สูงอายุออกห่างที่สุด ปิดประตูหน้าต่างทุกบาน ควรถือไม้ไว้ป้องกันตัว อย่าไล่หรือยิงปืน แต่ให้โทรศัพท์แจ้งสายด่วน 1362 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อทำการติดต่อประสานงานต่อไป
ถูกกัดโรคตามมาอีกอื้อ
โรคร้ายที่มาพร้อมกับลิงหากถูกกัด ได้แก่ วัณโรค ติดต่อผ่านการหายใจเอาละอองเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย หรือติดต่อผ่านทางผิวหนังจากบาดแผล โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงไวต่อการติดเชื้อวัณโรคมาก
ถัดมาคือ โรคพยาธิทางเดินอาหาร ติดต่อผ่านทางการกินอาหาร ดิน น้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของสัตว์ มีพยาธิปากขอ พยาธิตัวกลม พยาธิแส้ม้า
โรคมาลาเรียสายพันธุ์ใหม่ โรคไข้เลือดออก และโรคไข้สมองอักเสบ ติดต่อผ่านทางยุงเป็นพาหะ ผู้ป่วยจะปวดหัว อาเจียนมีไข้สูง ตัวเหลือง ตาเหลือง ตับและม้ามโต อาจทำให้เสียชีวิต
โรคเฮอร์ปีส์ไวรัส ชนิดบี ติดเชื้อผ่านการกัด ข่วน โดยน้ำลาย เลือด สิ่งคัดหลั่งของสัตว์ ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการทางประสาทร่วมในกรณีที่ไวรัสแพร่กระจายไปยังระบบประสาทส่วนกลาง สุดท้ายโรคไวรัสตับอักเสบ ติดเชื้อทางบาดแผลจากการโดนน้ำลาย ผู้ป่วยจะมีไข้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
เตือนใจ ย้ำว่า ในบางครั้งการแก้ปัญหาของชาวบ้านเป็นไปในลักษณะไม่เหมาะสมทางหลักวิชาการ เช่น ทำร้ายลิง บางตัวตาบอด สาเหตุคาดว่ามาจากถูกยิงลูกหินหนังสติ๊ก บางตัวแขนขาหักเพราะถูกตี สิ่งเหล่านี้จะยิ่งเพิ่มความโกรธแค้นของลิงให้มากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น การทำร้ายลิงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 อยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ ห้ามให้ประชาชนครอบครอง ห้ามค้า ห้ามล่า ตลอดจนห้ามนำเข้า-ส่งออก ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ปัญหาลิงจรจัดหากปล่อยไว้จะมีผลกระทบมากกว่าปัญหาสุนัข-แมวจรจัด เพราะเลี้ยงอย่างไรก็ไม่ค่อยเชื่อง และมีอันตราย
ดังนั้น ประชาชนต้องเปิดใจช่วยกันยับยั้งการเพิ่มจำนวนประชากรลิงให้สามารถกลับมาควบคุมได้ และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขอีกครั้ง