posttoday

วิธีทำสมาธิเบื้องต้น (6)

01 พฤศจิกายน 2558

คนบางคนที่มีปัญญาฉลาดหลักแหลม สามารถจะอธิบายข้ออรรถข้อธรรมได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งแต่กิเลสเพียงหยาบๆ

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

คนบางคนที่มีปัญญาฉลาดหลักแหลม สามารถจะอธิบายข้ออรรถข้อธรรมได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งแต่กิเลสเพียงหยาบๆ อันเป็นคู่ปรับแห่งศีล แค่นี้ก็ยังละกันไม่ค่อยจะออก นี่คงจะเป็นเพราะขาดความสมบูรณ์แห่งศีล สมาธิ ปัญญา กระมัง จึงได้เป็นไปอย่างนั้น ศีลก็คงเป็นศีลอย่างเปลือกๆ สมาธิก็คงเป็นสมาธิอย่างเปื้อนเปรอะ ปัญญาก็คงเป็นปัญญาอย่างเลอะเลือนเคลือบเอา เสมอเหมือนกับบานกระจกที่ทาด้วยปรอท

ฉะนั้น จึงไม่สามารถเป็นเหตุให้สำเร็จความมุ่งหวังของพุทธบริษัทได้ ตกอยู่ในลักษณะมีดที่คมนอกฝัก คือ ฉลาดในเชิงพูด เชิงคิด แต่ดวงจิตไม่มีสมาธิ นี่เรียกว่า คมนอกฝัก ฟักไข่นอกรัง คือ แสวงหาความมีแต่ภายนอก ไม่อบรมจิตใจของตนให้เป็นไปในทางสมาธิ ปักหลักกองทราย คือ เที่ยวยึดถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่ตนมาเป็นสรณะที่พึ่ง ย่อมให้โทษ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ชื่อว่า เป็นผู้ที่ยังไม่ได้ที่พึ่งอันเป็นแก่นสาร ฉะนั้นจึงควรที่จะต้องสร้างเหตุให้เป็นไปด้วยดี เพราะธรรมทั้งหลายย่อมไหลมาแต่เหตุ ดังนี้

อตฺตนา โจทยตฺตานํ ปฏิมํเสตมตฺตนา

จงเตือนตน ฝึกฝนใจด้วยตนเอง จงเร่งคิดพิจารณา (อานาปาน์) ของตนด้วยตนเทอญ

ต่อนี้จะได้รวบรัดวิธีปฏิบัติอานาปาน์ให้เป็นองค์ฌานขึ้นตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(1) “ฌาน” ฌาน แปลว่า ความเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว เช่น กระทำลมหายใจดังต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง

ข้อ 1 ปฐมฌาน (ฌานที่ 1) มีองค์ 5 คือ

1.วิตก ให้นึกถึงลมหายใจเข้าออกจนจำได้ไม่เผลอ (ตรึก)

2.เอกัคคตา ให้ประคองจิตไว้ในลมหายใจอย่าให้แส่ส่ายไปในสัญญาอารมณ์อื่นๆ ประคองจิตไว้ในเรื่องลมอย่างเดียวจนเกิดลมสบายขึ้น (จิตถึงความเป็นหนึ่ง นิ่งอยู่กับลมหายใจ)

3.วิจาร คือ ให้รู้จักขยายลมหายใจที่ได้รับความสบายแล้วนั้น ให้ไปเชื่อมกับลมส่วนอื่นในร่างกายกระจายลมออกจนทั่วถึงกัน เมื่อร่างกายได้รับประโยชน์จากลมหายใจแล้ว ทุกขเวทนาก็สงบไป ร่างกายเต็มไปด้วยธาตุลมที่ดี (ตรอง) คือเพ่งอยู่ในเรื่องของลมอย่างเดียว คุณธรรม 3 อย่างนี้ เข้าอยู่ในสายลมอันเดียวกัน จึงจะเป็นปฐมฌานได้ สายลมอันนี้ย่อมแล่นเข้าถึงฌาน 4 ได้วิตก เอกัคคตา วิจาร 3 ประการนี้เป็นตัวเหตุ เมื่อเหตุเหล่านี้ทำให้สมบูรณ์ดังกล่าวมาแล้ว ก็จะได้รับผลเกิดขึ้น อันเป็นองค์ที่ 4 คือ

4.ปีติ ความอิ่มกายอิ่มใจก็เกิดขึ้น ดูดดื่มปลาบปลื้มปราโมทย์ อยู่โดยลำพังกายและจิต

5.สุข ความสบายกาย เกิดจากกายสงบ กายไม่กระสับกระส่าย (กายปสฺสทฺธิ) ใจสบาย ใจไม่กระสับกระส่าย มีความสบายรื่นเริงอยู่โดยลำพังไม่วอกแวก (จิตฺตปสฺสทฺธิ)

ปีติและสุข 2 อย่างนี้เป็นส่วนมาก ปฐมฌานที่อธิบายมานี้ก็มีเหตุอย่างหนึ่งผลอย่างหนึ่งเท่านั้น เมื่อปีติและสุขมีกำลังมากขึ้น ลมก็ละเอียด เพราะอาศัยความเพ่งนานเข้า ผลก็แรงขึ้นจึงเป็นเหตุให้ละวางวิตกวิจาร อันเป็นงานเบื้องต้นเสียได้ อาศัยเหตุอันเดียวคือเอกัคคตารมณ์ก็เข้าสู่ทุติยฌาน (มรรคจิต ผลจิต)

ข้อ 2 ทุติยฌาน (ฌานที่ 2) มีองค์ 3 คือ

1.ปีติ

2.สุข

3.เอกัคคตา (มรรคจิต)

ได้แก่ จิตที่เสวยผลมาจากปฐมฌาน ถ้าเข้าถึงทุติยฌาน ปีติก็มีกำลังแรงขึ้นอีก สุขก็มีกำลังแรงขึ้นอีก เพราะอาศัยความเพ่งอยู่ในเหตุอันเดียว คือ เอกัคคตารมณ์ เป็นผู้ดูงานต่อไป เพ่งลมหายใจละเอียดเข้า นิ่งอยู่ด้วยความอิ่มกาย อิ่มจิต สุขกาย สุขจิต ใจแน่วแน่มั่นคงลงไปอีกกว่าเดิม เพ่งไปนานๆ ปีติและสุขก็มีกำลัง แล้วแสดงลักษณะอาการขยายตัวเข้าขยายตัวออก เอกัคคตารมณ์ก็เพ่งลงไปอีก ขยับจิตลงไปอีกให้ละเอียด จนพ้นจากลักษณะแห่งความไหวตัวของปีติและสุข แล้วจะเข้าถึงตติยฌานต่อไป

ข้อ 3 ตติยฌาน (ฌานที่ 3) มีองค์ 2 คือ

1.สุข

2.เอกัคคตา

กายมีความสงบสงัด พ้นจากการไหวตัว เป็นการวิเวกไม่มีเวทนาอันใดมารบกวน จิตก็เงียบสงัดเป็นจิตวิเวก ลมก็ละเอียดกว้างขวาง ปลอดโปร่งรัศมีสีขาวซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กายคล้ายสำลี ระงับทุกขเวทนาของร่างกายได้หมด ระงับเวทนาของดวงจิตได้หมด จดจ้องประคองไว้แต่ลมอันละเอียดและกว้างขวาง ดวงจิตมีอิสระไม่มีอารมณ์สัญญาอดีต อนาคตมาแทรก ดวงใจก็โพลงตัวอยู่โดยลำพังธรรมธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นสามัคคีกันทุกส่วน เกือบจะเรียกได้ว่าบริสุทธิ์ทั้งก้อนกายก็ได้

เพราะลมมีกำลัง ควบคุมปรนปรือธาตุส่วนอื่นให้สามัคคีกันเป็นอย่างดี สติก็คุมอยู่กับเอกัคคตาอันเป็นตัวเหตุ ลมเต็มกาย สติเต็มกาย เพ่งลงไปจิตก็แจ่มใส ร่างกายก็เบา ใจมีกำลังกล้า เวทนา คือ สุขก็สงบ กายก็สม่ำเสมอ ไม่มีความพลั้งเผลอใดๆ เข้าแทรกเป็นเหตุให้ปล่อยวางความสุข อาการของความสุขก็สงบ เพราะอาศัยธาตุทั้ง 4 เสมอกัน ไม่มีลักษณะอาการเคลื่อนไหวตัว ตัวเหตุเอกัค คตาก็มีกำลังเพ่งหนักลงไป ก็ได้เข้าสู่จตุตถฌานต่อไป

ข้อ 4 จตุตถฌาน (ฌานที่ 4) มีองค์ 2 คือ

1.อุเบกขา

2.เอกัคคตา (สติ)

อุเบกขากับเอกัคคตา ฌาน 4 นี้ มีความเพ่งอย่างแข็งแรงเหนียวแน่นมั่นคง ธาตุลมสงบ ไม่มีอาการกระเพื่อมกระฉอกได้เลย จิตวางเฉยหมดอารมณ์ อดีต อนาคต ธาตุลมอันเป็นส่วนปัจจุบันก็เงียบเฉย เปรียบเหมือนทะเลหรืออากาศที่ปราศจากคลื่นรบกวน รูปและเสียงย่อมแลเห็นและรู้ได้ในทางไกล เพราะอาศัยธาตุลมซึ่งไม่มีอากาศกระเพื่อมเคลื่อนไหวตัว ซึ่งเปรียบเหมือนจอหนัง คอยรับรูปภาพที่ฉายออกมาให้แลเห็นและรู้เรื่องของภาพนั้นๆ เป็นอย่างดี มีวิชชาความรู้ขึ้นในดวงจิต รู้แล้วก็เฉยอยู่ จิตก็เฉย ลมก็เฉย เฉยได้ทั้ง 3 กาล

นั่นแลเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ เพ่งอยู่ในความเฉยความเงียบของลม ลมทุกส่วนของร่างกายย่อมแล่นถึงกัน สามารถที่จะหายใจได้ทุกขุมขน คือไม่ต้องใช้ลมหายใจทางจมูก เพราะลมหายใจกับลมส่วนอื่นเป็นพื้นเดียวกันหมด ลมเต็ม ลมเสมอกัน ธาตุทั้ง 4 มีลักษณะอย่างเดียวกันหมด จิตสงบเต็มที่ ความเพ่งก็แรง แสงก็แจ่ม เป็นมหาสติปัฏฐาน ดวงจิตก็เบิกบานแจ่มใส เหมือนแสงไฟหรือแสงอาทิตย์ซึ่งไม่มีเครื่องปิดบัง ย่อมลุกโพลงส่องโลกให้สว่างไสว

ฉะนั้น จิตดวงนี้ย่อมมีรัศมีดีแผ่ไปทั่ว ลมก็มีรัศมี จิตก็มีรัศมีอย่างสมบูรณ์ เพราะอาศัยความเพ่งแห่งสติ ความเพ่งก็แรง แสงก็แจ่ม ดวงจิตก็มีอำนาจ คุณธรรม 4 ประการ เข้าสันนิบาตทั้งหมด คือ สติปัฏฐานทั้ง 4 มีอาการว่านั่น กาย เวทนา จิต ธรรม ความเห็นที่ว่า 4 นั้นย่อมไม่มี จึงเรียกได้ว่า มหาสติปัฏฐาน

อ่านต่อสัปดาห์หน้า