อริยธรรม... สู่การแก้ปัญหาสังคม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา... ช่วงนี้เป็นต้นฤดูกาลทอดกฐินอันเป็นไปตามพุทธานุญาต
โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส
เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา... ช่วงนี้เป็นต้นฤดูกาลทอดกฐินอันเป็นไปตามพุทธานุญาตที่พระภิกษุอยู่ครบไตรมาสในอาวาส มีสิทธิแสวงหาผ้าเพื่อนำมาซัก กะ ตัด เย็บ ย้อม เข้าสู่กระบวนการกรานกฐินได้ ทั้งนี้จะต้องมีจำนวนภิกษุ ๕ รูปขึ้นไป จึงจะครบองค์สงฆ์ที่กระทำสังฆกรรม โดยพระภิกษุจะต้องประพฤติปฏิบัติตนถูกต้อง ไม่ขาดพรรษา และการทอดถวายผ้ากฐินนั้น จะต้องเป็นไปด้วยความศรัทธาของญาติโยม ห้ามพระภิกษุเรียกร้อง เรียกหา และกระทำการเรี่ยไรด้วยพฤติกรรมใด วิธีการใด ที่ขัดต่อสมณสารูป หรือความเป็นพระสงฆ์ในพระธรรมวินัยนี้
อริยประเพณีที่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์อีกอย่างหนึ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง คือ การกราบขอขมาคารวะ เป็นการทำวัตรที่แสดงความเป็นอารยธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นความสวยงามในหมู่สงฆ์ เพราะนอกเหนือจากเป็นการเปลื้องอกุศลกรรมใดๆ ออกจากกาย วาจา ใจ... เป็นการอดโทษแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การได้รับฟังโอวาทจากพระเถระหรือครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดี-ปฏิบัติชอบ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความรักสามัคคีในหมู่คณะให้มองดูแล้วน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่ง
สำหรับวิธีการปฏิบัติเพื่อขอขมาคารวะนั้น พระภิกษุจะนำพานดอกไม้ธูปเทียนเป็นเครื่องบูชา โดยกราบพร้อมกัน ก่อนเปล่งวาจาว่า นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ๓ จบ จากนั้นก็กล่าวเป็นภาษาบาลีมีความหมายว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระเถระจงอดโทษซึ่งความผิดทั้งปวง ที่พวกข้าพเจ้าได้กระทำล่วงเกินด้วยความประมาทในพระเถระ ด้วยไตรทวาร” … พระเถระผู้รับการขอขมา ก็จักกล่าวอดโทษให้ และขอให้ยกโทษให้แก่ท่านด้วย...
จากนั้นก็จะกล่าวให้พร โดยมักจะให้พรในทำนองที่ว่า... สิ่งที่ทำผิดไปแล้ว ก็ขอให้แล้วไป ให้กลับตัวกลับใจเสียใหม่ เริ่มต้นกันใหม่ ดังภาษิตนิยมจากองคุลิมาลสูตรที่แปลความว่า... ก็ผู้ใด เมื่อก่อนประมาท ภายหลังผู้นั้นไม่ประมาท เขาย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดังพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆฉะนั้น ผู้ใดทำกรรมอันเป็นบาปแล้ว ย่อมปิดเสียได้ด้วยกุศล ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดุจพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ...
จากที่กล่าวมา เพื่อเป็นข้อศึกษาอันจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการแสวงสันติและความสุขให้กับตนเอง ผู้อื่น และสังคมประเทศนั้น จะต้องประกอบด้วยจิตใจที่มีเมตตากรุณาต่อกันและกันของทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การรู้จักขอขมาคารวะและการอดโทษต่อกันหรือการให้อภัยกันและกัน
อภัยทาน... เป็นเรื่องที่ทำได้ยากที่สุด แต่เมื่อไหร่ที่คนเราเข้าถึงธรรม ประพฤติธรรม และเคารพธรรม ความยากของการให้อภัยนั้น ย่อมไม่ยากเลย และเมื่อนั้นก็จะสามารถลบความขัดแย้ง ความแตกแยก ความร้าวฉาน ของหมู่ชนในสังคมไปได้
วันนี้แห่งสังคมประเทศชาติของเรา รู้สึกว่าหมู่ชนจะห่างไกลกับการให้อภัยกัน การรู้รักสามัคคีจึงยังไม่เกิดขึ้นในสังคมที่อ้างอิงว่าเป็นชาวพุทธมากกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ของประชากรในประเทศเรา
ภาพลักษณ์ที่ขาดธรรมลักษณ์ดังกล่าว จึงทำให้สังคมประเทศชาติของเราขาดความสงบสุขและสิ้นความสวยงามที่บรรพชนเคยภาคภูมิใจไปอย่างน่าเสียดาย
ทั้งนี้ ด้วยอำนาจอคติธรรมที่ครอบครองจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยโมหจิต ด้วยฤทธิ์เดชของโลภะและโทสะ... อะไรๆ จึงยังไม่เรียบร้อยและเป็นไปอย่างที่ควรเป็น ภาคสังคมที่อ่อนแอ ที่ภูมิต้านทานธรรมต่ำ จึงยังเคลื่อนไหวฟุ้งซ่านไปตามกำลังกิเลส ให้โอนอ่อนไปตามกระแสอย่างน่าสงสาร... เอวัง
เจริญพร