posttoday

เปิดแคนดิเดต“ประธานโอลิมปิค”แทน“บิ้กป้อม”

13 มกราคม 2568

*เปิดแคนดิเดต“ประธานโอลิมปิค”แทน“บิ้กป้อม” 3 นายกสมาคม“คุณหญิงปัทมา-สุชัย-พิมล” มาแรงบี้กันหายใจรดต้นคอ!!!

ใกล้เข้ามาเต็มที สำหรับการเลือกประธานโอลิมปิคคนใหม่ วงในคาด “คุณหญิงปัทมา” มาแรงด้านบารมี แต่ให้ระวัง “สุชัย พรชัยศักดิ์อุดม“ ที่มีจุดเด่น เป็นโซ่ข้อกลาง-มือประสานสิบทิศ อาจแซงโค้งสุดท้าย!?

ระยะเวลาต่อจากนี้อีก 2 เดือนกว่า ในช่วงเดือนมีนาคม 2568 จะเข้าสู่โหมดการสรรหาและนำไปสู่การได้มาซึ่งให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ และประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยคนใหม่หลังจาก “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พ้นจากตำแหน่งประธานไปตามธรรมนูญโอลิมปิคไทย 

โดย ปัจจุบันนี้มี นายธรรมนูญ หวั่งหลี ในฐานะรองประธานคนที่ 1 ทำหน้าที่รักษาการประธานคณะกรรมการโอลิมปิค

ขณะที่มีรายงานข่าวว่า การช่วงชิงตำแหน่งประธานโอลิมปิคคนใหม่ในรอบนี้มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นดุเดือด ตัวเต็งแคนดิเดตคนใหม่ต่างวิ่งเข้าหาขั้วอำนาจทางการเมือง และนายกสมาคมกีฬาเพื่อให้มีคะแนนเสียงที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรวบรวมเสียงโหวตให้สามารถคว้าชัยในการได้มาซึ่งตำแหน่งประธานโอลิมปิค 

สำหรับการชิงเก้าอี้ประธานในครั้งนี้มี 3 แคนดิเดต คือ 1. คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย 

2.ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย 

 3.นายสุชัย พรชัยศักดิ์อุดม นายกสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 แคนดิเดตนั้น มีดีกรีเป็นนายกสมาคมด้านการกีฬามาแล้วทั้งสิ้น

“แต่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ การชิงเก้าอี้ประธานโอลิมปิคไทยนั้นถึงแม้ ณ เวลานี้มี 3 คนแคนดิเดต แท้จริงมีเพียง 2 แคนดิเดตเท่านั้นที่เป็นตัวเต็งพอฟัดพอเหวี่ยงกัน คือ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กับ นายสุชัย พรชัยศักดิ์อุดม ซึ่ง คุณหญิงปัทมา นั้น ขณะนี้มีแบ็คอัพมากบารมีสนับสนุนอยู่ เช่นเดียวกับ นายสุชัย ที่มีความเหนียวแน่นสัมพันธุ์ที่เหนียวแน่นกับคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และสามารถที่จะต่อสายพูดคุยเจรจากับ บิ๊กป้อม หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เป็นกลุ่มอำนาจเดิมได้เช่นกัน”

ทว่าหากมองข้อได้เปรียบ คุณลักษณะบุคคลที่จะมีโอกาสเป็นประธานได้ดี มักจะเป็นโซ่ข้อกลาง มือประสานสิบทิศ กับฝ่ายการเมืองและสมาคมกีฬาได้เป็นอย่างดี ซึ่งคุณสมบัติแบบนี้ นายสุชัย เหนือกว่าแคนดิเดททั้ง 2 คนที่ตอนนี้กำลังเดินสายหาคะแนนเสียง

ในส่วนของกระบวนการเลือกประธานโอลิมปิคคนใหม่ นั้น เริ่มจากสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมการโอลิมปิคทั้งหมด 37 สมาคม จะเสนอชื่อผู้แทนสมาคม เพื่อรับเลือกทำหน้าที่คณะกรรมการบริหารโอลิมปิควาระใหม่ จากนั้น 37 สมาคมจะโหวตเลือก 23 คน จาก 37 คน มาทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหาร รวมกับผู้แทนคณะกรรมการโอลิมปิกสากลชาวไทย (คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล) และตัวแทนนักกีฬาโอลิมปิกชาวไทย (ปัจจุบันคือ ชนาธิป ซ้อนขำ) รวมทั้งหมด 25 คน ต่อจากนั้น 37 สมาคมกีฬาสมาชิก จะโหวตเลือก “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ในคณะกรรมการโอลิมปิควาระใหม่ จำนวน 10 คน 

เมื่อได้ผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มอีก 10 คนแล้ว รวมกับกรรมการบริหารชุดใหม่ 25 คน เป็นทั้งสิ้น 35 คน จะประชุมกันเพื่อจัดสรรตำแหน่งและเลือก “ผู้เหมาะสม” มาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิคฯ คนใหม่ ในกรณีที่มีผู้เสนอชื่อแข่งขันกันมากกว่า 1 คนขึ้นไป ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 35 คน จะลงคะแนนเลือกตั้ง “แบบลับ” แล้วจึงนับคะแนน

มีรายงานข่าวว่า ขณะนี้การรวมรวมเสียงโหวตในจำนวน 35 เสียงนั้น นายสุชัย มีคะแนนเสียงนำมากกว่าทั้ง 2 แคนดิเดตอย่าง คุณหญิงปัทมา และ ผศ.พิมล 

ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยนั้น ถือว่า มีอำนาจบารมีในวงการกีฬานานาชาติและไทย สามารถชี้เป็นชี้ตายหรือให้คุณให้โทษบุคลากรกีฬาได้ทุกคน ซึ่งส่วนใหญ่ทั้งในไทยแลต่างประเทศ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคสากล มักจะมีการเมืองหนุนหลังเพื่อทำงานการกีฬาได้สำเร็จ

นอกจากจะมีผลประโยชน์มหาศาลโดยตรงแล้ว ยังมีเกี่ยวข้องกับฐานคะแนนเสียงทางเมืองอีกด้วย และที่ผ่านมาในอดีตบุคคลที่เป็นประธานในคณะกรรมการโอลิมปิคของไทยมักจะเป็นนายทหารที่มากด้วยบารมีที่ปลดประจำการแล้ว 

สำหรับที่มาของรายได้ คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมรารูปถัมภ์ นั้นมาจาก เงินสนับสนุนและส่งเสริมกีฬา จาก คณะกรรมการโอลิมปิกสากล และ การกีฬาแห่งประเทศไทย เงินสนับสนุนจากภาคเอกชนดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร 

ปัจจุบัน โอลิมปิกไทย มีรายได้ปีละ 27 ล้าน (งบปี 65) รายจ่ายปีละ 17 ล้าน มีเงินสะสม 219 ล้านบาท 

นอกเหนือจากนี้ยังได้รับเงินสนับสนุนจาก 87 สมาคมกีฬา และได้รับต่อเนื่อง 4 ปี วงเงินสนับสนุน ปีละ 400 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,640 ล้านบาท

ทั้งนี้ บทบาทหน้าที่สำคัญของ คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย คือการจัดส่งและนำคณะนักกีฬา เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและกีฬาระดับภูมิภาค ระดับทวีป หรือระดับโลก ซึ่งรับรองโดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และยังเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อการปฏิบัติใดๆ ของคณะนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ประจำทีม ที่เข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าว จึงทำให้มีอิทธิพลต่อสมาคมกีฬา นักกีฬาทีมชาติ รวมถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับวงการกีฬามาก.