มหิดล (ศาลายา) เรียนรู้สู่มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (ฉบับสมบูรณ์)
เดินหน้าต่ออย่างไม่หยุดยั้ง “มหาวิทยาลัยมหิดล” (ศาลายา) เพราะการเป็น “กรีนแคมปัส” หรือ “มหาวิทยาลัยสีเขียว” นั้นได้บรรลุธงที่ปักไว้แล้ว
โดย...โจนาธาน
เดินหน้าต่ออย่างไม่หยุดยั้ง “มหาวิทยาลัยมหิดล” (ศาลายา) เพราะการเป็น “กรีนแคมปัส” หรือ “มหาวิทยาลัยสีเขียว” นั้นได้บรรลุธงที่ปักไว้แล้ว แต่เป้าหมายสูงสุดและกำลังสานต่ออยู่ คือครบองค์ความรู้ด้านรักษ์สิ่งแวดล้อมในฐานะ “มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ” (Eco University)
ภายใต้แนวคิด “มหาวิทยาลัยเมืองในฝัน เมืองน่าอยู่และเสริมสร้างสุขภาวะ” เริ่มดำเนินการเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ประสบความสำเร็จด้วยการคว้ารางวัลสถาบันอุดมศึกษาสีเขียว จากทั้งหมด 301 แห่ง โดยผลสำรวจ UI GreenMetric World University Ranking ประเทศอินโดนีเซีย 2 ปีซ้อน (ปี 2012 อันดับ 36 ของโลก อันดับ 11 ของเอเชีย ปี 2013 อันดับ 31 ของโลก อันดับ 4 ของเอเชีย)
สำหรับประเทศไทย มหาวิทยาลัยแห่งนี้ลอยลำชนะเลิศและได้กลายเป็นต้นแบบสถาบันอุดมศึกษาที่น่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ทั้งแนวคิดและการลงมือปฏิบัติ ที่ผ่านมาสานต่อหลายโครงการเป็นรูปธรรม เช่น เติมเต็มพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว ปรับภูมิทัศน์ของมหาวิทยาลัยให้แลดูงดงาม ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ
ประจักษ์พยานที่ดำเนินการสำเร็จ เช่นว่า “สร้างธนาคารขยะ” ลดภาระการจัดการขยะมูลฝอยและปัญหามลพิษจากขยะมูลฝอย “ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ” วิจัยปุ๋ยที่มีกระบวนการย่อยสลายเร็วขึ้นและไม่ส่งผลต่อสภาพอากาศ “เปิดศูนย์จักก้าเซ็นเตอร์” ลดการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ภายในมหาวิทยาลัย หันมาใช้บริการรถรางแทน
ทั้งหมดล้วนส่งผลให้ที่นี่ถูกกล่าวขานและยกเป็นเบอร์หนึ่งของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และก้าวสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ” อย่างเต็มรูปแบบปีหน้านี้ ล่าสุด “คาร์บอนฟุตพรินต์” (Carbon Footprint) หนึ่งโครงการดีๆ ที่ได้รับการต่อยอด โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ผ่านการลงนามกันเรียบร้อยทั้งสองฝ่าย
“ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร” อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า โครงการนี้เป็นการขยายกรอบความคิดจากกรีนแคมปัสสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ อันมีหัวใจสำคัญคือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ จึงเริ่มดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อประเมินคาร์บอนก๊าซภายในองค์กรของมหาวิทยาลัย ก่อนจะจัดทําเป็นฐานข้อมูลการใช้ทรัพยากรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“จะเริ่มต้นจากคณะหรือส่วนงานให้เกิดเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ จากนั้นจะขยายสู่วิทยาเขตต่างๆ ทั้ง 6 วิทยาเขต เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ โดยเชื่อมโยงไปยังชุมชนรอบข้างและเครือข่ายความร่วมมือของมหาวิทยาลัย จนเกิดอีโคทาวน์ต่อไป เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด มีการพัฒนาแบบยั่งยืน เป้าที่ตั้งไว้คาดว่าจะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย 7–10% ภายในปี 2562”
สอดคล้องกับความเห็น “รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต” รองอธิการบดี ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มองว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่และหลายประเทศมีการคำนวณหาปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ ติดตามตรวจสอบและรายงานผลการปล่อย หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกตลอดจนพยายามที่จะหาแนวทางในการบริหารจัดการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ
“คาร์บอนฟุตพรินต์คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมการดำเนินงาน หรือจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปัจจุบันมีองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและทำการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization : CFO) นำข้อมูลการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรม ทั้งการผลิตและการบริการภายในองค์กร กำหนดแนวทางการบริหารจัดการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในองค์กรตัวเอง
มหาวิทยาลัยจึงจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนปี 2558-2562 โดยใช้กลยุทธ์ในการดำเนินงาน เพื่อการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์การส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ถัดมากลยุทธ์การส่งเสริมความเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ สุดท้ายกลยุทธ์การส่งเสริมให้เกิดพันธกิจสัมพันธ์กับชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นและเป็นแบบอย่างให้ชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ขับเคลื่อนสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้”