posttoday

หยุดสนับสนุน แผงลอยขวางทางเท้า

19 ธันวาคม 2558

ผ่านมาเกือบ 2 ปีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินหน้าทวงคืนทางเท้าจัดระเบียบร้านค้าหาบเร่แผงลอย

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ผ่านมาเกือบ 2 ปีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินหน้าทวงคืนทางเท้าจัดระเบียบร้านค้าหาบเร่แผงลอย โดยมีการดำเนินงานไปแล้วจำนวน 38 จุดใน 21 เขต ทำให้ทางเท้าหลายพื้นที่สำคัญอย่าง ตลาดโบ๊เบ๊ พาหุรัด ห้วยขวาง คลองถมถนนสีลม คลองโอ่งอ่าง (สะพานเหล็ก) และล่าสุดถนนท่าพระจันทร์ คือสถานที่สะสมปัญหาแผงลอยตั้งร้านกีดขวางมายาวนาน ได้รับการปรับโฉมใหม่ให้เป็นระเบียบ

ทั้งหมดถูกขับเคลื่อนจาก วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. และ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่จัดระเบียบและตั้งเป้ารณรงค์สร้างความเข้าใจกับกลุ่มผู้ค้าถึงเหตุผลของการทวงคืนทางเท้าเพื่อทำให้ กทม.มีความสะอาดเป็นหน้าตาในยามที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยี่ยมชม

พร้อมทั้งประสานงานสถานที่เช่าแผงค้าแห่งใหม่ให้ผู้ค้าขยับขยายย้ายเข้าไป แม้บางแห่งจะมีการต่อต้าน ด้วยเหตุผลเรื่องของความยากจนที่ต้องหาเลี้ยงครอบครัว หรือกลัวย้ายไปแล้วลูกค้าหาย กลัวขายไม่ได้ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว แม้กระทั่งเหตุผลที่ว่าตั้งร้านค้าขายบริเวณนี้มานานแล้ว ทำให้ถนนบางแห่งยังคงมีผู้ค้าแผงลอยฉวยโอกาสละเมิดกฎหมายให้เห็นบ้างประปราย แต่ในขณะเดียวกันเสียงตอบรับส่วนใหญ่ของประชาชนคนกรุงเทพฯ แสดงความชื่นชมการทำงาน และคาดหวังว่าการจัดระเบียบครั้งนี้จะเป็นไปอย่างถาวร

หยุดสนับสนุน แผงลอยขวางทางเท้า

 

ด้านหนึ่งทางเว็บไซต์ www.change.org มีการตั้งแคมเปญรณรงค์เรียกร้องให้ “หยุดสนับสนุนร้านค้าทางเท้าที ผิดกฎหมาย” มีผู้ร่วมลงชื่อให้การสนับสนุนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนประเด็นปัญหาไปยังร้านอาหารริมทาง หรือ Street Food ที่ถูกมองว่าเป็นเสน่ห์ของเมือง ทว่าตั้งอยู่บนการกระทำที่ผิดกฎหมาย นอกเหนือจุดผ่อนผันที่กำหนดไว้ ก่อให้เกิดปัญหาสัญจรลำบากเพราะทางเท้าแคบ ถัดมาคือ กทม.ต้องเสียงบประมาณในการทำความสะอาดขยะที่ถูกทิ้งสกปรกเกลื่อนกลาดริมถนน และสุดท้ายทางเท้าสาธารณะกลายเป็นพื้นที่เก็บผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม

สำหรับความเคลื่อนไหวในสังคมโซเชียล ได้มีการตั้งเพจ“กลุ่มคนไทย ไม่เอาหาบเร่ แผงลอย” โดยมีผู้ร่วมสนับสนุนกดไลค์แล้วจำนวนกว่า 1.3 หมื่นคน เป็นความพยายามรณรงค์เคลื่อนไหวต่อต้านจากคนกรุงเทพฯ ที่ไม่ยอมให้ใครมากีดขวางทางเท้าอีกต่อไป ด้วยการถ่ายภาพการกระทำที่ลิดรอนสิทธิของผู้อื่น พร้อมทั้งระบุตำแหน่งสถานที่โพสต์ประกาศถามหาผู้มีอำนาจหน้าที่จะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งปรากฏการณ์นี้เคยได้รับการชี้แจงจากผู้อำนวยการเขตที่ถูกนำรูปมาลงประกาศในทันทีถึงข้อเท็จจริงที่ได้จัดระเบียบทางเท้าแล้ว ด้วยการเจรจาจนได้ข้อสรุปร่วมกันกับผู้ค้าให้กำหนดเวลาตั้งร้านขายของอย่างเหมาะสม 

แอดมินกลุ่มคนไทยไม่เอาหาบเร่ฯ ระบุว่า สาเหตุที่ กทม.ไร้ระเบียบ เกิดจากปัญหา 3 ประการ เริ่มที่ 1.นิสัยของคนใน กทม.มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องช่วงชิงอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงเข้านอน ไม่ว่าจะเป็นการช่วงชิงการเดินทางบนท้องถนนที่การจราจรติดขัดแสนสาหัส เพื่อทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองไปถึงที่หมายเร็วที่สุด หรือทำอย่างไรให้ตัวเองได้รับความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการมากที่สุด คนจึงละเลยความละเอียดลออในการดำเนินชีวิต สะดวกซื้อ สะดวกกินและทิ้งได้ในทันที เป็นเหตุให้ธุรกิจหาบเร่แผงลอยได้รับความนิยมอย่างแข็งแกร่ง เพราะตอบสนองการใช้ชีวิต

หยุดสนับสนุน แผงลอยขวางทางเท้า

 

2.การอพยพเข้ามาของคนต่างถิ่น ทำให้ กทม.ที่มีประชากรตามทะเบียนราษฎรราว 5.6 ล้านคน แต่จำนวนประชากรแท้จริงที่อาศัยอยู่ในเมืองมีมากกว่า 12 ล้านคน หมายความว่าประชากรประมาณ 7 ล้านคน คือประชากรแฝง เดินทางเข้ามาจากต่างจังหวัดและจากประเทศเพื่อนบ้านมาอยู่อาศัย และทำมาหากินในเมืองหลวงแห่งนี้ ซึ่งเป็นแรงงานในระบบ เช่น ข้าราชการ พนักงานบริษัท รวมทั้งแรงงานนอกระบบอย่าง เจ้าของธุรกิจส่วนตัว รวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยด้วย จะเห็นได้ว่า เจ้าของแผงลอยเดี๋ยวนี้มีหลากหลายประเภท แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนต่างด้าวเป็นเจ้าของแผงค้ารถเข็นจำนวนมากเทียบเท่ากับคนไทย ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนต่างถิ่น ฉะนั้นความรัก ความหวงแหนในบ้านเมืองของตัวเองจึงต่ำ คิดจะขายตรงไหนก็ขาย จะทิ้งตรงไหนก็ทิ้ง ไม่สนใจว่าเป็นระเบียบหรือสร้างความสกปรก เพราะที่นี่ไม่ใช่บ้านเกิดของตัวเอง

 3.เจ้าหน้าที่ไม่เข้มงวด คือปัญหาโลกแตกของประเทศไทย เกิดขึ้นเพราะความหย่อนยานของการบังคับใช้กฎหมายไม่มีความเข้มงวดกวดขันอย่างที่ควรกระทำ มาพร้อมการอลุ่มอล่วยจนกลายเป็นวัฒนธรรม ทำให้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ ซ้ำร้ายเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานมีประพฤติตัวมิชอบด้วยกฎหมายเสียเอง เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ค้า เพื่อแลกกับการตั้งแผงค้า ครั้งจะจัดการเข้มงวดกับผู้ค้าเหล่านี้ ก็ทำไม่ได้เพราะกระทบเงินใต้โต๊ะที่ส่งผ่านมาเป็นท่อน้ำเลี้ยงอย่างดีให้กับเจ้าหน้าที่รัฐแตกแถว

ดังนั้น ปัญหาการจัดระเบียบจึงวนอยู่ในอ่าง แก้ไม่เสร็จสิ้นเพราะเจ้าหน้าที่ไม่ทำตามหน้าที่ของตัวเองให้สมกับเงินเดือนจากภาษีของประชาชน และความไม่เด็ดขาดของผู้บังคับบัญชาระดับสูง ที่ควรเอาผิดกับผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอย่างจริงจัง

นับได้ว่ายุคสมัยนี้เป็นยุคที่ผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบไม่อาจนิ่งนอนใจได้อีกแล้ว ไม่อย่างนั้นสังคมโซเชียลคนเมืองจะเดินหน้าตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทั้งยังไม่ยอมให้ใครเข้ามาลิดรอนสิทธิของผู้อื่นในการใช้ทางเท้าได้อีกต่อไป