ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เยียวยาใจ ด้วยการเคลื่อนไหวท่าร่าง
หากพูดถึงการบำบัดจิตก็มีอยู่หลากหลายแขนงแตกต่างกันไป แต่ในประเทศไทยถ้ากล่าวถึงศาสตร์บำบัดจิตที่รักษาคนไข้โดยวิธีการเคลื่อนไหวร่างกาย
โดย...อณุสรา ทองอุไร-วนิชชา ตาลสถิตย์ ภาพ... วิศิษฐ์ แถมเงิน
หากพูดถึงการบำบัดจิตก็มีอยู่หลากหลายแขนงแตกต่างกันไป แต่ในประเทศไทยถ้ากล่าวถึงศาสตร์บำบัดจิตที่รักษาคนไข้โดยวิธีการเคลื่อนไหวร่างกาย ยังไม่เป็นที่รู้จักกันเท่าไหร่นัก เพราะเป็นศาสตร์ใหม่ และมีน้อยคนที่จะศึกษาเกี่ยวกับศาสตร์นี้โดยตรง ประเทศไทยมีอยู่เพียงหนึ่งเดียว คือ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดจิตด้วยการเคลื่อนไหว (Dance Movement Psychotherapist) ที่จบการศึกษาด้านศาสตร์นี้มาโดยตรง
เธอจบปริญญาตรีจากคณะวารสารศาสตร์ เอกสาขาวิทยุและโทรทัศน์ วิชาโทด้านจิตวิทยา เมื่อเรียนจบได้เข้าร่วมงานกับกลุ่มละครเวทีบีฟลอร์เธียเตอร์อยู่ 4 ปี เป็นพิธีกรรายการท่องเที่ยวของยูบีซีบ้าง หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อปริญญาโทด้านแดนซ์ มูฟเมนต์ ไซโคเทอราปี ด้านบำบัดจิตด้วยศิลปะเคลื่อนไหว ที่ Goldsmiths University of London และฝึกงานที่อังกฤษอยู่ 2 ปีกว่า
จบกลับมาทำงานด้านศิลปะอยู่เกือบปี แล้วก็ไปร่วมทำงานกับทีมจิตแพทย์ที่มีรักคลินิก (สำหรับเด็กและวัยรุ่น) และเป็นอาจารย์พิเศษสอนนักศึกษาระดับปริญญาโท ภาคการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนการละครประยุกต์ เพื่อให้นักศึกษาเอาศาสตร์ด้านเธียเตอร์ไปประยุกต์ใช้ คือความเชี่ยวชาญส่วนใหญ่จะเชี่ยวชาญเกี่ยวกับบอดี้มูฟเมนต์ ซึ่งละครเวทีไม่ได้ใช้ภาษาพูดอย่างเดียว คือใช้ภาษาร่างกายเพื่อการสื่อสารในงานศิลปะ
ปัจจุบันเธอทำงานประจำ เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสาร บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จะคอยดูแลเรื่องการสื่อสารของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อจัดการด้านคุณภาพความปลอดภัยของผู้เข้ารับบริการ เพื่อลดความเสี่ยงในการรับบริการ หลักๆ ก็คือจะทำในเชิงป้องกัน คือสร้างการสื่อสารเพื่อให้มันสมบูรณ์ ออกแบบวิธีการให้การบริการที่สามารถประคับประคองไปได้ คือเข้าใจคนไข้ด้วย จะทำงานเชิงป้องกันมากกว่า ทักษะการสื่อสารเพื่อแสดงความเห็นใจ การเจรจาเพื่อไม่ให้มันดูแห้งแล้ง การที่จะใส่ใจในเรื่องของภาษาร่างกาย ภาษาพูด น้ำเสียง
“หลายคนไปหานักจิตบำบัด ไปนั่งพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหา แต่สิ่งที่เราเรียนคือการวิเคราะห์ภาษาร่างกาย ที่จริงร่างกายของเราก็พูดคุยอยู่ สามารถสื่อสารได้ เราเทรนมาพิเศษให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาร่างกายแล้วก็มูฟเมนต์กับทุกคนที่ไม่ใช่คำพูดเพราะตลอดเวลาก็สื่อสารอยู่ อย่างเช่น ถ้าคุณเป็นคุณหมอ คุณจะใช้น้ำเสียงกับเขาอย่างไร
น้ำเสียงก็คือภาษาร่างกาย บางคนก็เสียงดุดัน เราก็ต้องสอนให้เขาตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้มีผลต่ออีกฝั่งหนึ่งนะ เพราะมันคือการสื่อสาร บางคนเจตนาดีมาก หมอทำงานเต็มที่แต่เป็นคนที่พูดห้วนๆ สั้นๆ พูดน้อย แต่คนไข้เขาไม่รู้จักคุณหมอจริงๆ เขาก็จะตีความจากที่เขาได้ยิน แต่กับคนที่เขาป่วยมา เขาอาจจะต้องการการประคับประคองมากกว่านี้ คือในห้องของการทำจิตบำบัดที่เราถูกเทรนมา มันถูกทำให้ใส่ใจกับภาษาร่างกาย ภาษาพูด ทุกอย่างมันคือการสื่อสารหมด ทำให้เกิดทักษะการเลือกหาคำพูดที่มันสะท้อนสิ่งที่อยู่ตรงนี้และประคับประคองใจเขาไปด้วย”
ทุกสาขาอาชีพย่อมมีความยากง่ายและปัญหาหลากชนิดแตกต่างกันไป ศาสตร์บำบัดจิตด้วยการเคลื่อนไหวก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน เธอเล่าให้ฟังว่า ในปัจจุบันหากคนไข้มีอาการเครียดก็สามารถรับประทานยาคลายเครียดได้ แต่ไม่สามารถที่จะพึ่งยาไปได้ตลอด
ดังนั้น คนไข้ที่มีอาการแต่ละอย่างบางทีเจอแพทย์แล้วอาจจะต้องเจอนักจิตบำบัดร่วมด้วยเพื่อที่จะปรับแพตเทิร์นการใช้ชีวิต ก็จะมีกระบวนการบางอย่างคือจะใช้ศิลปะการเคลื่อนไหว
“ก็จะให้เขาลองทำสิ่งต่างๆ ลองเคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่างๆ ดู โดยเริ่มจากภาษาร่างกายก่อน เพราะบางทีมันไม่ง่ายที่จะให้คนเปลี่ยนทัศนคติ แล้วทัศนคติมันจับต้องไม่ได้ เราอาจจะเริ่มจากภาษาร่างกายของเขาก่อน และไม่มีใครที่รักษาครั้งเดียวแล้วหายเพียงแต่ทำระยะยาว
เราจะทำอย่างอ่อนโยนเพราะพูดถึงแพตเทิร์นการเคลื่อนไหวของแต่ละคนมันเรื่องใหญ่มากเลย เพราะเขาอยู่แบบนั้นมานาน แล้วเราไม่ได้ตั้งใจจะเปลี่ยนใคร ถ้าเขาไม่พร้อมหรือเขาไม่อยากเรียน ก็จะไม่บังคับ เราจะไม่พยายามเปลี่ยนเขา แต่เราจะสร้างความตระหนักรู้ให้กับเขาก่อนว่า ทำไมเราถึงมาเจอกัน รู้ไหมว่าคนรอบข้างเป็นห่วง คุณคิดว่าอย่างไร?
ในห้องบำบัดมันจะมีกฎว่า เราจะไม่บอกให้ใครทำอะไร เราจะให้เขาคิดเองจากกระบวนการที่เรามอบให้ ไม่ให้เขาหลุดนอกกรอบไป จะไม่ตัดสินอะไรถูกอะไรผิด บางครั้งคุณไปทำอะไรที่สังคมชี้วัดว่าสิ่งนั้นผิด ในห้องบำบัดจะไม่มีแบบนี้ เช่น วันนั้นคุณขว้างจานออกนอกโต๊ะ เราก็ถามเขาว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณเป็นแบบนั้น หรืออาจจะอะไรคือสิ่งที่คนที่บ้านเป็นห่วงคุณขนาดนี้ ถ้าเขาไม่พูด เราก็จะรอแล้วอ่านภาษากาย อ่านการเคลื่อนไหวของเขา
การที่ไม่อยากพูดไม่ได้แปลว่าเขาไม่ได้สื่อสาร คนที่แบกความรู้สึกบางอย่างมาแล้วต้องมาเล่าให้คนที่เพิ่งมาเจอกัน ต้องทำให้เขาไว้วางใจก่อน การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันมาถึงก็ต้องแนะนำตัวก่อนเราเป็นใคร ชื่ออะไร บางทีคนไข้เป็นคนที่เร็วๆ ตรงๆ บางทีมีคนไข้ที่ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปจากประสบการณ์ที่ทำกับเด็กและวัยรุ่น คือพ่อแม่ไม่ยอมรับว่าตนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหานี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องมาเป็นส่วนหนึ่งในทีม ถ้าจะให้เอาลูกมาฝากไว้กับเรา แล้วเราจะลิงค์กับเด็กได้อย่างไร ปัญหาของเด็กไทยคือมักเชื่อว่าตัวเองดีไม่พอ ต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือนแรกทำให้คิดว่าเขาสำคัญในห้องนี้
คนไทยกลัวผิดเยอะมาก กลัวทำแล้วมันไม่ใช่ ชอบให้บอกแบบที่ถูกมาเลยได้ไหม เพราะชินกับการถูกสั่งมาตลอด สังคมจะวัดประเมินอยู่ตลอดเวลา อันไหนถูกอันไหนดี อันไหนควรไม่ควร อันไหนไม่ดีก็ปิดมันไว้ เราก็จะอยู่ในแต่กับส่วนที่มันดี ก็ต้องให้พื้นที่กับมันบ้าง มองมันอย่างเป็นมิตรสักนิด ใครจะดีไปทุกอย่างมันก็ไม่ใช่ ในสังคมสิ่งเหล่านี้พูดไม่ได้ แต่ในห้องบำบัดพูดถึงมันได้ กว่าเขาจะเล่าก็นานมาก”
หากเกิดสภาวะทางอารมณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ หรือเกิดความเครียด แต่ไม่สามารถที่จะเข้าพบนักวิชาชีพโดยตรง เธอก็แนะนำวิธีง่ายๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้านให้ได้ฝึกปฏิบัติกันได้ โดยเอาหลักการที่มีในห้องจิตบำบัดมาใช้กับตัวเองก่อน เช่น ไม่ตัดสินกับตัวเองว่าอะไรถูกอะไรผิด เวลาที่ทำลงไป รู้ว่ามันเป็นมารยาททางสังคม แต่อะไรที่ขับเคลื่อนตัวเองที่ทำอย่างนั้น มันต้องทบทวนตัวเอง
เราสามารถเป็นผู้ฟังที่ดีให้กับคนรอบข้างได้ ไม่ต้องตัดสินเขาแค่รับฟังเขาจากใจจริง ห้ามนำเรื่องของคนหนึ่งไปเล่าให้อีกคนหนึ่งฟัง เพราะการที่เขาเล่าให้คุณฟังเพราะเขาไว้ใจคุณ แต่ถ้าคุณนำเรื่องไปเล่าต่อคือการทำร้ายคนซ้ำ เรารับฟังโดยที่เรื่องของเขายังเป็นเรื่องเขา อย่าตัดสินให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อเรียนรู้พลังเยียวยาแห่งตน เมื่อนั้นสังคมเองก็อาจได้รับการเยียวยาด้วยเช่นกัน