posttoday

Bilbao Effect เปลี่ยนความฝันเป็นความจริง

21 เมษายน 2559

ครั้งหนึ่งเมืองท่าบิลเบาเป็นเขตอุตสาหกรรมหนักอันดับ 2 ของสเปน ผู้คนใช้ชีวิตท่ามกลางความแออัดและมลพิษ

โดย...ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ครั้งหนึ่งเมืองท่าบิลเบาเป็นเขตอุตสาหกรรมหนักอันดับ 2 ของสเปน ผู้คนใช้ชีวิตท่ามกลางความแออัดและมลพิษ เป็นกังวลต่อเศรษฐกิจและโรงงานที่ทยอยปิดตัวเพราะไม่สามารถสู้สินค้าที่ใช้ฐานการผลิตในเอเชียได้ จวบจนถึงเวลาตัดสินใจ เป็นไปได้ไหมที่เราจะเปลี่ยนโฉมเมืองโดยสิ้นเชิง เก็บอุตสาหกรรมที่พอเหลือไว้แต่ไปฝากความหวังใหม่กับการท่องเที่ยว ไม่ใช่เที่ยวทั่วไปแต่เป็นกลุ่มเฉพาะที่มีรายจ่ายสูง

เมืองไหนก็อยากให้มีการท่องเที่ยวประเภทนั้น เมืองไหนก็อยากมีสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ผู้อาศัยและผู้มาเยือนมีความสุข ใครก็คิดเริ่มต้นที่โรงงานกำจัดขยะ-น้ำเสีย พยายามประชาสัมพันธ์ให้คนมาเที่ยว แต่วิธีการนั้น...มันเก่าไปหรือเปล่า?

ผู้นำและชุมชนเมืองบิลเบาต่างรวมหัวประชุม ก่อนได้ไอเดียแปลกใหม่ สิ่งสำคัญสุดไม่ใช่จัดการกับปัญหา แต่คือการจัดการกับความเชื่อของคน เปลี่ยนความเศร้าหมองและมองไม่เห็นทางออกให้มีความหวังและแรงบันดาลใจ หากคุณทำตรงนั้นได้ อย่างอื่นเป็นไปได้เสมอ แต่อะไรล่ะคือจุดเปลี่ยน

เมืองบิลเบาจึงติดต่อมูลนิธิพิพิธภัณฑ์ระดับโลก เพื่อขอสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ไม่เหมือนที่ไหน เป็นสัญลักษณ์แห่งยุคของความเปลี่ยนแปลง เฉกเช่นเดียวกับการสร้างหอไอเฟลในปารีสหรือหอคอยในกรุงโตเกียว แต่ครั้งนี้เป็นงานของยุคใหม่ และในที่สุด Guggenheim Museum Bilbao ก็สำเร็จเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1997 กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่ได้รับการยกย่องจากสถาปนิกทั่วโลกตลอดมา แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทำให้คนบิลเบาเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้

การวางผังเมืองใหม่เริ่มต้น หากเราเวนคืนพื้นที่ได้ เหตุใดเราต้องสร้างถนนให้รถยนต์วิ่งเพียงอย่างเดียว พื้นที่ยาวเหยียดริมแม่น้ำถูกปรับปรุงให้เป็น Green Belt ตัดผ่านเมือง เปิดพื้นที่ให้คนเดิน ให้สวนสาธารณะ ให้สนามเด็กเล่น ให้สะพานคนเดินข้ามแม่น้ำ ให้รถโมโนเรลวิ่งบนสนามหญ้า ให้เลนจักรยาน สุดท้ายจึงเป็นถนนสำหรับรถเมล์วิ่งผ่านไปมา

การกระทำดังกล่าวทำให้บิลเบาไม่เหมือนเมืองไหนในสเปน กลายเป็นเมืองที่ใครก็อยากมาอยู่ อยากมาเที่ยว อยากมาประชุมทำงานระหว่างมองออกไปนอกหน้าต่างแล้วเห็นพิพิธภัณฑ์โลกระบือและสีเขียวของแมกไม้ใจกลางเมือง เมื่อเสร็จสิ้นจากงาน เราลงไปเดินริมแม่น้ำดูผู้คนเตร็ดเตร่ เข้าพิพิธภัณฑ์ดูศิลปะแนวใหม่ ยืนแอ็กท่าถ่ายภาพกับ Puppy หมายักษ์ตัวแรกของโลกที่สร้างจากดอกไม้สดจึงอ้วนพีขึ้นทุกวัน

ทั้งหมดนั้นเป็นอะไรที่ต้องลงทุน แต่เมื่อผู้คนเชื่อว่าเป็นไปได้ มันก็เป็นไปได้ และนั่นคือปรากฏการณ์ Bilbao Effect หนึ่งพิพิธภัณฑ์เปลี่ยนทั้งเมืองในเวลาไม่ถึง 20 ปี กลายเป็นที่พูดถึงในแนวคิดที่สามารถทำให้เกิดเป็นจริง

ผมเลือกบิลเบามาเล่าให้คุณฟังในวันนี้ เพราะสเปนไม่ใช่ญี่ปุ่นหรือเยอรมัน เรารู้สึกว่าคนสเปนไม่ได้ต่างจากคนไทยมากมายนัก ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมก็ใกล้เคียงกัน แต่สเปนกลับสามารถสร้างปรากฏการณ์ “เปลี่ยน” แม้จะเป็นแค่เมืองเดียว แต่นั่นคือความหวังที่จะต่อยอดออกไป การเปลี่ยนไม่ได้สำเร็จใน 5-10 ปี มันต้องใช้เวลานานกว่านั้น แต่ทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มที่มองเห็นได้เพื่อให้คนเชื่อ และมีการขยับไปข้างหน้าเพื่อเติมความหวังให้คนไปเรื่อยๆ

ประเทศเรากำลังอยู่ในยุคปฏิรูป แต่บอกตามตรง ผมยังไม่เห็นจุดเริ่มที่เป็นรูปธรรม รัฐธรรมนูญ กฎหมาย กฎระเบียบ ฯลฯ เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่มันไม่สามารถจับต้องและทำให้ผู้คนในโลกวัตถุนิยมเข้าใจได้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมก็เป็นอีกส่วน แต่นั่นคือไปต่อมิใช่ “เปลี่ยน” ผมเคยคาดหวังกับสวนมักกะสัน เคยฝันถึงพื้นที่สาธารณะริมเจ้าพระยาและคลองแสนแสบ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีอะไรจับต้องได้และยังไม่เป็นที่ร่วมแรงร่วมใจไปด้วยกัน

บิลเบาแสดงให้เห็นว่า เมืองสามารถเปลี่ยนได้ในโลกแห่งความเป็นจริง และการลงทุนเพื่อพื้นที่สาธารณะ หากทำอย่างชาญฉลาดและไม่ยึดติดกรอบเดิม เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าทำให้เศรษฐกิจของเมืองดีขึ้นและเปิดโฉมใหม่สู่อนาคต ผมจึงนำ Bilbao Effect มาเป็นตัวอย่างและอยากบอกว่า หากให้เลือกสักเมืองในยุโรปเพื่อเป็นต้นแบบการ “เปลี่ยน” นี่แหละคือเป้าหมายที่เราควรจะเรียนรู้ครับ