posttoday

ส้วมไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก!?!

03 พฤษภาคม 2559

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ในระยะที่ 3 พ.ศ. 2556–2559

โดย...พริบพันดาว ภาพ... คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ในระยะที่ 3 พ.ศ. 2556–2559 โดยมีสาระสำคัญ คือ เพื่อพัฒนาส้วมครัวเรือนให้เหมาะสมในการรองรับต่อการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ ป้องกันโรคข้อเสื่อม เพื่อให้ประเทศมีส้วมสาธารณะได้มาตรฐาน สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะ ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล และเป้าหมายสำคัญ คือให้ครัวเรือนไทยใช้ส้วมแบบส้วมนั่งราบหรือชักโครกร้อยละ 90 สถานบริการสาธารณะและสถานที่สาธารณะมีบริการส้วมนั่งราบอย่างน้อย 1 ที่ ประเทศไทยมีส้วมสาธารณะที่สะอาด เพียงพอ ปลอดภัยร้อยละ 90 ของกลุ่มเป้าหมาย คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะถูกสุขลักษณะ ร้อยละ 90 ของผู้ใช้บริการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาลร้อยละ 50

โดยกลุ่มเป้าหมายส้วมครัวเรือนและส้วมสาธารณะ ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายอาหาร ตลาดสด สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ ศาสนสถาน ส้วมสาธารณะ ริมทาง และห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า/ดิสเคาน์สโตร์ ซึ่งในแผนแม่บทนี้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องทำให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดในปี 2559 ก็คือปีนี้ พร้อมกับข่าวลือว่ารัฐบาลจะบังคับให้ยกเลิกการใช้ส้วมนั่งราบหรือส้วมซึม โดยจะให้ทุกบ้านทุกสถานที่ใช้ส้วมสาธารณะแทน จนมีการนำไปโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งต่อมาอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก็ออกมาชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง

เมื่อพูดถึงเรื่องส้วม มาติดตามกันว่าส้วมไทยพัฒนาไกลไปถึงไหนกันแล้ว

ส้วมไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก!?!

ส้วมไทยไฉไลตามยุค

ย้อนอดีตกลับไปดูพัฒนาการของส้วมไทย หากจะดูกันในเรื่องของส้วมสมัยใหม่ก็ต้องใช้หมุดหมายในปี 2440 ที่รัฐได้ออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) มีผลบังคับให้คนไทยต้องขับถ่ายในส้วม กระทั่งช่วงปี 2460-2471 ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุขจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลเอกชนของสหรัฐอเมริกา โดยส่งเสริมให้มีการสร้างส้วมในจังหวัดต่างๆ และยังเกิดการประดิษฐ์คิดค้นส้วมรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของไทย เช่น “ส้วมหลุมบุญสะอาด” ที่มีกลไกป้องกันปัญหาการลืมปิดฝาหลุมถ่ายและส้วมคอห่านที่ใช้ร่วมกับระบบบ่อเกรอะบ่อซึม ต่อมาเริ่มมีผู้ใช้ส้วมชักโครกมากขึ้นในช่วงที่มีการก่อสร้างบ้านแบบสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งปี 2500 โถส้วมชนิดนี้ก็ได้รับความนิยม มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในปัจจุบัน

ในปี 2548 ทางกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาส้วมสาธารณะไทย โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายหลัก 11 ประเภท อาทิ สถานที่ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล ศาสนสถาน สวนสาธารณะ สถานีบริการน้ำมัน ตลาดสด ฯลฯ ด้วยการวางกรอบการพัฒนาไว้ 3 ประเด็น คือ สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน หรือมีคำย่อว่า “HAS” ซึ่งมาจากคำว่า Healty Accessibility และ Safety ต่อมาในปี 2549 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพงานประชุมส้วมโลก 2006 หรือ World Toilet Expo & Forum 2006 โดยจะมีผู้แทนจาก 19 ประเทศ อาทิ สหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนามเข้าร่วม ซึ่งเป็นงานที่มีการอภิปรายหาแนวทางการแก้ปัญหาเรื่อง “การพัฒนาส้วมสาธารณะ” รวมถึงมีการจัดนิทรรศการแสดงส้วมไทย และส้วมแปลกๆ ที่มีความสร้างสรรค์ใหม่ๆ งานครั้งนั้นยังเป็นการสร้างความตระหนักให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง หันมาดูแลส้วมสาธารณะให้ดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญในการพัฒนาส้วมสาธารณะ และมีโครงการหลายโครงการเกี่ยวกับส้วมสาธารณะอีกหลายโครงการ

ว่าไปแล้วประเทศไทยได้ใช้มาตรการหลายอย่าง รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายซึ่งมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับส้วม ปรากฏอยู่ในกฎหมายหลายฉบับที่เริ่มมีการออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับแรกเกี่ยวกับการสุขาภิบาลของคนกรุงเทพฯ และต่อมาได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รวมถึงกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา พ.ศ. 2548

ส้วมไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก!?!

กฎหมายฉบับล่าสุด คือ พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556 โดยมาตรา 3 ระบุว่า ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก.792-2554 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4380 (พ.ศ. 2554) โดยมีหมายเหตุว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันและอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอนามัยของประชาชนได้ หากมีคุณภาพต่ำ จึงจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดแก่ประชาชน

ส่วนรางวัลที่เกี่ยวกับส้วมที่รู้จักกันดีที่สุดก็คือ สุดยอดส้วมแห่งปีของ กทม. ซึ่งปีนี้จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 เข้าไปแล้ว เพื่อเชิดชูเกียรติในความมุ่งมั่นพัฒนาส้วมให้ได้มาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศ (HAS) ที่ต้องสะอาด ปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อต่างๆ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

การประกวดครั้งนี้ กทม. เน้นกลุ่มเป้าหมายในสถานที่สาธารณะ 12 กลุ่ม ได้แก่ ศาสนสถาน สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ตลาดสด ร้านอาหาร โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า สถานที่ราชการ แหล่งท่องเที่ยว สวนสาธารณะ สถานศึกษา สถานีขนส่ง และส้วมริมทาง มีผู้ส่งส้วมสาธารณะเข้าร่วมประกวด 84 แห่ง ตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 17 คน พิจารณาจากความสะอาด ความพอเพียง ความปลอดภัย การประหยัดพลังงาน ความสวยงาม การใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรและสารชีวภาพ การบำบัดและนำสิ่งปฏิกูลไปใช้ประโยชน์และการเป็นแหล่งเรียนรู้

สำหรับ 16 แห่ง ที่คว้ารางวัล ”สุดยอดส้วม” ในกรุงเทพฯ ปีนี้ ประกอบด้วย 1.กลุ่มสถานที่ราชการ ประเภทอำเภอ ได้แก่ สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ ประเภททั่วไป กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

ส้วมไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก!?!

2.กลุ่มศาสนสถาน ประเภทวัด วัดเทพลีลา เขตบางกะปิ ประเภทมัสยิด มัสยิดบางอุทิศ เขตบางคอแหลม

3.กลุ่มสถานศึกษา ประเภทประถมศึกษา โรงเรียนวัดจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ ประเภทอุดมศึกษา วิทยาลัยดุสิตธานี เขตประเวศ

4.กลุ่มร้านอาหาร ร้านอาหาร London Street เขตสวนหลวง

5.กลุ่มสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง บริษัท เพชรสุวรรณ พลังงาน  เขตลาดกระบัง

6. กลุ่มห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนบางแค เขตภาษีเจริญ

7.กลุ่มตลาดสด ตลาด FOOD VILLA เขตตลิ่งชัน

8.กลุ่มสวนสาธารณะ สวนวชิรเบญจทัศ เขตจตุจักร

9.กลุ่มแหล่งท่องเที่ยว ประเภทเอกชน โครงการป่าในกรุง ปตท. เขตประเวศ ประเภทรัฐบาล พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เขตบางกอกน้อย

10.กลุ่มโรงพยาบาล ประเภทเอกชน โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล เขตหนองแขม ประเภทรัฐบาล โรงพยาบาลกลาง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

11.กลุ่มสถานีขนส่ง สถานีรถไฟวัดสิงห์ เขตจอมทอง

ในส่วนของส้วมริมทางไม่มีผู้ส่งเข้าประกวด ซึ่ง กทม.จะส่งผู้ได้รับรางวัลทั้งหมดเข้าร่วมการแข่งขันส้วมแห่งปีระดับประเทศต่อไป

สะอาดและปลอดภัยต้องเป็นหัวใจหลักของส้วม

หากพูดถึงเรื่องส้วม ทุกคนก็ต้องไปเปิดวิทยานิพนธ์หัวข้อ ประวัติศาสตร์สังคม-ว่าด้วยส้วม และเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย เมื่อปี 2548 ของนักศึกษาระดับปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

มนฤทัย ไชยวิเศษ ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านส้วมของไทยในเชิงประวัติศาสตร์สังคม ชี้ว่าภาพรวมของส้วมไทยมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องสุขอนามัยหรือความสะอาด

ส้วมไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก!?!

“สมัยก่อนการมองส้วมก็จะมองในเรื่องของประโยชน์ใช้สอย เพราะคนสมัยก่อนของไทยนิยมนั่งทุ่ง เพราะฉะนั้นจึงต้องออกพระราชกำหนดให้มีส้วม ออกกฎหมายบังคับจัดการให้ครัวเรือนต้องมีส้วม การจัดการเรื่องส้วมในเมืองไทยประสบความสำเร็จเพราะกฎหมายหรือไม่ คงไม่ใช่ส่วนเดียว ต้องประกอบด้วยส่วนอื่นด้วย สมมติมีพระราชกำหนดหรือกฎหมายบอกว่าต้องทำส้วมชักโครก ถ้าคนในสังคมเห็นพ้องว่ามีประโยชน์เขาก็ทำ แต่ถ้าเขาเห็นว่ามันไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของเขา ก็จะเกิดการต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยขึ้นมา”

จากในอดีตที่มีการบังคับโดยกฎหมายให้คนมีส้วมและเข้าส้วม ไม่ให้ไปนั่งทุ่งหรือถ่ายทุกข์ตามที่สาธารณะ ซึ่งเกิดจากการจัดการโดยรัฐหรือส่วนกลาง ปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา มนฤทัย บอกว่า ส้วมกลายเป็นความจำเป็นของคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือสถานที่สาธารณะ

“ว่าไปแล้ว กฎหมายต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมหรือความต้องการของคนถึงจะได้ผล ไทยเองก็มีแผนแม่บทส้วมสาธารณะระยะที่ 3 เข้าไปแล้ว ถ้าเทียบกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน เราก็ต้องชื่นชมกับประเทศไทยในข้อนี้นะ หากวัดกันในระดับอาเซียนแล้ว การจัดการส้วมสาธารณะของเราค่อนข้างดี ประเด็นหลักเรื่องส้วมต้องเน้นเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยเป็นหลัก ไม่ใช่ประเด็นเรื่องนั่งราบส้วมซึมหรือนั่งชักโครก ในบางที่เป็นแบบนั่งราบก็ยังดูปลอดภัยกว่าแบบชักโครก เพราะบางทีคนขึ้นไปเหยียบทำให้ไม่ปลอดภัย”

มนฤทัย เน้นถึงกฎเหล็กของส้วมว่าต้องมีมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย มีแสงสว่างเพียงพอไหม มีการป้องกันการลื่น

ส้วมไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก!?!

“มีราวให้จับสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการไหม น่าจะมาเน้นหนักส่วนนี้มากกว่าสำหรับบ้านเราก็ค่อนข้างก้าวหน้าในเรื่องของห้องน้ำของผู้พิการและคนชรา มีการจัดการที่ดีแม้ดีแล้วแต่ก็ต้องมีการใส่ใจเพิ่มขึ้น ทำอย่างไรที่เราจะต้องมีส้วมสาธารณะที่สะอาดและปลอดภัยสำหรับทุกคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งไม่ได้อยู่ที่การทุ่มงบประมาณที่สูงก็ได้ สอดคล้องกับความต้องการตอบสนองคนใช้ ถ้าคำนึงถึงผู้สูงอายุก็ต้องมุ่งตอบสนองวิถีชีวิตของเขา”

เรื่องส้วมเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน มนฤทัย ทิ้งท้ายว่า การเตรียมพร้อมของการเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ เห็นด้วยว่าห้องน้ำเป็นสิ่งสำคัญ

“รวมถึงเรื่องปริมาณ ความเพียงพอ ความเหมาะสมในสถานที่ต่างๆ จะมีการจัดบริการกันอย่างไร เพราะเรื่องส้วมถือว่าเป็นความสำเร็จของงานสาธารณสุข ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา การจัดการสาธารณสุขที่ประสบความสำเร็จเรื่องหนึ่งก็คือ การสร้างส้วม  ซึ่งต้องทำให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในสังคม”

ส้วมยอดเยี่ยมไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

เมื่อกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีการมอบรางวัลสุดยอดส้วมแห่งปีของ กทม. ประจำปี 2559 รวม 16 แห่ง เพื่อเชิดชูเกียรติในความมุ่งมั่นพัฒนาส้วมให้ได้มาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศ (HAS) ที่ต้องสะอาด ปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อต่างๆ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน การประกวดครั้งนี้ กทม. เน้นกลุ่มเป้าหมายในสถานที่สาธารณะ 12 กลุ่ม โดยในกลุ่มสถานีขนส่ง “สถานีรถไฟวัดสิงห์” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจอมทอง และเป็นขนส่งระบบรางที่เดินทางไปสู่มหาชัยและสมุทรสงคราม เป็นสถานีขนส่งที่ได้รับรางวัลสุดยอดส้วมแห่งปีของ กทม.

ส้วมไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก!?!

 

วิเชียร ตุลาทอง นายสถานีรถไฟวัดสิงห์ บอกว่า ไปรับรางวัลเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา เขาบอกว่า ห้องส้วมสาธารณะที่ดูแลอย่างสะอาดก็ถือเป็นการบริการของการรถไฟ

“นโยบายของการรถไฟไทยก็ต้องทำให้ห้องน้ำสะอาด เพราะเรื่องความสะอาดการรถไฟฯ ก็โดนมองในแง่ลบหลายๆ ด้าน อยากให้สมบัติส่วนรวมและห้องน้ำสาธารณะของการรถไฟมีความสะอาด จึงมีการจูงใจพนักงานให้มีส่วนร่วม โดยมีการเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือการทำความสะอาดอย่างครบครัน เพิ่มความถี่ในการดูแลรักษาความสะอาด ถ้าสกปรกก็จะต้องรีบทำเลย ช่วงเช้าสายบ่ายเย็น สภาพแวดล้อมก็เอาความเรียบร้อยสวยงามเป็นหลัก รวมถึงความสะดวกสบายของผู้ใช้บริการ ซึ่งพอเข้ามาใช้แล้วเขาก็บอกกันปากต่อปากว่าห้องน้ำของสถานีรถไฟที่นี่สะอาดมาก”

วิเชียร อธิบายว่า สถานีรถไฟ โดยแบ่งชั้นสถานีเป็นระดับ ตามปริมาณรายได้จากการโดยสาร จำนวนประชากรในชุมชน และความสำคัญในการเดินรถไฟ (เช่น เป็นที่ตั้งของแขวงเดินรถ เป็นต้น) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 ระดับ

“อย่างที่นี่จะเป็นชั้น 2 เราก็มีพี่เลี้ยงให้คำแนะนำก็คือหัวหน้าการเดินรถแขวง ผมก็นำมาเป็นแนวปฏิบัติหาอะไรเพิ่มเติม รวมถึงมีคำแนะนำจากทางเขตจอมทองด้วย เราใช้เงินงบประมาณจากการรถไฟล้วนๆ แต่นำมาบริหารจัดการให้เต็มประสิทธิภาพมีประสิทธิผลให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด ที่นี่ไม่ได้เปิดให้ประมูลเป็นห้องน้ำของสถานีรถไฟ แต่เป็นความร่วมมือร่วมใจของพนักงานการรถไฟด้วยกัน อาจจะไม่หวือหวาสวยงามแบบในห้าง สะอาดและไม่ขี้เหร่จนเกินไป เพียงแต่มีความใส่ใจ ผู้ใช้บริการก็ต้องช่วยกันดูแลด้วย ช่วยๆ กัน