ภัยจาก "ปลาซัคเกอร์"
เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat
เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat
เรื่องปลาซักเกอร์กำลังมาแรง มีนักข่าวขอสัมภาษณ์ ก็เลยนำมาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังไว้เป็นความรู้ครับ
Alien Species คือสัตว์ต่างถิ่นที่ถูกมนุษย์นำเข้ามาในพื้นที่ซึ่งไม่ใช่ธรรมชาติดั้งเดิม ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ
เอเลี่ยนสปีชีส์มีมานานหลายพันปี เช่น ชาวโรมันนำสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาเพื่อสู้กันในโคลอสเซี่ยม
เอเลี่ยนสปีชีส์มีมากขึ้นในช่วงที่ชาวยุโรปเริ่มสร้างอาณานิคม เช่น หมาดิงโก้ในออสเตรเลีย ฯลฯ
สัตว์ต่างถิ่นไม่จำเป็นต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ได้เสมอไป บางชนิดก็ไม่รอดในธรรมชาติ แต่บางชนิดอาจรอดและแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว
การขยายจำนวนเกิดจากอาหารในธรรมชาติมีมากหรือศัตรูในธรรมชาติมีน้อย
เหตุผลที่ผู้ล่าของเอเลี่ยนสปีชี่ส์มีน้อย เพราะสิ่งมีชีวิตจะวิวัฒนาการควบคู่กันมา มีเหยื่อ-มีผู้ล่า เป็นวงจรมาแสนนาน
เอเลี่ยนที่มาจากท้องถิ่นแห่งหนึ่ง มาอยู่ในพื้นที่ไม่เคยมีสัตว์ชนิดนั้นมาก่อน ทำให้ผู้ล่าในท้องถิ่นไม่สามารถล่าได้ เนื่องจากไม่เคยวิวัฒนาการมาเพื่อกินเหยื่อชนิดนั้นเล
เอเลี่ยนสปีชีส์บางครั้งอาจไม่ทำให้เกิดผลกระทบ หรือมีน้อยจนไม่สามารถบ่งชี้ได้ เช่น ปลาน้ำจืดบางชนิดที่นำมาเลี้ยงในทะเลสาบอเมริกาเพื่อเป็นกีฬาตกเบ็ด จึงไม่จำเป็นว่าเอเลี่ยนสปีชี่ส์ต้องก่อให้เกิดปัญหาเสมอไป
หากเอเลี่ยนสปีชี่ส์ทำให้เกิดผลกระทบ เราเรียกว่า Invasive Species
ผลกระทบอาจเกิดได้หลายแบบ แต่โดยทั่วไปแบ่งเป็น 3 ด้าน คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และผลกระทบต่อสุขภาพ
ผลกระทบอาจเกิดเพียงอย่างเดียว หรือเกิดทั้ง 3 ด้าน หรือเกิดผลมากในด้านใดด้านหนึ่ง
หอยเชอรี่อาจไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ส่งผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจ เพราะกินต้นกล้าข้าว
การจัดการกับ Invasive Species เป็นเรื่องยากมาก อาจใช้การเก็บเพื่อกำจัด สนับสนุนให้กิน ใช้สารเคมี (อาจเกิดอันตราย) หรือใช้ชีวภาพ ซึ่งเป็นเรื่องยากหากไม่มีผู้ล่าดั้งเดิม
ปลาซักเกอร์เป็นปลาน้ำจืดในอเมริกาใต้ ขนาดใหญ่สุดประมาณ 50 เซนติเมตร บางครั้งเรียก “ปลากดเกราะ” กินอาหารไม่เลือกโดยใช้วิธีดูด
คนไทยนำลูกปลาซักเกอร์มาดูดตะไคร่ในตู้ปลา ไม่ต่ำกว่า 35-40 ปี แต่ต่อมาเมื่อปลาตัวใหญ่มาก กินอาหารไม่พอ เริ่มไล่ดูดปลาอื่น คนเลี้ยงจึงปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ
เมื่อไม่มีผู้ล่าตามธรรมชาติ อีกทั้งแหล่งน้ำเมืองไทยมีอาหารสมบูรณ์ จึงเติบโตและแพร่พันธุ์เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นปลาอึด อยู่ในแทบทุกสภาพน้ำ จึงแพร่กระจายไปทั่ว
เริ่มมีการพูดถึงผลกระทบของปลาซักเกอร์ต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะการดูดกินไข่ปลาท้องถิ่นไทย ในหมู่นักวิชาการมากกว่า 20 ปี
ปลาซักเกอร์ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ บ่อปลาที่ชาวบ้านทำไว้เพื่อจับปลาตามธรรมชาติ กลับมีแต่ปลาซักเกอร์มากมายที่นำไปใช้ประโยชน์แทบไม่ได้ ยังหมายถึงการลดลงของปลาเศรษฐกิจน้ำจืดในแหล่งน้ำธรรมชาติ
กรมประมงหาทางจัดการปลาซักเกอร์มาร่วม 10 ปี แต่ยังไม่มีวิธีที่เหมาะสม
เราไม่สามารถใช้สารเคมี ไม่สามารถหาผู้ล่าปลาซักเกอร์ธรรมชาติ จึงทำได้แต่เพียงรณรงค์ไม่ให้เลี้ยง ไม่ให้ปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ และหาทางให้คนจับปลาซักเกอร์มากิน
ปลาซักเกอร์กินได้ แต่ไม่เป็นที่นิยม เพราะรูปร่างหน้าตาไม่น่ากิน แม้จะรณรงค์ทำเมนูต่างๆ เช่น ลาบปลา แต่ก็ยังไม่แพร่หลายจนสามารถแก้ไขปัญหาได้
การรณรงค์จึงเน้นที่อย่าเลี้ยงปลาซักเกอร์ อย่าปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติเด็ดขาด
แต่ปลาซักเกอร์เพาะง่ายเลี้ยงง่ายแถมทน จึงมีการนำมาขายเป็น “ปลาราหู” เพื่อให้คนที่ไม่รู้ปล่อยลงแหล่งน้ำเอาบุญ เหมือนเราปล่อยเคราะห์ร้ายให้ลอยไปกับน้ำ
น่าเสียดายที่เราปล่อยลงไป ทำให้เกิดเคราะห์มากกว่า เคราะห์กรรมต่อปลาไทยที่ต้องตายอีกมหาศาล เคราะห์กรรมต่อชาวบ้านที่หวังขุดบ่อหรืออ่างเก็บน้ำจับปลาที่กินได้ขายได้
ถึงตอนนี้ เราไม่มีทางแก้ปัญหาได้เด็ดขาด แม้กรมประมงเคยมีมาตรการมาหลายปี แต่ยังไม่สามารถออกกฎหมายห้ามเลี้ยงห้ามจำหน่ายได้ ทำได้เพียงห้ามนำเข้าปลาซักเกอร์ ซึ่งก็ไม่เป็นผลเนื่องจากมีการเพาะเลี้ยงในเมืองไทยได้แล้ว
การแก้ไขจริงจังจึงอาจต้องเริ่มต้นที่กฎหมาย แม้อาจไม่สัมฤทธิ์ผล แต่อย่างน้อยก็เป็นการก้าวไปข้างหน้าบ้าง หลังจากเราวนเวียนกับมาตรการที่ไม่ค่อยได้ผลมานาน
ปัญหาคือปลาซักเกอร์เป็นสัตว์คุ้มครองไม่ได้ จะห้ามเลี้ยงห้ามขายก็ลำบาก ต้องอาศัยการแก้ไขกฎหมายประมงหรือหาทางอื่นๆ ที่ควรทำ เพราะติดค้างมานานมาก
ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ยังมีเอเลี่ยนสปีชีส์ที่อาจส่งผลกระทบอีกมากมาย การเดินหน้าอย่างจริงจังในเรื่องนี้ แม้อาจจัดการปัญหาปลาซักเกอร์ไม่ได้เบ็ดเสร็จ แต่ก็เป็นแนวทางจัดการกับเอเลี่ยนอื่นได้ครับ
ภาพประกอบจากคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณลาดกระบัง ขอบคุณที่ทำภาพง่ายๆ มาให้คนไทยเข้าใจครับ