posttoday

เอาต์ซอร์ส เส้นทางใหม่ยุคไอที

23 กรกฎาคม 2559

สภาพเศรษฐกิจที่ผันผวนในปัจจุบันกดดันให้หลายบริษัทลดภาระต้นทุนโดยการเลือกใช้พนักงานจ้างเหมาค่าแรง

โดย...กองบรรณาธิการ

สภาพเศรษฐกิจที่ผันผวนในปัจจุบันกดดันให้หลายบริษัทลดภาระต้นทุนโดยการเลือกใช้พนักงานจ้างเหมาค่าแรง หรือ (เอาต์ซอร์ส) คู่ไปกับพนักงานประจำ เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานคนมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่พนักงานประจำพึงตระหนักว่า จะปรับตัวอย่างไรภายใต้แรงงานเอาต์ซอร์สและเครื่องจักรที่เข้ามาแทนที่ ในช่วงเวลาเดียวกัน

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อธิบายถึงสัญญาณการเติบโตของเอาต์ซอร์ส ว่า เมื่อภาคอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้นเพื่อต้องลดจำนวนแรงงานระดับล่างที่มีจำนวนมากโดยการนำเครื่องจักรเข้ามา แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตต้องการความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจจึงต้องการลดต้นทุน ควบคุมระยะเวลาการผลิตให้เป็นไปตามแผนธุรกิจจึงเลือกใช้แรงงานเอาต์ซอร์ส

“เอาต์ซอร์สขณะนี้ยังไม่กระทบกับพนักงานปกติมาก แต่ระยะยาวจะกระทบมากขึ้นและจะไม่มีเพียงแค่กลุ่มงานพื้นฐาน เช่น โรงงานเย็บผ้า แม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย เท่านั้น แต่จะมีพนักงานระดับสูงที่เชี่ยวชาญด้วย เนื่องจากผู้ผลิตต้องการความยืดหยุ่นทางด้านการใช้คนให้มาก อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังคงต้องมีพนักงานประจำอยู่เพื่อความมั่นคงขององค์กร แต่ปรากฏการณ์นี้มองว่าจะยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ แต่จะเกิดขึ้นใน 5 ปีข้างหน้า 1 ใน 3 ของบริษัท และอีก 10 ปีน่าครึ่งหนึ่งของพนักงานประจำ”

เกียรติอนันต์ แนะนำว่า การเตรียมความพร้อมคือ พนักงานประจำควรพัฒนาทักษะเฉพาะทางทำให้ตนเองมีศักยภาพสูงขึ้นเพื่อทำให้องค์กรเห็นถึงความสำคัญ หรือออกไปทำธุรกิจส่วนตัว ขณะที่ภาครัฐ กระทรวงแรงงาน ควรพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีทักษะสูงมากขึ้น ส่วนกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นหน่วยงานผลิตคนรุ่นใหม่ป้อนเข้ามาสู่ตลาดแรงงานควรฝึกนักเรียน นักศึกษาให้มีความชำนาญกับรูปแบบงานใหม่ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีในอนาคตที่จะมีมากขึ้นไม่ใช่สิ่งน่ากังวล แต่จะเป็นยุคทองของการจ้างงานเนื่องจากจะมีอาชีพเกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก ฉะนั้นภาคแรงงานควรรีบพัฒนาทักษะฝีมือให้ทันเทคโนโลยีที่ก้าวไปข้างหน้า เพราะเมื่อใดที่รูปแบบการทำงานเปลี่ยนจะได้รองรับการปรับตัวได้ทันที”

ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ อธิบายว่า การลดความเสี่ยง ลดต้นทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งในองค์กรจะมีพนักงานประจำอยู่ส่วนหนึ่ง ส่วนเอาต์ซอร์สจะขึ้นอยู่กับความต้องการของสภาพงานว่าต้องการเท่าไรขึ้นอยู่กับยอดการสั่งซื้อที่จะเป็นตัวชี้วัด

ยงยุทธ มองว่า อนาคตการใช้แรงงานเอาต์ซอร์สจะมีในธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก แต่อุตสาหกรรมขนาดเล็กอาจไม่นิยมใช้แรงงานในส่วนนี้ ซึ่งการเตรียมตัวของภาครัฐในภาพรวมควรลงไปพัฒนาให้ภาคแรงงานมีทักษะความรู้ ที่จะสร้างทางเลือกโดยการออกไปประกอบธุรกิจได้เอง หรือถ้าต้องการเป็นแรงงานในระบบอยู่ควรส่งเสริมการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อให้ยกระดับเป็นแรงงานที่มีคุณภาพเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง

ชมัยพร วิเศษมงคล ที่ปรึกษา SMEs ฝ่ายประสานและบริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เขียนไว้ในบทความเรื่อง Outsourcing การจ้างให้คนอื่นทำงานแทน ระบุว่า สำหรับประเทศไทย Outsourcing ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่เอี่ยมที่ยังไม่มีการดำเนินงานกันมาก่อน แต่เป็นเรื่องที่มีมานานแล้วในอดีต ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของการจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย การจ้างบริษัททำความสะอาด การจ้างบริษัทรับช่วงก่อสร้าง ซึ่งเป็นการจ้างในลักษณะให้มาทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง

สำหรับในปัจจุบันนิยมนำมาใช้กับงานต่างๆ มากขึ้น พัฒนาไปถึงขั้นการจ้างคนอื่นให้ทำ “กระบวนการทำงาน” หรือที่เรียกว่า Business Process Outsourcing (BPO) แทน โดยขยายขอบเขตในเรื่องของการจัดงานแต่งงานอย่างครบวงจร การจัดอีเวนต์ต่างๆ งาน Call Center งานป้อนข้อมูล และงานธุรการ

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการเป็นผู้ใช้ การใช้ระบบ Outsourcing ส่วนใหญ่มักจะจำกัดอยู่ที่บริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการข้ามชาติ หรือบริษัทที่มีผู้บริหารเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งมองเห็นความสำคัญในการใช้บริการ Outsource โดยตัดส่วนที่บริษัทไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ แล้วใช้เวลาทั้งหมดสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ ทุ่มเทเวลา และความคิดทั้งหมดกับธุรกิจหลักของบริษัท

ที่จริงแล้วธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) น่าที่จะมีความจำเป็นต้องใช้บริการ Outsourcing เพราะ SMEs ส่วนใหญ่มีเจ้าของคนเดียว หรือไม่กี่คน ควรใช้เวลาส่วนใหญ่กับธุรกิจหลักของบริษัทมากกว่า ทั้งนี้ จะต้องเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการ และวิเคราะห์ว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่

ทั้งนี้ต้องยอมรับแล้วว่า กระแสโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คงจะหลีกเลี่ยง Outsourcing ไม่ได้ สำหรับในส่วนของการส่งเสริมธุรกิจ SMEs นั้น มองเห็นถึงประโยชน์ของการทำธุรกิจ Outsourcing ในประเทศไทย ที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานและรายได้ให้กับตลาดแรงงานของประเทศ แต่คงต้องระวังในเรื่องของปัญหาสมองไหลออกนอกระบบ โดยเฉพาะภาครัฐ

สิ่งที่ภาครัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทคงหนีไม่พ้นเรื่องของการกำหนดตำแหน่ง (Positioning) ของประเทศให้ชัดเจน สนับสนุนปัจจัยเอื้อต่างๆ ทั้งในเรื่องของการจัดการทางการศึกษา เพื่อเพิ่มทักษะและคุณภาพของบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจประเภทนี้ โดยเฉพาะคุณสมบัติพื้นฐานด้านภาษาต่างประเทศ ทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ การเขียนโปรแกรม และอินเทอร์เน็ต การมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้อย่างกว้างขวางในราคาถูก รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกต่อการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) กับลูกค้าระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นมากขึ้น ตลอดจนการกำหนดมาตรฐาน หรือวิธีการในการทำสัญญา Outsourcing ที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับร่วมกัน

ฟรีแลนซ์-เอาต์ซอร์ส เทรนด์ทำงานคนรุ่นใหม่

แนวโน้มการทำงานในลักษณะเอาต์ซอร์สและฟรีแลนซ์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในองค์กรธุรกิจที่ต้องการควบคุมต้นทุน และไม่ต้องการให้องค์กรมีขนาดและมีความซับซ้อนมากเกินไป

นพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า หลายองค์กรมีแนวโน้มจะลดขนาดลง โดยจ้างฟรีแลนซ์หรือเอาต์ซอร์สแทน ซึ่งในอนาคตการทำงานแบบฟรีแลนซ์น่าจะส่งผลต่อการจ้างงานและตลาดงานทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าในการจ้างงานเต็มเวลาจะน้อยลง เพราะในมุมมองของผู้จ้างงาน การจ้างฟรีแลนซ์นั้นนอกจากจะช่วยประหยัดแล้ว ยังมีโอกาสได้ทำงานกับคนที่มีความสามารถหลากหลาย

ขณะเดียวกัน ไลฟ์สไตล์ของคนในเจเนอเรชั่น Y ก็นิยมประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น การเป็นฟรีแลนซ์หรือเอาต์ซอร์สเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนเจเนอเรชั่น Y

อมฤต เจริญพันธ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฮับบา ผู้ดำเนินธุรกิจโค-เวิร์กกิ้ง สเปซ กล่าวว่า ในปี 2563 ประชากรในกลุ่มเจเนอเรชั่น Y จะมีสัดส่วนถึง 75% ของกลุ่มวัยทำงานทั่วโลก ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี มีความรู้และต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจเอง การเป็นสตาร์ทอัพจึงทำได้ไม่ยาก หรือกระทั่งการทำฟรีแลนซ์ซึ่งเป็นอาชีพอิสระ เพราะโลกที่เชื่อมโยงกันหมดทำให้โอกาสการสร้างงานสร้างรายได้มีความหลากหลาย โดยเทรนด์ดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในไทยด้วย

จักรพันธ์ ประจวบเหมาะ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท วิชวัน อินโฟ กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจปัจจุบันเริ่มจ้างงานภายนอกบริษัทมากขึ้น ทำให้วิชวันฯ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจบริการด้านไอทีมีการเติบโตมากขึ้น โดยมีฐานลูกค้าที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำของประเทศที่ให้การยอมรับในความสามารถของคนด้านไอทีที่มีให้บริการกว่า 350 ตำแหน่ง มีสัญญาจ้างงานมากกว่า 50 โครงการ

ธุรกิจของวิชวันฯ แบ่งเป็น IT Outsourcing IT Head Hunter ที่ให้การฝึกอบรมความรู้ด้านไอทีและพัฒนาศักยภาพคนด้านไอทีเข้าไปทำงานเป็นพนักงานประจำ บริษัทจึงพร้อมขายคนไอทีที่เก่งให้กับทุกองค์กรของลูกค้าที่สนใจ IT Integration Service บริการรับออกแบบและให้คำปรึกษาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร และ Telecommunication Business บริการออกแบบโซลูชั่นเพื่อลดต้นทุนของกลุ่มองค์กรหรือบริษัทที่มียอดค่าใช้งานโทรสูง

ล่าสุดปี 2558 บริษัทมีรายได้ 150 ล้านบาท เติบโต 50% จากปี 2557 และมีอัตรากำไรสุทธิ 15% ของรายได้

หุ่นยนต์แทนที่แรงงานคน เทรนด์โลกยุค 4.0

แม้การทำงานในรูปแบบเอาต์ซอร์สจะได้รับความนิยม และขยายตัวในภาคธุรกิจบริการ แต่สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากอุตสาหกรรมหนักที่ยังต้องใช้แรงงานคนเป็นจำนวนมาก ไปสู่การผลิตโดยอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูง หรือการก้าวสู่ยุค 4.0 ซึ่งจะส่งผลสะเทือนไปยังภาคแรงงานมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำ พนักงานลูกจ้าง หรือแม้แต่ลูกจ้างที่เป็นเอาต์ซอร์ส ซึ่งใช้กันอยู่มากในโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะถูกแทนที่ด้วยแรงงานจากหุ่นยนต์

กรณีของโตโยต้าที่ต้องเลิกจ้างลูกจ้างรับเหมาค่าแรง หรือซับคอนแทรกต์ไปกว่าพันคน แม้โตโยต้าจะยืนยันว่า การเลิกจ้างครั้งนี้ไม่ได้มาจากผลกระทบเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่เกิดจากยอดส่งออกลดลง และที่สำคัญคือไม่มีการนำเครื่องจักรมาทำงานแทนคนตามที่เป็นข่าว แต่เป็นที่รู้กันดีว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่เป็นหนึ่งในฐานผลิตใหญ่อีกแห่งหนึ่งของโลกก็กำลังก้าวเข้าสู่การผลิตด้วยเครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงานคน พร้อมกับการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาในระดับภูมิภาค

ในอนาคตการเปลี่ยนผ่านจากแรงงานคน โดยเฉพาะกลุ่มเอาต์ซอร์ส หรือซับคอนแทรกต์ที่ไม่มีเงื่อนไขผูกพันทางกฎหมายกับองค์กรมากนัก จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรกลในที่สุด ซึ่งการก่อสร้างหรือปรับปรุงโรงงานผลิตในหลายๆ แห่ง เริ่มมีการนำเครื่องจักรกลเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์กันบ้างแล้ว เพื่อรองรับการก้าวสู่ยุค 4.0 ของประเทศไทย ซึ่งต้องอาศัยเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านอีกสักระยะถึงจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจน

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมในภาคอิเล็กทรอนิกส์ โดย สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ มองว่า ภายใน 3-5 ปี  การผลิตในภาคอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นการผสมผสานระหว่างการบริหารจัดการแบบออโตเมชั่นและโรโบติก ไม่ใช่การทำงานด้วยหุ่นยนต์เพียวๆ แต่จะเป็นการทำงานด้วยระบบออโตเมชั่น ระบบเซ็นเซอร์ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์  บิ๊กดาต้า โดยขณะนี้ไทยได้นำระบบออโตเมชั่นมาใช้ประมาณ 10-20% ที่เหลือยังเป็นกำลังคน

ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์ที่กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้น ได้สะท้อนให้เห็นภาพในอนาคตว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนที่แรงงานมนุษย์  เฉลิมพล ปุณโณทก ประธานบริหารผู้ก่อตั้งซีที เอเชีย โรบอติกส์ผู้พัฒนาหุ่นยนต์ ดินสอ ออกสู่ตลาดโลก ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่กำลังเติบโตอย่างดีและมีคู่แข่งในตลาดโลกน้อย คือ หุ่นยนต์เพื่อการบริการต่างๆ เช่น หุ่นยนต์เพื่อดูแลผู้สูงอายุ หุ่นยนต์ภาคบริการในร้านอาหาร หุ่นยนต์เพื่อดูแลผู้ป่วย หุ่นยนต์ทำงานบ้าน หุ่นยนต์ตัดหญ้า และหุ่นยนต์เพื่อดูแลพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยมีเอกชนที่เชี่ยวชาญการผลิตหุ่นยนต์ภาคบริการ และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ประมาณ 10 บริษัทแล้ว หากรัฐส่งเสริมอย่างเต็มที่ เชื่อมั่นว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า หุ่นยนต์ภาคบริการของไทยจะเติบโตสูงมาก

เมื่ออีกด้านหนึ่งแรงงานจักรกลจะเข้ามาแทนที่แรงงานคน ซึ่งงานเอาต์ซอร์ส ฟรีแลนซ์ มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะถูกปลดระวางก่อนใคร ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพและทักษะ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดให้ได้อย่างดีที่สุด คือทางรอดที่เหลืออยู่