600 ปีนวดแผนไทย สู่การเสนอชื่อเป็นมรดกโลก
“นวดไทย” กำลังเลื่อนชั้นไปสู่การเป็น “มรดกโลก” ขององค์การยูเนสโก เมื่อรัฐบาลประกาศ
โดย...กองบรรณาธิการ
“นวดไทย” กำลังเลื่อนชั้นไปสู่การเป็น “มรดกโลก” ขององค์การยูเนสโก เมื่อรัฐบาลประกาศ เตรียมยกระดับการ “นวดไทย” และ”สปาไทย” ให้เป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม องค์กรยูเนสโก ประจำประเทศไทย เพื่อผลักดันให้เป็นมรดกชิ้นแรกของโลก ในการดูแลสุขภาพ
จากประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 600 ปี เริ่มตั้งหลักศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทำให้ “นวดไทย” หรือ “นวดแผนโบราณ” กลายเป็นตำรับตำราที่ทรงคุณค่าสืบต่อกันมา หลายชั่วอายุคน และกำลังถูกเสนอให้เป็น มรดกโลกอีกหนึ่งชิ้น หาก “นวดไทย” ผ่านการรับรองจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของคณะกรรมการมรดกโลก
จุดเริ่มต้นกังวลชาติอื่นแอบอ้างเป็น ‘มรดกโลก’
ทั้งนี้ เรื่องการเสนอ “ยุทธศาสตร์นวดไทยสู่มรดกโลก” เริ่มขึ้นตั้งแต่การประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ตั้งแต่ปี2556 และได้เตรียมแผนกันมานานกว่า 3 ปี โดยมติสมัชชาสุขภาพเห็นว่า ว่าการนวดไทยนั้นเป็นภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่มีประโยชน์ในการดูแลรักษาและฟื้นฟู สุขภาพคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกแห่งความทรงจําและทั่วโลกต่างชื่นชมและยอมรับว่าการนวดไทยนั้น เป็นการนวดที่มีคุณค่าและเป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ยังขาดนโยบายและทิศทางในระดับประเทศในการพัฒนาการนวดไทย การขาดระบบสนับสนุนอย่างเพียงพอรวมถึงการขาดกลไกในการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงไม่มีกฎหมายลําดับรองในการประกาศรับรองและขึ้นทะเบียน ภูมิปัญญาการนวดไทยดั้งเดิมแห่งชาติทําให้ไม่สามารถคุ้มครองภูมิปัญญาการนวดไทยได้
สำหรับหลักฐานการบันทึก “นวดไทย” นั้นมีทั้งหมด 4 แหล่ง ได้แก่ 1.ศิลาจารึกภาพแผนนวดของวัดโพธิ์ 2.ตําราโรคนิทานคําฉันท์ ๑๑ (กล่าวเส้นสิบ) 3.จารึกตํารายาวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร และ 4.คัมภีร์แผนนวด 1 และ 2 ใน ตําราเวชศาสตร์ฉบับหลวงรัชกาลที่ 5 ทําให้ประเทศไทยไม่สามารถที่จะทําการคุ้มครองภูมิปัญญาการนวดไทยได้อย่างถูกต้อง ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 เนื่องจากตำราการนวดมีหลายตำรา
ขณะเดียวกัน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ยังมีความกังวลว่ากระแสความนิยมนวดแผนไทย ที่กระจายไปยังประเทศต่างๆ อาจทําให้เกิดการฉกฉวยนําภูมิปัญญาการนวดไทยไปใช้ประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม และส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และคุณค่าการนวดไทย จึงมีมติให้เร่งขับเคลื่อนการนวดแผนไทย เพื่อยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลกต่อไป
ผู้ประกอบการหนุนขึ้นทะเบียนมรดกโลก
ปัจจุบันการนวดไทยนั้น มีทั้งนวดเพื่อสุขภาพ และนวดเพื่อการรักษา โดยจะต้องผ่านการรับรองของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก โดยกำหนดว่าผู้นวดต้องผ่านการอบรมอย่างน้อย 150 ชั่วโมง และหากเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพจะต้องผ่านการอบรม 372 ชั่วโมง
นอกจากนี้ การนวดในสถานพยาบาลจะมีการตรวจร่างกายโดยแพทย์แผนไทยก่อนโดยจะมีการซักประวัติ ตรวจวัดความดัน ส่วนสถานประกอบการก็ควรมีการซักประวัติ และควรต้องมีการวัดความดันด้วย
หัทยา สมบูรณ์ชัย ผู้ประกอบการร้านนวดแผนไทย ใน จ.นนทบุรี เล่าให้ฟังว่า “นวดไทย”ที่แท้จริง จะมี 2 แบบ คือ 1.การนวดแบบทั่วไป (นวดเชลยศักดิ์) ซึ่งเป็นการนวดจากสามัญชนในสมัยโบราณ จนถึงปัจจุบัน และเป็นที่นิยมโดยทั่วไปโดยผู้ถูกนวดจะนอนอยู่บนพื้น และจะเริ่มต้นนวดไล่จากทั่วไปสู่หัวเข่า โคนขานวดท้อง นวดหลัง นวดไหล่ ต้นคอ และศีรษะ โดยผู้นวดจะใช้ทั้งมือ เข่า และศอก ในการนวดโดยปัจจุบันร้านนวดแผนไทยทั่วไปจะประยุกต์มาจากการนวดแบบเชลยศักดิ์
ขณะที่แบบที่ 2.การนวดแบบราชสำนัก จะเป็นการนวดเพื่อถวายกษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง โดยผู้นวดจะนั่งพับเพียบ และคลำชีพจรก่อนเพื่อตรวจอาการ หลังจากนั้นจะใช้นิ้วมือนวดเท่านั้น โดยการนวดราชสำนัก จะสามารถรักษาโรค เช่น ปวดหลัง ปวดต้นคอ ปวดหัว ปวดข้อ ได้ โดยปัจจุบันหากผ่านการรับรองโดยหลักสูตรมาตรฐาน จะต้องผ่านการเรียนรู้การนวดทั้งสองแบบอย่างเข้มข้น จนสามารถนำมาประยุกต์เข้าด้วยกัน
หัทยา บอกว่าเธอเห็นด้วยหากจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพราะถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และเป็นศาสตร์ที่ได้รับความนิยมในระดับโลก ขณะเดียวกัน ก็เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า เป็นศาสตร์หนึ่งในการรักษาโรค มากกว่าจะทำให้ถูกมองในเชิงลบว่าเป็นสถานบริการ ที่พ่วงบริการทางเพศอื่นๆ ด้วย
“ก่อนจะไปถึงตรงนั้น รัฐบาลต้องควบคุมมาตรฐานทั้งของหมอนวด และของสถานประกอบการให้ดี ไม่ให้มีการแอบอ้าง หรือนวดแบบไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมนวดไทยทั้งหมด ทำให้ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ ส่งผลเสียต่อวงการนวดทั้งระบบ” หัทยา ระบุ
แบรนด์ทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบันร้านนวด ถือเป็น “สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ” ซึ่งมีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นผู้ดูแลการขึ้น ทะเบียนเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ โดยหากร้านนวดไม่ขึ้นทะเบียนเป็นสถานบริการหรือสถานประกอบการเพื่อสุขภาพจะมีโทษทั้งทางแพ่งและอาญา คือ จำคุก 1 ปี และปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้อำนวยการกองสุขภาพระหว่างประเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้ข้อมูลว่า ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น กรมจะเร่งรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริการนวดไทย ในการยกระดับให้เป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรม โดยจะรวบรวมข้อมูลทั้งการนวดแบบเชลยศักดิ์ และการนวดแบบราชสำนัก โดยจะเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาและส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านบริการและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศ ซึ่งมี รมว.สาธารณสุขและ รมว.ท่องเที่ยวและการกีฬา เป็นประธาน
หลังจากนั้นจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และหลังจากนั้น จะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งจะมีการประชุมเป็นประจำทุกปีที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ หากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก การนวดไทย จะกลายเป็นแบรนด์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางทรัพย์สินทางปัญญา และขยายมูลค่าทางเศรษฐกิจในธุรกิจบริการสุขภาพไทยทั้งระบบ ตั้งแต่ ธุรกิจสปาสถานประกอบการนวดเพื่อสุขภาพ และนวดเพื่อเสริมความงาม โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมและกำกับคุณภาพมาตรฐานของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่มีความรู้เรื่องการนวด ทั้งนวดแบบราชสำนัก และนวดแบบเชลยศักดิ์ สามารถประกอบอาชีพสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่องมีมาตรฐาน
คุณค่าอันคู่ควรเป็นมรดกโลก
ในฐานะเธอราปิสต์ ผู้มีความรู้เกี่ยวกับศาสตร์การนวดแผนไทย พูลศรี ยอดดี เธอราปิสต์วัย 34 ปีจาก “หาญ เฮอริเทจ สปา กรุงเทพ” สาขาเซน เวิลด์ ทาวเวอร์ ถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับเส้นทางอาชีพให้ฟังว่า เธอเริ่มต้นอาชีพนวดแผนไทยตั้งแต่อายุ 20 กว่าๆ โดยมีโอกาสได้เรียนนวดแผนไทยจากการเปิดอบรมวิชาชีพของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงนั้น
“ช่วงเริ่มต้นดิฉันเรียนนวดแผนไทยมา 60 ชั่วโมง จากนั้นก็เริ่มทำงานที่ร้านนวดไทยในกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันก็เรียนเก็บชั่วโมงการนวดเพื่อให้ได้ 150 ชั่วโมงจากครูผู้สอน (150 คน) ไปด้วย กระทั่งได้ประกาศนียบัตรอบรมการนวดแผนไทย จากสมาคมกรมการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข
ด้วยรายได้ที่ดีพอสมควร เพราะช่วงนั้นหมอนวดแผนไทยเป็นที่ต้องการของลูกค้ามาก ดิฉันจึงทำงานที่ร้านนวดไทยอยู่หลายปีเปลี่ยนที่ทำงานหลายร้าน จากนั้นได้เดินทางไปทำงานที่รัสเซียโดยไปนวดไทยในเรือสำราญ ซึ่งได้ค่าจ้างเป็นเงินเดือน เดือนละหลายหมื่นบาทดิฉันไปทำงานในช่วงซัมเมอร์ติดกัน3 ปีซ้อน หลังจากนั้นก็คิดว่าอยากทำงานอยู่เมืองไทยมากกว่า จึงได้มาสมัครเป็นเธอราปิสต์ที่ หาญ เฮอริเทจ สปาฯ ค่ะ”
พูลศรีบอกว่า ศาสตร์การนวดแผนไทยนั่นมีคุณค่าและเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก แถมยังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกและสามารถสร้างรายได้ให้คนไทยมากมาย ที่สำคัญยังช่วยให้หมอนวดแผนไทยประกอบอาชีพนี้ได้นาน แม้อายุจะมากขึ้นก็ยังสามารถทำอาชีพนี้ได้
“อย่างดิฉันเองเริ่มต้นอาชีพนี้มาตั้งแต่อายุ 22 ปี จนปัจจุบันนี้อายุ 34 ปีแล้ว ก็ยังสามารถทำอาชีพนี้ได้ เพราะนอกจากลูกค้าคนไทยแล้ว ยังมีลูกค้าต่างชาติทั้งยุโรปและเอเชียที่ชื่นชอบการนวดไทยมากมาย ซึ่งประโยชน์ของการนวดแผนไทยที่เห็นได้ชัดก็คือ ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ความตึงเครียด และความเมื่อยล้าทั่วสรีระร่างกายจากการใช้ชีวิตประจำวัน โดยมีทั้งการนวดคลายเส้นนวดกดจุด นวดประคบ และอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่มีข้อดีแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก
สำหรับข้อควรระวังในเบื้องต้นของการนวดแผนไทยนั้น จะห้ามผู้ที่มีโรคความดัน โรคหัวใจ คนที่มีไข้ และสตรีมีครรภ์ เพราะหากมานวดไทยก็จะยิ่งไปกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้นได้ ฉะนั้นก่อนการนวดไทยหรือก่อนทำสปาทุกครั้งจึงต้องมีการกรอกประวัติหรือกรอกแบบสอบถามเกี่ยวกับโรคประจำตัวของลูกค้าก่อนเสมอ”
พูลศรีเล่าว่า การที่เธอเริ่มอาชีพด้วยการเป็นหมอนวดแผนไทย ปัจจุบันเมื่อมาเป็นเธอราปิสต์ที่สปาก็สามารถนำวิชาความรู้ที่มีมาประยุกต์ใช้ในการทำสปาทรีตเมนต์ได้ โดยเพิ่มการนวดผ่อนคลายแบบไทยผสมผสานเข้าไปด้วย ทั้งการนวดกดจุดโดยใช้ศอก การใช้สมุนไพรไทยเพื่อประคบ โดยมีคอร์สต่างๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากขึ้น อาทิ การนวดน้ำมันผสมนวดไทย หรือการนวดน้ำมันผสมการนวดประคบ เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าของการบริการให้สูงขึ้นด้วย
“ถ้าให้แยกความแตกต่างระหว่างหมอนวดแผนไทยกับเธอราปิสต์ก็คือ หมอนวดแผนไทยส่วนใหญ่จะเน้นการนวดแก้อาการต่างๆ ซะมากกว่า ส่วนเธอราปิสต์จะมีหน้าที่บำบัดอาการเหนื่อยล้าทางร่างกายให้กับลูกค้า ซึ่งดิฉันคิดว่าหากเธอราปิสต์คนไหนมีความรู้เรื่องการนวดไทยด้วย ก็จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้คู่กับการทำสปาทรีตเมนต์และต่อยอดอาชีพได้เช่นกัน”
ขณะที่ ธเนศ จิระเสวกดิลก เจ้าของดิวาน่าสปา ที่เปิดให้บริการมาเกือบ 15 ปี กล่าวว่าดีใจที่นวดไทยได้รับการส่งเสริมให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและเป็นมรดกของโลกเพราะนวดไทยก็มีมากว่า 600 ปี เป็นแพทย์แผนไทยที่เราใช้รักษากันมาเนิ่นนาน เป็นอารยธรรมที่ควบคู่กับสังคมไทยมาช้านาน
ในฐานะที่ทำธุรกิจสปาและมีนวดไทยอยู่ด้วยซึ่งลูกค้าของดิวาน่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวต่างชาติก็รู้จักนวดไทยกันพอสมควร และส่วนใหญ่ก็ชื่นชอบนวดไทยแม้ว่าชาวต่างชาติอาจจะไม่ได้ใช้บริการนวดไทยแบบดังเดิมแท้ๆ ที่มีความหนักหน่วง แต่จะเป็นการนวดผสมผสานเพื่อการผ่อนคลายมากกว่า เมื่อมาเป็นครั้งที่สองที่สามเริ่มคุ้นเคยเขาก็จะเริ่มลองนวดแบบหนักขึ้น
“เวลาที่ลูกค้ามานวดไทยครั้งแรกเราจะยังไม่นวดหนักแบบเชลยศักดิ์ที่ลงเข่า ลงศอก ใช้เท้ายัน ดัดตัว เพราะลูกค้ายังไม่รู้จักเราจะเริ่มจากเบาๆไม่เต็มรูปแบบ เน้นกดจุด กดกล้ามเนื้อไปก่อนผสมกับการใช้ลูกประคบบ้าง จนกระทั่งมานวดครั้งต่อไปจึงเริ่มเต็มรูปแบบมากขึ้นซึ่งพอได้ลองมักจะชอบทุกคนโดยเฉพาะฝรั่งจะถามหารอยัลไทยมาสสาจตลอดเลย เกาหลีก็จะชอบนวดไทยหนักๆ แต่ถ้าเป็นญี่ปุ่นจะชอบแบบผสมผสาน ส่วนคนไทยจะชอบหนักๆ เน้นๆ”
เนื่องจากเขาได้รับผลลัพธ์ที่ดีคือผ่อนคลาย สบายตัว หายปวดเมื่อย เพราะนวดไทยของเรานั้นเป็นการนวดเพื่อการรักษามีทั้งการจับเส้น กดกล้ามเนื้อ เหมาะกับคนทำงานในปัจจุบันที่เป็นโรคออฟฟิศซินโดรมเมื่อยเนื้อตัว ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดคอ นอนผิดท่า ซึ่งการนวดไทยแบบดั้งเดิมช่วยแก้ปัญหานี้ได้ดี
เมื่อเร็วๆ นี้ประเทศออสเตรเลียก็ประกาศยอมรับแล้ว่าการนวดไทยช่วยในเรื่องการรักษาทำให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น เส้นเอ็นเส้นเลือดมีความยืดหยุ่นขึ้น ส่งผลการบำรุงกระตุ้นหัวใจให้แข็งแรงขึ้นได้ จึงไม่แปลกใจเลยครับที่ชาวต่างชาติชอบนวดไทย เพราะมันเป็นการนวดเพื่อช่วยให้เขาสบายตัวโล่งเบา ทำให้นวดแผนไทยได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีก
ปัจจุบันการนวดไทยรวมทั้งแพทย์ทางเลือกแบบไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับมากในหมู่ลูกค้าต่างประเทศ เราในฐานะที่ทำธุรกิจด้านนี้ก็ดีใจและจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันให้การนวดไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับไปทั่วโลก ด้วยการให้บริการที่ดีมีคุณภาพได้มาตรฐานมีความสะอาดตามองค์ความรู้ที่ได้ฝึกฝนร่ำเรียนมา
มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาติอย่างนวดไทยนั้นจึงนับได้ว่าควรค่าแก่การเป็นมรดกโลกอย่างแท้จริง