posttoday

6 วิธีป้องกันตัวจากผู้ร้ายบนท้องถนน

07 สิงหาคม 2559

เฟซบุ๊ก Peerapong Klankrong

เฟซบุ๊ก Peerapong Klankrong

ตีห้าครึ่งเช้าวันนี้ เปิดฟัง จส.100 ขณะที่ขับรถออกจากบ้าน..

ได้ยินเสียงสัมภาษณ์คุณผู้หญิงคนหนึ่งที่เกือบถูกปล้นและทำร้ายร่างกาย เข้าใจว่ารถเสียกลางทางเพราะยางล้อแตก มีคนขับรถกระบะมาจอดช่วย เธอลงจากรถ และถูกผลักให้ล้มลงไปในนอนในรถที่เบาะหลังของรถตัวเอง แต่ไหวพริบดี เธอผลักผู้ชายคนร้ายหงายออกจากรถ แล้วปิดประตูล็อคตัวเองอยู่ในรถได้ทัน จึงพ้นภัย!

เธอเล่าให้ จส.100 ฟังว่า แม้จะมีรถประชาชนคนอื่นเข้าเทียบ บีบแตร ประหนึ่งเข้ามาห้ามปราบช่วยเหลือ แต่คนร้ายกลับตะโกนบอกว่า "อย่ายุ่ง เรื่องของผัวเมียกัน" ประโยคสูตรสำเร็จของมิจฉาชีพและอันธพาล

หากเกิดกรณีเช่นนี้กับคุณ ผมขอเรียนแนะนำวิธีป้องกันภัย ดังนี้นะครับ

1.ถ้ารถยางล้อแตก รถเสียที่พอจะขับเคลื่อนที่ได้ พยายามนำรถไปที่ปั๊มน้ำมันฯ และ/หรือบริเวณที่มีแสงสว่าง ป้ายรถเมล์ หน้าหมู่บ้าน ที่มีคนจำนวนมากอยู่ตรงนั้น และปลอดภัยมากกว่าการจอดรถข้างถนน ..เทคโนโลยีของยางรถยนต์ในปัจจุบัน พยายามจะไม่ให้รถเสียการทรงตัวฉับพลัน ยางจะประคองรถไว้เท่าที่สามารถทำได้หลังที่ยางแตกพัง ซึ่งหมายถึงว่า กว่าเราจะรู้ตัวว่ารถยางล้อแตก ยางก็บดกับถนนมาไกลแล้ว จึงไม่ต้องกลัวว่าจะต้องเสียยางถ้าจะขับต่อไปถึงปั๊มน้ำมันฯ ประการสำคัญที่สุด คือ เอาชีวิตเราให้ปลอดภัยก่อน

2. ถ้ารถจอดเสียกลางคัน(หมายถึงว่าเสียในทันทีระหว่างทาง) ให้เปิดไฟกระพริบฉุกเฉิน เพื่อแจ้งเตือนเหตุผิดปกติต่อผู้ร่วมใช้ถนนคนอื่น พยายามนำรถเข้าจอดไหล่ถนนด้านซ้าย จะปลอดภัยจากอุบัติเหตุถูกชนซ้ำซ้อนจากรถอื่นที่วิ่งตามหลังมาด้วยความเร็ว

3. โทรศัพท์บอกคนที่บ้าน แฟน(ถ้ามี) และ สถานีวิทยุคลื่นจราจร(จส.100) ว่า รถเสียอยู่ตรงไหน พยายามบอกตำแหน่งที่ชัดเจน-สังเกตุพบได้ง่าย เช่น ใกล้กับร้านสะดวกซื้อ หน้าหมู่บ้านอะไร หลักกิโลเมตร ฯลฯ ที่สำคัญ คือ แจ้งรายงานทันทีเมื่อมีรถอื่นมาจอดช่วย บอกทะเบียนรถคันที่มาช่วยเรา ให้คู่สนทนาทางโทรศัพท์รับทราบและจดบันทึกไว้

4.กรณีรถจอดเสียตอนกลางคืน และ/หรือ ในที่เปลี่ยว สิ่งที่ดีและปลอดภัยที่สุด ก็คือ "อย่าลงจากรถ" ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ชายตัวใหญ่กล้ามโต หรือว่าเป็นผู้หญิงร่างเล็กอรชร เพราะจะเปิดโอกาสให้คนร้ายที่มักจะมากันไม่น้อยกว่า 2 คนรุมทำร้ายได้ด้วยอาวุธ(ไม่ใช่มือเปล่า) ให้ล็อคตัวเองอยู่ในรถยนต์ พร้อมกับเปิดไฟกระพริบฉุกเฉิน

5. หากมีคนมาช่วย ให้นั่งอยู่ในรถก่อน เปิดกระจกหน้าต่างลงนิดหนึ่ง(ไม่เกินหนึงคืบ-ประมาณ 4-5 นิ้วฟุต) เพื่อพูดคุย ให้แน่ใจว่าประตูรถทุกบานยังล็อคอยู่ อย่างเกรงใจคนที่มาช่วยแล้วลงไปพูดคุยกับเขา

6. กรณีที่ถูกจู่โจมประทุษร้าย ปล้น ให้ "บีบแตรค้างไว้นานๆ" เพื่อส่งเสียงสัญญาณ ขอความช่วยเหลือ และ มีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น เป็นการแจ้งเหตุผิดปกติต่อสาธารณชน ผู้คน บีบแตรค้างให้ส่งเสียงต่อเนื่องยาวนาน ไม่ต้องกลัวแบตเตอรี่หมดไฟ  แต่ต้องแน่ใจว่า เราเปิดสวิตช์ไฟกุญแจสตาร์ทรถเพื่อให้แตรรถทำงาน (รถบางยี่ห้อ/รุ่นจะบีบแตรไม่ดังถ้าไม่เปิดกุญแจสตาร์ท)

หมายเหตุ.

- โทรศัพท์มือถือ คือ อุปกรณ์แจ้งขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน ไม่ว่าจะถูกปล้นประทุษกรรม น้ำมันเชื้อเพลิงหมด รถเสีย ฯลฯ ดังนั้น ควรเก็บไฟแบตเตอรี่ไว้เพื่อการณ์นี้ด้วย อย่าเผลอเล่นเกม หรือแชตไลน์เสียหมด

- เครื่องยนต์ดับเสียกลางคัน สตาร์ทไม่ติด ก็สามารถใช้แตรสัญญาณได้

- ไฟกระพริบฉุกเฉิน(Hazard Lights) ตามหลักสากล มีไว้เพื่อ (1) รถเสีย (2)ฉุกเฉิน เช่น นำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล และ (3)เตือนรถอื่นว่ามีเหตุวิกฤตบนถนนข้างหน้า ดังนั้น ถ้าเราใช้ไฟกระพริบฉุกเฉินกันผิดและพร่ำเพรื่อ ก็เท่ากับฝึกนิสัยคนในประเทศเราให้ส่งสัญญาณกันผิดๆ

ที่มาจากเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/peerapong.kl/posts/10205536217279453?pnref=story