ผ้าไหมแห่งแรงศรัทธา ต่อลมหายใจของชุมชน
โครงการศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง เป็น 1 ใน 8 ของศูนย์ศิลปาชีพ ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
โดย...อณุสรา ทองอุไร ภาพ มูลนิธิปิดทองหลังพระ
โครงการศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง เป็น 1 ใน 8 ของศูนย์ศิลปาชีพ ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เกิดขึ้นภายหลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่บ้านเนินธัมมัง เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2536 และทรงรับทราบถึงปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรในพื้นที่ ซึ่งมีฐานะยากจน ประกอบอาชีพหลักคือการทำนา ผลผลิตที่ได้รับอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทำให้หัวหน้าครอบครัวต้องออกไปหางานทำต่างถิ่น เหลือแต่แม่บ้าน เด็ก คนชรา
พระองค์จึงได้ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการก่อสร้างศาลาศิลปาชีพขึ้น เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้สามารถประกอบอาชีพได้ โดยทรงส่งเสริมงานด้านศิลปาชีพให้แก่ราษฎรในพื้นที่และหมู่บ้านใกล้เคียง ทรงรับสมัครราษฎรที่สมัครใจเข้าเป็นสมาชิกศิลปาชีพเพื่อส่งเสริมให้มีอาชีพเสริมจะได้มีรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัวเพิ่มขึ้น จากสมาชิก 11 คนในช่วงเริ่มต้น ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 500 คน ปัจจุบันศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมังแบ่งการดำเนินงานของสมาชิกออกเป็น 3 กลุ่มงาน คือ กลุ่มทอผ้า กลุ่มแปรรูปกระจูด และกลุ่มปักผ้าด้วยมือ ซึ่งผลิตภัณฑ์ผ้าทอของกลุ่มจัดเป็นสินค้าโอท็อประดับ 4 ดาว
ร.อ.ทรงวุฒิ
ผ้ายกชั้นสูง-ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง
ผ้ายกเมืองนคร เป็นงานศิลปหัตถกรรมอันทรงคุณค่า สร้างชื่อเสียงให้เมืองนครศรีธรรมราช โดดเด่นด้านศิลปวัฒนธรรมมาตั้งแต่อดีต ความเชี่ยวชาญในฝีมือของช่างทอผ้าทั้งการออกแบบลวดลายและการทอยก แสดงเอกลักษณ์ที่ชัดเจนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแบบฉบับของช่างฝีมือชั้นสูงแห่งหนึ่งของไทย ความรู้ในการทอผ้ายกเมืองนครเป็นภูมิปัญญามรดกเฉพาะครอบครัวไม่ถ่ายทอดให้บุคคลทั่วไป ผู้ที่สามารถทอผ้ายกเมืองนครในปัจจุบันจึงลดน้อยลง ประกอบกับปัจจุบันผ้าที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมมีขายทั่วไปในท้องตลาด หาซื้อได้ง่ายและราคาถูก จึงก่อให้เกิดความซบเซาในการผลิตและการใช้ผ้าพื้นบ้าน ภูมิปัญญาการทอผ้านับวันจะสูญหายไป
“สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริให้มีการส่งเสริมและพัฒนาศิลปหัตถกรรมผ้าทอพื้นบ้าน เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวบ้านและยังเป็นการอนุรักษ์ผ้าทอพื้นบ้านแต่โบราณ อันเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติไทยให้คงอยู่ต่อไป ผ้าทอพื้นบ้านจึงได้รับการฟื้นฟูเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน โดยยังคงอนุรักษ์การทอผ้าพื้นบ้านและให้เกิดประโยชน์ทางวัฒนธรรมเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทำให้เกิดความนิยมในการใช้ผ้าพื้นบ้านเป็นเครื่องแต่งกายประจำถิ่น” ดร.สุดาวรรณ์ มีบัว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กล่าว
ผ้ายกเมืองนคร เป็นผ้าที่ได้รับการยกย่องมาแต่โบราณว่าสวยงามแบบอย่างผ้าชั้นดีเป็นที่ต้องการในหมู่ชนชั้นสูง จึงมีชื่อเสียงด้านฝีมือในการทอผ้ายกเป็นเลิศมาตั้งแต่ในอดีต เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย จนคนทั่วไปติดปากว่า ถ้าจะซื้อผ้าดีๆ จะต้องหาซื้อผ้ายกเมืองนครเอามาไว้ในครอบครอง ดังตัวอย่างการร้องเพลงกล่อมเด็ก ว่า
ไปเมืองคอนเหอ ไปซื้อผ้าลายทองสลับ
ซื้อมาทั้งพับ สลับทองห่างห่าง
หยิบนุ่งหยิบห่ม ให้สมขุนนาง
สลับทองห่างห่าง ทุกหมู่ขุนนางนุ่งเหอ
ผ้าทอผืนที่ 2 ถวายสมเด็จพระเทพฯ
นอกจากนี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 พรรษา ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทางกองศิลปาชีพสวนจิตรลดา จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง ทอผ้ายกเมืองนครที่ทอผสมเส้นไหมทองคำ โดยจะทอผ้าลายดอกพิกุลก้านแย่งสีม่วง ส่วนเชิงผ้าเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์เล็ก ซึ่งเป็นลายที่ประยุกต์มาจากลายผ้าโบราณ 2 ผืน ความยาว 5 เมตร เพื่อถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนฯ เพื่อให้พระองค์ตัดเป็นชุดฉลองพระองค์ใส่ไปในงานเปิดงานโขนพระราชทานในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งผ้าดังกล่าวต้องใช้เวลาทอเป็นเวลานานถึง 3 เดือน และใช้ช่างทอผืนเดียวกันถึง 5 คน
“ผ้ายกเมืองนครทอด้วยไหมทองนี้เคยทอถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ เป็นพระองค์แรกเมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว และไม่เคยถวายพระองค์ใดอีกเลย จนกระทั่งผืนนี้เป็นผืนที่ 2 ที่ทอถวายสมเด็จพระเทพรัตนฯ ซึ่งถือเป็นผ้าชั้นสูงที่ทอถวายพระราชวงศ์หรือใช้ในพระราชสำนักเท่านั้น นอกจากนั้นก็ทอเพื่อไปใช้การแสดงโขนหรือการแสดงระดับชาติต่างๆ” ร.อ.ทรงวุฒิ
วีระสุนทร หัวหน้าชุดประสานงานศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง กล่าว
การทอผ้ายกเมืองนครด้วยเส้นไหมจากทองคำ
ด้วยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพต้องการพัฒนาฝีมือและต้องการสร้างอาชีพเสริมให้เป็นทางเลือกอีกอาชีพหนึ่ง คือ การทอผ้ายกเมืองนครด้วยเส้นไหม เพื่อต้องการให้เป็นเอกลักษณ์ของเมืองนคร เพราะผ้ายกทองเป็นผ้าที่มีความประณีตสวยงาม และมีชื่อเสียงมากในอดีตที่ผ่านมาของเมืองนครโดยศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง
เป็นผ้าทอแบบผ้าราชสำนัก ที่มีความประณีตสวยงามแตกต่างไปจากผ้าชนิดอื่นๆ ตรงที่มีเชิง มีชั้น มีขนาบ มีสังเวียน และมีลายทอผ้า ประกอบกับนำวัตถุดิบที่มีคุณค่า มีราคาค่อนข้างสูงมาถักทอ เช่น เส้นไหมทอง ซึ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ ใช้เวลาในการทอ และใช้ผู้ทอจำนวนหลายคนในแต่ละผืน ทำให้มีคุณค่ามีราคาค่อนข้างสูง รูปแบบและลวดลายของผ้าทอได้มาจาก ผ้าเก่า ผ้าสมัยโบราณในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.นครศรีธรรมราช โดยคณะอาจารย์จากกองศิลปาชีพสวนจิตรลดา นำมาประยุกต์ใช้ให้มีความประณีตสวยงามยิ่งขึ้น และผ้าทอไม่มีจำหน่าย จะส่งกลับไปยังกองศิลปาชีพสวนจิตรลดาให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ คัดเลือกตัดเพื่อฉลองพระองค์ พร้อมกับให้ผู้แสดงละครโขน ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ตัดชุดทำการแสดง
การแต่งกายของคนไทยสมัยโบราณใช้กำหนดตำแหน่งและชนชั้นในสังคมมีแบบแผนการแต่งกายและการใช้ผ้าแตกต่างกันไปตามฐานันดรศักดิ์ ยศ และตำแหน่ง ผ้ายกเมืองนครเข้ามามีบทบาทในฐานะผ้าชั้นดี พระมหากษัตริย์พระราชทานผ้าแก่ข้าราชบริพาร ประเภทของผ้าและคุณภาพของผ้าที่พระราชทานจะแตกต่างกันตามบรรดาศักดิ์ ส่วนมากจะเป็นผ้าไหม ซึ่งการใช้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงฐานะในทางสังคม ใครมีฐานะอย่างไรสังเกตได้จากการใช้ผ้า โดยเจ้านายชั้นสูงจะใช้ผ้าไหม เพราะเป็นผ้าพิเศษที่ต้องใช้ฝีมือในการทอและการดูแลรักษามาก ชาวบ้านโดยทั่วไปใช้ผ้าฝ้าย เพราะมีขั้นตอนและกรรมวิธีในการผลิตไม่ซับซ้อนและไม่ต้องพิถีพิถันในการดูแลมากนัก