ขับรถลุยน้ำท่วม...ตั้งสติก่อนสตาร์ท
ฝนปีนี้เทกระหน่ำตกลงมาอย่างหนัก ตกนานติดต่อกันหลายวัน สภาพถนนเกือบทั่วกรุงภายหลังเกิดพายุคะนอง
โดย...ราตรีแต่ง
ฝนปีนี้เทกระหน่ำตกลงมาอย่างหนัก ตกนานติดต่อกันหลายวัน สภาพถนนเกือบทั่วกรุงภายหลังเกิดพายุคะนอง กลายเป็นต้องสัญจรบนถนนจมน้ำท่วมขังสูงกว่า 20 ซม. เป็นปัญหาของคนขับรถช่วงนี้เมื่อต้องขับรถลุยน้ำท่วม โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางได้ หรืออาจขับไปในถนนที่ไม่เคยคุ้น โดยไม่ได้ศึกษาเส้นทางมาก่อน และขณะนั้นน้ำมาโดยไม่ทันตั้งตัว จึงจำเป็นต้องขับรถลุยน้ำไปต่อ ในสถานการณ์วิกฤตคับขันเช่นนี้ควรทำอย่างไร? เพื่อป้องกันไม่ให้รถยนต์เสียหาย โดยตั้งสติ เตรียมตัวให้พร้อม และปฏิบัติดังต่อไปนี้
ถ้าจำเป็นต้องขับรถลุยน้ำ
เริ่มเตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกเดินทาง ควรเติมน้ำมันให้เต็มถัง เพื่อให้แรงดันจากน้ำมันไม่ให้เกิดไอน้ำภายในถังน้ำมัน และจุดสำคัญที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ คือ ระบบจ่ายไฟทั้งคอยล์ สายไฟ จานจ่ายไฟ และปลั๊กหัวเทียน หากเกิดปัญหากับระบบจ่ายไฟ ให้ใช้สเปรย์กันความชื้นฉีดป้องกัน
ประเมินความสูงของระดับน้ำ
วิธีที่ง่ายที่สุดให้สังเกตจากรถคันหน้า ถ้ารถเก๋งทั่วไปควรหลีกเลี่ยงระดับน้ำสูงกว่า 25 ซม. และต้องไม่เกิน 1 ฟุต (ประมาณครึ่งล้อ) หากยังขืนลุยต่อโอกาสเครื่องดับก็มีสูง รถกระบะ 40 ซม. รถระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ (4WD) 50 ซม. ระดับน้ำที่ท่วมจนถึงไฟหน้าเป็นระดับน้ำอันตรายที่สุด เป็นพื้นที่สัญจรขับรถยนต์ด้วยความยากลำบาก หากยังฝืนขับไปต่อหรือจอดอยู่ในบริเวณน้ำท่วมนานๆ ภายในห้องโดยสารจนถึงเบาะนั่งห้องเกียร์และเฟืองท้ายจะถูกท่วมมิด ถ้าไม่มีอะไรที่พอวัดระดับน้ำได้ วิธีดีที่สุดคือต้องให้คนนั่นแหละออกไปลุยน้ำเช็กระดับความสูง
คนขับรถช่วงนี้เมื่อต้องขับรถลุยเส้นทางไม่คุ้น ต้องลดความเร็วลง เพราะหากขับรถมีความเร็วผ่านบริเวณน้ำขัง รถจะเบาขึ้นและอาจเสียการทรงตัวได้อันตรายมาก คนขับอาจจะคุมรถไม่อยู่ โดยควบคุมความเร็วไม่ควรเกิน 60-80 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วที่ขับกันตามปกติ โดยในระดับน้ำท่วมผิวถนนและระดับผิวน้ำสูงถึงท้องรถเป็นระดับที่ยังพอคุมสถานการณ์ขับรถต่อไปได้ไม่ยาก ควรขับเพียง 40 กม./ชม.เท่านั้น ก็เป็นการป้องกัยอุบัติเหตุได้ ถ้าต้องเผชิญกับถนนน้ำท่วมลึกกว่านี้ อย่าเสี่ยงอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึงที่อาจรออยู่ข้างหน้า จำเป็นอย่างยิ่งต้องหลีกเลี่ยง โดยกลับรถเพื่อเปลี่ยนเส้นทาง หรือหาที่จอดรถ ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึงไว้ก่อน แล้วหายานพาหนะอื่นไปแทนปลอดภัยกว่า
ปิดแอร์รถยนต์
ถ้าจำเป็นต้องขับรถลุยน้ำ ห้ามเปิดแอร์เด็ดขาด! โดยเฉพาะสาวๆ ที่ไม่ถนัดเรื่องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า หรือแก้เครื่องยนต์ที่ดับสนิท ควรท่องไว้ไม่ให้พัดลมแอร์ทำงาน การขับรถลุยน้ำท่วมโดยแอร์ยังทำงาน พัดลมแอร์หน้ารถจะทำงาน พัดเอาละอองน้ำให้กระจายไปทั่วห้องเครื่องยนต์ เพราะนี่เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เครื่องยนต์รถดับ ถ้าจำเป็นต้องลุยกันจริงๆ ปิดแอร์ เปิดกระจกระบายอากาศดีกว่า
อย่าเร่งเครื่องยนต์
การขับรถลุยน้ำท่วม โดยเร่งเครื่องเพื่อดันน้ำออกจากท่อไอเสียขณะขับลุยน้ำ เป็นการเข้าใจที่ผิดอย่างมาก เพราะยิ่งเร่งเครื่องจะทำให้เครื่องยนต์รถร้อนจะทำให้พัดลมระบายความร้อนของเครื่องยนต์ทำงาน จะทำให้เกิดคลื่นน้ำพัดมาถึงเครื่องยนต์ได้ อีกเหตุผลไม่ควรเร่งเครื่องให้รอบสูง เพราะทำให้ความร้อนสูง ใบพัดระบายความร้อนก็จะทำงาน ไม่ต้องห่วงว่าน้ำจะเข้าทางท่อไอเสีย ต่อให้น้ำท่วมท่อไอเสีย แล้วสตาร์ทเครื่องแบบเดินเบา แรงที่ดันออกมาก็เพียงพอที่จะดันน้ำในท่อออกมาได้อย่างสบายๆ ต่อให้น้ำท่วมมิดท่อไอเสียแล้วสตาร์ท รถยังติดแน่นอนสำหรับเครื่องหัวฉีดทั่วไป
ในวันฝนกระหน่ำน้ำท่วมเครื่องดับกลางน้ำ (จนได้) ให้หาคนช่วยย้ายรถไปตำแหน่งที่น้ำไม่ท่วม แล้วอย่าคิดสตาร์ทรถเด็ดขาด เพราะยิ่งสตาร์ทน้ำยิ่งเข้าระบบเครื่องยนต์จะพังหนักไปกันใหญ่
ขับรถช้าๆ ใจเย็นๆ
เพื่อหลีกเลี่ยงการตกหลุมที่มองไม่เห็น โดยสังเกตจากรถคันหน้าและพยายามจำแนวถนนไว้ ขับรถลุยน้ำท่วมให้ใช้ความเร็วสม่ำเสมอและต่ำสุด ความเร็วไม่ควรเกิน 1‚500 รอบ/นาที (โดยเฉพาะน้ำท่วมท่อไอเสีย) ใช้เกียร์ต่ำ เกียร์ธรรมดาใช้เกียร์ 1-2 ก็พอเมื่อต้องลุยน้ำ ส่วนเกียร์ออโต้ใช้ L ในการขับเคลื่อนช้าๆ ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าหยุด หรืออย่าเร่งเร็ว ขณะขับลุยน้ำให้รักษาระยะห่างคันหน้าให้มาก เพราะระบบเบรกแช่น้ำอยู่ประสิทธิภาพต่ำลง และถ้าพ้นน้ำแล้วก็ให้ขับช้าๆ และเบรกเป็นช่วงๆ เพื่อให้ผ้าเบรกแห้ง ถ้าดิสเบรกจะแห้งเร็ว แต่ถ้าดรัมเบรกจะแห้งช้ากว่า ระวังข้อนี้ให้ดี ถึงจุดหมายปลายทางแล้วอย่าพึ่งดับเครื่องยนต์ เพื่อไล่ความชื่นในห้องเครื่องยนต์และไล่น้ำออกจากหม้อพักไอเสียออกให้หมด
และทางที่ดีที่สุด รถไม่ควรขับลุยน้ำเพราะเครื่องยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกกับน้ำ เลือกใช้รถโดยสารสาธารณะจอดรถไว้ที่บ้านดีกว่าเลือกขับฝ่าออกไปตะลุยน้ำท่วมรอการระบายในกรุงช่วงนี้