ณราดา ดิษยบุตร โฮมสกูลในความทรงจำ
เพราะมองว่าโลกคือห้องเรียนที่ดีที่สุด ครอบครัวดิษยบุตร จึงวางแผนการเรียนให้ลูกๆ
โดย...กองทรัพย์ ภาพ ณราดา ดิษยบุตร
เพราะมองว่าโลกคือห้องเรียนที่ดีที่สุด ครอบครัวดิษยบุตร จึงวางแผนการเรียนให้ลูกๆ ด้วยการออกเดินทางในโลกที่ต้องพบผู้คนหลากหลาย เป้าหมายหนึ่งคือเพื่อให้พวกเขาได้ซึมซับความหลากหลายของชีวิตและเรียนรู้จากชีวิตจริง ดังเช่น แปม-ณราดา ดิษยบุตร ที่เพิ่งจะอายุครบ 16 ปีมาหมาดๆ เธอเป็นนักเรียน ม.4 แบบโฮมสกูล แต่มากไปกว่านั้น แปมเป็นนักศึกษาพรีดีกรีปี 1 ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นกีฬาปีนผาทีมชาติไทย และล่าสุดกับการเป็นนักเขียน เธอมีสารคดีที่เขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์หลังเกิดแผ่นดินไหวในเนปาล ในชื่อเรื่อง “แผ่นดินสะท้าน หัวใจสะเทือน” ซึ่งรายได้จากการขายหนังสือครึ่งหนึ่ง เธอตั้งใจจะนำไปบูรณะพระมหาเจดีย์โพธินาถ ศาสนสถานสำคัญของชาวพุทธในเนปาล จุดประกายทั้งหมดของเด็กวัยรุ่นคนนี้มีจุดเริ่มต้นจาก “โฮมสกูล”
เมื่อโรงเรียนไม่ใช่คำตอบ
แม้ว่าโรงเรียนที่เคยเรียนจะเป็นโรงเรียนทางเลือกอยู่แต่เดิม (โรงเรียนเพลินพัฒนา) แต่แปมเล่าว่า คุณพ่อคุณแม่มีความตั้งใจอยากจะให้เรียนแบบโฮมสกูลตั้งแต่แรก และเมื่อมาหารือในครอบครัวซึ่งประกอบด้วยแปม และน้องสาวอีก 2 คน ทุกคนตกลงว่าจะลาออกจากโรงเรียนเพื่อเข้าเรียนแบบโฮมสกูล “ก่อนจะย้ายมาเรียนแบบโฮมสกูลเต็มรูปแบบ เราไม่ได้ตัดสินใจทีเดียว มีการพูดคุยหารือกันหลายรอบมาก เพราะแปมนึกไม่ออกว่าจะออกจากโรงเรียนหรือจะอยู่ต่อดี เพราะถ้าอยู่ต่อก็ยังมีเพื่อน เรานึกภาพไม่ออกว่าออกมาแล้วจะเป็นยังไง แต่ถ้าออกมาก็น่าจะได้เปิดโลกข้างนอก ถ้าไม่ออกตอนนั้นก็น่าจะช้าแล้ว สุดท้ายก็เลยออกมาตอนจบ ม.1
“คุณพ่อคุณแม่ให้แปมตัดสินใจเอง เพียงแต่ท่านบอกว่าถ้าออกมาเรียนแบบนี้แล้วจะได้ทำอะไรบ้าง และในโรงเรียนได้ทำอะไรบ้าง เราก็เอามาเทียบกัน จริงๆ ข้อดีมีเท่าๆ กัน แต่สิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจออกนอกระบบ คือแปมรู้สึกว่าเราอยู่โรงเรียนเพราะเพื่อนอย่างเดียว แต่สิ่งที่เราอยากเรียนรู้อยู่นอกห้องเรียนหมดเลย ก็เลยตัดสินใจง่ายขึ้น แต่ปัญหาคือวันที่ออกมาจากโรงเรียนวันแรก ก็นั่งเอ๋อ! ไม่รู้จะทำอะไร ไม่รู้จะเรียนอะไร เป็นแบบนี้ประมาณหนึ่งเดือน กว่าจะปรับตัวได้ ช่วงแรกๆ ร้องไห้ อยากกลับไปโรงเรียนบ้าง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้กลับ เพราะเราเสียดายโอกาสที่ตัดสินใจไปแล้ว” แปม ย้อนถึงบรรยากาศที่เธอร้องไห้คิดถึงเพื่อนในโรงเรียน
เหตุการณ์ดีบ้างไม่ดีบ้างผ่านมาพิสูจน์จิตใจเด็กหญิงอายุ 13 อยู่นานกว่าขวบปี กว่าทุกอย่างจะเข้าที่ หลังจากตั้งตัวได้เธอกับน้องก็เริ่มเรียนในสิ่งที่แม่เป็นคนออกแบบการเรียนให้ โดยให้คุณครูมาสอนที่บ้าน เรียนตามตำรา ซึ่งบ้านดิษยบุตรลงทะเบียนกับโรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งจะต้องส่งแผนการสอน และเชื่อมกับการประเมิน 80% พ่อแม่ประเมิน ส่วน 20% โรงเรียนประเมิน ซึ่งเกรดออกมาก็จะเป็นของโรงเรียนรุ่งอรุณ “ช่วงแรกๆ ยังไม่ค่อยได้ออกไปทำกิจกรรม เพราะยังต้องเรียนตามตำราก่อน แค่ย้ายมาอยู่บ้าน ต้องเรียนในวิชาที่เราไม่ได้ชอบอยู่ เราก็เลยอยากกลับโรงเรียน แต่ระยะหลังแปมมีโครงงานที่ต้องทำ จึงได้เจอเพื่อนที่เรียนโฮมสกูลเหมือนกัน ได้ออกไปทำกิจกรรมเยอะขึ้น ได้เพื่อนที่มีความสนใจชุดเดียวกัน”
นักศึกษาพรีดีกรีมีเป้าหมายโอลิมปิก
สาวน้อยวัย 16 ค้นพบตัวเองจากวิชาที่ถนัด เธอพบว่าชอบเรียนภาษาอังกฤษ ศิลปะ ดนตรี และกีฬา สิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้เธอมาถึงตัวแทนทีมชาติไทยในกีฬาปีนผาก็คือครอบครัว “อาจจะเพราะว่าบ้านเราเป็นบ้านกิจกรรมเยอะตั้งแต่ไหนแต่ไร ถ้ามีเวลาคุณพ่อคุณแม่จะพาลูกๆ ออกเดินทาง ตอนเด็กจะพาไปตามอุทยานแห่งชาติ ก่อนจะมาเรียนระบบโฮมสกูล ก็มีโอกาสได้ไปต่างประเทศมาบ้าง ไปญี่ปุ่นทริปแรก ส่วนทริปที่เหลือ ทั้งลาว ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย อิหร่าน และเนปาล ไปหลังจากออกจากโรงเรียนทั้งหมด”
การเดินทางเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้แปมรู้ว่าตัวเองควรเพิ่มเติมอะไร และมีเป้าหมายไปทางไหน เธอจึงมุ่งเอาดีไปที่กีฬาปีหน้าผา ซึ่งทำได้ดีตั้งแต่ ม.1 เริ่มจากเป็นนักกีฬาโรงเรียน เมื่อออกจากโรงเรียนก็ใช้ทุนของตัวเอง ไปแข่งระดับประเทศ และแข่งขันระดับนานาชาติในนามทีมชาติไทย “2 ปีที่ผ่านมา รายการต่างประเทศรายการแรกคือที่ฮ่องกง ลองแข่งดูได้ที่ 6 จาก 8 คน รายการต่อมาคือที่มาเลเซีย ก็ไม่ได้เข้ารอบ แต่เราก็นำประสบการณ์ตอนนั้นมาพัฒนาตัวเอง ต่อมาคือแข่งที่สิงคโปร์ ได้อันดับที่ 2 และไปแข่ง Asian Youth Champioship 2016 ที่อิหร่าน เป้าหมายของแปมคือการไปแข่งขันโอลิมปิก สิ่งที่แปมต้องทำตอนนี้คือการไปแข่งขันเพื่อเก็บคะแนน และพัฒนาฝีมือไปเรื่อยๆ เพื่อให้สมศักดิ์ศรีคำว่าตัวแทนประเทศไทย แปมคิดว่ากีฬาทำให้แปมเปลี่ยนไป มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และเห็นว่ากีฬาปีนผาของบ้านเราต้องพัฒนาอะไรอีกบ้าง”
เมื่อวางเป้าหมายของตัวเองไว้ที่โอลิมปิกเกมส์ แปมจึงวางแผนการเรียนของตัวเองเพื่อที่จะสามารถซ้อม และเดินทางไปแข่งต่างประเทศได้อย่างไม่ต้องกังวล นั่นคือการเข้าเรียนพรีดีกรี (การพรีดีกรี คือการเรียน ป.ตรีล่วงหน้า โดยใช้วุฒิการศึกษา ม.3 และกำลังศึกษาอยู่ ม.ปลายหรือเทียบเท่า โดยเรียนวิชา ตามหลักสูตรของคณะและสาขาวิชาที่ตั้งใจจะศึกษา โดยยังไม่ระบุคณะ ซึ่งตารางการเรียนและสอบเหมือนกันกับนักศึกษาภาคปกติทุกประการ สะสมหน่วยกิตไว้ก่อน เมื่อจบ ม.6 หรือสูงกว่า สามารถสมัครเป็นนักศึกษาภาคปกติ โดยเทียบโอนหน่วยกิตที่สะสมมา แล้วเรียนต่อจนครบตามหลักสูตรก็สำเร็จการศึกษา)
“แปมอยากเรียนสาขาจิตวิทยา เราอยากเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ อยากคุยกับน้องๆ รู้เรื่อง (หัวเราะ) ที่ตั้งใจเรียนพรีดีกรี เพราะแปมคิดว่าถ้าเรียนจบประมาณเพื่อนรุ่นเดียวกันจบปี 1 แปมจะจบปริญญาตรีพอดี เราก็จะมีเวลาไปซ้อมปีนผาจริงจัง ถ้าเราต้องเดินทางเพื่อไปแข่งขัน ถ้าเรียนจบแล้วก็ไม่ต้องมีกังวล” สาวน้อยวัย 16 เล่าถึงแผนการในชีวิตของเธอ
เนปาล ก้าวเล็กๆ สู่นักเขียน
นอกจากการได้เป็นนักกีฬา เป็นนักศึกษา และนักเรียนนอกห้องเรียน แปมยังเพิ่มประสบการณ์การเป็นนักเขียนหน้าใหม่ให้ตัวเอง แปมบันทึกเรื่องราวประสบการณ์แปลกใหม่ที่ได้พบเจอ เมื่อได้ไปเยือนดินแดนแห่งหุบเขากาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล ในปี 2558 การเดินทางไปเยือนประเทศเนปาลหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวไม่กี่เดือน ที่นี่เป็นห้องเรียนชีวิตห้องใหญ่ และหนึ่งในบทเรียนสำคัญที่ตอนนี้ได้กลายมาเป็นหนังสือ “แผ่นดินสะท้าน หัวใจสะเทือน” แปมบันทึกเรื่องราวด้วยตัวหนังสือ และบันทึกภาพที่สะเทือนหัวใจไว้แทบจะทุกก้าว โดยตั้งใจว่าประสบการณ์ของเธอในเนปาล จะเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อนมนุษย์ในเนปาล สิ่งที่แปมถ่ายทอดในหนังสือไม่เพียงเป็นสภาพบ้านเมืองภายหลังภัยพิบัติ แต่ยังมีมุมมองสดใสในแบบเด็กวัยรุ่นที่มีต่อโลกที่เข้าอกเข้าใจและเปี่ยมด้วยความเห็นใจเพื่อนร่วมโลก
“หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ก็ปรึกษากันในครอบครัว ตอนแรกก็ลังเลว่าจะเดินทางไปดีหรือเปล่า แต่สุดท้ายเราก็ตั้งใจเดินทางตามกำหนดเดิม คือหลังจากแผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อกสงบแล้ว ตามแผนคือ 13 วัน ไปพักที่บ้านเพื่อนแม่ที่เนปาล เราวางแผนว่าจะทำหนังสือก่อนจะไป พอไปถึงเนปาลแปมก็เริ่มเขียนบันทึกระหว่างเดินทางทันที ให้น้องถ่ายรูปกับพ่อ เราก็เขียนไปเรื่อยๆ จะได้รายละเอียดและวัตถุดิบทุกวัน สดทุกเหตุการณ์ เก็บรายละเอียดบรรยากาศ ซึ่งสุดท้ายเราก็ไม่คาดคิดว่าตัวเองจะเป็นคนเก็บรายละเอียดเก่งเหมือนกัน”
ปักตะปูร์ (Bhaktapur) เขตหนึ่งในหุบเขากาฐมาณฑุที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด เป็นสถานที่แห่งความทรงจำของพ่อกับแม่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แปมบอกว่า จากภาพถ่ายของพ่อที่เธอเคยเห็นสถานที่แห่งนี้เคยสวยมาก แต่สิ่งที่ครอบครัวดิษยบุตรไปพบไม่ต่างจากเมืองร้าง สภาพบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยซากหักพัง เดินไปมีคนให้เห็นบ้าง เมืองที่อยู่ในสภาพขาดแคลนน้ำมันและสิ่งอำนวยความสะดวก ยิ่งเมื่อผ่านไปในซอกซอยเล็กๆ ยิ่งทำให้เห็นความยากลำบากของผู้คนที่นั่น
“แปมเน้นจดบันทึกบรรยากาศความเสียหายที่เราไปเจอ เพราะการถ่ายทอดความรู้สึก ณ ตอนนั้นแปมคิดว่าทำให้ได้อารมณ์ร่วมในหนังสือ ภาพมากมายที่เราเห็น ทั้งสิ่งก่อสร้างที่พังถล่มลงมาแล้ว บางบ้านเขาเอาไม้มาค้ำบ้านที่ถล่มกลางถนน ซึ่งเรามองว่าอันตราย แต่ชาวบ้านก็นำมาค้ำ เราก็ต้องระวังว่าจะหล่น ก็ต้องเดินอย่างระมัดระวัง
“ได้มีโอกาสเจอคนท้องถิ่น ได้พูดคุยกับเจอกุมารี (Living God) ของเนปาล เขาเป็นกุมารีของเขตปักตะปูร์ ที่พ้นตำแหน่งเพราะเพิ่งอายุครบ 18 ปี เราจึงมีโอกาสได้พบ เพราะโดยปกติเนปาลจะไม่อนุญาตให้กุมารีพบเจอบุคคลภายนอก เพื่อนคนนี้เล่าให้ฟังว่ากุมารีจะไม่ได้เรียนหนังสือ เท้าห้ามแตะพื้น ห้ามออกนอกประเทศ ห้ามออกไปไหน อนุญาตให้อยู่แต่ในบ้านได้อย่างเดียว แต่สำหรับกุมารีของเขตปักตะปูร์ ค่อนข้างยืดหยุ่นเพราะเขาได้เรียนหนังสือ และมีเพื่อนบ้าง และเขาไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นเทพเจ้าด้วย”
จากการเดินทางไปเจอโลกภายนอก ทำให้แปมคิดได้ว่าเงินของเธอบางส่วนน่าจะมีประโยชน์อะไรมากกว่าการเก็บไว้ใช้เอง “เราเคยไปที่นั่นมาแล้ว เราเคยไปเรียนศิลปะ คือการวาดภาพทังก้า คือภาพวาดแทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเปรียบเสมือนพระพุทธรูป เรียนอยู่ประมาณ 4-5 วัน ระหว่างที่เรียนก็เห็นร่องรอยของยอดเจดีย์หักลงมา เขากำลังล้อมเพื่อบูรณะและกำลังรับเงินบริจาค แปมกับน้องได้บริจาคเมื่อครั้งที่เดินทางไปส่วนหนึ่งแล้ว
ดังนั้น จึงตั้งใจว่าเมื่อหนังสือเสร็จ เราจะนำเงินจากการขายหนังสือไปสมทบเพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนและนำไปบูรณะมหาเจดีย์โพธินาถ แหล่งรวมศรัทธาของชาวเนปาลที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เราเชื่อว่าหากการบูรณะเสร็จสิ้น จะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยว และผู้แสวงบุญเดินทางกลับไปประเทศเนปาลมากขึ้น เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องที่ยวของประเทศได้ยั่งยืนมากกว่าเงินบริจาค และส่วนหนึ่งก็เก็บเป็นทุนสำหรับไปแข่งขันระดับนานาชาติของตัวเอง”
แปม บอกว่า โฮมสกูลพาเธอและน้องๆ ออกเดินทางมาไกล นอกจากการสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนนอกโรงเรียน แต่สำคัญไปกว่านั้นคือเธอได้เรียนรู้การทำงานแบบผู้ใหญ่ ได้วางแผนชีวิตตัวเอง และได้ช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อนในแบบของเธอเอง
“แปมรู้สึกคิดถูกว่าเราออกมาเดินทางในแบบโฮมสกูล ถ้าไม่เรียนแบบนี้ ทริปสุดท้ายก็น่าจะยังเป็นญี่ปุ่นอยู่เหมือนเดิม เพราะก็คงยังเรียนในโรงเรียนอยู่ ตอนนี้พ่อแม่น้องๆ เราอยู่ด้วยกันเกือบตลอด 24 ชั่วโมง เราจึงเห็นพ่อแม่มีบทบาทกับเรามากขึ้น และน้องก็รักกันมากขึ้น แม่เข้าใจเรามากขึ้น เวลามีปัญหาเราสบายใจที่จะบอกแม่ได้” นี่เป็นเพียงขวบปีที่สามของโฮมสกูลของแปม แต่เธอบอกว่าเป้าหมายและการเดินทางของสาวน้อยคนนี้ยังมีให้ติดตามอยู่เรื่อยๆ ซึ่งหากอยากสัมผัสอักษรเรื่องราวของเนปาลหลังแผ่นดินไหวในมุมมองของเด็กวัย 16 ติดตามได้ที่ www.facebook.com/แผ่นดินสะท้าน-หัวใจสะเทือน