posttoday

‘เมนูไข่ปูอันโอชะ’ จุดเริ่มต้นหายนะท้องทะเล

24 ธันวาคม 2559

ช่วงปลายปียาวไปถึงเดือน ก.พ. เหล่านักชิมปูจะได้ลิ้มลองเนื้อปูอันโอชะที่มาพร้อมกับไข่ปูสีส้มแดงมันวาว

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

ช่วงปลายปียาวไปถึงเดือน ก.พ. เหล่านักชิมปูจะได้ลิ้มลองเนื้อปูอันโอชะที่มาพร้อมกับไข่ปูสีส้มแดงมันวาว เรียกได้ว่าเป็นสวรรค์ของนักชิม แต่ทว่าหลายคนคงไม่รู้ว่าการบริโภคไข่ปูทั้งในและนอกกระดองนั้น หมายถึงการลดจำนวนปริมาณลูกปูที่กำลังเกิดสู่ท้องทะเลอีกกว่าล้านชีวิต โดยประเด็นวิกฤตนี้ทำให้ชาวประมงบางกลุ่มพยายามรณรงค์ให้เลิกกินไข่ปู เพราะถือเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศท้องทะเลในอนาคต

วิชา นรังศรี ประธานมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำ และที่ปรึกษาธนาคารปูม้า ชุมชนหาดเจ้า-แหลมผักเบี้ย สะท้อนปัญหาว่า ปัจจุบันสถานการณ์การหาปูม้ามีแต่ทรงกับทรุด เพราะทรัพยากรปูในทะเลมีมากเท่าไหร่ ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค เห็นได้ชัดว่าตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ชาวประมงจับปูม้าได้ลดน้อยลงทั้งจำนวนและขนาดมากกว่าครึ่งหากเทียบกับเมื่ออดีต โดยปัจจุบันการออกทะเลจับปูม้าประมาณเดือนละ 15 วัน ครั้งหนึ่งจับได้ไม่เกิน 10 กิโลกรัม หรือบางวันก็จับไม่ได้เลย

สาเหตุที่ทำให้จำนวนปูลดลงและหายากขึ้น เชื่อว่ามาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัญหาจากภาพรวมระบบนิเวศท้องทะเลเปลี่ยนแปลงไป และฝีมือมนุษย์ที่ใช้อวนเป็นเครื่องมือประมงในการจับปู เพื่อตอบสนองความนิยมการบริโภคปูม้าที่มีจำนวนมาก หรือเรียกได้ว่าเป็นการบริโภคปูผิดประเภทโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือ กินแม่ปูทั้งที่ยังมีไข่ในและนอกกระดองกันมาตลอด ทำให้ปัจจุบันพบว่าการฟื้นฟูทรัพยากรปูไม่สมดุลต่อความต้องการของมนุษย์

‘เมนูไข่ปูอันโอชะ’ จุดเริ่มต้นหายนะท้องทะเล

 

ที่ปรึกษาธนาคารปูม้า อธิบายว่า ปูจะมีตัวผู้กับตัวเมีย แต่คนส่วนใหญ่นิยมกินปูตัวเมียเพราะมีไข่แน่นน่ารับประทาน ซึ่งในธรรมชาติวงจรชีวิตปูม้าอาศัยอยู่ในทะเล ส่วนปูทะเลที่ตัวใหญ่ๆกระดองหนาจะหากินอยู่ตามป่าชายเลนเป็นหลัก แต่ก็สามารถเจอได้ในทะเล ส่วนพฤติกรรมการออกไข่ของปูม้าจะออกได้ตลอดทั้งปี เริ่มตั้งแต่อายุ 3 เดือนก็เข้าสู่วัยผสมพันธุ์ โดยการออกไข่ต่อครั้งเฉลี่ยประมาณ 5-7 แสนฟอง ส่วนฤดูกาลวางไข่ผสมพันธุ์ของปูทะเลอยู่ในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นจากความต้องการบริโภคปูที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีกำลังการจับปูก็เพิ่มมากเช่นกัน ซึ่งการบริโภคไข่ปูทั้งในและนอกกระดองนี้ ถือเป็นการบริโภคที่สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรทางทะเลอย่างรุนแรง เพราะแม่ปูหนึ่งตัวจะออกไข่ 5-7 แสนตัว เมื่อถูกนำมากินจะเท่ากับหยุดวงจรการเกิดลูกปูอีกจำนวนมหาศาล ฉะนั้นจึงไม่อยากให้ผู้บริโภครับประทานปูลักษณะนี้ เพราะหากสังคมต้องการฟื้นฟูทรัพยากรปูในท้องทะเลให้กลับมา ควรเริ่มแก้ที่ความต้องการของมนุษย์ก่อน

“จะให้หาปูตามความต้องการของตลาดเท่าไหร่คงไม่พอ เพราะเมื่อขายได้ การที่เจอปูตัวใหญ่ในทะเลก็ไม่มี เนื่องจากความต้องการปัจจุบันเอาหมดทุกขนาด นี่จึงเป็นเหตุผลที่ไม่เหลือปูขนาดใหญ่ไปถึงวัยเจริญพันธุ์แบบสมบูรณ์”

วิชา เรียกร้องว่า การแก้ปัญหานี้ไม่อยากให้ผู้บริโภคเลือกซื้อหรือกินปูที่มีไข่ เพราะหากไม่มีความต้องการซื้อ แม่ค้าจะไม่นำมาขาย และชาวประมงก็จะยอมปล่อยปูที่กำลังมีไข่ลงสู่ท้องทะเลไป หรือนำมาพักเพียง 1-2 วัน ภายหลังแม่ปูสลัดไข่ออกค่อยนำมาขาย และปล่อยไข่ปูลงสู่ทะเล ซึ่งตรงนี้จะช่วยทำให้ทรัพยากรไม่ถูกใช้ไปอย่างไร้ค่า และทำให้ทรัพยากรในทะเลกลับมาได้ระดับหนึ่ง มิเช่นนั้นอาจเข้าสู่ขั้นวิกฤตได้ในอนาคต เนื่องจากปัญหาของปูเป็นเพียงหนึ่งปัญหาสะท้อนจากทะเล แต่ถ้าหากผู้บริโภคเลี่ยงการกินสัตว์ทะเลช่วงฤดูวางไข่ ก็เชื่อว่าจะทำให้ทรัพยากรในทะเลกลับมายั่งยืนได้อีกครั้ง

‘เมนูไข่ปูอันโอชะ’ จุดเริ่มต้นหายนะท้องทะเล