posttoday

มรณัสสติ วัคซีนป้องกันการฆ่าตัวตาย

05 มกราคม 2560

ต้องยอมรับว่าอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยเราพุ่งสูงขึ้น จากข้อมูลเมื่อต้นปี 2559 อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยอยู่ที่ 6 คน/แสนประชากร หรือประมาณ 3,000 คน/ปี

โดย...ชลญ่า ภาพ... รอยเตอร์ส

ต้องยอมรับว่าอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยเราพุ่งสูงขึ้น จากข้อมูลเมื่อต้นปี 2559 อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยอยู่ที่ 6 คน/แสนประชากร หรือประมาณ 3,000 คน/ปี พุ่งขึ้นเป็นอันดับ 57 ของโลก และพอย่างเข้าสู่ปี 2560 ก็มีเหตุคนฆ่าตัวตายเป็นรายแรก เป็นสาววัยเบญจเพสยิงตัวตายในวันปีใหม่ นับเป็นเรื่องเศร้าและชวนหดหู่ เพราะเธออายุยังน้อยแถมยังมีลูกน้อยวัยแค่ขวบเศษอีกด้วย เฮ้อ! คนเราทำไมคิดสั้นอย่างนี้

วันนี้จึงนำเสนอวิธีการป้องกันการฆ่าตัวตายที่บางคนอาจคุ้นเคยแต่หลายคนอาจยังไม่รู้จักมาก่อน แต่กล่าวได้ว่าเป็นวิธีการป้องกันการฆ่าตัวตายที่ได้ผลอย่างยั่งยืน เราเรียกวิธีนี้ว่า การเจริญมรณานุสสติ คือ การพิจารณาถึงความตายอยู่เสมอ เพื่อความไม่ประมาทเผลอสติคิดทำร้ายหรือฆ่าตัวเอง

พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ กล่าวไว้ในหนังสือมรณสติ ซึ่งจัดพิมพ์โดยชมรมกัลยาณธรรม ว่า มรณานุสสติเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวพุทธ และควรน้อมนำมาประพฤติมาปฏิบัติด้วยการพิจารณาอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน โดยการเจริญมรณัสสตินั้นสามารถทำได้หลายทาง

1.การซ้อมตายหรือฝึกตาย

วิธีคือก่อนที่เราจะหลับให้ลองซ้อมตายดู โดยการนอนราบกับพื้น จากนั้นทำใจให้ผ่อนคลาย ปล่อยวางเรื่องที่กังวลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรืออนาคต แล้วลองทำใจให้สงบ พิจารณาหรือน้อมนึกไปว่า คืนนี้อาจเป็นคืนสุดท้ายของเรา อีกไม่กี่นาทีข้างหน้าร่างนี้ก็จะไม่มีลมเข้าออก ที่เคยเคลื่อนไหวได้ก็จะแน่นิ่ง ที่เคยอุ่นก็เริ่มเย็น ที่เคยยืดหยุ่นได้ก็เริ่มแข็ง

ในขณะที่กำลังจะหมดลม ขอให้นึกระลึกถึงสิ่งต่างๆ ที่เรามีอยู่ เช่น ทรัพย์สมบัติ เป็นต้น พิจารณาว่าเมื่อเราต้องตาย ทรัพย์สมบัติที่อุตส่าห์แสวงหาสะสมมา สิ่งมีค่าที่เราหวงแหนรักษาไว้ ของรักของหวงที่เราไม่อยากให้ใครมาแตะต้อง ทั้งหมดนี้เราจะเอาไปไม่ได้เลยแม้แต่อย่างเดียว จะไม่เหลืออะไรที่เป็นของเราเลย ไม่ว่าเราจะรักหรือหวงแหนแค่ไหน ทั้งหมดนี้จะต้องตกเป็นของบุคคลอื่น

งานการก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราสิ้นลม งานการที่อุตส่าห์เพียรทำมา หรือที่ยังคั่งค้างอยู่จะต้องทิ้งหมด ไม่สามารถจะทำอะไรได้อีกแล้ว ลูกหลานที่รัก ที่เราพาไปโรงเรียนทุกวัน ที่ได้พบทุกเช้า ที่เราแสนรักแสนห่วง เราจะต้องพรากจากเขา เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่แก่เฒ่าเราจะต้องพรากจากเขาเหล่านั้นไปหมด ไม่สามารถที่จะดูแลหรือตอบแทนบุญคุณได้อีกต่อไป

ให้ลองพิจารณาทีละเรื่องทีละอย่าง เช่น ทรัพย์สมบัติ งานการ ลูกหลาน พ่อแม่ สามีภรรยา มิตรสหาย และผู้คนที่เรารัก ที่มีความหมายต่อชีวิตของเรา ทั้งหมดนี้จะถูกพรากด้วยน้ำมือของความตาย ให้เราพิจารณาแต่ละอย่างดู แล้วถามใจเราดูว่า เราพร้อมที่จะจากทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไปไหม เราพร้อมจะทิ้งงานการไว้ข้างหลังหรือไม่ และเราพร้อมที่จะจากลูกหลาน พ่อแม่ และคนรักไปหรือเปล่า

พระไพศาล กล่าวว่า การพิจารณาอย่างนี้มีประโยชน์มากเพื่อทำให้รู้ว่าเราพร้อมที่จะปล่อยวางแค่ไหน พร้อมที่จะเผชิญกับความพลัดพรากสูญเสียหากเกิดขึ้นมาแบบฉับพลันทันทีหรือไม่ นั่นคือการพิจารณาเพื่อดูใจของเราเพื่อตรวจสอบจิตใจตัวเอง ถ้าหากยังไม่พร้อมเราย่อมรู้สึกกลัว รู้สึกตื่นตระหนก รู้สึกอาลัย นั่นแสดงว่า เรายังมีบางอย่างที่ยังไม่ได้ทำ บางอย่างนั้นอาจจะหมายถึงหน้าที่จะต้องทำต่อเขา หรืออาจหมายถึงใจของเราเองที่ยังไม่พร้อมปล่อยวาง เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ต้องเร่งทำหน้าที่ต่อเขาให้สมบูรณ์และฝึกใจให้พร้อมปล่อยวาง

“การพิจารณาแบบนี้ถ้าน้อมใจให้รู้สึกว่าจะต้องตายไปจากโลกนี้จริงๆ ไม่ใช่เป็นแค่ความคิดจะทำให้เราเกิดความตื่นตัวขวนขวายที่จะทำในสิ่งที่ควรทำ เห็นความจำเป็นที่จะต้องฝึกใจให้ปล่อยวางให้ได้สองอย่างนี้ไปด้วยกัน ถ้าเรายังรู้สึกว่ายังไม่ได้ทำหน้าที่ต่อใครบางคน หรือยังทำไม่สมบูรณ์เราจะรู้สึกว่าตัวเองยังปล่อยวางไม่ได้ แต่ถ้ารู้สึกว่าได้ทำหน้าที่ต่อคนรักได้สมบูรณ์แล้ว การปล่อยวางก็เป็นเรื่องง่ายขึ้นนี้คือการพิจารณาอย่างหนึ่ง”

2.เจริญมรณัสสติโดยนึกถึงงานศพตัวเอง

พระไพศาล อธิบายว่า เมื่อถึงวันที่เราต้องตายและถูกบรรจุร่างไว้ในโลง มีคนมางานศพ เราเห็นผู้คนมางานศพของเรา เช่น ลูกน้อง เจ้านาย ญาติมิตร เพื่อนฝูง ก็ให้นึกดูว่า เราอยากให้เขาพูดถึงเราอย่างไรในงานศพของเรา เราอยากจะให้เขาสรรเสริญว่าเราเป็นคนดีมีเมตตา เป็นคนที่รักศีลรักธรรม เป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หรือไม่ เป็นต้น

“ถ้าเป็นเช่นนั้นเราต้องถามตัวเองว่า เราได้ทำความดีมากพอหรือยังที่จะให้เขาพูดถึงเราอย่างนั้น ถ้าใคร่ครวญแล้วพบว่าเรายังไม่ได้ทำความดีมากพอต่อบุคคลเหล่านั้น ก็เป็นเรื่องยากที่เขาจะพูดถึงเราไปในทางที่ดีอย่างนั้นได้ การคิดถึงงานศพของตัวเองเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เราตื่นตัวและขวนขวายในการทำความดี”

3.พิจารณาความเน่าเปื่อยของร่างกาย

ประโยชน์ของการพิจารณามรณัสสตินั้น จะช่วยทำให้เราตระหนักถึงสองอย่างคือ การเร่งทำความดี และการรู้จักปล่อยวาง ทว่าเราอาจจะเจริญมรณัสสติในอีกแง่หนึ่งก็คือ การพิจารณาถึงร่างกายที่เราแสนรักแสนห่วง เมื่อถึงเวลาที่ต้องตายร่างกายที่เคยยืดหยุ่นก็จะเริ่มแข็ง ที่เคยอุ่นก็กลับเย็น ที่เคยปรุงแต่งให้สวยงามตั้งแต่ปลายผมจนถึงปลายเท้าก็จะเริ่มสกปรก ผิวพรรณที่เปล่งปลั่งสดใสก็กลายเป็นเขียวช้ำ ที่เคยประทินด้วยกลิ่นหอมก็เริ่มส่งกลิ่นเหม็นแล้วอืดเน่า ที่เคยสะอาดหมดจดก็เริ่มสกปรกเพราะมีน้ำเหลืองไหลออกมาตามทวารต่างๆ ที่ใครๆ อยากอยู่ใกล้ชิด อยากกอดอยากหอมร่างนี้ ตอนนี้คนกลับรังเกียจอยากอยู่ไกลๆ ไม่กล้าที่จะเหลียวดูด้วยซ้ำ

“มาถึงตรงนี้ลองถามตัวเองว่า ร่างกายที่เราอุตส่าห์ฟูมฟักดูแลรักษานักหนายังเป็นร่างกายที่สมควรหลงใหล หรือสมควรหวงแหนหรือไม่ เพราะว่าเราเองก็คงไม่อยากที่จะอยู่ใกล้กับร่างกายที่มีสภาพแบบนั้น การเจริญมรณัสสติแบบนี้จะช่วยให้เราคลายความยึดติดนี้ในร่างกายนี้ ไม่มัวหลงใหลภาคภูมิใจหรือหมกมุ่นกับการประดับประดาร่างกายนี้จนไม่สนใจที่จะทำสิ่งที่มีคุณค่า วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่หลงใหลความงามของร่างกายซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน”

การเจริญมรณัสสติหรือการพิจารณาความตายนั้น ควรที่ทุกคนจะต้องพิจารณาเป็นประจำจนกระทั่งเราคุ้นชินกับความตายที่จะเกิดขึ้นกับเราหรือกับคนที่เรารัก ความตายก็จะกลายเป็นมิตร กลายเป็นครู กลายเป็นอาจารย์ที่จะเคี่ยวเข็ญเราให้ใช้เวลาทุกนาทีอย่างมีคุณค่า