ศึกษาธรรมปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตตามพุทธวิถี (๗)
โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]
โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]
ปุจฉา : กราบนมัสการพระอาจารย์อารยะวังโสที่เคารพยิ่งด้วยเศียรเกล้า
กระผม นายฤทธิพร พินรอด ขอโอกาสและขอเมตตาหลวงพ่อเพื่อถามคำถามดังนี้
๑.วันหนึ่งกระผมขณะนั่งสมาธิได้เกิดภาพพระผู้ทรงคุณรูปหนึ่ง หลังจากนั้นภาพของพระรูปนั้นจากที่มีเนื้อหนังก็กลายเป็นเหี่ยวแห้งเหลือแต่กระดูก จากกระดูกก็สลายกลายเป็นกองกระดูก จากกองกระดูกก็กลายเป็นกองดิน จากกองดินก็กลายเป็นฝุ่นผงแล้วก็สลายไป แล้วก็กลับมาเป็นพระสงฆ์รูปเดิมอีกครั้ง พร้อมอมยิ้มไม่ได้พูดเอ่ยอะไร อยากกราบเรียนถามว่า ถ้าเจอสภาวะเช่นนี้แล้วควรคงอารมณ์แบบไหนจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ถ้าจะจับเป็นกองกรรมฐานคือกรรมฐานกองใด ใช่มรณานุสติหรือไม่
๒.วันหนึ่งขณะนั่งสมาธิ นั่งจนคำภาวนาหาย รู้สึกเท้าชาแข็ง จากนั้นมือเท้าก็ไร้ความรู้สึก ลมหายใจก็ค่อยๆ เบาลงๆ จนเหมือนลมหายใจหายไป แล้วไปไหนต่อไม่ได้เพราะร่างกายไม่ยอมสั่งการ จะสูดลมหายใจเข้าก็ไม่ได้เพราะไม่รู้สึกถึงลมหายใจแล้ว จะภาวนาต่อก็ไม่ไปเพราะคำภาวนาก็หายไปเหมือนกัน ภาพต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้น เสียงต่างๆ ก็เหมือนหายไป อยากกราบเรียนถามว่าควรทำอย่างไรต่อไปจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดครับ แล้วทำไมหลังจากวันที่เกิดสภาวะนี้ จึงไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย เพราะอะไรครับ จำเป็นหรือไม่ที่นั่งสมาธิให้ได้ดีจะต้องเกิดสภาวะนี้ครับ
กราบนมัสการด้วยเศียรเกล้า
นายฤทธิพร พินรอด
วิสัชนา : จากคำถามนั้น แม้ธรรมนั้นเกิดขึ้น แต่ปัญญายังไม่ถึง จึงไม่รู้ไม่เข้าใจในธรรมอันนั้นที่เกิดขึ้น ยังไม่รู้ไม่เข้าใจและยังถามเป็นหลักของอนุสติอยู่ ธรรมดังกล่าวเป็นธรรมที่พึงพิจารณาให้เห็นความจริงเฉพาะหน้า สภาพธรรมอันใดเกิดขึ้น ก็พึงรู้เห็นตามธรรมนั้น รู้แล้วปหานะ ละ เพราะรู้แล้วว่ามันเป็นเช่นนี้เอง “อิทัปปัจจยตา” จิตจึงถอนจากการยึดติดยึดถือในรูปนามขันธ์ ๕ แต่ผู้ถามสภาพธรรมเกิดขึ้นเหมือนบทเรียนเกิดขึ้น แต่ไม่เข้าใจบทเรียนนั้น ยังไม่สามารถเรียนรู้ในบทเรียนนี้ได้ วาสนาเด็กคนนี้มี แต่ว่าบารมียังไม่ถึง ณ วันนี้
ในข้อที่ ๒ มีคำถามว่า วันหนึ่งขณะนั่งสมาธิ นั่งจนคำภาวนาหาย รู้สึกเท้าชาแข็ง จากนั้นมือเท้าก็ไร้ความรู้สึก ลมหายใจก็ค่อยๆ เบาลงๆ จนเหมือนลมหายใจหายไป แล้วไปไหนต่อไม่ได้เพราะร่างกายไม่ยอมสั่งการ จะสูดลมหายใจเข้าก็ไม่ได้เพราะไม่รู้สึกถึงลมหายใจแล้ว จะภาวนาต่อก็ไม่ไปเพราะคำภาวนาก็หายไปเหมือนกัน ภาพต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้น เสียงต่างๆ ก็เหมือนหายไป อยากกราบเรียนถามว่าควรทำอย่างไรต่อไปจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดครับ แล้วทำไมหลังจากวันที่เกิดสภาวะนี้จึงไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย เพราะอะไรครับ จำเป็นหรือไม่ที่นั่งสมาธิให้ได้ดีจะต้องเกิดสภาวะนี้ครับ
พระอาจารย์อารยะวังโส : จริงๆ สภาพดังกล่าวนี้เป็นสภาพของอำนาจการเจริญสมาธิของจิต จิตเมื่อมันเจริญสมาธิจนขั้นละเอียด จะแน่วแน่สู่ความเป็นหนึ่งเรียกว่า เอกัคคตาจิต มันไปอยู่ในอำนาจอารมณ์ธรรมที่เป็นหนึ่ง ที่จิตเสวยอยู่ สู่ความเป็นหนึ่งของจิต ตัวค่อยๆ ชา เหมือนไร้ความรู้สึก แข็งแล้วก็ค่อยจางลง ค่อยๆ หายไป ร่างกายไม่ค่อยสั่งการ หนาทึบอยู่ เป็นอำนาจสมาธิที่เข้าลึกละเอียดจนลมนั้นเบามาก เบาถึงขั้นที่บางทีเราเอามือไปแตะที่ปากโพรงจมูก เกือบไม่ได้สัมผัสลมว่ามีลมหายใจเข้าออก ถ้าเรามีการเจริญอานาปานสติ ลักษณะข้อที่ ๒ เป็นลักษณะผู้ปฏิบัติน่าจะเจริญอานาปานสติ กำหนดรู้ลมเข้าออก ความประณีตละเอียด แสดงว่าจิตเข้าสู่อารมณ์แน่วแน่ ร่างกายมือชาตัวชาหนาทึบขึ้นมา ลมเบามาก เกือบไม่มีเลย ร่างกายเวทนาเหมือนดับ ไม่รู้สึกสุขทุกข์เกิดขึ้นแล้ว ณ ขณะนั้น ผ่านไปสุขก่อนแล้วก็ทิ้งสุข เหลือความเป็นอุเบกขากลางๆ จิตแน่วแน่ ดิ่ง นิ่งมาก ความแน่วแน่ ดิ่ง นิ่งของจิตขณะนั้น เขามีความรู้สึกทั้งหมด มีความรู้สึกว่าร่างกายนี้ทึบชา หนาแข็ง รู้สึกทันทีว่าลมหายใจค่อยๆ หมด แผ่วๆ เกือบจะหมดไป เกือบไม่มีลมหายใจเข้าออก เขามีความรู้สึกทั้งหมดเลย แต่ว่าความรู้สึกดังกล่าวนั้นมันเพียงแค่สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น ไม่ได้เข้าไปปรุงแต่งในสภาพกายจิตนั้นด้วย ไม่ได้เข้าไปปรุงแต่งกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นด้วย ลมประณีตละเอียดมาก กายนั้นทึบแข็งชาขึ้น เขารู้อยู่แค่นั้น ทำอะไรไม่ได้ ที่ทำอะไรไม่ได้เพราะจิตมันไปแน่วแน่อยู่กับความเป็นหนึ่ง มันจึงทำอะไรไม่ได้ เพียงแต่รู้สักแต่รู้ เห็นสักแต่เห็น เป็นอำนาจสงบนิ่งแข็ง ไม่เป็นประโยชน์โดยธรรมเชิงปัญญา แต่สงบนิ่งมีพลังจิต แต่ไม่รู้ไม่เข้าใจตรงนั้น ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เรียกว่าคลายจิตออกมาใช้งานยังไม่เป็น เข้าไปแน่วแน่ลึก หลวงปู่มั่นเวลาจะเจริญวิปัสสนาญาณก็จะเข้าสู่สมาธิสูงสุดเพื่อไปเอากำลัง คือ เข้าสู่ความเป็นหนึ่งแน่วแน่ในอัปปนาสมาธิ เมื่อจะทำปัญญาพิจารณาธรรมก็จะถอยจิตออกมา คลายออกมาอยู่ในขั้นอุปจารสมาธิ ถ้าจิตเราค่อยๆ อ่อนตัวจะถอยลงมาแค่ขณิกะ ก็ต้องกลับไปหาอัปปนาสมาธิใหม่ ไปเอากำลัง ได้กำลังแล้วจึงมาทำปัญญาในขั้นของอุปจารสมาธิ ใช้สมาธิขั้นของอุปจารสมาธิเข้มๆ พิจารณาธรรมในขั้นวิปัสสนาญาณ
หลวงพ่อสรวง ที่ท่านละสังขารไปแล้ว ท่านสอนเชิงรูปฌาน และวิปัสสนาญาณในขั้นของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ท่านก็จะถอยจากรูปฌาน ๔ ก็คือเอกัคคตาจิต มาสู่อยู่ระหว่างรูปฌาน ๓ กับ ๔ คือระหว่างสภาพสุขกับสภาพของอุเบกขา ก็จะใช้อำนาจสมาธิระดับนั้นเป็นการเจริญวิปัสสนาญาณ ในการเดินบนเส้นทางของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เพราะฉะนั้นตรงนี้ผู้ปฏิบัติยังไม่สามารถที่จะกำหนด
อ่านต่อฉบับหน้า
**ส่งคำถามหรือ แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆได้ที่ คอลัมน์ธรรมส่องโลก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อาคารบางกอกโพสต์ 136 ถนน ณ ระนอง แยกสุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110 โทรสาร 02-671-3132