ปัญญาประดิษฐ์เปลี่ยนโลก
ช่วงนี้คงไม่มีข่าวในวงการไอทีและนวัตกรรมใด เท่าการประกาศถอนตัวจากวงการการแข่งขันหมากล้อมโลกของดีปไมน์ อัลฟา โก
โดย...กั๊ตจัง
ช่วงนี้คงไม่มีข่าวในวงการไอทีและนวัตกรรมใด เท่าการประกาศถอนตัวจากวงการการแข่งขันหมากล้อมโลกของดีปไมน์ อัลฟา โก (Deep Mind Alpha Go) ปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้เทคโนโลยีดีปไมน์ ที่ฝากรอยแค้นให้กับเหล่าเซียนโกะ ด้วยการพิชิตมือวางโกะอันดับ 1 ของโลก กับหมากกระดานที่ 2 ซึ่งเป็นกระดานที่มนุษย์ใกล้เคียงการเอาชนะสมองกลมากที่สุด ด้วยผลแพ้ไปเพียง 0.1 แต้มเท่านั้น
กลายเป็นตำนานในวงการหมากล้อมที่เรียกได้ว่าเป็นการเดินหมากที่ดีที่สุดเกมหนึ่งของประวัติศาสตร์หมากล้อมโลก ไม่เพียงเท่านี้ ดีปไมน์ยังได้สร้างกระบวนท่าการเดินหมากรูปแบบใหม่อย่างที่ไม่เคยมีมนุษย์คนไหนคิดได้มาก่อน ซึ่งคำตอบความคิดสร้างสรรค์ของดีปไมน์ก็คือเทคโนโลยีที่เรียกว่า ดีป เลิร์นนิ่ง (Deep Learning) นั่นเอง
ดีป เลิร์นนิ่ง คือระบบปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์แยกแยะสิ่งต่างๆ ได้ใกล้เคียงกับมันสมองของมนุษย์ โดยการจำลองโครงข่ายคอมพิวเตอร์เลียนแบบการทำงานของระบบประสาทสมอง โดยมีสิ่งที่เรียกว่าบิ๊กดาต้าอันเป็นคลังข้อมูลรวบรวมองค์ความรู้ขนาดใหญ่ทั่วโลกเป็นสิ่งที่สอนและให้ความรู้กับระบบดีป เลิร์นนิ่ง มันสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่การจดจำใบหน้าไปจนถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมได้ตามจิตนาการภายใต้โจทย์ที่ให้ไว้
ทำไมคอมพิวเตอร์ถึงคิดเองได้ เมื่อดูลึกๆ นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างให้ดีป เลิร์นนิ่ง จำลองการเรียนรู้ของมนุษย์โดยเริ่มจากว่าเด็กๆ เรียนรู้ได้อย่างไร
เพราะการเรียนรู้ของเด็กๆ จะเริ่มต้นด้วยการแบ่งกลุ่มข้อมูลออกเป็นหลายๆ ส่วน แล้วนำเอามาประมวลผลความเป็นไปได้ เพื่อความเข้าใจในระบบการเรียนรู้ของดีป เลิร์นนิ่ง มากขึ้น ลองเทียบความคิดของคุณกับการแบ่งกลุ่มข้อมูลของดีป เลิร์นนิ่ง ดู
สมมติว่ามีสุนัขอยู่ตรงหน้าคุณ 1 ตัว สมองของคุณก็จะรู้ว่านี่คือสุนัข เพราะอยู่ในกลุ่มข้อมูลในสมองที่เรียกว่าสัตว์เลี้ยงแบบที่เคยเห็นมาก่อนหน้านี้ แต่ถ้าสุนัขเดินเข้ามาใกล้ๆ แล้วมีลักษณะบางอย่างที่ผิดไป กลายเป็นหมาป่า สมองของคุณก็จะจัดกลุ่มให้หมาป่านั้นให้เป็นสัตว์ป่า อยู่ในระดับอันตรายควรระวัง
ดังนั้น สิ่งที่ตามมาก็คือนักวิทยาศาสตร์ต้องใส่ฐานข้อมูลเข้าไปให้ดีป เลิร์นนิ่ง ได้รู้จักมากที่สุดและจัดกลุ่มองค์ความรู้และความคิดสำคัญให้มากที่สุดจนถึงระดับที่มีความซับซ้อนใกล้เคียงสมองมนุษย์
ในการใช้งานดีป เลิร์นนิ่ง กูเกิลยังคงเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี ด้วยการสร้างดีปไมน์ อัลฟา โก ที่เคยเอาชนะเซียนโกะระดับโลกมาแล้ว รวมทั้งนำมาใช้ช่วยในการประมวลผลเทคโนโลยีค้นหาข้อมูล เทคโนโลยีการแปลภาษา และเทคโนโลยีการค้นหาจากรูปภาพ ที่พัฒนาจากเทคโนโลยี ดีป เลิร์นนิ่ง
ส่วนองค์การนาซ่าเองก็ได้ใช้เทคโนโลยี TensorFlow ซึ่งเป็น ดีป เลิร์นนิ่ง อีกสายหนึ่งที่พัฒนาโดยกูเกิล มาใช้ในการเฝ้าระวังภัยทางอวกาศ ตรวจสอบป้องกันอุกาบาตพุ่งชนโลก
เมื่อถามนักวิทยาศาสตร์ว่าเพียงเท่านี้ก็เพียงพอหรือยัง กับระดับความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ พวกเขาคงแทบจะตอบในทันทีเลยว่า ไม่
เพราะสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการคือพลังของมันสมองจักรกลที่เรียนรู้ได้ไม่มีวันจบสิ้นและไม่มีวันลืม มีระบบความคิดเทียบเท่าหรือดีกว่ามนุษย์เพื่อปูทางสู่การค้นพบอื่นๆ ในรูปแบบที่สมองมนุษย์ไม่สามารถคิดได้ หรือกว่าจะคิดได้ก็ต้องรอคนที่มาค้นพบ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่
เพราะอย่างที่ทราบกันดี อุปสรรคอย่างหนึ่งในการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ก็คือเงื่อนเวลาอายุขัยของนักวิจัยเอง ที่อาจมีอายุและกำลังความคิดไม่ยืนยาวพอที่จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้สำเร็จ
ดังนั้น จึงต้องการสมองกลที่สามารถศึกษาองค์ความรู้ต่างๆ และคิดค้นสิ่งใหม่ๆ หรือหาคำตอบของสิ่งที่เป็นอยู่ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด และนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในแบบที่มนุษย์ไม่มีวันคิดได้ ซึ่งวันหนึ่งเราอาจจะพบว่า ดีป เลิร์นนิ่ง สามารถประพันธ์เพลง แต่งนวนิยาย วาดรูป เล่นเกม วางแผนการตลาด ออกแบบอาคาร รวมทั้งแนวทางในการคิดค้นยารักษาโรคใหม่ๆ
เมื่อถึงวันนั้นเราอาจจะกลับมาตั้งคำถามที่ว่า เราควรตั้งขีดจำกัดในการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ที่จะเข้ามาแย่งงานจากมนุษย์หรือไม่?