คนไทย'เสียไปเท่าไหร่แล้ว' กับเรื่องของฝุ่น PM2.5!
โพสต์ทูเดย์เปิดค่าใช้จ่ายแต่ละวันของคนไทย จากการเผชิญวิกฤตฝุ่น PM2.5 รวมไปถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากการรับฝุ่น PM2.5 เป็นเวลานาน ในขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตของไทยก่อนวัยอันควรจากฝุ่น PM2.5 สูงถึง 14,000 รายต่อปี!
โพสต์ทูเดย์ สำรวจราคาข้าวของเครื่องใช้และรายจ่ายเพิ่มเติม จากการเผชิญวิกฤตฝุ่น PM2.5 ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในทุกๆ ปี ระหว่างที่รอมาตรการจากรัฐบาลที่จะแก้ไขภาพรวมอย่างเป็นระบบ โดยพบว่า ราคาหน้ากากอนามัยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่วันละ 2-20 บาทต่อวัน เครื่องฟอกอากาศจากการสำรวจราคาในตลาดอยู่ที่ 2,000 - 60,000 บาท ราคาน้ำเกลือล้างจมูก อยู่ที่ขวดละ 45-105 บาท คำนวนค่าไฟจากการเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลาเนื่องจากไม่สามารถเปิดหน้าต่างได้ตกชั่วโมงละ 2.69 บาทต่อเครื่อง หรือราว 65 บาทต่อวัน
นอกจากนี้ยังมีค่ารักษาพยาบาล ซึ่งหากเจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถซื้อยาได้ที่ร้านขายยาอยู่ที่ราวครั้งละ 100 บาทเป็นต้นไป หรือการเจ็บป่วยที่ต้องเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเริ่มต้นที่ 2,000 บาท ไปจนถึงเจ็บป่วยมากจากการรับฝุ่นเป็นเวลานานติดต่อกัน หรือในระยะยาวที่จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 200,000 บาทต่อคน!
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับรายได้ในกลุ่มคนจนของประเทศ จากรายงานของ ธนาคารโลก ระบุว่าในปี 2564 คนไทยในมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีต่ำสุดที่ 37,495 บาท ต่อคน หรือ 104 บาทต่อวันเท่านั้น ในขณะที่หากใช้รายได้ค่าเฉลี่ยภายในครัวเรือนของประเทศไทย (คิดเป็นครัวเรือนไม่ใช่ต่อคน) ในปี 2566 พบว่า อยู่ที่ 29,030 บาทต่อเดือน หรือ 970 บาทต่อวัน
ด้านกรมควบคุมโรค มีข้อมูลว่าในปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 – 31 ธ.ค. 2567 สถานการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสและค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ ใน 6 โรค มีทั้งสิ้น 1,048,015 ราย แยกเป็น
- ปอดอุดกั้นเรื้อรัง 226,423 ราย
- โรคตาอักเสบ 357,104 ราย
- โรคผิวหนังอักเสบ 442,073 ราย
- โรคหืด 18,336 ราย
- หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 4,051 ราย
- และการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ 28 ราย
ขณะที่ กรมอนามัย เผยว่าคนไทยมีค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ ราว 2,000 – 3,000 ล้านบาท และกว่า 75% เป็นค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล เช่น ค่ารักษาพยาบาลของโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ อาทิ หอบหืด 2,752 บาท ต่อครั้ง โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 16,000 บาท มะเร็งปอด 141,100 - 197,600 บาท เป็นต้น
ในส่วนสถานการณ์มลพิษอากาศของประเทศไทย พบ 38 ล้านคนอยู่ในพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน (37.5 มคก./ลบ.ม.) 15 ล้านคนหรือ 1 ใน 5 เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และ เด็กเล็ก ซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพ PM2.5 ทำให้ค่าอายุเฉลี่ยของคนไทยลดลง 1.78 ปี
นอกจากนี้ ในด้านการเสียชีวิต พบผลการศึกษาของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ IQAir ซึ่งรายงานในปี 2563 ว่ามลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทยกว่า 14,000 รายใน 6 จังหวัด โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 149,367,000,000 บาท ทั้งนี้ ฝุ่นPM2.5 เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 5 ของโลก เป็น 1 ใน 5 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค NCDs (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) และเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็ง
สำหรับกรุงเทพมหานครมีความเสียหายมูลค่าทางเศรษฐกิจจากมลพิษทางอากาศ PM2.5 กว่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 104,557,000,000 บาท โดยคิดเป็นร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (city’s GDP)
ทั้งนี้ หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาฝุ่น ที่ไม่ได้กระทบแค่สุขภาพ แต่กระทบต่อเศรษฐกิจในครัวเรือนของคนไทย และยังไม่ออกมาตรการดูแลและกำกับที่ชัดเจน รวมไปถึงยังไม่มีความคืบหน้าเรื่อง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ จากฝั่งการเมือง ก็คงเห็นคนไทยต้อง 'ชิน' กับการผ่อนจ่ายชีวิต เพราะต้องเสียสุขภาพกาย-จิต และเสียเงินจาก 'มลพิษทางอากาศ' ไปเรื่อยๆ.