อาการไอสำคัญอย่างไร
อาการไอก็เหมือนอาการผิดปกติอื่นๆ ของร่างกายที่ต้องเน้นการหาสาเหตุและรักษาต้นเหตุมากกว่าการแก้ที่ปลายเหตุ
โดย...รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันนี้ลองมาคุยกันเรื่องใกล้ตัวนะครับ คือเรื่อง “ไอ”
อาการไอเป็นอาการของความผิดปกติทางระบบหายใจที่พบได้บ่อยที่สุด ถ้าเราลองไปสังเกตที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกทั่วๆ ไปของทุกโรงพยาบาล รับรองว่าอาการผิดปกติที่นำผู้ป่วยมาหาแพทย์บ่อยที่สุดอาการหนึ่งก็คืออาการไอ
เรียกได้ว่าอาการไอนั้นเป็นความผิดปกติสามัญประจำทุกครอบครัว ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงวัย จนทำให้บางครั้งผู้ป่วยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการไอและมักจะคิดว่าเป็นหวัด เจ็บคอ เดี๋ยวซื้อยามาทานก็หายได้เอง กว่าจะมาปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาก็นานเกินไปแล้ว
อาการไอดีหรือไม่
จริงๆ แล้วอาการไอเป็นสิ่งสำคัญมากในกลไกป้องกันของร่างกาย ในการพยายามป้องกันสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เล็ดลอดลงไปในทางเดินหายใจ เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมหรือมีการระคายเคืองเกิดขึ้นในทางเดินหายใจ ร่างกายจะมีการส่งกระแสประสาทไปยังสมองและกระตุ้นให้เกิดการไอ คือการหายใจเข้าลึกและพยายามหายใจออกให้แรงและเร็ว เพื่อให้มีการขับสิ่งแปลกปลอมออกมาภายนอก (ลองนึกถึงเวลาที่ทานอาหารและหัวเราะจนสำลักอาหาร จนเกิดอาการไออย่างรุนแรง นั้นคือกลไกที่ร่างกายพยายามป้องกันเศษอาหารไม่ให้ตกลงไปในทางเดินหายใจ)
เมื่อมีการติดเชื้อในทางเดินหายใจ การอักเสบจะกระตุ้นวงจรการไอ ทำให้มีการขับเสมหะและพาเอาเชื้อโรคต่างๆ ออกมา
ในผู้ป่วยบางรายที่มีวงจรของการไอเสียการทำงาน เช่น ผู้ป่วยที่หมดสติ หรือเป็นโรคทางระบบประสาท ทำให้ไม่สามารถไอได้อย่างเต็มที่ จะมีความเสี่ยงอย่างมากในการเกิดภาวะการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรือเกิดภาวะเสมหะค้างในปอด ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาอย่างมาก
ท่านคงจะเห็นแล้วว่าอาการไอ เป็นสิ่งที่ประเสริฐและมีความสำคัญอย่างมากต่อตัวเรา นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นสัญญาณเตือนว่าขณะนี้เกิดความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือถ้าท่านเกิดอาการไอ ต้องพิจารณาหาสาเหตุการไอและให้การรักษาที่เหมาะสม
โดยปกติส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุที่ไม่รุนแรงและหายได้เอง เช่น การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนต้น ถ้าผู้ป่วยทุกคนที่ไอไปพบแพทย์ รับรองว่าแพทย์คงไม่ต้องทำงานอื่นๆ เป็นแน่แท้
ดังนั้น เราควรต้องทราบว่าเมื่อไรต้องไปพบแพทย์ ลักษณะของการไอที่บ่งชี้ว่าท่านควรปรึกษาแพทย์คือ
1) อาการไอที่เกิดต่อเนื่องกันเป็นเวลานานเกิน 3 อาทิตย์ ในกลุ่มนี้ทางการแพทย์เรียกว่า ไอเรื้อรัง (Chronic cough) จะต้องมีการสืบค้นหาสาเหตุที่เหมาะสม เนื่องจากถ้าท่านเป็นหวัดธรรมดามักจะไม่ไอนานขนาดนี้
2) อาการไอที่เกิดร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น การไอมีเลือดปน ไอแล้วอาการไข้สูงเหนื่อยหอบ หรือมีการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณว่าท่านควรปรึกษาแพทย์เช่นกัน เนื่องจากอาจมีสาเหตุของการไอที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
สาเหตุของอาการไอเรื้อรังที่พบได้บ่อย คือ การสูบบุหรี่ ภาวะโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหืดหรือภูมิแพ้โพรงจมูกที่มีน้ำมูกไหลลงคอ ภาวะการติดเชื้อเรื้อรังในปอด เช่น วัณโรค ภาวะเนื้องอกของระบบทางเดินหายใจ นอกจากนั้นยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ในกลุ่ม ACE inhibitor ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอเรื้อรังได้เช่นกัน
ดังนั้น ถ้ามีประวัติทานยา อย่าลืมนำยาที่ทานอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย และลองสังเกตอาการอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับอาการไอ ซึ่งภาวะความผิดปกติต่างๆ เหล่านี้ แพทย์จะตรวจรักษาเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมโดยอาศัยประวัติและการตรวจร่างกายที่พบ
อาการไอรักษาอย่างไร
อาการไอก็เหมือนอาการผิดปกติอื่นๆ ของร่างกายที่ต้องเน้นการหาสาเหตุและรักษาต้นเหตุมากกว่าการแก้ที่ปลายเหตุคือการใช้ยากดการไอ จริงๆ แล้ว แพทย์มักจะหลีกเลี่ยงการใช้ยากดการไอถ้าไม่จำเป็น เนื่องจากการไอเป็นกลไกที่ช่วยในการป้องกันร่างกายของเรา และช่วยขับสิ่งแปลกปลอมหรือเสมหะออกจากทางเดินหายใจ
ดังนั้น การใช้ยาแก้ไอจึงมักใช้เมื่อทราบสาเหตุของการไอและผู้ป่วยมีอาการไอจนรบกวนชีวิตประจำวัน สามารถใช้ยากดการไอเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น
ถ้ามีอาการไอเรื้อรังที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอน อย่าซื้อยาแก้ไอมาทานบรรเทาอาการเอง ซึ่งเปรียบได้เหมือนกับเวลาขับรถยนต์แล้วมีเสียงดังผิดปกติ แล้วท่านแก้ไขโดยการซื้อที่อุดหูมาใช้ แต่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุ
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่อยากแนะนำคือ การไอมักจะเป็นอาการความผิดปกติในทางเดินหายใจ และเมื่อท่านไอ ละอองเสมหะที่ฟุ้งออกมาในอากาศสามารถนำเชื้อโรคที่อยู่ในทางเดินหายใจฟุ้งกระจายออกไป เช่น เชื้อไวรัส หรือวัณโรค ดังนั้นถ้ามีอาการไอและต้องไปอยู่ในที่สาธารณะ ควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเสมหะ
แนวทางดังกล่าวในบางประเทศถือปฏิบัติเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่เห็นปฏิบัติบ่อยนักในประเทศของเรา (แนวคิดส่วนหนึ่งของคนไทยคือการใส่หน้ากากอนามัยเป็นการป้องกันผู้ใส่ จึงมักเห็นคนปกติดีใส่มากกว่าผู้ป่วยใช้)
ผมคิดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่ายกย่องและช่วยเหลือส่วนรวม และควรถือปฏิบัติให้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป