โอดิลง เรอดง กับศิลปะสัญลักษณ์
ณ กรุงปารีส เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเปิดประมูลงานศิลปะล็อตใหญ่ เป็นศิลปินที่มีผลงานอยู่ในศตวรรษที่ 19 กลุ่มความเคลื่อนไหว
โดย...ปณิฏา
ณ กรุงปารีส เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเปิดประมูลงานศิลปะล็อตใหญ่ เป็นศิลปินที่มีผลงานอยู่ในศตวรรษที่ 19 กลุ่มความเคลื่อนไหวที่เรียกว่าซิมโบลิสม์ (Symbolism) กว่า 130 ชิ้น ซึ่งหาได้ยากยิ่งในตลาดประมูลศิลปะ โดยกว่า 80 ชิ้นนั้นโลกเราไม่ได้เห็นมากว่า 30 ปีแล้ว
ชอง-ดาวิด ชูโม-ลาฟงด์ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะซิมโบลิสม์ พูดถึงความเคลื่อนไหวของศิลปะในยุคดังกล่าว ว่าเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ออกมาเพื่อตั้งคำถามคนบนโลกนี้ โดยเกิดขึ้นมาท่ามกลางความไม่แน่นอนและความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงของโลกปลายศตวรรษที่ 19 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุนิยม หรือความก้าวล้ำทางวิทยาศาสตร์ ความเชื่อเรื่องโลกและสิ่งมีชีวิตในอวกาศ ฯลฯ เหล่านี้ออกมาเป็นจินตนาการส่วนตัวสุดล้ำของศิลปินแต่ละท่าน
จิตรกรส่วนใหญ่ที่อยู่ในความเคลื่อนไหวของศิลปะแบบซิมโบลิสม์ เป็นชาวฝรั่งเศสและเบลเยียม ซึ่งคนที่มีผลงานโดดเด่นมากๆ ในการประมูลที่เพิ่งผ่านไป คือ จิตรกรฝรั่งเศส โอดิลง เรอดง (มีชีวิตระหว่างปี 1840-1916)
โอดิลง เรอดง หรือชื่อจริงๆ ว่า แบร์ทร็องด์-ชอง เรอดง เขาเกิดในครอบครัวมั่งคั่งที่บอร์กโดซ์ โดย โอดิลง เป็นชื่อเล่นที่แม่ของเขาชอบเรียกตั้งแต่เด็กๆ ตามชื่อ โอดีล ของเธอเอง
เขาเริ่มวาดรูปตั้งแต่จำความได้ตอนอายุ 10 ขวบ เขาได้รางวัลชนะเลิศการวาดภาพที่โรงเรียนและเริ่มศึกษาศิลปะอย่างจริงจังตอนอายุ 15 ปี ทว่าบิดาของเขาออกโรงขัดขวางอย่างแรง เขาจึงเบนเข็มไปเรียนด้านสถาปัตย์ หลังสอบไม่ติดโรงเรียนศิลปะ เอกอล เดส์ โบซาร์ตส์ (Ecole des Beaux-Arts) ในกรุงปารีส เขาก็เริ่มทำใจว่า ชีวิตนี้คงจะมุ่งไปทางสถาปนิกอย่างแน่นอนแล้ว ทว่าหลังจากได้เรียนศิลปะกับจิตรกร อย่าง ชอง-เลอง เชโรม ดูเหมือนความฝันจะเป็นจิตรกรได้กลับมาเจิดจรัสอีกครั้ง
ที่บ้านเกิดของเขาในบอร์กโดซ์ เขาได้เรียนด้านประติมากรรมกับอาจารย์โรดอล์ฟ เบรสแด็ง ที่สอนงานภาพพิมพ์ไม้และพิมพ์หินให้ด้วย โดยเขาได้นำวิชาความรู้นี้ไปใช้เขียนแบบตอนที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารร่วมรบในสมรภูมิฟร็องโก-ปรัสเซียน
หลังสงครามเขาย้ายไปอยู่กรุงปารีสและสร้างสรรค์ชิ้นงานดรออิงจากแท่งชาร์โคลและภาพพิมพ์หินเป็นส่วนใหญ่ โดยเรียกงานศิลปะของตัวเองว่า นัวร์ส (Noirs) ด้วยความที่ทำออกมาเป็นสีขาว-ดำนั่นเอง
ผลงานช่วงเริ่มแรกแสดงตัวตนที่แท้ของโอดิลง โดยได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นเหมือนภาพของฝันดีและฝันร้าย ค่าที่เป็นแนวขาวดำ ซึ่งปกคลุมด้วยความมืดดำเสียมากกว่า แถมยังเต็มไปด้วยรูปทรงประหลาดๆ ตามจินตนาการของเขาเอง โดยผลงานของเขาเหมือนการเดินทางเข้าไปสัมผัสความรู้สึกนึกคิดภายในตัวเองเสียเป็นส่วนมาก ซึ่งเขาเองก็เรียกผลงานในช่วงแรกเริ่มว่าเป็น Soi-meme (To Myself)
โอดิลง เริ่มเป็นที่รู้จักด้วย Guardian Spirit of the Waters หนังสือรวมเล่มงานพิมพ์หินของเขา ในปี 1879 โดยเฉพาะภาพ Dans le Reve แต่อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ดังเป็นพลุ จนกระทั่ง โชรีส์-คาร์ล อีส์มองส์ นักเขียนนิยายสุดแนว นำเรื่องราวของโอดิลงไปพูดถึงใน A Rebours (Against Nature) นิยายของเขาในปี 1884 เรื่องราวของขุนนางที่สะสมงานศิลปะของโอดิลง เรอดง
ในช่วงทศวรรษที่ 1890 ผลงานศิลปะของเขาเริ่มมีสีสันขึ้นมา โดยหันมาวาดภาพสีพาสเทลและสีน้ำมัน และหลังจากปี 1900 เขาก็ไม่วาดภาพ “นัวร์” อีกเลย
โอดิลงมีความสนใจในวัฒนธรรมของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ทำให้มีกลิ่นอายเหล่านี้อยู่ในผลงานของเขาไม่น้อย นอกจากนี้ ความที่เขาสร้างสรรค์งานภาพพิมพ์มาก่อน ศิลปะแบบชาปงนิสม์ (Japonism) ซึ่งมีพื้นฐานเกี่ยวโยงกับภาพพิมพ์ และมีกลิ่นอายตะวันออก (ญี่ปุ่น) ก็ส่งอิทธิพลต่อชิ้นงานของเขาเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็น The Death of the Buddha (1899), The Buddha (1906), Jacob and the Angel (1905) และ Vase with Japanese Warrior (1905) ฯลฯ
ในปี 1899 บารอนโรแบต์ เดอ โดเมอซี จ้างเขาทำฉากประดับผนังปราสาทโดเมอซี-ซูร์ก-เลอ-โวลต์ ในเบอร์กันดี ซึ่งเขาได้สร้างสรรค์แผ่นประดับ 17 ชิ้น ที่ประกอบด้วยภาพเขียนแนวแอบสแทรกต์ ที่มีองค์ประกอบภาพที่ไม่ธรรมดา ชิ้นที่เป็นแลนด์สเคปก็ไม่บ่งถึงสถานที่ใดๆ เพียงแค่เห็นภาพเป็นต้น กิ่ง ใบไม้ ดอกไม้ ท่ามกลางทิวทัศน์สุดลูกหูลูกตา โดยสีที่ใช้ในชิ้นงานมีเพียงสีเหลือง เทา น้ำตาล และฟ้าอ่อน เท่านั้น โดยเขาได้แรงบันดาลใจจากฉากกั้นห้องสไตล์ญี่ปุ่นมาเต็มๆ
ปัจจุบัน มี 15 ชิ้นจัดแสดงอยู่ที่มูเซ ดอร์เซย์ (Musee d’Orsay) กรุงปารีส เช่นเดียวกับภาพพอร์เทรตของบารอนเนสโดเมอซี และธิดาของบารอนโรแบต์ ที่โอดิลงวาดเอาไว้ โดยผลงานส่วนใหญ่ของเขาก็ตกเป็นของทายาทโดเมอซี กระทั่งทศวรรษที่ 1960
โอดิลง เรอดง ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (Ordre National de la Legion D’honneur) ในปี 1903 และชื่อเสียงของเขาก็เพิ่มขึ้นเมื่อออกตีพิมพ์แค็ตตาล็อกภาพพิมพ์ไม้และภาพพิมพ์หิน ในปี 1913 โดย อองเดร เมิลเยอโร เป็นคนพิมพ์ให้ คราวนี้ชื่อเสียงของเขาดังข้ามน้ำไปยังฝั่งนิวยอร์ก สหรัฐเลยทีเดียว
เขาเสียชีวิตในอีก 3 ปีต่อมา โดยในปี 1923 อองเดร เมิลเยอโร คนเดิม ได้พิมพ์หนังสือ Odilon Redon: Peintre Dessinateur et Graveur เพื่อระลึกถึงจิตรกรผู้ล่วงลับ