posttoday

งานกับเงิน เงินและชีวิต

30 กันยายน 2560

"การทำงาน" คำนี้เป็นคำที่ผมมักจะเขียนทุกครั้งเวลาที่ลองปากกาใหม่ สีใหม่

โดย เอกศาสตร์ สรรพช่าง ภาพ : เอเอฟพี 

 "การทำงาน" คำนี้เป็นคำที่ผมมักจะเขียนทุกครั้งเวลาที่ลองปากกาใหม่ สีใหม่ หรือเวลาได้คีย์บอร์ดมาใหม่ ได้โทรศัพท์มือถือมาใหม่

 คำคำนี้มักเป็นคำแรกที่โผล่ขึ้นมาในหัว ไม่ทันจะรู้ตัวนิ้วชี้มือซ้ายก็อยู่บนแป้น ก.ไก่ นิ้วกลางมือขวาก็อยู่ที่สระอาเป็นที่เรียบร้อย

 เหมือนจะบอกว่าชีวิตนี้ทั้งชีวิตของผมคงต้องแต่งกับงาน อยู่กับงาน ทุกข์สุขไปกับมันจนกว่าจะล้มหายตายจากไปข้างหนึ่ง

 ก็ไม่มีปัญหาครับ ผมทำได้ จำได้ว่าตอนเด็กๆ ก็เห็นพ่อทำงานแบบ 7 วัน/สัปดาห์อยู่แล้ว

 อีกอย่างโดยพื้นฐานผมคิดอยู่เสมอว่า การที่เรายังได้งานทำ ทำอะไรได้ นั่นหมายถึงว่า เรายังมีประโยชน์กับระบบนี้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย ขณะเดียวกันมันทำให้เราไม่เฉาจนเกินไป

 เคยมีคนถามผมเหมือนกันว่า เคล็ดลับหนึ่งของการมีอายุที่ยืนยาวและแข็งแรงอย่างประธานาธิบดี ลีกวนยิว ของสิงคโปร์ก็คือ "อย่าอยู่เฉยๆ จงให้ทำงาน"

 แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะชอบและทำได้เหมือนท่าน ไม่อย่างนั้นเราคงมีคนประสบความสำเร็จมากมาย ส่วนหนึ่งมาจากท่านมีพลังขับดันอันยิ่งใหญ่ในการทำงาน เป็นสิ่งที่ ลีกวนยิว ต้องการจะทำให้สำเร็จ พูดง่ายๆ คือมีแรงปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำ

 จะพูดให้ชัดอีกอย่างก็คือสิ่งที่ ลีกวนยิว ทำ เป้าหมายไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องที่มากกว่านั้น งานที่เขาทำคือความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลง หรือพิสูจน์ความเชื่อของตัวเองบางอย่าง ส่วนเรื่องเงินนั้นเป็นเรื่องที่ตามมา หลังจากการวางแผนการทำงานที่ถูกต้องเป็นระบบ

 แต่คุณค่าของการทำงานของคนส่วนมากไม่ได้เป็นอย่านี้ เพราะงานที่เราทำโดยเฉพาะในสังคมไทย งานเป็นสิ่งที่เกิดจากโครงสร้างเรื่องการศึกษาที่ผิดเพี้ยนมานาน และค่านิยมของสังคมไทยที่ทำให้กลายเป็นว่าเด็กๆ ไม่สามารถเลือกได้เต็มที่ว่าอยากเรียนอะไร หรือเด็กๆ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเองนั้นอยากทำอะไรกันแน่เมื่อโตขึ้น

 ฉะนั้น เมื่อเราจบมาจากรั้วมหาวิทยาลัย เกินครึ่งหนึ่งยังไม่รู้ว่าพวกเขาควรทำอะไร ไปทางไหน นอกเหนือจากทำงานอะไรก็ได้ หรือไม่อีกทีก็ทำงานอย่างที่เรียนมา ซึ่งก็ไม่ใช่หนทางที่ตัวเองชอบอยู่ดี การทำงานก็เลยเป็นเรื่องของการทำได้มากกว่าได้ทำ

 คุณค่าของการทำงานเปลี่ยนจากทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก มาเป็นการทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพแต่เพียงอย่างเดียว น้อยคนนักจะได้ทำทั้งในสิ่งที่ตัวเองหลงใหลและหาเงินได้

 แล้วอย่างนี้เราจะมีความสุขกับชีวิตการทำงานได้อย่างไร

 ตลอดชีวิตการทำงานเกือบๆ 20 ปีที่ผ่านมา ผมทำงานอยู่ในแวดวงของงานเขียนและสื่อสาร มวลชน ทำมาเกือบทุกอย่างที่คอลัมนิสต์คนหนึ่งพึงทำ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นงานที่มาจากการเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยโดยตรง แต่กลับเป็นงานที่ชอบและส่งเสริมกันอย่างดี แต่ก็สามารถประยุกต์ใช้ในงานได้ดีทีเดียว

 แต่ลึกๆ ผมก็มีงานอื่นอีกที่ชอบและอยากทำ ซึ่งเป็นงานที่ไม่เคยสร้างรายได้ หรือได้ก็น้อยมาก แต่ก็ทำเกือบทุกวัน ทำอย่างประจำสม่ำเสมอมาเรื่อยๆ เพราะรู้สึกว่ามันช่วยจรรโลงใจ ช่วยให้เราหายอยาก และใจหนึ่งก็อยากรู้ว่างานแบบนี้จะเติบโตไปได้ถึงแค่ไหน

 สิ่งหนึ่งที่ได้จากการทำงานที่ไม่ได้หวังผลตอบแทนก็คือ เราได้ทำมันอย่างที่เราอยากทำจริงๆ เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ว่าจริงๆ แล้วเราเป็นคนแบบไหนกันแน่ เราชอบอะไร ซึ่งทั้งหมดนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคนที่ต้องมีเวลาทำงานอีกงานหนึ่ง นอกเหนือจากงานที่ทำเพื่อเงิน อย่างน้อยๆ ถือเสียว่ามันเหมือนเป็นการไปโรงเรียน ให้เวลาสำหรับการค้นหาตัวเอง

 จริงๆ แนวโน้มเรื่องการทำงานสองโลกแบบนี้มีมานานแล้วนะครับ นักสังคมศาสตร์บางสำนักถึงกับบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ควรทำด้วยซ้ำ เพราะว่ามันช่วยเราได้หลายอย่าง โดยเฉพาะคนที่ทำงานในเมืองใหญ่ๆ การมีงานสองอย่างที่แตกต่างกัน (หมายถึงงานที่หาเงิน กับงานที่เอาไว้ทำเพื่อความสุข)

 ในท้ายที่สุด มันก็จะก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ให้กับสังคม ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ดี และอีกทางหนึ่งมันทำให้คนเราเข้าใจการทำงานในอีกมิติหนึ่ง เช่น การทำงานของแม่ (ซึ่งบางคนบอกว่าแม่เป็นหน้าที่มากกว่างานก็ตามที) ซึ่งต้องรับผิดชอบสูง อยู่ในภาวะกดดันตลอดเวลา ทว่าไม่สามารถวัดเป็นตัวเงินได้จริงๆ จังๆ แต่ก็เป็นงานที่เราต้องทำและสำคัญมากที่สุดงานหนึ่ง

 หรือการทำงานเพื่อสังคม เช่น ช่วยคนด้อยโอกาสหรือช่วยสัตว์ที่พิการ ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยทั้งใจรัก และความเสียสละอย่างมาก การที่คุณมีงานแบบนี้เป็นเป้าหมายหนึ่งในชีวิต สำหรับผมมันมีแต่ได้กับได้

 ที่เล่ามาไม่ได้อวดอ้างสรรพคุณตัวเองแต่อย่างใดนะครับ จริงๆ เป้าหลักคืออยากจะบอกว่าความสำคัญเรื่องเศรษฐศาสตร์เข้ามาเปลี่ยนความคิดเรื่องคุณค่าของการทำงานไปหมดทุกอย่าง งานการใดๆ ที่ไม่ได้สร้างเงิน ถูกมองว่าเป็นงานที่ไม่ได้มีความสำคัญมากเท่างานที่สามารถสร้างเม็ดเงินได้ ความคิดแบบนี้เติบโตมาพร้อมกับชนชั้นพ่อค้าและชนชั้นกลางในอดีต

 สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ณ เวลานี้ เด็กรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่องการทำงานของตัวเองไปอีกแบบหนึ่ง แนวโน้มของการใช้ชีวิตของคนยุคนี้เริ่มมองหางานที่ตัวเองชอบมากขึ้น พยายามรักษาสมดุลของการทำงานและการใช้ชีวิตไปด้วยกัน และหาช่องทางทำเงินจากความชอบ ความสนใจของตัวเองมากขึ้นกว่าสมัยก่อนเยอะ

 บางคนล้มเหลว บางคนประสบความสำเร็จ แม้ว่าความยากลำบากก็คนละแบบกับคนในยุคก่อน แต่คนยุคนี้ก็จะมีอิสระทางความคิดมากกว่า ปรับตัวเร็วขึ้น แม้ตัวเองจะไม่ได้วางแผนในอนาคตมากเท่ากับคนยุคก่อน แต่บางคนก็จะค้นพบตัวเองได้ในที่สุดว่าตัวเองอยากทำอะไร

 หากลูกน้องคุณมาบอกว่า เขาอยากทำโน่นทำนี่ หากว่ามันไม่หนักหนาเกินไปและทำให้งานนั้นเสียกระบวน อยากให้ลองเปิดใจกว้างอีกนิด ให้กำลังใจและช่วยผลักดันเขาให้ไปถึงสิ่งที่เขาอยากทำ อย่าปิดกั้นและคิดว่านี่จะทำให้คุณเสียประโยชน์

 เพราะนั่นคือความเมตตา และนอกเหนือจากความเมตตาแล้ว ผมเชื่อว่าความสร้างสรรค์ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันย่อมดีเสมอ