"ลิขสิทธิ์ทางปัญญา" เป็นศิลปินดังใช่ว่าจะร้องได้ทุกเพลง
สำหรับศิลปินการร้องเพลงตามสถานที่สาธารณะ คำนึงเพียงแค่ความสนุกสนานอย่างเดียวไม่ได้แต่ต้องมองถึงข้อกฎหมายลิขสิทธิ์ด้วย
โดย...พัชรีวรรณ มงคล
การละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นปัญหาที่มีในประเทศไทยนานนับสิบปี โดยเฉพาะวงการเพลง ซึ่งศิลปินส่วนใหญ่มักนำเพลงที่ติดลิขสิทธิ์ไปร้องในงานต่างๆ จนทำให้มีการขึ้นโรงพักกันเป็นข่าวครึกโครม ล่าสุดกรณี วงบิ๊กแอส และเมื่อสัปดาห์ก่อน หนุ่ม กะลา หรือ ณพสิน แสงสุวรรณ
สำหรับศิลปินการถือไมค์ร้องเพลงตามสถานที่สาธารณะวันนี้ คำนึงเพียงแค่ความสนุกสนานอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว
ไม่เข้าใจกฎหมาย มีสิทธิผิดได้ทุกเมื่อ
ฟอร์ด สบชัย ไกรยูรเสน ศิลปินนักร้อง เล่าว่า ตนเองรวมถึงนักร้องส่วนใหญ่ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์ เนื่องจากกฎหมายพึ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่นานนี้ ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ต้นสังกัดของศิลปินจะลงทุนดำเนินการทุกอย่างทั้งหมด ตัวศิลปินไม่มีทางเลือกมากนัก จึงตัดสินใจเซ็นสัญญากับค่ายเพลง และยกลิขสิทธิ์ให้ทั้งหมด
“สมัยนี้ศิลปิน นักร้อง นักแต่งเพลง สามารถขึ้นทะเบียนเพลงเองได้หมด เป็นเอกเทศ และมีตัวเลือกในการทำสัญญาผู้ดูแลสิทธิประโยชน์มากกว่าในอดีต”
ฟอร์ดบอกว่า หลังจากได้ปรึกษากับทนายความ พบว่า สามารถร้องเพลงได้ในสถานที่ที่มีการทำข้อตกลงในเรื่องลิขสิทธิ์แล้ว เช่น ห้าง ผับ บาร์ คาราโอเกะ รวมถึงสถานที่จัดงานเลี้ยงต่างๆ อย่างไรก็ตามหากไม่แน่ใจว่า เจ้าของงานมีการตกลงเรื่องลิขสิทธิ์แล้วหรือไม่ ก็ควรหลีกเลี่ยงและหันไปเล่นเพลงอื่นแทน
“อยากให้ทุกคนที่ทำงานเกี่ยวกับเพลง ศึกษาทำความเข้าใจกับเรื่องลิขสิทธิ์ ผลประโยชน์ที่ควรได้รับ ระบุให้ชัดเจนไปเลย ว่าเพลงไหนร้องได้ หรือ ร้องไม่ได้”
ลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาต้องขออนุญาต
จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง นักแต่งเพลง มองกรณีนี้ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างศิลปินและต้นสังกัด ซึ่งผลประโยชน์ต้องคำนึงถึงความยุติธรรมและกฎหมาย
“ถ้าต้นสังกัดให้ศิลปินมาปลูกต้นมะม่วงที่บ้าน พอถึงเวลาผลผลิตออกดอกออกผล ศิลปินมาเก็บ คิดว่าแบบนั้นยุติธรรมไหม ดังนั้น ต้องมาดูว่าสิทธิ์ที่จะเก็บมะม่วงเป็นของใคร เก็บได้เท่าไหร่อย่างไร มันอยู่ที่การตกลงกัน”
นักแต่งเพลงชื่อดังบอกว่า ผลประโยชน์ต้องตั้งอยู่บนความยุติธรรมระหว่างต้นสังกัด นักแต่งเพลง และนักร้อง โดยทางกฎหมายออกแบบมาเพื่อปกครองและคุ้มครองลิขสิทธิ์ เรียกว่า "ลิขสิทธิ์ทางปัญญา" มีไว้เพื่อปกป้องเจ้าของความคิดริเริ่ม ไม่ได้ปกป้องตัวศิลปิน
"เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถทำอะไรกับผลงานก็ได้ จะยกให้ใครก็ได้ตามความต้องการของเขา ศิลปินไม่มีสิทธิ์ที่จะนำเพลงที่ขับร้องไปใช้ถ้าไม่ได้รับอนุญาต เพราะไม่ได้เป็นเจ้าของ หากศิลปินย้ายค่าย ถ้าอยากนำเพลงไปร้องก็สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไข 3 ข้อนี้คือ 1.ซื้อลิขสิทธิ์นั้น 2.ตกลงกันระหว่างสังกัดใหม่กับสังกัดเก่า 3. จ่ายค่าลิขสิทธิ์ทุกครั้งที่นำเพลงไปขับร้อง”
เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิ์ขาดที่จะยกให้ใครก็ได้
ทนายวิรัช หวังปิติพาณิชย์ บอกว่า ทางกฎหมายเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้นจึงจะสามารถอนุญาตได้ ตามกฎหมายพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หากผู้ใดนำไปใช้โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตนับว่าผิดตามมาตรา 27 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
มาตรา 28 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ทั้งนี้ ไม่ว่าในส่วนที่เป็นเสียงและหรือภาพ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว
มาตรา 29 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) จัดทำโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(2) แพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(3) จัดให้ประชาชนฟังและหรือชมงานแพร่เสียงแพร่ภาพ โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นในทางการค้า
มาตรา 30 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว
“ถึงแม้ว่าเพลงนั้นจะเป็นเพลงที่ศิลปินร้องแล้วดังขึ้นมา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเจ้าของ ดังนั้นเมื่อศิลปินเจ้าของเพลงเมื่อนำเพลงไปร้องในงานต่างๆ ต้องกลับมาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ด้วย หากย้ายค่ายแล้วก็ต้องจ่ายอยู่ดี ทุกอย่างล้วนอยู่ในข้อตกลง ต้องยอมรับในสิทธิ์ของเจ้าของค่ายที่มีสิทธิ์เก็บ มีครูเพลง” ทนายวิรัช ระบุ