‘คลีนฟาร์ม’ ผักสีเขียวเพื่อสุขภาพ
ผักสีเขียวนานาชนิด น่ารับประทานติดโลโก้ “คลีนฟาร์ม” เป็นการสร้างและแบ่งปันสุขภาพดีให้กับคนรักสุขภาพ
โดย วราภรณ์
ผักสีเขียวนานาชนิด น่ารับประทานติดโลโก้ “คลีนฟาร์ม” เป็นการสร้างและแบ่งปันสุขภาพดีให้กับคนรักสุขภาพ โดยทำร่วมกันระหว่าง “เล็ก” ธนิดา ขุนนา กับผู้ก่อตั้งคลีนฟาร์ม ดร.วีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
ธนิดาจากผู้รับเหมาก่อสร้าง ได้รับแรงบันดาลใจเมื่อร่างกายไม่สบาย เธอจึงหันมาปลูกผักปลอดสาร ด้วยกรรมวิธีการปลูกผักของคลีนฟาร์ม
ปลูกด้วยดินไม่ใช้สารเคมี ทำปุ๋ยหมัก ตัดแต่งกิ่งเอง และขนส่งด้วยรถห้องเย็นจนถึงมือลูกค้า ทำให้ลูกค้าได้รับประทานผัก “มือหนึ่ง” ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางที่สด สะอาด เก็บสดๆ ตอนเช้าและส่งตอนเย็น
“ผักไปสู่คนจากคลีนฟาร์มตัดแต่งเรียบร้อยแล้ว ทุกส่วนกินได้ ไม่แก่ ไม่ช้ำ ทำให้ไม่เสียเวลาในการเตรียมอาหาร มั่นใจได้ว่า สินค้าทุกอย่างผลิตภายใต้การดูแลของคลีนฟาร์ม ไม่มีพ่อค้าคนกลางมาผสมขายให้ลูกค้า ดังนั้นวางใจได้เรื่องความปลอดภัย ตัดปัญหาเรื่องการทิ้งสินค้าที่ไม่รู้จักหรือรับประทานไม่เป็น ไม่มีค่าสมาชิก สัปดาห์ไหนไม่รับ ทางฟาร์มเราก็ไม่จัดส่ง เว้นไปรับผักเป็นอาทิตย์หน้าก็ได้”
กว่าจะได้เป็นคลีนฟาร์ม ที่ปลูกผักปลอดสารมานานกว่า 12 ปีแล้ว ธนิดาเล่าถึงแรงบันดาลใจอย่างละเอียดในการทำฟาร์มผักว่า จากอาการป่วยของตัวเธอเอง เริ่มจากการกินอาหารที่คิดว่าสะอาดแล้ว แต่ที่จริงแล้วผักผลไม้สดไม่รู้มีสารตกค้างหรือเปล่า
คือก่อนหน้าที่ธนิดาป่วยเธอค่อนข้างดูแลสุขภาพตัวเอง เน้นการกินผักมาตลอด 4 ปี ปรากฏแสดงอาการป่วย เพราะร่างกายกินผักที่มีสารพิษเข้าไป ร่วมทั้งรู้สึกเครียดกับหน้าที่การงานรับเหมาก่อสร้าง มักดื่มแต่กาแฟดำ กินผักผลไม้สดโดยไม่ผ่านกระบวนการทำให้สุก กินมากๆ สารพิษก็ตกค้างในร่างกายเป็นปริมาณมาก
เมื่อเกิดอาการป่วยเธอจึงรักษาตัวเองกินชีวจิตแทนกินเคมี ฝึกโยคะ แต่การใช้ธรรมชาติบำบัดต้องใช้เวลา เธอจึงหันมาปลูกผักกินเอง ร่างกายเริ่มโอเค ดีขึ้น เธอจึงฉุกคิดว่าน่าจะมีหลายคนที่เป็นแบบเธอ เธอจึงอยากหยิบยื่นโอกาสปลูกผักปลอดสารพิษอย่างแท้จริงเพื่อแบ่งปันให้คนอื่นบ้าง
“พอหายป่วยก็อยากทำบุญ ให้สิ่งดีๆ กับมนุษย์ นี่คือบุญทางอ้อม ให้อาหารปลอดภัยกับเขา เดิมมีพื้นที่อยู่ในกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่ง แต่คิดว่าเราน่าจะหาที่ดินปลูกให้เพื่อนและญาติกินผักปลอดสาร จึงมาดูที่ดินที่อำเภอหนองแซง สระบุรี ซึ่งเป็นที่ลุ่มประมาณ 100 ไร่ ก็เริ่มปลูกผักชนิดแรกๆ ได้แก่ ผักบุ้ง คะน้า เริ่มศึกษาจริงจังปลูกอย่างไรให้ปลอดภัย
คุยกับนักวิชาการเรื่องดิน ปุ๋ย โรคพืชป้องกันอย่างไรโดยไม่ใช้สารเคมี ก็คือมีโรงเรือนป้องกันฝนตก ไม่ให้ใบฉีกขาดเกิดโรคเชื้อราก็ต้องมีหลังคาพลาสติก กันฝน เริ่มกางมุ้งให้ผัก มีการปลูกผักบนแคร่ดิน ซึ่งสามารถให้ชาวบ้านในละแวกนั้นมาช่วยปลูก ถือเป็นการสร้างรายได้ให้คนในชุมชนได้ด้วย”
วิธีการปลูกดี แต่ผักที่เติบโตยังไม่รสชาติไม่อร่อย ธนิดาจึงเริ่มศึกษาว่าพืชต้องการแคลเซียม เธอจึงเริ่มปรุงปุ๋ย และขยายชนิดของผักปลูกไปเรื่อยๆ ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง ฮ่องเต้ ผักกาดขาว ผักบุ้ง ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี ถั่ว มะระ แตงกวา บวบ ฯลฯ ปลูกหมุนเวียนกันไป อีกทั้งการปลูกพืชผักอินทรีย์ต้องปลูกตามฤดูกาล
ธนิดาแนะว่า จะกินผักให้กินผักตามฤดูกาลจะปลอดภัยกว่า อย่างหน้าร้อนแบบนี้กินผักโขม คะน้า กวางตุ้งแล้วจะดี เพราะผักที่ปลูกไม่ใช่ฤดูกาลของเขา ต้องใส่ปุ๋ยเพื่อให้ผักโตเร็ว ยิ่งหน้าร้อนศัตรูพืชเยอะ อีกทั้งบ้านเราร้อนชื้น เชื้อราก็มาก็ต้องหาทางป้องกัน ดังนั้นจึงควรกินผักตามฤดูกาลดีกว่า
“ใครอยากกินผักอะไรโทรมาสั่งได้ อยากให้ลูกค้าสั่งผักแล้วกินสดๆ ไม่อยากให้กินแบบต้องเก็บแช่ในตู้เย็น ตอนนี้เริ่มปลูกพืชผักสวนครัวเพิ่ม เช่น มะนาว ตะไคร้ ข่า ใบมะกรูด เป็นต้น”
หากใครอยากกินผักปลอดสารจากคลีนฟาร์ม สามารถแจ้งที่อยู่เพื่อจัดส่ง ทางฟาร์มจะแจ้งกลับวันที่สามารถจัดส่งได้ของในสัปดาห์ ก่อนวันส่ง 1-2 วัน จะมีพนักงานที่ฟาร์มติดต่อไปแจ้งว่ามีสินค้าอะไรบ้างและมีสินค้าพิเศษประจำวันอะไรบ้าง และทำการรับออร์เดอร์
ที่สำคัญลูกค้าเลือกได้ว่าจะมารับสินค้าเอง(ตามจุดกระจายสินค้าต่างๆ ในแต่ละวัน) หรือให้ไปส่งถึงบ้าน (วิธีนี้มีค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง โดยคิดค่าใช้จ่ายเป็นครั้งต่อจุดที่ส่ง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลูกค้าชวนเพื่อนบ้านในหมู่บ้าน ในซอย หรือในคอนโดเดียวกัน จะสามารถแชร์ค่าจัดส่งกันได้ สำหรับการชำระเงินสามารถเก็บเงินปลายทางหรือโอนเข้าบัญชีของคลีนฟาร์มก็ได้
คลีนฟาร์ม ตั้งอยู่ที่ 85 หมู่ 4 ต.หนองหัวโพ อ.หนองแซง จ.สระบุรี สนใจโทรสั่งผักได้ที่ 08-7509-0888 09-6459-3659 ไลน์ไอดี @clean farm
ปัจจุบันนอกจากจำหน่ายผักปลอดสารแล้ว คลีนฟาร์มยังเปิดให้คนเข้าไปทัศนศึกษาคลีนฟาร์ม อีกทั้งยังมีรีสอร์ทสุขภาพและมีร้านอาหารสุขภาพไว้คอยบริการด้วย
สำหรับร้านอาหาร ก่อนไปควรโทรไปแจ้งล่วงหน้าสัก 2 ชั่วโมง เพื่อแม่ครัวท้องถิ่นจะได้เตรียมทำกับข้าวเมนูผักต้มกินกับน้ำพริกปลาทู หรือสุกี้ผักสดไว้คอยบริการได้ทันท่วงที
ยิ่งเป็นเสาร์-อาทิตย์ต้องจองล่วงหน้าหลายวันหน่อย เพราะคนนิยมไปเที่ยวเชิงนิเวศสีเขียวกันมาก