คนรุ่นใหม่ สร้างรายได้ให้ชุมชน
น่ายินดีมากๆ เมื่อคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งในสังคมไทย นอกจากจะใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างแบรนด์สินค้ารักษ์โลก
เรื่อง ภาดนุ
น่ายินดีมากๆ เมื่อคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งในสังคมไทย นอกจากจะใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างแบรนด์สินค้ารักษ์โลก ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากวัสดุในท้องถิ่นขึ้นมาแล้ว พวกเขายังเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่างๆ ด้วยการจ้างผลิตงานฝีมือซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนนั้น เพื่อนำมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของแบรนด์อีกด้วย
วัธ-จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ เจ้าของแบรนด์วิถีไทย (VT Thai) ผู้ผลิตกระเป๋าที่ทำจากผักตบชวา และสินค้าจากผ้าทอ เล่าถึงที่มาของแบรนด์และการสร้างรายได้ให้กับชุมชน
“เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปทำงานที่ต่างจังหวัดบ่อยมาก เพราะมีธุรกิจของครอบครัวที่ต้องไปดูแล และมีธุรกิจแบรนด์รองเท้าหนังผู้ชายสไตล์ลักซ์ชัวรี่ที่ชื่อ แมงโก้ โมฮีโต้ (Mango Mojito) ซึ่งขายในห้างมาได้ 6 ปีแล้วด้วย ทุกครั้งที่เดินทางไปต่างจังหวัด ผมมักจะเห็นงานหัตถกรรมพื้นเมืองประเภทจักสานขายข้างทางเยอะมาก ซึ่งงานฝีมือเหล่านี้ล้วนใช้ทักษะที่สูงมาก แต่กลับขายในราคาที่ถูกผมจึงมองว่าน่าจะต่อยอดได้ เพราะงานจักสานในต่างประเทศที่สวยๆ ชาวต่างชาติจะชอบมากและซื้อโดยไม่ต่อราคา
ผมว่าฝีมือคนไทยเทียบเท่าได้สบาย เพียงแต่ขาดแค่การดีไซน์และการตลาดเท่านั้น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์และการส่งดีไซเนอร์เข้าไปทำงานร่วมกับคนในชุมชน เพื่อให้พวกเขาสืบทอดฝีมือให้คนรุ่นหลังได้ แล้วยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนด้วย
สำหรับแบรนด์วิถีไทยเพิ่งเปิดมาได้ 8 เดือน โดยเราทำงานร่วมกับ 10 ชุมชน ซึ่งมีทั้งงานผักตบชวา งานหวาย และงานไม้ไผ่แต่สินค้าที่วางขายช่วงแรกนี้จะเป็นกระเป๋าสานจากผักตบชวา บุด้วยผ้าฝ้ายทอมือลายพื้นเมืองจาก จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเราจะออกแบบใหม่ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าชาวต่างชาติ โดยมีคอนเซ็ปต์เป็นโมเดิร์น คราฟต์ แอนด์ คลาสสิก ที่ดีไซน์ทันสมัย แต่ใช้วัสดุแบบไทยๆ เข้ามาผสมผสาน ตอนนี้สินค้าที่วางขายจะมีกระเป๋าผักตบชวา และเสื้อย้อมครามจาก จ.สกลนคร และ จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะมีสีสันของเนื้อผ้าที่สวยงามและมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป”
วัธบอกว่า ในช่วง 1-2 ปีแรก เน้นสินค้าแนวแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ก่อน จากนั้นในปีที่ 3-4 จะเน้นสินค้าตกแต่งบ้านตามมา
“สำหรับการจ้างงานในชุมชน เราพยายามช่วยให้คนที่ทำงานฝีมือ ทั้งงานผักตบชวา งานผ้า และงานอื่นๆ เพื่อให้พวกเขามีรายได้ 300-350 บาท/วัน เทียบเท่ากับรายได้ขั้นต่ำ อย่างเช่น ถ้าเราสั่งโครงกระเป๋าสานจากผักตบชวา เดิมทีวันหนึ่งพวกเขาได้เงิน 150 บาท เราก็จะให้เกือบ 500 บาท เป็นต้น ถือว่าเป็นการสร้างรายได้ให้พวกเขาอีกทางหนึ่ง หากในอนาคตแบรนด์เราไปได้ดีก็อาจจะจ่ายค่าจ้างได้สูงขึ้นได้
กระเป๋าที่เราขายจะมีราคาตั้งแต่ 4,000-1.3 หมื่นบาท ที่ราคาสูงเพราะเราสั่งวัสดุจากชุมชนมา แล้วนำมาผลิตในโรงงานที่ได้มาตรฐานการส่งออกอีกทีเป้าหมายที่สำคัญของเราก็คือ การทำสินค้าหัตถกรรมไทยให้มีคุณภาพและราคาเทียบเท่ากับต่างประเทศ ตอนนี้นอกจากขายในเมืองไทยที่ อีโคโทเปีย ชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่แล้ว ยังขายที่คิง เพาเวอร์รางน้ำ และซื้อผ่านเว็บไซต์ www.vtthai.com หรืออัพเดทได้ที่ IG : vtthai official ได้เลย
กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงวัย 25-45 ปี มีทั้งชาวต่างชาติและคนไทยรุ่นใหม่ที่เห็นคุณค่าของงานหัตถกรรม ล่าสุดเราก็เริ่มส่งสินค้าออกไปขายยังญี่ปุ่นและสหรัฐด้วย โดยใช้ช่องทางโฆษณาบนสื่อออนไลน์เป็นหลัก”
วัธทิ้งท้ายว่า งานฝีมือของคนไทยในแต่ละชุมชนล้วนมีเสน่ห์และสามารถต่อยอดไปสู่สินค้าราคาสูงได้ ดังนั้นสิ่งที่น่าภูมิใจก็คือการที่แบรนด์วิถีไทยได้เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้สินค้าหัตถกรรมไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศได้นั่นเอง
ด้าน เมย์-เมทินี รัตนไชย เจ้าของแบรนด์เมซง คราฟท์ (Maison Craft) เล่าว่าจุดเริ่มต้นของแบรนด์มาจากการที่เธอต้องทำวิทยานิพนธ์ก่อนจบปริญญาโททางด้านผู้ประกอบการธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ ตอนเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนอริช (University of Norwich) ในอังกฤษ ซึ่งหัวข้อหลักก็คือต้องเป็นสินค้าที่ต่อยอดไปสู่การเป็นธุรกิจจริงได้ เธอจึงสร้างแบรนด์จากความชอบ โดยผลิตสินค้าประเภทกระเป๋าและเครื่องประดับที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและผ้าพื้นเมืองของไทยออกมาขาย
“สินค้าแบรนด์เมซง คราฟท์ ที่วางขายในสยามดิสคัฟเวอรี่ จะเป็นสินค้าในหมวดแฟชั่นและของแต่งบ้านอีกเล็กน้อย เช่น กระเป๋าสตางค์ใบเล็กที่ทำจากผ้าฝ้าย ไม้ไผ่ และรังไหม ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่มีในท้องถิ่นของเมืองไทย โดยเราจะทำงานร่วมกับหลายชุมชน ดังนั้นสินค้าชิ้นหนึ่งก็อาจจะใช้วัสดุที่มาจาก 1-2 ชุมชนขึ้นไปมาประกอบกัน เนื่องจากบางชุมชนอาจจะเด่นเรื่องผ้าทอ หรือบางชุมชนอาจจะเด่นเรื่องงานไม้ไผ่
ยกตัวอย่างเช่น ผ้าฝ้ายทอมือที่เรานำมาจาก จ.เชียงใหม่ ก็เป็นผ้าทอลายพื้นเมืองสวยๆ ที่เมย์เห็นว่าน่าจะนำมารวมกับงานไม้ไผ่สานของ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ได้ จึงออกมาเป็นกระเป๋าที่ตัวโครงทำจากไม้ไผ่สานที่มีผ้าบุด้านในและมีฝาปิดทำจากผ้าทอ ซึ่งสามารถใส่ได้ทั้งสตางค์และโทรศัพท์มือถือเลยค่ะ ส่วนสินค้าประเภทเครื่องประดับก็จะใช้ผ้าทอของชาวเขาเผ่าอาข่า (ม้ง)มาทำ โดยเราจะส่งวัสดุอย่างเส้นด้ายไปให้พวกเขาเพื่อคุมโทนในเรื่องสีสันของชิ้นงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน”
เมย์บอกว่า ด้วยความที่ผู้หญิงชาวเขาส่วนใหญ่จะมีทักษะในการปักผ้ามาตั้งแต่เด็กๆ อยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำเป็นเครื่องประดับออกมา แล้วงานแต่ละชิ้นนั้นส่วนมากรูปแบบจะเป็นไปตามความคิดและจินตนาการที่ชาวเขาคิดขึ้นมาเอง ทำให้สินค้ามีความเป็น ลิมิเต็ด เอดิชั่น ที่เซตหนึ่งจะมีแค่ไม่กี่ชิ้นเท่านั้น
“ด้วยความที่แบรนด์เปิดมาได้ 2 ปีแล้วนอกจากวัสดุที่กล่าวมาแล้ว ยังมีปอกระเจาจาก อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี ที่นำมาทำเป็นกระเป๋าด้วย ซึ่งเป็นวัสดุที่ค่อนข้างหายากแล้วในปัจจุบันนี้ สำหรับการจ้างงานในท้องถิ่น เราก็ไปช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่างๆ ในแต่ละที่ที่ผลิตวัสดุ โดยแบรนด์จะมอบเงินให้ไปก้อนหนึ่งเพื่อให้พวกเขาผลิตวัสดุที่จะนำมาประกอบเป็นสินค้า ซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อยฉะนั้นการจ้างงานของเราจึงเป็นช่วงๆ มากกว่า
สินค้าของเราราคาจะเริ่มต้นที่ 390 บาทนั่นคือกระเป๋าสตางค์ ไปจนถึงราคา 1,500 บาท ซึ่งจะเป็นต่างหูที่ผสมผสานโลหะเงินแท้ๆ และวัสดุประเภทผ้าทอเข้าไปด้วยดังนั้นราคาเครื่องประดับจึงอาจจะสูงกว่าสินค้าอื่นๆ ปัจจุบันสินค้าของเราจะวางขายที่อีโคโทเปีย สยามดิสคัฟเวอรี่ โรงแรมรายาวดี จ.กระบี่ และโรงแรมระวีกัลยา ในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังขายในงานอีเวนต์ที่สยามพารากอน และงานโกกรีนซึ่งเป็นงานที่ห้างเซ็นทรัลจะจัดขึ้นในช่วงเดือน ส.ค.ของทุกปี แล้วยังขายบนออนไลน์ www.maisoncraft.com อีกด้วย”
สำหรับ ฟี่-อนัฆ นวราช ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงแรมสวนสามพราน ริเวอร์ไซด์ เจ้าของแบรนด์ปฐม ออร์แกนิก (Patom Organic) เป็นอีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจเพื่อสังคม และช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรใน อ.สามพราน จ.นครปฐม
“แบรนด์ปฐม ออร์แกนิก เริ่มต้นจากพี่ชายของผมซึ่งเป็นคนรักสุขภาพ เมื่อ 10 ปีที่แล้วเขาจึงเริ่มทำฟาร์มปลูกผักขึ้นที่สวนสามพราน เพราะอยากมีอาหารที่ดีๆ กิน อีกอย่างที่โรงแรมของเราจะมีร้านอาหารอยู่ด้วยจึงนำผักปลอดสารมาใช้เป็นวัตถุดิบได้ ต่อมาพี่ชายผมก็ได้รวมตัวกับเกษตรกรเพื่อให้พวกเขาปลูกผักอินทรีย์และนำมาส่งให้เราที่โรงแรม
พอมีจำนวนเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงตั้งตลาดสุขใจขึ้น เพื่อขายพืชผักและผลไม้ที่มีจำนวนมากขึ้นไปด้วย ในขณะเดียวกันผมเองก็มีการทำสบู่และแชมพูออร์แกนิกให้แขกที่มาพักที่โรงแรมใช้อยู่แล้ว เราก็เลยคิดกันว่า เรามีวัตถุดิบที่ดีส่งมาถึงมือตลอดเวลาอยู่แล้ว ทำไมเราไม่ทำเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกซะเลยล่ะ
ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นพี่ชายผมได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. ให้ตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีการปลูกพืชอินทรีย์ให้มากขึ้น พร้อมทั้งช่วยหาช่องทางการตลาดให้เกษตรกรอยู่พอดี เราจึงนำดอกไม้และสมุนไพรอินทรีย์มาเริ่มทำเป็นสบู่และแชมพูก่อน ต่อมาก็เปิดโรงงานเล็กๆ ที่ได้มาตรฐานขึ้น จนนำไปสู่แบรนด์ปฐม ออร์แกนิกตามมา”
ฟี่บอกว่า ปีที่แล้วเขาได้มาเปิดร้านปฐม ออร์แกนิก ขึ้นที่ซอยทองหล่อ 23 บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 1 ไร่ โดยมีคอนเซ็ปต์เป็น ออร์แกนิก ลีฟวิ่ง โดยมีทั้งคาเฟ่ ช็อปขายสินค้า และพื้นที่ให้นั่งเล่นในบริเวณเดียวกันด้วย
“เมื่อลูกค้ามาที่ร้าน เราก็จะมีผักสด ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวจากพืชออร์แกนิก ขนม และกาแฟออร์แกนิก ที่ผู้ซื้อจะได้ทราบถึงเรื่องราวที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วย นอกจากที่ช็อปแล้ว เรายังวางขายผลิตภัณฑ์บอดี้แคร์ เช่น สบู่ แชมพู ครีมนวด ครีมอาบน้ำ ยาดม ยาหม่อง ที่อีโคโทเปียด้วย
ถ้าพูดถึงการสร้างรายได้ให้ชุมชน ที่ผ่านมาเราทำธุรกิจเพื่อสังคมซะมากกว่า ซึ่งจะมีมูลนิธิสังคมสุขใจที่พี่ชายผมทำอยู่คอยดูแล โดยมูลนิธิจะเข้าไปช่วยสอนงาน แนะนำการปลูกพืชออร์แกนิก โดยมีทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ด้วย เพราะต้องการให้เกษตรกรยืนได้ด้วยตัวเอง เมื่อพวกเขามีระบบการปลูกที่ดี มูลนิธิก็จะช่วยหาช่องทางในการขายผลผลิตเหล่านี้ไปตามร้านอาหาร โรงแรม และลูกค้าในเมือง ซึ่งปฐม ออร์แกนิก และโรงแรมสวนสามพรานฯ ก็จะช่วยรับซื้อด้วยส่วนหนึ่ง”
ฟี่ทิ้งท้ายว่า กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของแบรนด์ปฐม ออร์แกนิก จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีทั้งนักท่องเที่ยวชาวเกาหลี ญี่ปุ่น ส่วนในช่วงเสาร์-อาทิตย์ ก็จะเป็นครอบครัวคนไทย หรือแม่บ้านญี่ปุ่นที่อยู่แถวซอยทองหล่อ ส่วนลูกค้าที่สวนสามพรานจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยและกลุ่มคนที่ไปจัดสัมมนา และปัจจุบันนี้ก็ได้ต่อยอดนำแบรนด์ส่งไปขายที่ญี่ปุ่นและฮ่องกงอีกด้วย
ผู้ที่สนใจสามารถสั่งสินค้าได้ที่ www.patom.com หรืออัพเดทได้ที่ Page FB : Patom Organic Living