posttoday

Japan Origin 10

03 มิถุนายน 2561

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน หมดช่วงปิดเทอมบ้านเรากันแล้ว แต่อากาศก็ยังคงร้อนอยู่

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน หมดช่วงปิดเทอมบ้านเรากันแล้ว แต่อากาศก็ยังคงร้อนอยู่ โชคดีที่มีฝนตกลงมาหลายช่วง ช่วยคลายร้อนกันไปได้บ้าง ในช่วงเดียวกันนี้ที่ญี่ปุ่นก็กำลังจะสิ้นสุดฤดูใบไม้ผลิ เดือน มิ.ย.ของเขาฝนก็จะตกชุกหน่อย จากนั้นก็จะเข้าสู่ฤดูร้อน เด็กๆ ปิดเทอมกันทุกระดับชั้น คนญี่ปุ่นวางแผนท่องเที่ยวในวันหยุดฤดูร้อน (Natsu Yasumi) กันเยอะ อากาศที่ร้อนชื้นไม่ได้เป็นอุปสรรคเลย เพราะเป็นฤดูกาลแห่งการท่องเที่ยวและทำกิจกรรม แต่สำหรับคนไทยเราการไปเที่ยวญี่ปุ่นหน้าร้อนกลับเป็นเรื่องที่ไม่นิยมกันนัก สังเกตได้จากตั๋วเครื่องบินส่วนใหญ่จะแห่กันลดราคา ยกเว้นเส้นทางฮอกไกโดอันเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันกับคนญี่ปุ่น ที่จะหลบร้อนไปท่องเที่ยวหรือพักผ่อนระยะสั้น

แต่ก็ใช่ว่าส่วนอื่นของประเทศจะไม่มีอะไร สิ่งหนึ่งที่มากับหน้าร้อนก็คือ งานเทศกาล หรือ มัตสึริ (Matsuri) ที่จัดกันแทบจะทุกจังหวัดสลับช่วงกันไป วันนี้เลยอยากมาแนะนำเทศกาลหน้าร้อนที่น่าสนใจ เผื่อท่านผู้อ่านอยากไปลองใส่ชุดยูกาตะ ถือพัด เดินเล่น กินน้ำแข็งไสในงานเทศกาลของญี่ปุ่นกันบ้างครับ

Japan Origin 10

ภูมิภาคโทโฮคุ หรืออีสานของญี่ปุ่น เป็นหนึ่งภูมิภาคสำหรับการไปเยือนในหน้าร้อน ด้วยความที่ตั้งอยู่สูงกว่าภูมิภาคอื่น เป็นจุดเชื่อมต่อกับเกาะฮอกไกโด มีภูเขาสูงเกือบตลอดภูมิภาค อากาศถึงจะร้อนแต่ก็ไม่รุนแรงเท่ากับแถบคันโตลงไป นอกจากนี้ยังมีเทศกาลที่น่าไปเยี่ยมเยือน โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุสึนามิในปี 2011 ทั้งภูมิภาคได้ร่วมกันจัดงาน Rokkon ที่รวมเอาเทศกาลหน้าร้อนของทั้ง 6 จังหวัด อันประกอบด้วย Morioka Sansa Odori, Aomori Nebuta, Akita Kanto, Yamagata Hanagasa, Sendai Tanabata และ Waraji Fukushima ซึ่งปกติจะจัดสลับกันในช่วงต้นเดือน ส.ค. มาไว้ในงานเดียว เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจของผู้คน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้คนกลับมาเยือนภูมิภาคนี้กันอีกครั้ง

โดยแต่ละจังหวัดจะสลับกันเป็นเจ้าภาพคนละปี และได้จัดวนจนครบ 6 จังหวัดไปแล้วในปี 2016 แต่ปรากฏว่ายังมีผู้คนให้ความสนใจอยู่ จึงได้จัดงานต่อเนื่องแต่เปลี่ยนชื่อเป็น Tohoku Kizuna โดยเริ่มจากเมืองเซนได จังหวัดมิยากิเหมือนเมื่อครั้งแรกเริ่มจัดงาน Rokkon และในปี 2018 นี้ ทางเมืองโมริโอกะ จังหวัดอิวาเตะ ก็ได้รับเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะมีงานในช่วงนี้พอดี (2-3 มิ.ย.) และในบรรดาเทศกาลทั้ง 6 Sendai Tanabata ดูเหมือนจะคุ้นหูคนไทยมากที่สุด วันนี้จึงถือโอกาสแนะนำที่มาของเทศกาลนี้ให้ท่านผู้อ่านทราบ เผื่อมีแผนไปจะได้สนุกกับการเที่ยวมากขึ้นครับ

Japan Origin 10

เมืองเซนไดในช่วงต้นเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงการจัดงานเทศกาลทานะบาตะ (Tanabata Matsuri) หรือเทศกาลแห่งดวงดาว จะอุดมไปด้วยกิ่งไม้ไผ่ที่ถูกประดับประดาด้วยกระดาษสีห้อยแขวนอยู่ตลอดทั้งเมือง กระดาษสีเหล่านี้เรียกว่า Tanzaku ซึ่งจะมีด้วยกัน 5 สี แต่ละสีบ่งบอกความหมายที่แตกต่างกันออกไปคือ สีเขียว หมายถึง ความก้าวหน้าในการศึกษา หรือการงาน สีเหลือง หมายถึง โชคลาภเงินทอง สีแดง หมายถึง ชัยชนะ หรือความสำเร็จ สีชมพู หมายถึง ความรัก และสีฟ้า หมายถึง ความสงบสุข ในช่วงเทศกาลทานะบาตะนี้ ตามอาคารบ้านเรือนและร้านรวงต่างๆ จะพร้อมใจกันเขียนคำอธิษฐานลงบนกระดาษสีแล้วนำไปห้อยบนกิ่งไผ่ ก่อนจะนำไปประดับประดา ปัจจุบันนอกจากจะแขวนแผ่นกระดาษสีแล้ว ยังมีการประดิษฐ์เป็นรูปนกกระเรียน รูปถุง รูปกระเป๋า รูปแหอวน ตามความเชื่อของแต่ละอาชีพอีกด้วย

ที่มาของเทศกาลทานะบาตะนั้นมีต้นกำเนิดจากตำนานจีน ญี่ปุ่นยืมมาใช้แล้วเปลี่ยนชื่อตัวละครเป็นภาษาญี่ปุ่น เป็นเรื่องราวความรักระหว่างเจ้าหญิงทอผ้ากับหนุ่มเลี้ยงวัว ตามตำนานเล่าขานกันว่า เจ้าหญิงโอริฮิเมะ ซึ่งเป็นดาวที่สดใสที่สุดในกลุ่มดาวพิณ เป็นบุตรีของ Tentei ราชันแห่งท้องฟ้า (หรืออีกนัยหนี่งก็คือ จักรวาลนั่นเอง) Orihime มีฝีมือในการเย็บปักถักทอ ทุกวันจะทอเสื้อผ้าอยู่ริมแม่น้ำอะมาโนะหรือที่เรารู้จักกันในนามว่า ทางช้างเผือก Tentei โปรดปรานเสื้อผ้าที่โอริฮิเมะถักให้มาก โดยหารู้ไม่ว่าบุตรสาวของตนต้องทนทำงานหนักขนาดไหนถึงจะทอเสื้อผ้าให้ใหญ่และงดงามพอที่จักรวาลสวมใส่ได้

Japan Origin 10

แต่ในที่สุดท่านพ่อจักรวาลก็ทราบความนัยของลูกสาวที่เปลี่ยวเหงาจากการทำงานหนัก จึงทำหน้าที่พ่อสื่อ นัดหมายให้ Hikoboshi หรือหนุ่มเลี้ยงวัว ซึ่งเป็นดาวที่สุกสว่างที่สุดในกลุ่มดาวนกอินทรีมาเจอกับลูกสาวของตน ฝ่ายหนึ่งก้มหน้าก้มตาทอผ้าทั้งวัน อีกฝ่ายวันๆ ก็เจอแต่วัว พอมาเจอหน้ากันก็ปิ๊งรักแทบจะทันที Tentei เลยรวบรัดจัดงานแต่งให้ลูกสาวเป็นฝั่งเป็นฝาด้วยความปรารถนาดีว่า คงไม่ต้องทอผ้าเหงาๆ อีกแล้ว ทว่าความรักที่เก็บกดคงเอ่อล้นจนทำให้โอริฮิเมะละเลยการทอเสื้อผ้าให้ท่านพ่อ

ส่วนฮิโกะโบชิก็ปล่อยให้วัวเพ่นพ่านไปทั้งจักรวาลขาดการดูแล Tentei ทนไม่ไหวเลยจับทั้งคู่แยกกันให้ไปอยู่คนละฝั่งของฟากฟ้า โดยมีแม่น้ำอะมาโนะ หรือทางช้างเผือกขวางกั้นอยู่ โอริฮิเมะเมื่อโดนพรากจากชายที่รักก็ร้องไห้ฟูมฟายจนท่านพ่อจักรวาลใจอ่อนยอมอนุญาตให้ทั้งคู่ได้เจอกัน โดยมีข้อแม้ว่าโอริฮิเมะต้องทอเสื้อผ้าให้เสร็จ แล้วถึงจะอนุญาตให้ไปเจอกับฮิโกะโบชิปีละครั้งในวันที่ 7 เดือน 7 เจ้าหญิงดีใจรีบทอผ้าจนเสร็จแล้วรีบซิ่งไปหาคนรัก

Japan Origin 10

ปรากฏว่ามีทางช้างเผือกขวางกั้นอยู่ ทั้งคู่จึงได้แต่มองหน้ากัน แต่ชะตาไม่ได้โหดร้ายจนถึงที่สุด เพราะมีฝูงนกกางเขนเห็นใจในความรักของดวงดาวทั้งสอง จึงอาสาใช้ปีกต่อกันเป็นสะพานให้เจ้าหญิงเดินข้ามไปพบกับหนุ่มเลี้ยงวัว แต่ถ้าบังเอิญปีไหนฝนตกหนัก ฝูงนกกางเขนไม่สามารถบินมาช่วยสร้างสะพาน ทั้งคู่ก็ได้แต่ชะเง้อคอรอคอยและหวังว่าจะได้พบกันในปีถัดไป ทำให้ในช่วงเทศกาลทานะบาตะนี้ นอกจากผู้คนจะเขียนกระดาษขอพรให้กับตัวเองแล้ว ยังขอให้อากาศดีไม่มีฝน เพื่อช่วยให้เจ้าหญิงทอผ้าและหนุ่มเลี้ยงวัวได้กระดี๊กระด๊าข้ามสะพานนกกางเขนมาพบกันอีกด้วย

หลายท่านอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ!แล้วทำไมไปจัดงานกันช่วงต้นเดือน ส.ค.ล่ะ คำตอบคือวันที่ 7 เดือน 7 ทางจันทรคติมันใกล้เคียงกับช่วงต้นเดือน ส.ค.ของปฏิิทินสากล คล้ายๆ กับของประเทศจีนหรือไทยเรานั่นเอง ใครมีแผนจะไปญี่ปุ่นช่วงนั้น ลองหาโอกาสแวะไปให้กำลังใจชาว Tohoku และไปช่วยกันภาวนาให้ดวงดาวทั้งสองโคจรมาเจอกันด้วยนะครับ