posttoday

โลกเฝ้าระวังนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์!

18 พฤศจิกายน 2567

สำรวจนโยบายร้อนๆ “100 วันแรก” หลังการดำรงตำแหน่งของ “โดนัลด์ ทรัมป์“ และผลกระทบต่ออนาคตของพลังงานสะอาด จุดยืนของสหรัฐฯ ในเวทีนานาชาติ พันธกิจการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลกระทบต่อพลังงานสะอาดและอนาคตตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ที่ตลาดพลังงานและนักสิ่งแวดล้อมต่างเฝ้าระวัง!

KEY

POINTS

  • การที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส หรือที่เรียกว่า “Red Sweep” ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ และทั่วโลก
  • ทรัมป์เน้นถึงความมุ่งมั่นที่จะ “ปลดปล่อยพลังงานของอเมริกา (Unleash American Energy)” โดยให้ความสำคัญกับภาคพลังงานดั้งเดิมอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติถ้า
  • สอดคล้องกับสโลแกนในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง “Drill Baby Drill” ซึ่งเขาได้ให้คำมั่นสัญญากับชาวอเมริกัน ในด้านการสนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างเต็มที่!

หลังการชนะการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ตลาดพลังงานและนักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกต่างเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงในทิศทางของอุตสาหกรรมพลังงาน การกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์ ในวาระที่สอง พร้อมกับการที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส หรือที่เรียกว่า “Red Sweep” ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ และทั่วโลก 


โลกเฝ้าระวังนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์!

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระหว่างการหาเสียง ทรัมป์เน้นถึงความมุ่งมั่นที่จะ “ปลดปล่อยพลังงานของอเมริกา (Unleash American Energy)” โดยให้ความสำคัญกับภาคพลังงานดั้งเดิมอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

 

บทความนี้จะสำรวจนโยบายดังกล่าวในช่วง “100 วันแรก” ของการดำรงตำแหน่ง และผลกระทบต่ออนาคตของพลังงานสะอาด รวมถึงจุดยืนของสหรัฐฯ ในเวทีนานาชาติด้านพันธกิจการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลกระทบในด้านพลังงานสะอาดและอนาคตตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

 

โลกเฝ้าระวังนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์!


การขยายอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล

รัฐบาลโดนัลทรัมป์ได้มุ่งเน้นการสนับสนุนการผลิตพลังงานจากฟอสซิล เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยเน้นให้เกิด “ความเป็นอิสระด้านพลังงาน” (Energy Independence) ของสหรัฐฯ ซึ่งสอดคล้องกับสโลแกนในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง “Drill Baby Drill” ซึ่งเขาได้ให้คำมั่นสัญญากับชาวอเมริกัน ในด้านการสนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างเต็มที่ โดยสรุปมีนโยบายที่สำคัญ ได้แก่

 

  • การยกเลิกข้อจำกัดในการขุดเจาะบนพื้นที่ของรัฐบาลกลางและน่านน้ำชายฝั่ง รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เช่น ท่อส่งน้ำมันและสถานีส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยแนวทางนี้จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล และสร้างงานในพื้นที่ที่พึ่งพาอุตสาหกรรมพลังงานอย่างมาก
  • การรื้อฟื้นโครงการทำ Fracking หรือการอนุญาตการอัดความดันเข้าสู่ชั้นหินอุ้มปิโตรเลียม ทรัมป์จะทำการยกเลิกข้อจำกัดในการทำ Fracking บนที่ดินของรัฐบาลกลาง เพื่อเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ
  • การอนุมัติท่อส่งน้ำมัน Keystone XL ซึ่งเป็นโครงการที่เคยถูกระงับในสมัยรัฐบาลก่อนหน้านี้ จะได้รับการอนุมัติใหม่ เพื่อเพิ่มความสามารถในการขนส่งน้ำมันจากแคนาดาสู่สหรัฐฯเพื่อลดต้นทุนของราคาน้ำมันลง ทำให้ชาวอเมริกันสามารถซื้อเชื้อเพลิงในราคาที่ถูกลงจากปัจจุบัน
  • การยกเลิกข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม ทรัมป์ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ทบทวนและยกเลิกข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพลังงาน โดยเฉพาะข้อบังคับเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซมีเทนและมาตรฐานเชื้อเพลิงของยานพาหนะ ซึ่งรัฐบาลมองว่าเป็น “ภาระที่เกินความจำเป็น” ต่อภาคพลังงาน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนสำหรับบริษัทพลังงาน แต่อย่างไรก็ตาม การยกเลิกข้อกำกับเหล่านี้อาจเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งผลกระทบต่อความพยายามของสหรัฐฯ ในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ



โลกเฝ้าระวังนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์!



จุดยืนด้านสิ่งแวดล้อมในเวทีนานาชาติ

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดนัล ทรัมป์ ระบุถึงความตั้งใจที่จะถอนสหรัฐอเมริกาออกจากข้อตกลงปารีสด้านสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement) โดยให้เหตุผลว่าข้อตกลงนี้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมต่อประเทศสหรัฐฯ ภายใต้ผู้นำทรัมป์ อาจทำให้สหรัฐฯมีบทบาทน้อยลงในการประชุมสมัชชาภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP)

 

แนวทางเหล่านี้สะท้อนถึงความสงสัยต่อพันธกรณีด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศและความต้องการใช้นโยบายที่เป็นอิสระภายในประเทศ การถอนตัวจากข้อตกลงปารีส อาจส่งผลให้สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนั้น ยังมีมาตรการการลดการสนับสนุนทางการเงินต่อโครงการด้านสภาพภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนาอีกด้วย

 

โลกเฝ้าระวังนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์!

 

อนาคตของพลังงานสะอาด

หนึ่งในประเด็นที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์คือการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้รัฐบาลของโดนัลทรัมป์ คาดว่าจะมีการลดการสนับสนุนระดับรัฐบาลกลางสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียน เช่น เงินอุดหนุนสำหรับโครงการพลังงานลมและแสงอาทิตย์ โดยอ้างอิงจากความเชื่อที่ว่า ตลาดควรเป็นตัวกำหนดความเป็นไปได้ของแหล่งพลังงาน มากกว่าการแทรกแซงตลาดพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาล

 

การลดหรือยกเลิกเงินอุดหนุนสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียน ทำให้การลงทุนในพลังงานสะอาดในภาพรวมลดลง ซึ่งส่งผลให้โครงการพลังงานสะอาดอาจเผชิญกับความล่าช้า อย่างไรก็ตาม ความต้องการของตลาดและนโยบายระดับรัฐยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้พลังงานสะอาดเติบโต โดยเฉพาะในกรณีที่พลังงานหมุนเวียนมีความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนเพิ่มมากขึ้น
 


โลกเฝ้าระวังนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์!


ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ก็เป็นอีกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายของทรัมป์ รัฐบาลทรัมป์มีแผนที่จะลดแรงจูงใจสำหรับการใช้งานรถ EV โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างนโยบายกีดกันทางการค้ากับรถยนต์ที่ผลิตแบตเตอรี่ในประเทศจีน และเสนอการลดมาตรฐานการปล่อยไอเสียของยานพาหนะ ซึ่งอาจทำให้การเปลี่ยนแปลงไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ช้าลง อย่างไรก็ตาม บริษัทรถยนต์ชั้นนำ เช่น Rivian และ Volkswagen ยังคงเดินหน้าลงทุนในเทคโนโลยี EV โดยอิงกับความต้องการในตลาดโลกที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อไป 

 

มีการมอบหมายให้รื้อปลดอุปสรรคด้านกฎหรือระเบียบต่างๆของรัฐบาลกลาง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในการผลิตและใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล รวมถึงผ่อนปรนมาตรฐานการปล่อยไอเสียจากรถยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine : ICE) โดยเขาต้องการปกป้องอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์สันดาปภายในที่มีการจ้างงานจำนวนมากในประเทศ 

 

สรุป

นโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ มีความแตกต่างจากรัฐบาลโจ ไบเดนอย่างสิ้นเชิง โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนพลังงานฟอสซิลและฟื้นฟูอุตสาหกรรมพลังงานปิโตรเลียมเป็นหลัก ซึ่งส่งผลให้การผลิตพลังงานภายในประเทศเพิ่มขึ้น สร้างความมั่นคงทางพลังงานและส่งเสริมอุตสาหกรรมปิโตรเลียม รวมไปถึงอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน(ICE) ของสหรัฐฯ แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาพลังงานสะอาดในอนาคต ผ่านทางการปลดข้อจำกัดด้านกฎระเบียบสิ่งแวดล้อมเพื่อให้อเมริกาผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติมากขึ้น ให้คนอเมริกันได้ใช้พลังงานในราคาที่ถูกลง

 

ชัยชนะของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศต่าง ๆ เช่นประเทศไทย ที่ได้ให้คำมั่นในการเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานที่สะอาดยิ่งขึ้น การลดการสนับสนุนจากสหรัฐฯ สำหรับการเงินในด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลกอาจทำให้ประเทศเหล่านี้เผชิญความยากลำบากในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานพลังงานหมุนเวียน หากพลังงานจากแหล่งดั้งเดิมมีราคาถูกลงเนื่องจากการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ประเทศกำลังพัฒนาอาจชะลอการเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของโลก และอาจทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มพึ่งพาพลังงานฟอสซิลมากขึ้น สร้างความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

 

โลกเฝ้าระวังนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์!

 



ดร.ณัทกฤช อภิภูชยะกุล  ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร