‘คติสุขถึงสุคติ’ ท๊อฟฟี่ สามบาทห้าสิบ
ภาพลักษณ์ของ ท๊อฟฟี่-ศิวดล จันทนเสวี นักร้องนำวงสามบาทห้าสิบ (3.50 บาท)
โดย กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ : อมรเทพ โชติเฉลิมพงษ์
ภาพลักษณ์ของ ท๊อฟฟี่-ศิวดล จันทนเสวี นักร้องนำวงสามบาทห้าสิบ (3.50 บาท) ไม่ผิดที่คนจะคิดว่าเขาเป็นคนตลกเฮฮา หากคุยด้วยแล้วจะมีเสียงหัวเราะเล็ดลอดออกมา ซึ่งก็เป็นจริงอย่างที่ว่าแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะนอกจากจะเป็นคนเบื้องหน้ากับบทบาทนักร้อง นักแสดงซิทคอมตลกหกฉาก และพิธีกรรายการอาหาร พอเขาหันหลังกลับจะเห็นเสื้ออาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และการเป็นศิลปินอาสาเข้าไปร้องเพลงในเรือนจำเพื่อสร้างความสุขให้ผู้ต้องขังมาแล้วแรมปี
ท๊อฟฟี่เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นอาสาสมัครป่อเต็กตึ๊งเมื่อราว 6 ปีก่อนว่า เขาถูกชักชวนจากตลกรุ่นใหญ่อย่าง จิ้ม ชวนชื่น และแฮ็ค ชวนชื่น ให้มาร่วมก๊วน ผสมกับความอยากในตัวเขาเองที่อยาก “ท้าทาย” บางอย่างด้วย
“ความคิดแรก คือ ผมอยากไปเก็บศพ อยากไปนั่งตามจุดตอนดึกๆ เพราะด้วยความเป็นวัยรุ่นในตอนนั้นผมอยากตื่นเต้น อยากไปเจอสถานการณ์จริงๆ ที่มีคนเจ็บ คนเสียชีวิต และมีความคิดแบบเด็กๆ ว่าอยากทดสอบความกล้าของตัวเอง อยากรู้ว่าเราจะกลัวผีไหม จะทำได้หรือเปล่า แต่พอทำไปทำมาสักพักหนึ่ง ผมกลับรู้สึกหดหู่ ยิ่งเห็นคนเจ็บ ยิ่งเห็นคนตาย ยิ่งทำให้จิตใจของผมมันหดหู่มาก
แม้ว่าจะมีเคสที่ผมเข้าไปช่วยเหลือและพาคนที่ได้รับอุบัติเหตุไปส่งโรงพยาบาลทันซึ่งทำให้เราดีใจไปด้วยก็เถอะ แต่ความหดหู่มันกัดกินเร็วกว่า เพราะเมื่อผมเห็นเหตุการณ์ที่มีคนเสียชีวิต ผมชอบเก็บมาคิด ทำให้ภาพมันติดอยู่ในสมองอยู่ในใจนานเป็นอาทิตย์จนกว่าจะมีความทรงจำใหม่ๆ เข้ามาทดแทน มันไม่ใช่ความรู้สึกกลัวแต่เป็นความรู้สึกเศร้าจนกลายเป็นความหดหู่ที่มันส่งผลถึงชีวิตประจำวันของเราไปเลย ผมเลยตัดสินใจหยุดทำ ขายรถที่ผมซื้อมาใช้สำหรับออกเหตุทิ้ง และเปลี่ยนแนวมาเป็นอาสาสมัครช่วงกลางวันแทน”
เขายกตัวอย่างงานอาสาสมัครไปบริจาคของให้ผู้ประสบภัยธรรมชาติ หรือการไปช่วยทิ้งกระจาดให้กับคนยากคนจนที่จะจัดขึ้นปีละครั้ง โดยแต่ละครั้งจะมีคนมารับข้าวสารอาหารแห้งเป็นหมื่นๆ คน
ท๊อฟฟี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหน้าที่ของอาสาสมัครนั้นเป็นเหมือนกำลังเสริมที่จะเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกตามทักษะความสามารถของแต่ละคน หรืออย่างน้อยที่สุดสามารถช่วยส่องไฟให้ความสว่าง ช่วยแบกศพ ช่วยโบกรถ และดูแลการจราจรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน ซึ่งส่วนใหญ่ท๊อฟฟี่ก็จะช่วยในงานลักษณะนี้
“ต้องเท้าความย้อนกลับไปว่าผมเกิดมาในบ้านที่มีพ่อเป็นตำรวจและผมเป็นลูกคนเดียว เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วตอนที่ผมยังเด็กๆ จำความได้คือพ่อกระเตงไปที่จุดเกิดเหตุ ตอนนั้นยังไม่มีการทำงานของมูลนิธิที่เข้ามาเก็บศพ ตำรวจต้องเป็นคนพิมพ์รอยนิ้วมือศพแปะไว้บนกระดาษ ซึ่งผมเห็นศพ เห็นเลือด เห็นอุบัติเหตุร้ายแรงมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ทำให้ผมคุ้นชินจนกลายเป็นคนไม่กลัวผี แต่กลัวการทำงานอย่างที่พ่อทำ”
หลังจากหนีห่างจากความหดหู่ใจได้ ท๊อฟฟี่พบทางเดินของการเป็นอาสาสมัครซึ่งเป็นเส้นทางที่เขาถนัดและรักที่จะทำ นั่นคือการเป็นศิลปินอาสาเข้าไปเล่นดนตรี พร้อมสอดแทรกมุขฮากระจายให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ
เขาเล่าว่า จากอาสาสมัครยามรัตติกาลได้เปลี่ยนแนวมาสร้างเสียงหัวเราะและความเฮฮาให้กับคนที่อยู่หลังกำแพงสูงตระหง่านที่เรียกว่า เรือนจำ เพื่อหวังสร้างความผ่อนคลายให้ผู้ที่ต้องได้รับโทษทัณฑ์เพราะความสุขเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงได้รับไม่ว่าอดีตจะเป็นอย่างไรก็ตาม
“ผมเข้าไปเล่นดนตรีในเรือนจำมาได้ 1 ปีกว่า และพยายามจะทำให้ได้เดือนละครั้ง” ครั้งล่าสุดเขาได้เข้าไปเล่นดนตรีที่เรือนจำพัทยา เมื่อกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งที่ 14 และเป็นเรือนจำแห่งที่ 14
“จุดเริ่มต้นของกิจกรรมนี้คือผมเริ่มคุยกับบ็อบบี้ นักกีตาร์ในวงสามบาทห้าสิบว่าเราอยากทำในสิ่งที่ถนัดนั่นคือเล่นดนตรี ซึ่งพวกเราเคยไปเล่นให้โรงเรียน เล่นให้เด็กพิการฟัง เล่นให้คนเฒ่าคนแก่ฟัง เราเคยผ่านมาหมดแล้ว แต่สถานที่ที่เข้าไปยากที่สุดคือ เรือนจำ นั่นหมายความว่า คนในเรือนจำก็มีโอกาสน้อยที่สุดแล้วที่จะได้ฟังดนตรีสดๆ และชมการแสดงที่เป็นความบันเทิงแบบนี้ด้วย”
หลังจากดำเนินการภายใต้ความช่วยเหลือของคนในมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องหลายท่าน จนในที่สุดเขาและวงสามบาทห้าสิบก็ได้เข้าไปหลังกำแพงใหญ่สมใจ แต่นอกจากจะเข้าไปเล่นดนตรีให้ความบันเทิงและความผ่อนคลายแล้ว เขายังเพิ่มช่วงเวลาพิเศษในการสร้างแรงบันดาลใจและข้อคิดดีๆ ให้กับผู้ต้องขัง ด้วยการเชิญนักพูดขึ้นไปพูดบนเวทีด้วย
“คำพูดที่ดีมีพลังบวกจะช่วยขัดเกลาจิตใจ และจุดพลังดีๆ ให้กับคนในนั้น หากวันไหนที่เขามีโอกาสได้กลับมาใช้ชีวิตนอกรั้วกั้นเขาจะได้หยิบนำแนวคิดหรือข้อคิดที่ได้ฟังในวันนั้นมาปรับใช้เพื่อไม่ให้ผิดพลาดซ้ำเดิมอีกแล้ว”
นักร้องนำวงสามบาทห้าสิบกล่าวถึง “พี่หรั่ง” ที่เคยใช้ชีวิตในคุกมากว่า 20 ปี แต่วันนี้ได้ออกมาสู่สังคมอีกครั้งพร้อมประกอบอาชีพสุจริต เป็นผู้ผลิตกีตาร์โปร่งขายจนประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักในวงการดนตรี ซึ่งได้ถูกเชิญไปพูดในเรือนจำถึงประสบการณ์และการใช้ชีวิตที่ผ่านมา
แต่ละครั้งเขาใช้เวลาเปิดการแสดงในเรือนจำประมาณ 2-3 ชั่วโมง จัดเต็มทั้งสาระและความบันเทิง เรียกทั้งรอยยิ้มและอาจมีน้ำตา อีกทั้งเมื่อเริ่มเป็นที่รู้จักก็ยิ่งมีศิลปินดาราและเพื่อนตลกติดต่อมาเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้นๆ
“ทุกครั้งเราไม่มีการเตรียมเพลงเลย ไม่มีการเตรียมสคริปต์ แต่เราไปด้วยใจที่รู้ดีว่าเราอยากสื่อสารอะไรกับเขาเหล่านั้น หลายครั้งมีมากกว่าหนึ่งวงขอไปเล่นด้วยกัน เราก็จะพูดคุยกันตรงนั้นและเล่นไปพร้อมกันได้ ซึ่งความสดตรงนี้แหละที่ได้ใจผู้ชมของเรา เพราะเขาสามารถขอเพลงได้ สามารถพูดคุยกับเราได้ เหมือนกับว่าเรากำลังเข้าไปเล่นดนตรีในห้องนั่งเล่นที่บ้านของเขา กลายเป็นบรรยากาศที่สนุกสนานทั้งคนเล่นคนฟังจริงๆ” ฟังน้ำเสียงและรอยยิ้มของท๊อฟฟี่ในตอนนี้ก็รู้ว่าในบรรยากาศจริงจะมีความสุขมากขนาดไหน
“พอผมมองตาเขา มองแววตาของพวกเขา ผมรู้สึกได้ว่าพวกเขามีความสุข เขาเต้น เขาร้อง เขาตะโกน เขาขอจับมือ และเขาขอบคุณ ก้าวแรกที่พวกเราเดินเข้าไป พวกเขาจะสวัสดีก่อนเลยไม่ว่าจะแก่หรือเด็กเขาก็พูดสวัสดีไว้ก่อน จากนั้นพอเล่นจบเขาเข้ามาขอบคุณเรา ขอบคุณนะพี่ที่เข้ามาสร้างความสุขให้พวกเรา แล้วไว้กลับมาอีกนะพี่ พวกเขาบอกแบบนั้น และเวลาที่พวกเขาจับมือเรา เขาจะจับแน่นเลยแล้วมองเข้ามาในดวงตาของเรา และคำพูดที่ผมให้เขาได้คือคำว่า สู้ๆ นะ เป็นกำลังใจ”
ท๊อฟฟี่กล่าวด้วยว่าวงสามบาทห้าสิบจะยังคงทำกิจกรรมเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในเรือนจำทั่วประเทศไทย แม้ว่าทุกครั้งที่ไปจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องเสียงครั้งละ 5,000 บาท ซึ่งเขา บ็อบบี้ พี่หรั่ง และสมาชิกที่ไปจะช่วยลงขันกันจ่าย ถามว่ามีใครติดต่อมาเป็นสปอนเซอร์หรือไม่ ท๊อฟฟี่ตอบทันควันว่ามีและมีหลายเจ้า แต่เขาต้องปฏิเสธไปเพื่อรักษาความตั้งใจเดิมไว้ ไม่ให้หันเหไปทางอื่น
ชายอารมณ์ดีคนนี้ทำให้เห็นแล้วว่าการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์นั้นทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการส่งมอบความสุขผ่านเสียงเพลง และการใช้พละกำลังของตนเองเพื่อต่อเวลาให้กับอีกชีวิต
นอกจากนี้ เขายังเล่าถึงอีกหนึ่งภารกิจที่เป็นประจำทุกปีกับพิธีบรรจุร่างผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา (อาจารย์ใหญ่) เมื่ออาจารย์ใหญ่ครบวาระก็จะเป็นหน้าที่ของอาสาสมัครต้องเข้าไปช่วยบรรจุและเคลื่อนย้ายร่างของอาจารย์ใหญ่จำนวนกว่า 300 ร่าง ซึ่งต้องใช้กำลังคนมากกว่า 400 คน นับเป็นภารกิจเดียวที่เขาต้องเข้าใกล้และถึงขั้นสัมผัสกับร่างที่ปราศจากวิญญาณอีกครั้ง แต่ก็ยังขอทำด้วยความเต็มใจและภาคภูมิ
“ความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเราทุกคนมาก” เขากล่าวต่อในฐานะของคนที่เห็นความเป็นความตายมาเกือบตลอดชีวิต “โดยเฉพาะการจากไปด้วยอุบัติเหตุ มันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด คนข้างหลังไม่ได้ทำใจ และเป็นการจากไปที่เจ็บปวดที่สุด แต่อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้เสมอกับทุกคน ดังนั้นอย่าใช้ชีวิตประมาท อย่าคึกคะนอง อย่าขาดสติ เพราะความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อมมากๆ”
ตอนนี้ท๊อฟฟี่เพิ่งเปลี่ยนบทบาทจากสามีมาเป็นคุณพ่อของลูกน้อยในครรภ์ภรรยา ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของลูกผู้ชายวัยย่าง 40 ยิ่งทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ ระมัดระวัง และหันมาดูแลสุขภาพของตัวเอง
“เพื่อที่ผมจะได้มีเวลาอยู่กับลูกนานๆ” เขากล่าวทิ้งท้าย “ตอนนี้ผมเปลี่ยนจากคนขับรถเร็วมาเป็นขับรถช้าเหมือนเต่า และที่สำคัญผมไม่เคยลืมว่าสักวันหนึ่งวันสุดท้ายของเราต้องมาถึง ดังนั้นผมจึงใช้เวลาทุกนาที ทุกวันให้มีค่ามีความหมายมากที่สุด สร้างสิ่งที่มั่นคงให้ครอบครัว และสร้างความดีไว้ในสังคมให้คนที่อยู่กล่าวชมเชยในวันที่เราจากโลกนี้ไปแล้ว”
อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อเสมอว่าความหมายของการมีลมหายใจคือการกระทำ โดยต้องเริ่มจากการกระทำให้ตัวเองมีความสุข เพื่อที่จะได้แบ่งปันและส่งต่อความสุขนั้นไปยังคนรอบข้าง ขยายวงกว้างไปถึงสังคมตลอดจนโลกใบนี้ เหมือนกับที่ท๊อฟฟี่พยายามทำจากคนตัวเล็กที่ทำตามแรงและกำลัง ปัจจุบันแรงกระเพื่อมนั้นกลับมีพลังต่อเนื่องกันไปไม่สิ้นสุด